รีวิวเว้ย (628) ความเชื่อในเรื่องของผี ปีศาจ อสูร น่าจะเป็นความเชื่อหลักของหลาย ๆ สังคมบนโลกกลม ๆ ใบนี้ก่อนที่การเข้ามาของศาสนาจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันผีประจำถิ่นออกไป หรือแม้กระทั่งในหลายพื้นที่ของสังคมศาสนาที่เข้ามาใฟม่ก็ได้ทำการดูดกลืนเอาผีประจำถิ่นให้กลายเป็นหนึ่งในผีของศาสนาเพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมบางประการให้กับการเข้ามาของศาสนาและเพื่อที่จะทำให้คนที่มีความเชื่อแต่เดิมของสังคมเก่ารับเอาศาสนาใหม่ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือการเข้ามาของพุทธศาสนาในสังคมไทย ที่ในท้ายที่สุดแล้วพุทธก็ควบรวมเอาผี และเอาความเชื่ออื่น ๆ เข้ามาร่วมกันจนสร้างศาสนาพุทธแบบไทยขึ้นในท้ายที่สุด ซึ่งหากเราไปย้อนดูในหลาย ๆ ศาสนาของโลกใบนี้กลไกดังกล่าวก็ปรากฎขึ้นในเกือบทุกศาสนาด้วยเช่นกัน อย่างศาสนาอิสลามที่มีการนับเอา "พระเยซู" เป็นหนึ่งในศาสนฑูตของศาสนาอิสลามเช่นกันในชื่อของนักบุญ "อีซา" หรืออย่างพระพุทธเจ้าเองก็ถูกทำให้กลายเป็นหนึ่งในปางค์อวตาลของพระนารายณ์ได้ด้วยเช่นกัน เราจะเห็นว่าตำนานในเรื่องของภูติ ผี ปีศาจ ในแต่ละสังคมนั้นล้วนถูกสร้างขึ้นใหม่และดูดกลื่นให้กลายเป็นของอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ได้เสมอ รวมถึงความเชื่อของญี่ปุ่นเองก็เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีความเชื่อทางด้านศาสนาที่แยกขาดจากกันอย่างชัดเจนทั้ง ชินโต และพุทธ แต่ศาสนาทั้งสองดังกล่าวก็ยังยึดโยงกันผ่านเรื่องเล่า ตำนานและความเชื่อที่มีมาช้านานของสังคมญี่ปุ่นเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเราพิจารณาในเรื่องของความเชื่อเรื่อง "ปีศาจ" ของญี่ปุ่นก็จะพบว่าพื้นฐานความเชื่อในเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจน และสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และอาจจะเรียกได้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งของโลกที่มีปีศาจมากชนิดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้
หนังสือ : ยายนงนงกับผม: ที่มาของตำนานปีศาจญี่ปุ่น
โดย : Shigeru Mizuki
จำนวน : 405 หน้า
ราคา : 295 บาท
"ยายนงนงกับผม: ที่มาของตำนานปีศาจญี่ปุ่น" เป็นหนังสือการ์ตูนที่บอกเล่าเรื่องราวของสังคมญี่ปุ่นในช่วงยุคโชวะ (ค.ศ. 1926 – 1989) ในพื้นที่ต่างจังหวัดของญี่ปุ่น โดยที่มีตัวเอกของเรื่องคือเด็กชายที่มีความสนใจในเรื่องของความเป็นสมัยใหม่ แต่ก็ยังคงเชื่อเรื่องของภูติผีในตำนานของญี่ปุ่น โดยที่มียายนงนง ยายข้างบ้านที่มีความเชื่อในเรื่องดังกล่าวอย่างกล้าแกร่ง ที่จะคอยบอกเล่าเรื่องราวของปีศาจชนิดต่าง ๆ ที่ผูกโยงอยู่กับวิถีชีวิต ความเชื่อและพิธีกรรมที่สอดประสานไปกับผู้คนในประเทศญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น
ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าหนังสือเรื่อง "ยายนงนงกับผม: ที่มาของตำนานปีศาจญี่ปุ่น" ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงหนังสือการ์ตูนแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ "ยายนงนงกับผม: ที่มาของตำนานปีศาจญี่ปุ่น" ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการบอกเล่าถึงเรื่องราวและวิถีชีวิตของผู้คนในต่างจังหวัดของญี่ปุ่นในช่วงยุคโชวะ ที่นอดเหนือไปจากเรื่องของความเชื่อแล้ว "ยายนงนงกับผม: ที่มาของตำนานปีศาจญี่ปุ่น" ยังฉายให้เราเห็นถึงสภาพของสังคมญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
หากใครอยากทำความเข้าใจในเรื่องของความเชื่อ และชุดความคิดบางอย่างที่ผลักดันให้ญี่ปุ่น หยัดยืนมาจนกระทั่งปัจจุบันได้ หนังสือ "ยายนงนงกับผม: ที่มาของตำนานปีศาจญี่ปุ่น" อาจจะให้คำตอบของคำถามดังกล่าวได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in