รีวิวเว้ย (588)
"ประชาธิปไตยคือการออกเสียงของคนส่วนใหญ่
พวกเราต่างเป็นคนไทย มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจ
ขอแรงชาวไทยทุกท่านช่วยร่วมแรงกันผลักดันชาติไป
Throw your hands into the sky
มาเถิดชาวไทย เรามายกมือกัน"
ถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่เราเป็นเด็ก เนื้อเพลง "ยกมือขึ้น" ของพี่โจ้ โจอี้บอย คงเป็นอะไรที่เราไม่เข้าใจความหมายในท่อนแรกของเพลงที่บอกเอาไว้ว่า "ประชาธิปไตยคือการออกเสียงของคนส่วนใหญ่" เพราะตอนที่ได้ฟังเพลงนี้แรก ๆ นอกจากความสนุกของจังหวะเพลงแล้วเราก็แทบจะไม่เข้าใจในเนื้อหาของท่อนเปิดของเพลงนี้เลย กระทั่งโตขึ้นมาหน่อยก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า "ประชาธิปไตยคือการออกเสียงของคนส่วนใหญ่" จริง ๆ แต่วิธีการแบบไหนกันหว่า ที่จะทำให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าไป "มีส่วนร่วม" ตามเนื้อเพลงที่พี่โจ้บอกเอาไว้ได้ แน่นอนว่าถ้าเป็นสมัยแรกเริ่มการเข้าไปมีส่วนร่วมในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนของรัฐสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยตรง (ประชาธิปไตยทางตรง) แต่เมื่อรัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น มีคนมากขึ้น การรวมคนหลายล้านถึงหลายพันล้านเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้พวกเขาเข้ามาใช้สิทธิโดยตรงตามระบอบประชาธิปไตยทางตรงนั้น แค่ให้ลองนึกภาพก็คิดไม่ออกแล้ว เหตุนี้ประชาธิปไตยแบบ "ตัวแทน" จึงเกิดขึ้ยมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และวิธีการเลือกตัวแทนที่ดูจะเป็นประชาธิปไตยและเข้าทีมากกว่าการ "จับฉลาก" ก็คงหนี้ไม่พ้น "การเลือกตั้ง" และด้วยเหตุนี้เอง "ระบอบประชาธิปไตย" กับ "การเลือกตั้ง" จึงกลายเป็นคู่รักที่ไปไหนมาไหนด้วยกันแบบแทบจะไม่พรากจากกันเลย เป็นที่มาที่ทำให้ทุกคนเข้าใจไปเองว่า "การเลือกตั้ง = ประชาธิปไตย" ที่ซึ่งใยทางปฏิบัติแล้วอาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะประเทศเผด็จการหลายแห่งก็ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องค้ำยันสถานะของตนเองตลอดมา
หนังสือ : WHEN WE VOTE พลวัตรการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน
โดย : ประจักษ์ ก้องกีรติ
จำนวน : 336 หน้า
ราคา : 380 บาท
"WHEN WE VOTE พลวัตรการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการศึกษาสภาวะของความเป็นประชาธิปไตยของประเทศทั้งสี่อันได้แก่ ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยทำการศึกษาผ่าน "การเลือกตั้ง" ในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น โดยดูที่เรื่องของพลวัตรของการเปลี่ยนผ่านของการเลือกตั้ง ทั้งตัวโครงสร้าง และระบบการเลือกตั้งของประเทศต่าง ๆ ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร และอะไรคือปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลของการเลือกตั้งในบางประเทศได้ในแบบที่ ภาษาหยัลสือพิมพ์ชอบใช้ว่า "หักปากกาเซียน"
"WHEN WE VOTE พลวัตรการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน" ได้อธิบายถึงพลวัตรการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระบบเลือกตั้ง ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงบริบทต่าง ๆ ของสังคมของแจ่ละประเทศ โดยมุ่งอธิบายการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นผ่านประวัติศาสตร์และภูมิหลังทางการเมืองที่มีความน่าสนใจ และรวมไปถึงกระแสที่เกิดขึ้นใหม่อย่างพลังของคนรุ่นใหม่ที่ส่งผลโดยตรงทางการเมือง และในหลายประเทศที่ถูกเขียนเอาไว้ใน "WHEN WE VOTE พลวัตรการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน" ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าคนรุ่นใหม่หลายครั้งทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศหนึ่ง ๆ ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง
อาจจะเรียกได้ว่า "WHEN WE VOTE พลวัตรการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน" เป๋นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของพลวัตรการเลือกตั้งของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในอาเซียนได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในเรื่องของการตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบการเลือกตั้งของแต่ละประเทศ ว่าในท้ายที่สุดแล้วพลวัตรที่เกิดขึ้นอยู่นี้จะเปลี่ยนแปลงประเทศเหล่านี้ไปได้ถึงเพียงไหน และการเปลี่ยนแปลงจะเดินหน้าสู่จุดหมายในรูปแบบใดกัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in