รีวิวเว้ย (625) เวลาที่เราพูดถึง "สิงคโปร์" ในความรับรู้ของเราเกี่ยวกับประเทศแห่งนี้ คงมีอยู่ไม่กี่อย่างที่พุดขึ้นมาในหัวของเราอย่างทันท่วงที อาจจะมีเรื่องของประเทศขนาดเล็กที่มีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย ประเทศเล็ก ๆ ที่มีมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของเอเชีย ประเทศเล็ก ๆ ที่มีร้านอาหารอร่อย ๆ ระดับต้น ๆ ของเอเชีย และประเทศเล็ก ๆ ที่มีอะไรหลาย ๆ อย่างเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย ความน่าแปลกประหลาดของสิงคโปร์เริ่มต้นจากการเป็น "ประเทศเล็ก ๆ" ที่อาจจะเรียกได้ว่าทรงอิทธิพลเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคนี้ แต่ความน่าประหลาดอย่างหนึ่งของสิงคโปร์คือเรื่องของการเมืองภายในประเทศ ที่ดูจะเป็นพื้นที่สงวนสำหรับการพูดถึงและการศึกษาในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองและการเมืองร่วมสมัยของประเทศสิงคโปร์ นอกจากนั้นแล้ววงการของศิลปะที่แสดงออกในเรื่องของสัญลักษณ์ทางการเมือง หรือที่เราอาจจะรู้จักในฐานะของการ์ตูนการเมืองของประเทศสิงคโปร์ก็ดูจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนน่าจะสงสัยว่าในประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้มีลักษณะของการแสดงออกทางด้านศิลปะทางการเมืองหรือไม่ หรือรัฐบาลมีการนำเอาศิลปะมาเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนอุดมการณ์บางอย่างของรัฐอย่างไรกัน
หนังสือ : The Art of Charlie Chan Hock Chye (ศิลปะของชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่)
โดย : Sonny Liew แปล นันทพร โพธารามิก
จำนวน : 320 หน้า
ราคา : 650 บาท
"ศิลปะของชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเขียนการ์ตูนที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนยุคแรก ๆ ของประเทศสิงคโปร์ที่ทำงานมาตั้งแต่สิงคโปร์ยังไม่แยกตัวออกมาเป็นประเทศ โดยที่ "ศิลปะของชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่" ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวและผลงานของชาร์ลี เฉิน ทั้งในเรื่องของความเป็นมาของชีวิตเขา ความเป็นมาของการสร้างงาน และแนวทางในการสร้างงานการ์ตูนที่บันทึกเรื่องราวของชาติสิงคโปร์ตั้งแต่ยุคที่ยังอยู่ใต้อิทธิพลของอังกฤษ กระทั่งยุคปัจจุบันที่สิงคโปร์มีสถานะเป็นประเทศที่ทรงอำนาจประเทศหนึ่ง
"ศิลปะของชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่" บึนทึกเรื่องราวของยุคสมัยของสิงคโปร์ผ่านรูปแบบของการ์ตูน และตัวละครสมมุติที่ถูกสร้างขึ้นมาและวางลงไปบนบริบทของเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ทั้งเรื่องของการประท้วงของนักเรียนนักศึกษาที่มีต่อรัฐบาลอังกฤษ กระทั่งถึงการวิจารณ์การเมืองหลังจากที่สิงคโปร์กลายมาเป็นประเทศ งานเขียนของชาร์ลี เฉิน ตั้งคำถามต่อการทำงานของ ลี กวน ยู ที่กระทำต่อ หลิม จิง ชียง ที่ทำงานรวมกันมาในช่วงชองการสร้างชาติ และในท้ายที่สุดหลิม จิง ชียง ต้องกลายไปเป็นคอมมิวนิสต์และถูกขับออกจากประเทศที่เขาร่วมสร้างขึ้นมากับลี กวน ยู ความน่าขันของ "ศิลปะของชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่" คือบทตอนที่ว่าด้วยเรื่อง "ลี กวนยู กับ หลิม จิง ชียง" ที่ถูกถ่ายทอดเอาไว้ในตอน "เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้" คือผลงานที่ชาร์ลี เฉิน เขียนเอาไว้นานแล้วแต่ "ไม่เคยตีพิมม์" และในเล่ม "ศิลปะของชาร์ลี เฉิน ฮก ไฉ่" จะมีงานแนว ๆ ที่เขียนเอาไว้แต่ไม่เคยได้ตีพิมพ์จริง ๆ ในบางช่วงของประวัติศาสตร์สิงคโปร์ ปรากฏอยู่ในหลายช่วงหลายตอนของหนัลสือเล่มนี้ นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศเล็ก ๆ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเบอร์ต้น ๆ ของเอเชีย ก็มีเรื่องราวที่จำเป็นต้องปกปิดและปิดบัง เพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งความชอบธรรมบางประการของเหล่าผู้ปกครอง
เช่นนั้นแล้วจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เวลาใคร ๆ พูดถึงประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ เรื่องของ "การเมืองสิงคโปร์" จึงไม่ค่อยปรากฏในบริบทของการพูดถึงสักเท่าไหร่นัก นอกจากบริบทของการเชิดชูผู้นำรุ่นก่อร่างสร้างประเทศอย่าง ลี กวน ยู ซึ่งดู ๆ แล้วมันก็แทบไม่ต่างอะไรกับประเทศไทย ประเทศที่เรื่องบางอย่างเราก็รู้อยู่แก่ใจ แต่ก็ไม่มีใครอยากจะพูดถึงในที่สาธารณะทั้งที่จริง ๆ แล้ว การพูดถึงสิ่งเหล่านั้น อาจจะช่วยให้เราเข้าใจภาพของประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไปของประเทศนี้ก็เป็นได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in