รีวิวเว้ย (757) อาจารย์ผู้ใหญ่ทางด้านรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งของไทยเคยตั้งคำถามในวงสัมมนาทางวิชาการวงหนึ่งว่า "วิชารัฐศาสตร์เป็นญาติสนิทกับวิชาอะไร" ? คำตอบที่ปรากฏขึ้นในวงนั้นมีอยู่ด้วยกันอย่างหลากหลาย แต่ไม่มีคำตอบของใครเฉียดใกล้คำตอบที่ "ถูกต้อง" ของอาจารย์ท่านนั้นเลย "วิชาสถาปัตยกรรม" คือคำตอบของคำถามข้อดังกล่าว โดยที่อาจารย์ท่านนั้นได้บอกคำตอบเอาไว้ว่า ที่วิชารัฐศาสตร์และสถาปัตยกรรมเป็นญาติสนิทกัน นั่นเป็นผลมาจากการพัฒนาขึ้นของ "ตลาด" ที่ทำให้เกิด "เมือง" และแน่นอนว่าเมื่อเมืองขยายตัวขึ้นรัฐ และการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนในรัฐหรือในเมืองนั้น ๆ ก็ต้องเกิดขึ้นตามมาด้วย และการเกิดขึ้นของตลาด เมืองและรัฐ คือผลผลิตที่เกิดมาตั้งแต่ยุคสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) โน่นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ตลาด (กาด ในภาษาเหนือ) เมือง และรัฐ จึงเป็นสิ่งที่ผูกโยงเข้าด้วยกันอย่างชัดแจ้ง
หนังสือ : กาดก่อเมือง ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา
โดย : วราภรณ์ เรืองศรี
จำนวน : 312 หน้า
ราคา : 390 บาท
"กาดก่อเมือง ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของการเกิดขึ้นและการขยายตัวของอาณาจักรล้านนาในช่วงก่อนการเข้ามาของสยามประเทศ หรือพูดให้ถึงที่สุดคือ "กาดก่อเมือง ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา" มุ่งเน้นในเรื่องของการบอกเล่าถึงพัฒนาการของล้านนาก่อนการปฏิรูปในสมัยรัชการที่ 5 (2443) ซึ่งเนื้อหาในหนังสือได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านการค้าในอาณาจักรล้านนา ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายหลากหลาย
โดยที่เนื้อหาของหนังสือ "กาดก่อเมือง ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา" มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการอธิบายพลวัตรของล้านนาผ่านบริบทของ "การค้า" ทั้งในรูปของการค้าแบบกองคาราวาน และการค้าในรูปของ "กาด" (หรือตลาด) ที่ต่อมามันกลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการสร้างบ้างแปลงเมืองให้กับหลาย ๆ เมืองในอาณาจักรล้านนา
ความน่าแปลกใจอย่างหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือ "กาดก่อเมือง ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา" คือ เราจะไม่เคยรับรู้ถึงบริบทของความเป็นล้านนาก่อนการรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามในช่วงรัชการที่ 5 เลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเมืองพูดถึงล้านนาในแบบเรียนไทย เราจะพบว่าแทบไม่มีเรื่องของล้านนาปรากฏอยู่อย่างเป็นกิจลักษณะเท่าใดเลย นอกจากเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี และสภาพภูมิอากาศ แต่ในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และเรื่องของชาติพันธุ์ของผู้คนในแทบล้านนาแต่เดิมจะไม่เคยปรากฏให้เห็นในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาแม้แต่นิด
กระทั่งเรื่องของการเกิดขึ้นของเมืองต่าง ๆ ในล้านนาก็แทบจะไม่ปรากฏให้เราผู้อ่าน สามารถรับรู้ได้จากช่องทางใดเลย ในบันทึกประวัติศาสตร์ของรัฐไทย โดยรัฐไทย ประหนึ่งว่าประวัติศาสตร์ของรัฐต้องการให้เราเข้าใจว่า "ล้านนา" เกิดขึ้นของมันเองเหมือนการลอยลงมาจากฝากฟ้า ที่อยู่ดี ๆ ก็มาปรากฏให้เห็นและถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามในช่วงสมัยรัชการที่ 5 ซึ่ง "กาดก่อเมือง ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา" จะมาทำหน้าที่ในการช่วยเติมเต็มช่องว่างที่หายไปของประวัติศาสตร์ล้านนาในช่วงก่อนการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามในช่วง 2443 ได้เป็นอย่างดี
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in