เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ระบบการเลือกตั้งแบบผสม By พรรณรัตน์ ดิษฐ์เจริญ
  • รีวิวเว้ย (637) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ย้อนกลับไปในช่วงที่การเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างก่อนการรัฐประหาร 2557 มีกระแสในเรื่องของการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งระหว่างคนแต่ละกลุ่มขึ้นในสังคมไทย ทั้งกระแสที่บอกว่าควรที่จะกำหนดคุณสมบัติของ "ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง" เพราะคนเราไม่เท่ากันในทางปฏิบัติ ซึ่งกระแสดังกล่าวกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในสังคมไทยในช่วงเวลานั้น ย้อนกลับไปไกลกว่าปี 2557 เราจะพบว่าประเทศไทย (สยาม) ในช่วงเวลานั้นนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกภายใต้การให้สิทธิคนในประเทศทั้งหญิงและชายในการเข้าถึงการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียมภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่แน่นอนว่าเรื่องของ "การเลือกตั้ง" เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกตั้งคำถามมาตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของสังคมสยามถึงไทย ว่าแท้จริงแล้วการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของเราเป็นการเลือกตั้งที่ดีและมีคุณภาพหรือไม่ (?) คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือคำว่า "ดีและมีคุณภาพ" เราจะนิยามมันอย่างไรกันหนอ (?) ภายใต้ข้อถกเถียงนี้เองที่นำมาสังคมไทยไปสู่การออกแบบรูปแบบของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งเราใช้ระบบสภาเดียว บางครั้งเราใช้ระบบสองสภา บางครั้งเราใช้แบบแบ่งเขต บางครั้งใช้แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ กระทั่งล่าสุด (2563) ประเทศไทยเลือกที่จะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" ที่นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการเลือกตั้งแบบ "ผสม" ที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุดครั้งหนึ่งในการเลือกตั้งของไทย เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ที่ใช้ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ แต่ต้องสะท้อนความต้องการของผู้ใช้สิทธิถึง 3 ประการอันได้แก่ (1) เลือกคนที่รัก (2) เลือกพรรคที่ชอบ และ (3) เลือกนายกที่ใช่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วบัตรเลือกตั้ง 1 ใบไม่น่าจะสะท้อนความต้องการทั้ง 3 ประการออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม
    หนังสือ : ระบบการเลือกตั้งแบบผสม
    โดย : พรรณรัตน์ ดิษฐ์เจริญ
    จำนวน : 67 หน้า
    ราคา : หนังสือแจกโดยสำนักงานสัญญาฯ

    "ระบบการเลือกตั้งแบบผสม" เป็นหนังสือวิชาการเล่มเล็กที่ถูกจัดทำขึ้นโดยสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อส่งมอบความรู้ทางด้านวิชาการในลักษณะของ "งานวิชาการฉบับกระทัดรัด" ให้กับสังคมไทย โดยมีความมุงหวังที่จะนำเสนอองค์ความรู้ทางด้านวิชาการที่อ่านง่าย อ่านสนุก และตอบโจทย์คำถามบางอย่างของสังคม

    "ระบบการเลือกตั้งแบบผสม" เป็นหนังสือลำดับที่ 1 ในชุด "เอกสารชุดความรู้ว่าด้วยสถาบันการเมือง" โดย "ระบบการเลือกตั้งแบบผสม" บอกเล่าเรื่องของระบบเลือกตั้งแบบผสม ทั้งเรื่องของรูปแบบ วิธีการคิดคำนวนคะแนน รูปแบบของบัตรเลือกตั้ง และความสำคัญของระบบการเลือกตั้งดังกล่าว

    นอกจากนั้นแล้ว "ระบบการเลือกตั้งแบบผสม" ยังได้ทำการเปรียบเทียบข้อมูลโดยการนำเสนอข้อมูลของระบบเลือกตั้งในแต่ละประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เยอรมันนี และระบบเลือกตั้งของแคว้นบาร์เดน เวิร์ทเทมเบิก ของเยอรมันนี และมีการเปรียบเทียบรูปแบบของระบบเลือกตั้งแบบผสมในรัฐธรรมนูญของไทยฉบับพ.ศ. 2540 พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพของระบบเลือกตั้งในสังคมไทยไปพร้อม ๆ กัน

    อาจจะเรียกได้ว่า "ระบบการเลือกตั้งแบบผสม" คือคู่มือสำหรับทำความเข้าใจระบบเลือกตั้งแบบกระทัดรัดที่จะช่วยสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของระบบเลือกตั้ง โดยเฉพาะรับบเลือกตั้งแบบผสมที่ปรากฎขึ้นในประเทศไทย

    แน่นอนว่าเมื่อหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในชุด #เอกสารชุดความรู้ว่าด้วยสถาบันการเมือง ย่อมต้องมีหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่กำลังจะตามมาในชั่วเวลาอีกไม่กี่อึดใจ #โปรดอดใจรอสักครู่

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in