รีวิวเว้ย (632) หลายคนในที่นี้น่าจะเกิดและเติบโตมากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นบ้างไม่มากก็น้อย บางคนเติบโตมากับวัฒนธรรมสินค้าญี่ปุ่น บางคนเติบโตมากับกระแส J-Pop บ้าง J-Rock บ้าง หรือบางคนก็เติบโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่นบ้าง และแน่นอนว่าบางคนอาจจะเติบโตมากับหนัง AV ของญี่ปุ่น ย้อนกลับไปก่อนการเข้ามาของวัฒนธรรมเกาหลีในสังคมไทย วัฒนธรรมของญี่ปุ่นมีบทบาทแข็งขันอย่างมากในประเทศไทย และแน่นอนว่าหนึ่งในกระแสที่มาแรงในประเทศไทยของญี่ปุ่นไม่แพ้หลาย ๆ อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องลึกลับ ตำนาน ความเชื่อ ภูติผีและปีศาจ ที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในหนังญี่ปุ่นบ้าง การ์ตูนญี่ปุ่นบ้าง หรือแม้กระทั่งหนังสือนิยายบางเล่มก็หยิบเอาตำนานเหล่านั้นมาเป็นตัวขยายเนื้อความ และเป็นตัวหลักในการเดินเรื่องของนิยาน
หนังสือ : ตำนานปีศาจญี่ปุ่น
โดย : Shigeru Mizuki
จำนวน : 145 หน้า
ราคา : 280 บาท
แต่ความคิดที่สำคัญอันหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นในประเทศไทย น่าจะเป็นเรื่องของตำนานของภูติผี และเทพเจ้าที่ติดตรึงในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน ที่นอกเหนือไปจากเรื่องของความสยองพองขนแล้วก็ยังแฝงไปด้วยความน่ารักอย่างกลุ่มปีศาจในเรื่อง "คิทาโร่" ที่ช่วยขยายภาพจำของความน่านักของเหล่าอสูรของญี่ปุ่นให้ติดตาใครหลาย ๆ คนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มของอสูรที่มาจากของกินและของใช้อย่าง "คาซะโอบาเกะ" หรือ "ผีร่ม" และ "โชชินโอบาเกะ" หรือ "ผีโคมไฟ" ภาพจำเหล่านี้กลายเป็นหนึ่งภาพจำของเหล่าภูติ ผี ปีศาจ อสูร ของญี่ปุ่น
แต่เอาเข้าจริงแล้วแนวคิดสำคัญในเรื่องของ "ผีเครื่องใช้" นั้นมาจากรากความคิดของลัทธิเต๋า ที่ขยายตัวเข้าไปในญี่ปุ่น และด้วยความเชื่อของเต๋าว่าสรรพสิ่งล้วนมีวิญญาณของตัวเองภายใต้วิธีคิดของ "ซึคุโมกามิ (Tsukumogami)" ที่สิ่งของต่าง ๆ เมื่อไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือถูกทำให้เสียหายด้วยเหตุผลบางประการจะส่งผลให้สิ่งของเหล่านั้นกลายไปเป็นเหล่าอสูรที่เราเคยเห็นกันตามหนังสือ หนังและการ์ตูน ซึ่งรากวิธีคิดแบบซึคุโมกามินี้เอง ที่ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในแนวคิดในการปกปักษ์รักษาสิ่งของของญี่ปุ่นเอาไว้ ทำให้เราจะได้มีโอกาสในการเห็นของใหม่และของเก่าอยู่ร่วมกันในสังคมญี่ปุ่นได้อย่างกลมกลืน ซึ่งแนวคิดซึคุโมกามิ (Tsukumogami) เป็นเพียงหนึ่งในแนวคิดที่ทำให้การเก็บรักษาสิ่งของเหล่านั้นดำรงอยู่มากระทั่งปัจจุบัน
สำหรับหนังสือ "ตำนานปีศาจญี่ปุ่น" เล่มนี้ถูกเขียนขึ้นในลักษณะของการเขียนสาราณุกรมในการบอกเล่าเรื่องราวของปีศาจญี่ปุ่น โดยในเล่มได้มีการรวบรวมเรื่องราวของปีศาจตัวต่าง ๆ เอาไว้พร้อมทั้งบอกถึงที่มา ความเชื่อ ความสามารถและนิสัยของปีศาจแต่ละชนิดเอาไว้ โดยที่ปีศาจแต่ละตัวนั้นไม่ได้มีรากที่มาจากญี่ปุ่นแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เราจะพบว่าปีศาจหลายตัวใน "ตำนานปีศาจญี่ปุ่น" เป็นปีศาจที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศจีน ในช่วงที่ญี่ปุ่นและจีนติดต่อทำการค้ากันเมื่อหลายร้อยปีก่อน อาทิ จิงจองเก้าหาง หรือที่เรียกชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า "คิวบิ โนะ คิซึเนะ"
ซึ่งนอกเหนือไปจากเรื่องเล่าต่าง ๆ ของปีศาจญี่ปุ่นแล้ว "ตำนานปีศาจญี่ปุ่น" ยังช่วยให้เราเห็นภาพในเรื่องของปฏิสัมพันธ์ทางด้านความเชื่อ วิถีชีวิต และรูปแบบของสังคมญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ปีศาจแต่ละตัวปรากฎขึ้น หรือแม้กระทั่งความชอบหรือนิสัยของปีศาจแต่ละตัวก็จะมีความสอดรับกับบริบทของสังคมญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่เกิดการปรากฏขึ้นของปีศาจแต่ละตัวด้วยเช่นกัน
อาจจะเรียกได้ว่า "ตำนานปีศาจญี่ปุ่น" เป็นหนึ่งในหนังสือที่พาเราไปทำความรู้จักกับญี่ปุ่นในอีกแง่มุมหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ ผ่านมิติในเรื่องของความเชื่อที่ผูกโยงสังคมและคนในสังคมญี่ปุ่นเอาไว้มาเป็นเวลากว่าหนึ่งพันปี
อ่านเพิ่มเติมข้อมูลเรื่อง : Tsukumogami: ซึคุโมกามิ เมื่อของใช้กลายเป็นผี ที่ https://kiji.life/tsukumogami/
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in