รีวิวเว้ย (681) ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุกวันนี่คำถามสำคัญอย่าง "กษัตริย์มีไว้ทำไม (?)" กลายมาเป็นประเด็นคำถามสำคัญอีกประเด็นหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะเมื่อการเผชิญหน้ากันระหว่างรุ่นชัดเจนขึ้น ข้อคำถามดังกล่าวก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในตอนนี้เรากำลังมองเห็น 2 ฝั่งที่แบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน นั้นก็คือ (1) ฝั่งที่ยังเชื่อว่าบทบาทของสถาบันกษัตริย์ยังคงมีอยู่และยังคงมีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อสังคมนี้ โดยไม่เคยคิดที่จะตั้งคำถามว่า "บทบาท" สำคัญที่ว่านั้นคือสิ่งใดและมันสำคัญยิ่งจริง ๆ ใช่หรือไม่ และ (2) ฝั่งที่เริ่มตั้งคำถามดัง ๆ ว่าก็ในเมื่อบทบาทของสถาบันไม่ได้ปรากฎชัดเจน หรือมีหน้าที่ที่ต้องทำอะไรมากมายขนาดนั้น แล้วสถาบันกษัตริย์ "มีไว้ทำไมกัน" เราจะเห็นว่าการตั้งคำถามของฝั่งหนึ่งและการไม่ตั้งคำถามของอีกฝั่งหนึ่งกำลังเผชิญหน้ากันบนฐานของข้อถกเถียงที่อาจจะเรียกได้ว่าคนละชุด คนละด้าน คนละมุมหรืออาจจะเรียกได้ว่า "อยู่กันคนละโลก" เพราะอีกฝั่งหนึ่งตั้งคำถามเพราะต้องการคำตอบ แต่อีกฝั่งไม่ตั้งคำถามและไม่ต้องการคำตอบใด ๆ ปัญหาดังกล่าวเลยกลายเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญอีกข้อหนึ่งของสังคมนี้ แต่ก่อนที่จะไปถึงข้อคำถามอย่าง "กษัตริย์มีไว้ทำไม (?)" เราอาจจะต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจและหาคำตอบกันสักหน่อยก่อนว่า "กษัตริย์คืออะไร (?)"
หนังสือ : กษัตริย์คือ (อะ) ไร ? : มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน
โดย : เก่งกอจ กิติเรียงลาภ แปล
จำนวน : 115 หน้า
ราคา : 180 บาท
"กษัตริย์คือ (อะ) ไร ? : มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน" หนังสือขนาดสั้นกระชับ ที่จะพาเราไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับข้อคำถามพื้นฐานว่า "กษัตริย์คืออะไร" ผ่านมิติและมุมมองทางด้านการศึกษาสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ ในลักษณะของการทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ ไม่ได้ลงลึกเข้าไปในรายละเอียดมากนักเพื่อให้สอดรับกับชื่อของหนังสือและเป้าประสงค์ของหนังสือที่ว่า "สำหรับเยาวชน"
โดยที่เนื้อหาของหนังสือ "กษัตริย์คือ (อะ) ไร ? : มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน" เป็นการเขียนในลักษณะของการ "ตั้งคำถาม" และ "ตอบคำถาม" โดยผู้เขียน เพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยบางประการที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจคำว่า "กษัตริย์" ในระดับความหมายพื้นฐาน อาทิ กษัตริย์คืออะไร กษัตริย์มาจากไหน กษัตริย์รักษาอำนาจของตนไว้ได้อย่างไร กษัตริย์กับความเป็นเด็ก กษัตริย์กับตัวตลก ฯลฯ ที่เรียกได้ว่าเป็นคำถามพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อสิ่งที่เรียกกันว่า "กษัตริย์"
นอกจากนั้นแล้ว "กษัตริย์คือ (อะ) ไร ? : มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน" ยังได้ชี้ชวนให้เราทำความเข้าใจภาพรวมถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับสังคมในปัจจุบัน ว่าในสภาวะเปลี่ยนผ่านสถาบันปรับรูปแบบของตัวเองอย่างไร และยิ่งในปัจจุบันที่คำถามเกี่ยวกับกษัตริย์ในฐานะของ "ครอบครัวหนึ่ง" และในฐานะของ "คนคนหนึ่ง" เพิ่มมากยิ่งขึ้นแล้วนั้นการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงบทบาทของสังคมหนึ่ง ๆ เปลี่ยนบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไปอย่างไร โดยเฉพาะกับบางประเทศที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์อยู่อีกต่อไปแล้ว บทบาทของสิ่งที่คล้ายคลึ่งกับ "กษัตริย์" ในสังคมนั้นยังคงปรากฎอยู่ในที่ใดหรือไม่ (?) และหากยังคงปรากฎอยู่ มันปรากฎอยู่ในลักษณะเช่นใดกัน (?)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in