รีวิวเว้ย (561) รีวิวหนังสือชิ้นนี้ผู้เขียนได้ดำเนินการจับประเด็นและถอดความบางส่วนจากงานเสวนาออนไลน์ของ "คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว: เรื่องเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนสามัญ" เนื่องด้วยผู้เขียนเป็นคนจับประเด็นของงาน ซึ่งไม่ได้ถอดแบบละเอียด หยิบเอามาแค่บางประเด็นที่ผู้เขียนคิดเองว่าสำคัญ แต่หากผู้ใดสนใจรับชมงานเสวนาฉบับเต็มสามารถดูได้ที่ (https://www.facebook.com/DJC.Center/videos/1293257680883750/?sfnsn=mo&d=n&vh=e)
หนังสือ : หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
โดย : กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
จำนวน : 480 หน้า
ราคา : 850 บาท
หนังสือเรื่อง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เป็นงานวรรณกรรมที่จัดอยู่ในกลุ่มของงานวรรณกรรมคลาสสิคที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยนักเขียนคนสำคัญได้แก่ “กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ”เรื่องนี้เป็นเรื่องราวความอลหม่านพันลึกของ “ครอบครัวบวนเดีย” หกชั่วอายุคน ที่อาศัยอยู่ในเมืองสมมติชื่อ “มาก็อนโด” เริ่มตั้งแต่ย้ายครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานและสร้างมาก็อนโด ผ่านจุดรุ่งเรืองของเมือง จนกระทั่งไล่ไปถึงจุดเริ่มตกต่ำ และการล่มสลายของเมืองนี้ จุดเด่นของเรื่องนี้ แน่นอนว่าคือ การบรรยายแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) ที่แทรกอยู่แทบจะทั้งเรื่อง โลกที่มาร์เกซสร้างเป็นการปะปนกันของความมหัศจรรย์พันลึกและความจริง
หนังสือเรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ที่หยิบมาพูดคุยกันในวันนี้เป็นสำนวนแปลฉบับใหม่ภาษาไทยที่แปลมาโดยตรงจากฉบับภาษาสเปน ซึ่งฉบับที่เคยตีพิมพ์ก่อนหน้าในประเทศไทยส่วนใหญ่ถูกแปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ดังนั้นการพูดถึงหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวในวันนี้คือการพูดถึงหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวจากฉบับภาษาสเปน โดยที่เน้นไปที่เรื่องของการหยิบเอาหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวมาผูกโยงกับเหตุการณ์และมุมมองทางการเมืองมากกว่ามุมมองทางด้านของสัจนิยมมหัศจรรย์เพื่อขยายขอบเขตของการทำความเข้าใจและความรับรูปในหนังสือเรื่องนี้ให้มีความครอบคลุมในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ในหนังสือหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวมีการพูดถึงเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ของโคลอมเบียอยู่ 2 เรื่อง โดยเรื่องที่หนึ่งว่าด้วยเรื่องของ “สงครามพันวัน” ที่เกิดขึ้นในโคลอมเบีย และปู่ของผู้เขียนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของสงครามหนึ่งพันวันจริง ๆ ทำให้มีการถอดเอาตัวละครในเรื่องที่แอบอิงอยู่กับประวัติศาสตร์จริง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง การเกิดขึ้นของสงครามดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นในประเทศเพียงเท่านั้น หากแต่ประเทศข้างเคียงก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามด้วย ผลกระทบของสงครามพันวันคือฝ่ายเสรีนิยมพ่ายแพ้และโคลอมเบียเสียพื้นที่ของปานามาโดยที่ปานามาประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากโคลอมเบีย เรื่องที่สองว่าด้วยเรื่องของ “การสังหารหมู่” ที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของธุรกิจการปลูกกล้วย ที่ในโลกตะวันตกกล้วยหอมเป็นพื้นที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และการเข้ามาลงทุนในการปลูกกล้วนหอมในโคลอมเบียทำให้เกิดการปะทะกันในฝ่ายที่ต่อต้านการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติในเหตุการณ์ครั้งนั้นผู้เขียนจึงได้หยิบเอาเหตุการณ์มาแต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตว่าอยู่ที่ 3,000 คน และการแต่งตัวเลขขึ้นมานั้นกลายมาเป็นข้อมลที่มีคนเชื่อจริง ๆ ว่าในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 3,000 คน ฉะนั้นประวัติศาสตร์อาจจะไม่ได้ตรงตามตัวเลขของหนังสือเล่มนี้ แต่ด้วยความโดงดังของหนังสือเล่มนี้กลับกลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในเรื่องของตัวเลขผู้เสียชีวิตให้กลายเป็นความจริงขึ้นมาในท้ายที่สุด แต่การต่อสู้ในครั้งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นภาพในเรื่องของการต่อสู้ของบรรษัทข้ามชาติกับชาติต้นทาง คือการสะท้อนให้เห็นภาพในเรื่องของแนวคิดอาณานิคมใหม่ที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกาที่เข้ามาทดแทนภาพของเจ้าอาณานิคมเดิมอย่างประเทศสเปน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องของอาณานิคมทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ในทางวิชาวรรณกรรมและวรรณคดี “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ถือเป็นการถูกสร้างขึ้นในฐานะของการต่อสู้และการเลือกสร้างข้อเท็จจริงของนวนิยายในลักษณะของ นวนิยายล้อประวัติศาสตร์นิพนธ์ผ่านกลไกของการประพันธ์วรรณกรรม (Historical Metafiction) ที่มาการหยิบเอานวนิยายประเภทนี้มาใชในการต่อต้านประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐ หรือสร้างขึ้นโดยมหาอำนาจที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศผ่านการกำหนดของผู้มีอำนาจในสังคม เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ในเรื่องของการสร้างความชอบธรรมในประวัติศาสตร์ของละตินอเมริกาผ่านวรรณกรรม โดยเฉพาะความมุ่งหมายของมาร์เกซ ที่มุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ความจริงต่อภูมิภาคของเขาให้ออกสู่สายตาชาวโลกจากสภาวะของการปิดลับเมื่อกว่า 58 ปีก่อนที่หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวตีพิมพ์ครั้งแรก หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวยังจัดอยู่ในกลุ่มของวรรณกรรมที่ถูกสร้างขึ้นในฐานะของวรรณกรรมหลังสมัยใหม่ที่มีการเขียนขึ้นมาเพื่อยั่วล้อ ล้อเลียน เพื่อต่อต้านอำนาจนำที่ครอบงำสถาบันที่ครอบงำความคิดของคนในสังคม โดยที่ผู้ล้อใช้วิธีการเดียวกันกับผู้มีอำนาจในการต่อสู้กับผู้มีอำนาจเอง อาทิ การเขียนประวัติศาสตร์กระแสรองขึ้นมาเพื่อโต้กลับอำนาจของทางการและประวัติศาสตร์กระแสหลักของสังคมหนึ่ง ๆ
นอกจากนี้ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ยังมีหัวใจสำคัญของการการสร้างงานขึ้นมาบนฐานของ “การต่อต้านขัดขืน” ที่ทั้งตัวผู้เขียนเองในตอนสร้างงานก็ต่อต้านขัดขืนต่อค่านิยมบางอย่างของสังคมและในตัวชิ้นงานเองก็มีการเขียนงานที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการต่อต้านขัดขืน การต่อต้านซึ่งระบบและอำนาจบางสิ่งบางอย่างที่เหนือขึ้นไปกว่า หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวมุ่งเน้นที่จะขยายความในเรื่องของการต่อสู้และต่อต้านของคนธรรมดา ๆ ผ่านกลไกบางประการ รวมไปถึงเรื่องของการท้าทายต่ออำนาจที่เหนือขึ้นไปกว่าผ่านการตั้งคำถาม ล้อเลียน และท้าทายต่อการกระทำของผู้ที่ครองอำนาจที่เหนือขึ้นไป เพื่อเป็นการยั่วล้อและท้าทายอำนาจของเหล่าผู้มีอำนาจ อาจจะเรียกได้ว่า “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ ต่อต้าน และท้าทายของผู้ที่อ่อนแอกว่าหรือมีอำนาจที่น้อยกว่า
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in