รีวิวเว้ย (626) มีคนเคยบอกเอาไว้ว่า "ถ้าใครสักคนเชื่อประวัติศาสตร์ ฉบับกระทรวงศึกษาฯ นั่นเท่ากับว่าตาของเขาบอดสองข้าง" เป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่นักวิชาการรุ่นใหญ่ทางด้านรัฐศาสตร์ของประเทศไทย ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ขับเคลื่อนวงการการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ของประเทศนี้มาในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในทุกวันนี้เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายมาเป็นนักวิชาการที่อาจจะเรียกได้ว่า "ตาบอด" เพราะนอกจากเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาฯ แล้ว เขายังเป็นหนึ่งในบุคคลที่ขยายความเชื่อแห่งความ "บอดใบ้" ให้กระจายออกสู่สังคมในวงกว้าง หนังสือเล่มนี้ (พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย) เราขอเรียกมันว่าเป็นหนังสือ "เทิดพระเกียรติของสถาบัน ที่ปราศจากหลักการทางวิชาการ" เพราะในแทบทุกหน้าของหนังสือเล่มนี้ เราพบว่าสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นคือ "ความเห็น" ไม่ใช่งานวิชาการและงานเขียนตลอดทั้งเล่มไม่มีส่วนของ "การอ้างอิงทางวิชาการ" แม้แต่จุดเดียว นอกจากนั้นแล้วหนังสือ "พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย" มีหลายจุดหลายตอนที่ทำให้เราในฐานะของคนอ่าน ที่อ่านหนังสือมาบ้างพอสมควร พบว่าหนังสือเล่มนี้มีข้อความในหลายจุดหลายตอนที่ขัดกับหลักฐานการศึกษาทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง หลายช่วงหลายตอนผู้เขียนรู้สึกว่าบางกระทู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวดังกล่าวใน Pantip ยังดูมีน้ำหนักของข้อมูลที่น่าเชื่อถือยิ่งกว่า ย้อนกลับมาที่ข้อเขียนในเล่ม "พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย" ทำให้เรารู้สึกว่าคนอย่างผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ไม่น่าจะที่จะมองข้ามหลักการเรื่อง "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" ที่นักวิชาการหลายท่านได้พูดไว้ในหลายวาระหลากโอกาสในเรื่องของ "สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย" โดยความหมายของ “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” หมายถึง "พระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นบุคคลซึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกตั้ง หรือทรงเป็นกษัตริย์ของปวงชน" หลักการนี้เป็นหนึ่งในหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 หากงานเขียนชิ้นนี้มองข้ามหลักการสำคัญดังกล่าวไปได้อย่างน่าตาเฉย นั้นทำให้เราในฐานะผู้อ่านรู้สึกว่างานเขียนชิ้นนี้ ไม่แตกต่างไปจากงานประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาฯ ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบรัฐบงการและรัฐบัญญัติเท่านั้น
หนังสือ : พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย
โดย : เอนก เหล่าธรรมทัศน์
จำนวน : 160 หน้า
ราคา : 200 บาท
หนังสือ "พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย" ไม่ใช่หนังวิชาการ หากแต่เป็นหนังสือที่อาจจะเรียกได้ว่าคือการ "โฆษณาชวนเชื่อ" ในเรื่องของ "พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย" ที่ผู้เขียนไม่มีแม้กระทั่งการอ้างอิงตามหลักวิชาการ เนื้อหาของ "พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย" บอกเล่าทัศนะของผู้เขียนที่มีต่อ "พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย" เท่านั้น และทัศนะดังกล่าวก็เป็นทัศนะที่ตัดขาดจากหลักฐานทางวิชาการ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หาอ่านได้ตามห้องสมุด และหลักฐานบางชิ้นสามารถหาอ่านออนไลน์ได้ง่าย ๆ เพียงแค่เข้าไปหาใน Google
หากให้พูดถึงหนังสือ "พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย" เราขอพูดถึงหนังสือเล่มนี้ผ่านคำติดปากของ อาจารย์ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เชี่ยวชาญ 2475 เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยว่า "ชุ่ยดีจริง ๆ เลย" คำนี้น่าจะสั้น กระชับ ได้ใจคสามที่สุดในการอธิบายถึงหนังสือ "พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in