เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ราชาธิปไตย By เอนก เหล่าธรรมทัศน์
  • รีวิวเว้ย (618) มีใครสักคนนี่แหละเคยบอกเอาไว้ว่า "เราไม่ควรวิจารณ์หนังสือเล่มใด ๆ จากหน้าปก" เพราะในหลายครั้งการออกแบบหน้าปกของหนังสือก็ไม่ได้สะท้อนความจริงแท้ของโครงเรื่องของหนังสือเล่มนั้น ๆ และหน้าปกของหนังสือก็ไม่สามารถสะท้อนตัวตนของผู้เขียนได้เช่นกัน นี่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ในยุคหลัง ๆ มาการออกแบบปกหนังสือแต่ละเล่มจะได้รับการตีความจากผู้ออกแบบปกให้มีความสอดรับกับเนื้อความ เนื้อหาในเล่ม หรือแม้กระทั่งสอดรับกับรสนิยมของตัวผู้เขียน "ราชาธิปไตย : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ และสังคม-การเมืองไทย" จัดอยู่ในรูปแบบของการออกแบบปกหนังสือที่สะท้อน "รสนิยมและตัวตน" ของผู้เขียนที่มันสะท้อนออกมาในรูปแบบของความซื่อตรงซึ่งความคิดของผู้เขียนต่อสิ่งที่เขาเขียน ซึ่งสิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับตัวตนและงานเขียนหลายชิ้นของผู้เขียนเมื่อสมัยที่เขายังเป็นหนุ่ม เคยมีอีกคำพูดหนึ่งบอกเอาไว้ว่า "คนเราเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ"
    หนังสือ : ราชาธิปไตย : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ และสังคม-การเมืองไทย
    โดย : เอนก เหล่าธรรมทัศน์
    จำนวน : 96 หน้า
    ราคา : 150 บาท

    "ราชาธิปไตย : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ และสังคม-การเมืองไทย" งานเขียนที่มาจากการรวบรวมข้อความใน Facebook, บทสัมภาษณ์ และบทความข้อเขียนขนาดสั้นในสื่อต่าง ๆ ของ "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" ที่ว่าด้วยเรื่องของ "สถาบันพระมหากษัติย์" ในทัศนะของผู้เขียน ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราว เรื่องเล่า และตำนานเกี่ยวกับสถาบันฯ ผ่านมุมมองและแนวคิดของผู้เขียน

    โดยงานเขียนชิ้นต่าง ๆ ใน "ราชาธิปไตย : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ และสังคม-การเมืองไทย" นับเป็นการยกสถานะของสถาบันฯ ผ่านมุมมองของผู้เขียนที่มากเกินจริง ทั้งเรื่องของการพัฒนาประเทศ ระบบการศึกษา การสาธารณะสุข ที่ผู้เขียนเขียนไปในแนวทางที่บอกโดยตรงว่าคุณค่าและการเกิดขึ้นของการพัฒนาเหล่านี้เกิดขึ้นจากการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ การที่คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นก็เป็นผลมาจากการมีสถาบันพระมหากษัตริย์

    ข้อเขียนหลายบทหลายตอนใน "ราชาธิปไตย : ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ และสังคม-การเมืองไทย" ทำให้เราในฐานะผู้อ่านได้แต่คิดดัง ๆ ว่า "เอนก มาไกลมาจริง ๆ" เมื่อเทียบกับในอดีต อะไรกันที่ทำให้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่เป็นต้นทางของแนวคิด "สองนคราประชาธิปไตย" มาได้ไกลถึงขนาดที่เขียนว่า "...เราจะเรียกระบอบของไทยว่า 'ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข' นั้นจะถูกหรือ ผมเห็นว่าที่แจ่มชัดนั้นเรียกว่า 'ระบอบราชาธิปไตย' ได้มากกว่า และเป็นราชาธิปไตยที่อยู่กับเลือกตั้ง-ประชาธิปไตยก็ได้ หรือต้องอยู่กับการยึดอำนาจ-เผด็จการก็ได้..." (น.66)

    ไม่น่าเชื่อว่าผู้เขียนเขาจะมาไกลได้ถึงขนาดนี้ แต่ก็เข้าใจได้เพราะมาไกลมาจากวันเริ่มต้น เขาถึงได้เป็นแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

    ขอปิดท้ายด้วยคำของอาจารย์ท่านหนึ่งว่า "ประชาธิปไตยที่มีคำคุณศัพท์ตามท้าย นั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in