รีวิวเว้ย (758) ลองนั่งคิดดูเล่น ๆ ถึงคำว่า "ล้านนา" ในความคิดของเรา เมื่อได้ยินคำนี้เราจะคิดถึงอะไร ? หลังจากที่คิดวนไปวนมาอยู่หลายรอบ เราพบว่า "ล้านนา" ในความคิดของเราปรากฏขึ้นเพียงกลุ่มขังหวัดในทางภาคเหนือ อาหารเหนือ อากาศหนาว และอาหารเมือง นอกนั้นเราคิดอะไรแทบไม่ออกเมื่อคิดถึงคำว่า "ล้านนา" และถ้าลองนั่งลงคิดถึงคำเดิมในมิติของประวัติศาสตร์ เราจะคิดถึงล้านนาออกมาได้ในมุมมองแบบไหนกัน ? หลังจากผ่านไปพักใหญ่ ๆ ในความคิดของเราปรากฏแค่เพียงชื่อของเจ้าเมืองเพียงไม่กี่องค์ และปรากฏชื่อของ "เจ้าดารารัศมี" ที่มาจากเพลงเพลงหนึ่งของวงไม้เมือง น่าแปลกที่ประวัติศาสตร์ของ "ล้านนา" กลับขาดช่วงไปจากความทรงจำของเราเสียเฉย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเราลองนึงย้อนกลับไปถึงตอนเรียนประวัติศาสตร์ในห้องเรียนชั้นประถมถึงมัธยมปลาย กลับพบแต่ความว่างเปล่าในความทรงจำของช่วงเวลานั้นในเรื่องของ "ประวัติศาสตร์ล้านนา"
หนังสือ : ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน
โดย : วิชญา มาแก้ว
จำนวน : 416 หน้า
ราคา : 420 บาท
หนังสือ "ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน" นับเป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของ การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของล้านนาในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 14-16 โดยมุ่งเน้นการศึกษาไปที่ประวัติศาสตร์ของล้านนาที่ปรากฏหลักฐานจากหลักฐานชั้นต้นของพื้นที่ และหลักฐานเทียบเคียงในภาษาอื่น ๆ และดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ของล้านนาจะไม่ปรากฏในความรับรู้และความสนใจของรัฐไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประวัติศาสตร์กระแสหลักของรัฐไทย เรื่องของล้านนาแทบจะไม่ปรากฏที่ยืนในกลุ่มของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของรัฐไทยเลย
หนังสือ "ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน" นับเป็นการพาเรากลับไปทำความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของล้านนา ในมิติของพัฒนาการด้านเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ที่นักวิชาการหลายคนเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็น "ยุคทองของล้านนา" ที่จะเป็นช่วงเวลาของการวางรากฐานของล้านนาให้มีความเข้มแข็งและทิ้งสิ่งจกทอดมากระทั่งปัจจุบัน
โดยที่เนื้อหาของ "ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน" คือการทำความเข้าใจถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ผ่านระบบการค้า การสะสมทุน และการค้าการสะสมทุนนี้เองที่กลายมาเป็นการพัฒนาเมืองในพื้นที่ของล้านนาให้เติบโตขึ้นและมีความเป็นเมืองปรากฏขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้ง "ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน" ยังพาเราไปทำความเข้าใจถึงวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่ผ่านการค้า โดยเฉพาะเมื่อปฏิสัมพันธ์ทางการค้าเหล่านั้นเป็นเรื่องของคนสามัญ
ไม่น่าแปลที่เราจะนั่งลงและคิดถึงเรื่องราวของ "ล้านนา" ทั้งในมิติของประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าผ่านช่องทางกระแสหลักอย่างในโรงเรียน และในระบบการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติ เราไม่มีทางพบเรื่องราวและเรื่องเล่าของล้านนาในพื้นที่เหล่านี้อย่างแน่นอน และนอกจากล้านนาแล้วประวัติศาสตร์ของคนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชาติพันธุ์ของผู้ปกครอง ก็คงจะยากยิ่งที่จะปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือประวัติศาสตร์ของรัฐไทย น่าเศร้าใจที่รัฐไทยปิดหูปิดตาผู้คนมาเนิ่นนาน โดยที่หลายคนก็ไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังเดินอยู่บนหนทางประวัติศาสตร์แบบที่ "ม้าลำปาง" กำลังเดินไปบนหนทางของมัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in