รีวิวเว้ย (630) เวลาในหลาย ๆ สังคมหรือหลาย ๆ ศาสนามีรูปแบบของการเดินของเวลาไม่เหมือนกัน อธิบายอย่างง่ายที่สุดผ่านความต่างของศาสนาในแบบของ "พุทธ" และ "คริสต์" เราจะเห็นความต่างในเรื่องเวลาของศาสนาทั้ง 2 แบบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของเวลาในแบบที่เดินไปข้างหน้าและเวชาในแลบที่เดินเป็นวงกลม ซึ่งแนวคิดเรื่องเวลาทางศาสนาของทั้ง 2 ศาสนานี้ต่างเป็นตัวกำกับพื้นฐานในเรื่องของวิถีชีวิต ความเชื่อ ขนบวัฒนธรรม ประเพณี หรือแม้กระทั่งเรื่องของการเมือง ความเชื่อในเรื่องเวลาในแบบของพุทธศาสนานั้นมีความเชื่อในเรื่องของเวลาที่เดินเป็น "วงกลม" หรือที่ปรากฎในคำสอนทางศาสนาที่ว่าเวลาเป็น "วัฏจักร" หรืออย่างที่ปรากฎชัดในแนวคิดเรื่องของ "สังสารวัฏ" หรือการเวียนว่ายตายเกิด หากเราพิจารณาในคติของคริสต์ศาสนาเราจะพบว่าเวลาของคริสต์นั้นเดินเป็น "เส้นตรง" ไปข้างหน้าเพื่อรอให้ถึงเวลาที่พระเจ้าจะพิพากษาโลกและวิญญาณทุกดวงพร้อม ๆ กัน แนวคิดเรื่องของเวลาในลักษณะนี้จึงส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของสังคมหนึ่ง ๆ ที่มีศาสนาเป็นตัวกำหนด
หนังสือ : หมุนนาฬิกาสู่เวลาทางสังคม
โดย : ฐานิดา บุญวรรโณ
จำนวน : 176 หน้า
ราคา : 195 บาท
"หมุนนาฬิกาสู่เวลาทางสังคม" เป็นหนังสือวิชาการอีกเล่มหนึ่งที่พาเราไปทำความรู้จักกับแนวคิดในเรื่องของ "เวลาทางสังคม" หรือแนวคิดในเรื่องของเวลาในการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องเวลาในมิติของบริบททางสังคมวิทยา
"หมุนนาฬิกาสู่เวลาทางสังคม" พาเราไปรู้จักกับสำนักคิดสำคัญที่มุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษา "เวลาทางสังคม" โดยเฉพาะนักคิดอย่างเดอร์ไคม์ บุคคลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งวิชาสังคมวิทยา" ที่มุ่งเน้นการศึกษาวิธีวิทยาทางสังคมวิทยาแบบโครงสร้างนิยม โดยศึกษาสิ่งที่เรียกว่า "ความจริงทางสังคม" ที่ในระยะหลังการศึกษาในกลุ่มนี้นำเอาแนวคิดเรื่องของ "เวลา" เข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดกรอบของการศึกษาทางสังคมวิทยาแบบโครงสร้างนิยมที่มุ่งเน้นเรื่องของความจริง
อาจจะเรียกได้ว่า "หมุนนาฬิกาสู่เวลาทางสังคม" ได้ชวนให้เราตั้งคำถามในเรื่องของการศึกษาในเรื่องของเวลาทางสังคม ที่ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในกลไกกำหนดรูปแบบของ "ความจริงทางสังคม" ที่หลายพื้นที่แนวคิดดังกล่าวปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อศึกษามันภายใต้กรอบคิดของเวลาทางศาสนา เหมือนกับ "การเมืองไทย" หากเรามองมันในบริบทของเวลาแบบศาสนาพุทธ เราอาจจะเห็นว่าทำไมคนบางกลุ่มจึงหลุดไม่พ้นกรอบที่ว่า ทุกอย่างล้วนมีเบื้องหลัง หรือเพราะพวกเขาย้อนกลับไปคิดถึงบริบทแบบเดียวกันกับช่วงเวลาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in