รีวิวเว้ย (575) ในหน้าข้อมูลของหนังสือเล่มนี้ระบุเอาไว้ว่า "พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤษภาคม 2563" หลังจากการพิมพ์เพียง 1 เดือน อาจารย์โต้ง "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ" ก็เสียชีวิตลงอย่างสงบจากอาการป่วยที่อาจารย์เป็นมาเมื่อหลายปีก่อน เราเองมีโอกาสเห็นหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกก่อนที่จะออกวางแผงจัดจำหน่ายเพราะมีรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่เป็นนักเขียนและเป็นบรรณาธิการต้นฉบับของหนังสือดีหลาย ๆ เล่ม ได้ถ่ายรูปของต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ลงใน Facebook ส่วนตัว เราจึกทักไปหาพี่เขาว่าหนังสือเล่มนี้ออกวางขายหรือยังแล้วซื้อได้ที่ไหนบ้าง หลังจากนั้นไม่นานเรามีโอกาสได้พบกับหนังสือเล่มนี้ทีร้านหนังสือในช่วงสายของวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2563 และพูดเปรย ๆ กับรุ่นพี่ที่ไปด้วยกันว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจมากนะ เพราะมันเป็นการบันทึกชีวิตของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองหลายเหคุการณ์ แต่วันนั้นเราก็ยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้มา จนกระทั่งในสัปดาห์เดียวกันนั้นมีข่าวการเสียชีวิตของ อาจารย์โต้ง "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ" ปรากฎตามสื่อต่าง ๆ ทำให้เราตัดสินใจกลับไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตของอาจารย์โต้ง ที่ถูกเขียนขึ้นตอนที่อาจารย์โต้งยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเราจะได้รู้เรื่องบางอย่างที่มีความสำคัญกับเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยบ้างไม่มากก็น้อย
หนังสือ : ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต • มุมมอง • ความคิด
โดย : กุลธิดา สามะพุทธิ
จำนวน : 208 หน้า
ราคา : 400 บาท
"ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต • มุมมอง • ความคิด" เป็นหนังสือที่เปิดเผยเรื่องราวชีวิตของอาจารย์โต้ง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ลูกผู้ชายเพียงคนเดียวของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยอย่าง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า "น้าชาติ" หรือที่ในห้องเรียนวิชาสังคมศาสตร์จะรับรู้กันในฐานะของรัฐบาลที่มีฉายาว่า "บุฟเฟ่ต์คาบิเนต" และเป็นนายกที่มาจากการเลือกตั้งและพ้นจากตำแหน่งโดยการรัฐประหารโดย ร.ส.ช. ที่มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ (บิ๊กจ๊อด) เป็นหัวหน้าคณะผู้นำการทำรัฐประหารในครั้งนั้น ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นกับนามสกุลของผู้นำรัฐประหารคนนี้ ก็แน่นอนอยู่แล้วเพราะเขาคือพ่อของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (บิ๊กแดง) ผู้บัญชาการทหารปกคนปัจจุบัน (2563) A.K.A. "แดงพ่อไม่รัก"
หนังสือเรื่อง "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต • มุมมอง • ความคิด" ได้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของอาจารย์โต้งเอาไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องของชีวิตส่วนตัว การทำงาน และเรื่องราวของการเมืองไทยในแต่ละช่วงเวลาที่ทาบทับอยู่กับช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิตของอาจารย์โต้ง โดยเริ่มตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 ที่เปลี่ยนแปลงหน้าตาของสังคมไทยไปตลอดกาล การรัฐประหาร 2500 ที่ทำให้อาจารย์โต้งต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศกว่า 20 ปี และได้เรียนรู้ความเป็นสากลและไม่ผูกยึดเอาวิธีคิดแบบชนชั้นนำนิยมมาใช้ในการดำเนินชีวิต รวมไปถึงการที่ต้องไปใช้ชีวิตในต่างประเทศหลายสิบปีทำให้อาจารย์โต้งได้ซึมซับเอาวัฒนธรรมของการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ติดตัวมาด้วยโดยที่จะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่ รวมไปถึงวัฒนธรรมของการวิพากษ์และวิจารณ์ที่หาแทบไม่ได้จากบุคคลที่เกิดและเติบโตภายใต้โครงสร้างอำนาจของสังคมไทยในช่วงเวลานั้น
หากพูดในถึงที่สุดแล้ว "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต • มุมมอง • ความคิด" ก็เปรียบได้กับหนังสือเล่มสุดท้ายของอาจารย์โต้งในทางปฏิบัติ เพราะหลังจากที่หนังสืออกได้ไม่นานอาจารย์โต้งก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ เราในฐานะของผู้อ่านจึงของถือวิสาวะ ตีความหนังสือเล่มนี้ในภาพแทนของ "หนังสืองานศพ" ของคนสำคัญผู้หนึ่งของสังคมไทย
ความแปลกของ "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต • มุมมอง • ความคิด" หากเรามองมันในฐานะของหนังสืองานศพ หนังสือเล่มนี้ไม่เหมือนกับหนังาอเล่มอื่น ๆ ต่อให้มองเทียบกับหนังสือประวัติของบุคคลสำคัญที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงที่เจ้าของประวัตินั้นยังมีชีวิตอยู่ก็ตามที่ เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ได้วางตัวอยู่บนการเขียนแบบ "ยกย่องตัวบุคคล" (อวย) หากแต่ "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต • มุมมอง • ความคิด" ในหลายช่วงหน้าตอนและหลาย ๆ หน้าของหนังสือมันคือการพยายามสะท้อนให้เห็นถึง "ความผิดพลาด" ของ "ความเป็นมนุษย์" คนหนึ่งอยู่เสมอ เรื่องไหนที่ทำผิดในหนังสือเล่มนี้อาจารย์โต้งก็บอกว่าตรง ๆ ว่า "มันผิด" อะไรที่พลาดก็ยอมรับตรง ๆ ว่ามัน "พลาด" และ "ขอโทษ" ในความผิดและความพลาดที่เคยเกิดขึ้นผ่านตัวอักษรที่แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งในหนังสือเล่มนี้
นอกจากนั้นแล้ว "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต • มุมมอง • ความคิด" ยังเผยให้เห็นถึงความลับ ความหวัง และความพยายามในการทำงานของอาจารย์โต้งตลอดมา กระทั่งถึงวันสุดท้ายที่พละกำลังยังเหลืออยู่ให้พอทำงานได้ อีกทั้ง "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต • มุมมอง • ความคิด" เป็นหนังสือเล่มสำคัญอีกเล่มหนึ่งที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของ "ประวัติศาสตร์การเมืองไทย" ที่ทาบทับอยู่บนชีวิตของคนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ทั้งเรื่องของมุมมองของความเป็นลูกชายนายก หลานชายผู้ก่อการรัฐประหาร และหลานลุงของ พล.ต
อ.เผ่า ฯลฯ แล้ว "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต • มุมมอง • ความคิด" ยังบอกเล่าถึงเรื่องราวของการทำงานในหน้าที่ของ "ทีมบ้านพิษณุโลก" กลไกที่สะท้อนปัญหาบางอย่างในการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี
และตัวแสดงหลาย ๆ ตัวที่ปรากฎในฐานะของ "ทีมบ้านพิษณุโลก" นี้เอง ที่ในเวลาต่อมา พวกเขาก็กลายมาเป็นตัวแสดงสำคัญในการเมืองไทย ทั้งในอดีตและบางคนก็ยังปรากฎบทบาทอย่างชัดเจนกระทั่งในยุคปัจจุบัน
ในวันที่มีข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์โต้งนั้น เราเห็นสถานะของเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ที่บอกว่าตัวเองเป็นคนเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นอย่างมากและบอกว่าตัวเองเป็นซ้าย โพสข้อความถึงการเสียชีวิตของอาจารย์โต้งไปในแนวทางว่า "ไกรศักดิ์ไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับการเมืองไทยขนาดนั้น ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญ และความอาลัยกับการจากไปของชายผู้นี้" ปัญหาสองประการที่เราเห็นคือ (1) ถ้าคุณเชื่อมั่นในเรื่องของความเท่าเทียมหรืออะไรก็ตามแต่ ไม่ว่าความสูญเสียเกิดขึ้นกับใคร คุณก็ควรที่จะเข้าใจว่านั่นคือการสูญเสียของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง และ (2) หากคุณบอกว่า "ไกรศักดิ์ไม่มีความสำคัญอะไรกับการเมืองไทย" นั่นอาจจะแปลได้ว่า ตัวคุณเองยังแสวงหาความรู้ได้ไม่มากพอ แต่พยายามจะตีกินและบอกใคร ๆ ว่า "ตัวข้านั้นรู้ดีซึ่งการเมืองไทย" มันทำให้เรานึงถึงคำพูดของอาจารย์นครินทร์ ตอนเรียนวิชาการเมืองไทยว่า "พวกคุณนี้อ่านหนังสือน้อยกันจริง ๆ เลยนะ" ถึงแม้นว่าตอนนี้อาจารย์นครินทร์จะเปลี่ยนสถานะไปเป็น "ตุลาการนครินทร์" แล้วก็ตามที่ แต่คำสอนในฐานะของอาจารย์มันก็ยังคงถูกหยิบยืมมาใช้ได้เสมอ -- จงอย่าเป็นซ้ายที่ใจแคบและโลกแคบจนเกินไปนัก
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in