รีวิวเว้ย (633) ในภาษาไทยมีคำเกิดใหม่เกิดขึ้นอยู่แทบทุกวัน บางคำก็มาแบบพัก ๆ ครู่ ๆ แล้วก็หายไป บางคำก็อยู่มานานเนิ่นยาวยืดข้ามกาลเวลามาจนกระทั่งปัจจุบัน อย่างคำว่า "กิ๊ก" ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคำเจ้าปัญหาและสร้างดราม่าอย่างมากในวงการการใช้ภาษาไทย ที่ทำให้ครู อาจารย์และนักภาษาศาสตร์ต้องออกมาขบคิดหาคำตอบถึงเรื่องของ "ความเหมาะควร" ของการใช้ภาษาไทยใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น บางคนบอกว่าคำว่า "กิ๊ก" จะนำพาไปสู่ความวิบัติของภาษาไทย เอาเข้าจริงแล้วสำหรับเราคำว่า "กิ๊ก" โดยความหมายไม่น่าสร้างความวิบัติให้กับภาษาไทยได้ หากแต่มันสามารถสร้างคสามวิบัติให้กับคนที่ "มีกิ๊ก" มากกว่าคนที่เลือกใช้คำว่า "กิ๊ก" เสียอีก ซึ่งคำว่ากิ๊กนั้นเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลวัตรและการเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยทั้งในระดับภาษาทางการและในระดับภาษาสื่อสาร ซึ่งมันควรจะเป็นเรื่องปกติของทุกสังคมคล้ายกับการที่ประชาชนในประเทศพึงมีสิทธิและเสรีภาพอย่างท่วนหน้าและเท่าเทียม
หนังสือ : Jokebook: รวมมุกตลกที่อ่านจบแล้วอยากกด like
โดย : Bunlue
จำนวน : 95หน้า
ราคา : 79 บาท
ในช่วงหลายปีมานี้เราค้นพบว่าคำว่า "โบ๊ะบ๊ะ" ที่โดยส่วนใหญ่จะเอามาเล่นหรือใช้กับการ "ตบมุกตลก" ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งทั้งในหน้าของ Facebook และเวลาที่เพื่อนหลายคนพูดคุยต่อมุกกันอย่างต่อเนื่องเรามักจะได้ยินคนพูดว่า "พวกนี้มันตบมุก 'โบ๊ะบ๊ะ' กันจังวะ" ซึ่งเราเองก็ไม่ได้สนใจที่มาของคำและความหมายของมันสักเท่าไหร่ กระทั่งเมื่อต้องเขียนรีวิวชิ้นนี้ เราเลยต้องย้อนกลับไปหา "ความหมาย" ของคำว่า "โบ๊ะบ๊ะ" ว่าแม่งมาจากไหนและหมายความว่ายังไงกันแน่ และเท่สที่ค้นหาจาก Pantip เราพบว่ามีคนให้นิยามโบ๊ะบ๊ะเอาไว้สั้น ๆ ดังนี้ "ประมาณว่าเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย เช่น 'ตบมุกโบ๊ะบ๊ะ' หมายถึงคนนึงเล่นมุก อีกคนตบมุกตาม ไหลไปได้เรื่อย ๆ ประมาณนี้ป่าว" (เสือกมี "ป่าว" ให้กูไม่มั่นใจอีก) ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่ามันถูกหรือใช่รึเปล่าถ้าใครมีที่มาหรือแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมก็แนะนำกันหน่อย แต่เท่าที่เราเห็นด้วยตาตัวเองเรารู้สึกว่ามุกโบ๊ะบ๊ะมันสามารถพบได้บ่อยครั้งที่เพจ "โดนไล่มาเล่นในนี้" ที่พออ่านหลาย ๆ ความเห็นเราจะพบว่า "แม่งโบ๊ะบ๊ะชิบหาย" ซึ่งเราก็ยังไม่แน่ใจความหมายของมันอยู่ดี
สำหรับหนังสือ "Jokebook: รวมมุกตลกที่อ่านจบแล้วอยากกด like" คือความพยายามของการบอกเล่าเรื่องราวของมุกโบ๊ะบ๊ะ ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะปรากฏขึ้นมาก่อนที่คำว่า "มุกโบ๊ะบ๊ะ" จะเริ่มแพร่หลายในสังคมไทย เพราะไม่เช่นนั้นหนังสือเล่มนี้อาจจะต้องมีคำที่พูดถึงมุกโบ๊ะบ๊ะบ้างไม่มากก็น้อย
แต่โดยสรุปแล้ว "Jokebook: รวมมุกตลกที่อ่านจบแล้วอยากกด like" คือการพยาบามนำเสนอรูปแบบของบทสนทนาผ่านมุกโบ๊ะบ๊ะผ่านรูปแบบของช่องสนทนาทาง Facebook ที่ถูกจำลองมาไว้ในหนังสือ ซึ่งต้องย้อมรับตรง ๆ ว่าบางมุกก็ขำดีแต่บางมุกก็ดู "จางไปหน่อย" เอาเป็นว่าหลายมุกที่ปรากฏในหนังสือนี้ เราหลาย ๆ คนอาจจะเล่นมุกโบ๊ะบ๊ะทั้งใน Facebook และในวงเหล้ากับเพื่อนของพวกเราได้สนุกมากกว่าและโบ๊ะบ๊ะมากกว่าหนังสือ "Jokebook: รวมมุกตลกที่อ่านจบแล้วอยากกด like" หลายเท่านัก นั่นก็เพราะคนแต่ละกลุ่มจะมีภาษาและความสามารถในการตีความภาษาผ่านประสบการณ์ร่วมได้มากกว่าคนนอกกลุ่ม นั่นทำให้ "มุกโบ๊ะบ๊ะ" จะโบ๊ะบ๊ะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการตีความความหมายร่วมกันได้ของคนแต่ละกลุ่มคน อาทิ "ไอ้เหี้ยตู่หรือเปล่า ไอ้เหี้ยตู่ไม่น่ารักหรือเปล่า" การที่เราจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ เราต้องเข้าใจความหมายร่วมกันของคำบางคำเสียก่อน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in