เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
สื่อสนุกสำนวนไทย By ล้อม เพ็งแก้ว
  • รีวิวเว้ย (586) "ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ เป็นภาษาที่มีความสูงส่ง เป็นภาษาที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นภาษาที่คนไทยต้องให้ความสำคัญ อย่าทำให้ภาษาไทยต้องวิบัติ" หลายปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินข้อความแนว ๆ นี้อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเกิด "คำใหม่" ขึ้นในภาษาไทยที่กลายเป็นกระแสนิยมของคนในยุคปัจจุบัน อาทิ ชั่ย, จุงเบย, อะเคร ฯลฯ เมื่อนั้นเราจะเห็นการต่อสู่แบบเดิม ๆ ของคนบางกลุ่ม เพื่อเรียกร้องใช้มีการใช้ภาษาไทยที่ "ถูกต้อง" คำถามสำคัญที่กลุ่มผู้เรียกร้องความถูกต้องอาจจะลืมตั้งคำถามคือ "ภาษาไทยที่ถูกต้องมีหน้าตาเป็นยังไง (?)" เพราะเอาเข้าจริงถ้าเราย้อนกลับไปถึงสมัยที่ใครหลายคนพูดถึงว่าเป็นช่วงต้นของการกำเนิดขึ้นของภาษาไทย อย่างในสมัยสุโขทัย เราจะเห็นว่าหน้าตาของตัว "สือไท" ในศิลาหลักที่ 1 กับหน้าตาของตัว "หนังสือไทย" ในปัจจุบัน ห่างไกลกันมากพอควร หากไปย้อนไปไกลถึงขนาดนั้นเอาแค่ช่วงก่อนสมัยของจอมพล ป. เราจะพบว่าคำหลายคำเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเขียน การสะกด และหลายคำเปลี่ยนความหมายไปเลยก็มี ดังนั้นแล้วเวลาที่กลุ่มผู้รักภาษาไทยขึ้นสมอง ออกมาเรียกร้องหาความถูกต้องของการใช้ภาษาไทย คำถามสำคัญที่ควรถามคนพวกนั้นกลับไปคือ "ภาษาไทยที่ถูกต้องหน้าตาเป็นอย่างไรกัน (?)" เพราะเอาเข้าจริงแล้วเราควรจะมองภาษาในฐานะของสิ่งที่มี "พลวัตร" การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางคำถูกสร้างขึ้นใหม่ บางคำตายไป และคำสร้างใหม่เหล่านั้นหากไม่เป็นที่นิยมก็จะหายไปเอง แต่ถ้าบางคำได้รับความนิยมมันก็จะถูกใช้ต่อไปในฐานะของภาษาที่มีพลวัตร เพราะถ้าเราจะบอกว่าไม่ได้อย่างไรภาษาไทยก็ต้องใช้แบบเดิมเพื่อความถูกต้องของภาษา เช่นนั้นแล้ว "ฅ" หายไปไหนจากการใช้ในปัจจุบัน เมื่อเรามองภาษามงในฐานะของสิ่งที่มีพลวัตร เราจะเข้าใจว่าเมื่อถึงเวลา อะไรที่รอดก็จะรอด อะไรที่จะดับก็ต้องดับ ภาษาไทยก็เช่นเดียวกัน
    หนังสือ : สื่อสนุกสำนวนไทย
    โดย : ล้อม เพ็งแก้ว
    จำนวน : 224 หน้า
    ราคา : 280 บาท

    "สื่อสนุกสำนวนไทย" ว่าด้วยเรื่องราวของการรวบรวมเอาคำและสำนวนในภาษาไทย ที่มีทั้งใหม่และเก่าเข้ามาไว้ด้วยกัน โดยที่ผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องราวและยกตัวอย่างประกอบสำนวนต่าง ๆ โดยการบอกเล่าผ่านเหตุการณ์ในปัจจุบันของสังคม ทั้งเรื่องทั่ว ๆ ไปอย่างการใช้ชีวิต เศรษฐกิจ และการเมือง ก็ถูกหยิบยกมาวางไว้ในฐานะของตัวอย่างของบริบทของคำและสำนวนไทยทั้งใหม่เก่าที่เกิดขึ้น

    ในเล่ม "สื่อสนุกสำนวนไทย" ได้มีการยกตัวอย่างสำนวนต่าง ๆ เอาไว้มากมาย ทั้งที่เป็นคำและสำนวนแบบเก่า หรือแม้กระทั่งคำเกิดใหม่อย่าง "เหนียวไก่" ก็ยังถูกหยิบมาบอกเล่าถึง ความหมาย ที่มาที่ไป และบริบทของการใช้คำหรือสำนวนนั้น ๆ อาจจะเรียกได้ว่า "สื่อสนุกสำนวนไทย" ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของคำหรือสำนวนในภาษาไทยได้ง่ายมากขึ้น โดยบอกเล่าคำและสำนวนเหล่านั้นผ่านบริบทของสังคมที่ย้อนกลับไปไม่ไกลเกินกว่า พ.ศ. 2540

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in