รีวิวเว้ย (665) กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่รวบรวมอะไรหลาย ๆ อย่างเอาไว้ในเมืองทั้งการเป็นแหล่งงาน แหล่งเงิน แหล่งรวมความแปลก แหล่งรวมความแตกต่าง ฯลฯ ที่อาจจะเรียกได้ว่ากรุงเทพฯ คือพื้นที่ที่มีความหลากหลายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะความแปลกในเรื่องของสถาปัตยกรรมในเมือง ที่กรุงเทพฯ ครองคสามแปลกประหลาดไม่เหมือนเมืองอื่น ๆ ในประทศ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูง อาคารแปลก อาคารโบราณ และรวมไปถึงสถาปัตยกรรม "ใช้สอย" ที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนในเมือง ผ่านการปรับรูปแบบ เรียนรู้และสร้างแบบแปลนผ่านการใช้สอยของคยเมือง หรือที่ในทางสถาปัตยกรรมมีคำเรียกในทางเทคนิคว่า "สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมือง" (urban vernacular architecture) ที่มีความหมายถึงการเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสถาปัตยกรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นภาพสะท้อนถึงแต่ละวิถีวัฒนธรรมที่มีให้เห็นในเมือง สังคมหนึ่ง ๆ นั้นไม่ได้ประกอบขึ้นมาจากวัฒนธรรมเดียว แต่ประกอบจากหลาย ๆ วัฒนธรรมย่อย (https://art4d.com/tag/urban-vernacular-architecture) และสถาปัตยกรรมเหล่านี้กลายมาเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นที่นับเป็นอัตลักษณ์หลักของเมืองกรุงเทพฯ
หนังสือ : อาคิเต็กเจอ
โดย : ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์
จำนวน : 304 หน้า
ราคา : 370 บาท
"อาคิเต็กเจอ" บอกเล่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรมในเมืองกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นมาจากฐานในเรื่องของ "สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น" ที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการและการใช้ชีวิตของคนในเมือง ที่สถาปัตยกรรมเหล่านี้ถูกออกแบบมาโดยผู้ใช้ เพื่อผู้ใช้และสำหรับผู้ใช้ที่บรรดาผู้ใช้ทำหน้าที่ออกแบบผ่านการใช้งานและปรับปรุงรูปแบบของสถาปัตยกรรมตามการใช้ประโยชน์พื้นที่
นอกจากนั้นแล้ว "อาคิเต็กเจอ" ยังพาเราไปทำความรู้จักกับสถาปัตยกรรมหน้าตาแปลก ๆ ที่บางอย่างผูกโยงอยู่กับชุดความเชื่อ และบางรูปแบบผูกโยงอยู่กับการใช้ชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นศาลพระภูมิ ตี่จู่เอี๊ย ร้านรถเข็น เก้าอี้พลาสติก ราวตากผ้า กระถางต้นไม้หน้าบ้าน เรือคลองแสนแสบ ฯลฯ ที่สะท้อนภาพและวิธีชีวิตของเมืองกรุงเทพฯ และคนในเมืองนี้ได้เป็นอย่างดี
อาจจะเรียกได้ว่า "อาคิเต็กเจอ" คือการสะท้อนภาพการมองกรุงเทพฯผ่านสายตาของอาคิเท็ก ที่สะท้อนภาพ ตั้งคำถาม และไปแสวงหาคำตอบให้กับทุกคนที่อยากรู้เรื่องราวของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของเมืองกรุงเทพฯ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in