เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
lost connections โลกซึมเศร้า By johann hari แปล ดลพร รุจิรวงศ์
  • รีวิวเว้ย (577) "โรคซึมเศร้า" ปรากฎครั้งแรกในสังคมไทยเมื่อไหร่นั้น (?) เราเองก็ไม่รู้และไม่แน่ใจด้วยว่ามันปรากฎขึ้นในสังคมไทยตอนไหน แต่ในความรับรู้ของเราเรื่องของ "โรคซึมเศร้า" เริ่มปรากฎชัดขึ้นเมื่อตอนที่เข้ามาเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ (54) ในช่วงนั้นโรคซึมเศร้าเริ่มปรากฎขึ้นมาในความรับรู้ของเราเยอะมากขึ้น ทั้งเรื่องของข้อมูลและเรื่องของจำนวนคนรอบตัวที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และตลอดระยะเวลาของการเรียนในระดับชั้นปริญญาตรีนี้เอง ที่เราได้มีโอกาสในการเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องของโรคซึมเศร้ามากขึ้น และเรายิ่งเอาใจใส่มันมากยิ่งขึ้นเมื่อคนรอบตัวหลาย ๆ คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และมีบางคนที่จากโลกนี้ไปด้วยสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเกิดมาจากโรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการสูญเสียในครั้งนั้น ผ่านมาไม่นานจากการปรากฎขึ้นมนเรื่องของการรับรู้เรื่องโรคซึมเศร้าของเราเมื่อตอนเข้าเรียนปีหนึ่ง หนังสือ บทความ แนะคสามตื่นตัวของสังคมเริ่มมีมากขึ้นต่อโรคดังกล่าว เพราะสังคมเริ่มปรากฎข่าวคราวของการสูญเสียชีวิตของใครหลาย ๆ คนอันอาจจะมีสาเหตุมากจากโรคซึมเศร้า กระทั่งช่วงหนึ่งพาดหัวข่าวตามสื่อต่าง ๆ จะให้ "โรคซึมเศร้า" เป็นผู้ร้ายรายแรกของการเสียชีวิตของคนในสังคมในช่วงเวลานั้น โดยที่ก็ไม่ได้มีใครมันใจแบบเต็มร้อยว่าผู้ตายตัดสินใจที่จะจบชีวิตของตัวเองเพราะเป็นผลมาจาก "โรคซึมเศร้า" จริงหรือไม่ (?) แต่แน่นอนว่าจากวันที่เรารับรู้ถึงการมีอยู่อย่างชัดแจ้งของโรคนี้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้สังคมตื่นตัว เปิดรับ และพยายามทำความเข้าใจในโรคดังกล่าวมากยิ่งขึ้น สถาบันการศึกษาหลายแห่งตื่นตัวในการตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา โรงพยาบาลหลายที่เริ่มที่จะเปิดคลินิครักษาโรคดังกล่าวอย่างเป็นกิจลักษณะ และความรับรู้ของคนในสังคมต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ที่แต่เดิมความรับรู้จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ "โรคจิต" (โรคบ้า) ทุกวันนี้สังคมก็พยายามที่จะทำความเข้าใจมันมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่สังคมและคนในสังคมยังพยายามไม่มากพอ คือ เรายังไม่พยายามมองสาเหตุของโรคดังกล่าวให้รอบด้านมากกว่า "ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง" ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วโรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นมาจากเหตุนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสาเหตุที่สำคัญอย่างสังคม และสภาพชุมชน ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวโยงกับอาการของโรคซึมเศร้าด้วยอย่างมีนัยสำคัญ
    หนังสือ : lost connections โลกซึมเศร้า
    โดย : johann hari แปล ดลพร รุจิรวงศ์
    จำนวน : 463 หน้า
    ราคา : 425 บาท

    "lost connections โลกซึมเศร้า" หนังสือที่บอกเล่าถึงเรื่องของ "โรคซึมเศร้า" ได้อย่างรอบด้านมากที่สุดเท่าที่เราเคยอ่านมา เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มองแค่โรคซึมเศร้าในฐานะของอาการผิดปกติของสารเคมีในสมองแต่เพียงเท่านั้น หากแต่หนังสือเล่มนี้พาเราย้อนกลับไปหาสาเหตุที่อาจจะทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ในหลายมิติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยผู้เขียนได้พยายามผนวกเอาความรู้จากทั้งวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ เข้ามารวมไว้ด้วยกันเพื่อศึกษาถึงสาเหตุคสามเป็นมาของโรคซึมเศร้า และแนวทางในการจัดการเพื่อรับมือหรือรักษาอาการของโรคดังกล่าว

    สิ่งหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลของหนังสือ "lost connections โลกซึมเศร้า" นอกเหนือไปจากบทสัมภาษณ์นักวิชาการที่ทำการศึกษาในประเด็นนี้มายาวนาน เอกสารงานวิจัยทางด้านวิมยาศาสตร์ จิตวิทยา และสังคมศาสตร์ที่ถูกหยิบยกมาเขียนถึง และถูกใส่ไว้ในรายการเอกสารอ่านประกอบที่มีจำนวนกว่า 100 ชิ้น ช่วยให้งานชิ้นนี้มีความน่าเชื่อถือพอควร แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราคิดว่างานชิ้นนี้น่าสนใจยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก คือ ตัวของผู้เขียนเอง เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่กินยาต้านเศร้ามาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น และเรื่มตั้งคำถามและตั้งข้อสังเกตต่อยา ผลข้างเคียงของยา และประสิทธิภาพของยา ว่าถ้าหากอาการของโรคซึมเศร้าเกิดจากคสามผิดปกติของสารเคมีในสมองจริง เหตุใดเราต้องกินยาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตั้งหลายสิบปี โดยที่ไม่มีวี่แววว่าอาการของโรคจะหายไปเสียที

    ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เริ่มตั้งคำถามต่อการเกิดขึ้นของโรคซึมเศร้า และอุตสาหกรรมยาที่ถือครองตลาดของยารักษาโรคซึมเศร้าที่สามารถสร้างมูลค่าต่อปีได้กว่า 1,000 ล้านเหรียญ จากจุดตั้งต้นดังกล่าว ผู้เรียนเริ่มที่จะศึกษาและหาข้อมูลให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น และการศึกษาข้อมูลที่มากขึ้นนี้เอง ทำให้ผู้เขียนพบว่าแท้จริงแล้ว ความรับรู้บางประการในเรื่องของโรคซึมเศร้าของโลกนี้ยังมีจุดผิดพลาดที่สำคัญซ่อนอยู่ อันอาจจะเกิดจากผลประโยชน์มูลค่ากว่าพันล้านเหรียญที่อาจจะมลายหายสิ้นเมื่อข้อคิดเห็นสำคัญอย่าง "โรคซึมเศร้าเกิดจากคสามผิดปกติของสารเคมีในสมอง" มิใช่ความจริงเพียงหนึ่งเดียว

    "lost connections โลกซึมเศร้า" เป็นหนึ่งสือที่ตีแผ่ให้เราได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของหลายสิ่งหลายอย่างที่ซ้อนทับกันอยู่ในโลกของโรคซึมเศร้า และนอกจากนี้ "lost connections โลกซึมเศร้า" ยังชี้ให้เราเห็นถึงการเกิดขึ้นของโรคซึมเศร้าในมิติที่ต่างออกไปจากความเชื่อเดิม ๆ ที่แพร่หลายอยู่ในโลกของโรคซึมเศร้า รวมทั้งวิธีการเรียนรู้อย่างเข้าใจต่อโรคซึมเศร้า รวมไปถึงการรับมือและรักษาในลักษณะของการรวบรวมเอางานศึกษาจากหลาย ๆ สาขาเข้าไว้ด้วยกัน ที่บางทีมันอาจจะช่วยให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากอาการของโรคซึมเศร้าได้มากกว่าการพึ่งพิงยารักษาแต่เพียงอย่างเดียว 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in