เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ By Murata Sayaka
  • รีวิวเว้ย (547) #อยู่บ้านอ่านหนังสือกัน เคยมีคนบอกเอาไว้ว่า "เราคือใครขึ้นอยู่กับการกำหนดตัวตนของเราโดยสังคมหนึ่ง ๆ เสมอ" คำพูดดังกล่าวอาจจะเป็นการแสดงให้เห็นและตอกย้ำให้เราย้อนกลับไปหาประโยคคลาสสิคของนักคิดนักปรัชญาอย่างอลิสโตเติ้ล ที่กล่าวเอาไว้ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ... " และเพราะการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมนี้เอง ก่อให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล กลุ่มคนต่อกลุ่มคน และสังคมต่อสังคม จนกลายเป็นว่าการจะระบุตัวตนของเรานั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาวะของการผูกโยงตัวตนหรือกำหนดตัวตนของเรากับอะไรสักอย่างของสังคมนั้น ๆ อาทิ ค่านิยม วัฒนธรรม ภาษา หรือแม้กระทั่งชื่อและนามสกุล สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันตัวตนของบุคคล ผ่านการกำหนดตัวตนโดยสังคมหนึ่ง ๆ ที่จะกำหนดว่าเราคือใคร มาจากไหน และเป็นอะไรในสังคมนั้น ๆ
    หนังสือ : มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ
    โดย : Murata Sayaka
    จำนวน : 153 หน้า
    ราคา : 180 บาท

    "มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ" เป็นหนังสือนิยายที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตของตัวละครตัวหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่ประกอบสร้างตัวตนของตัวละครตัวนี้ขึ้นมา โดยที่ผู้เขียน ได้ถ่ายทอดมุมมองในเรื่องของสังคมญี่ปุ่น ที่ฐานคิดหลักของสังคมนี้วางตัวอยู่บนหลักคิดในเรื่องของสังคมแบบ "ชายเป็นใหญ่" ที่จะมีการกำหนดคุณค่าและมาตรฐานบางอย่างของสังคม เพื่อใช้กับคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมโดยที่มีชุดและกรอบของค่านิยมแบบสังคมนิยมชายกำหนดเอาไว้

    และด้วยการที่สังคมมีกรอบของค่านิยมเป็นตัวกำหนดนี้เอง ทำให้ตัวละครหลักในหนังสือ "มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ" ที่ถูกเขียนขึ้นให้เป็นตัวละครที่แปลกแยกออกไปจากขนบและโครงสร้างค่านิยมของสังคม ทั้งเรื่องของการเข้าสังคม การทำงาน การมีครอบครัว และอะไรอีกหลายอย่างที่เมื่ออ่านแล้วเราจะพบว่าตัวละครหลักของเรื่องนี้มีการท้าทายโครงสร้างหลักของสังคมในหลายมิติ ในบางการท้าทายตัวละครก็รับรู้ว่ามันคือการท้าทายและตั้งคำถาม และในบางเรื่องตัวละครก็ไม่รู้ว่านั่นคือการท้าทายค่านิยมที่สำคัญของสังคมที่ตนอาศัยอยู่

    "มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ" บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอก ที่กำหนดตัวตนของตัวเองผ่านค่านิยมบางอย่างของสังคม ผ่านการแกล้งและแสร้งว่ากระทำด้วยวิธีการของการลอกเลียนแบบ เพื่อให้การประกอบสร้างตัวตนโดยสังคมนั้นเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ขึ้นมา เพื่อให้คนในสังคมเข้าใจว่าตัวเอกของเรื่องนั้นเป็น "คนปกติของสังคม" ทั้งที่จริง ๆ แล้วการประกอบสร้างดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากการลอกเลียน โดยที่หลายครั้งคือการลอกเลียนแบบแสร้งว่าทำเพื่อให้ตัวตนของตัวเอกนั้นมีที่ยืนอยู่ในสังคมหนึ่ง ๆ ได้โดยที่ไม่ถูกการพิพากษาจากสังคม และสถานที่ที่ตัวเอกของเรื่องใช้ในการประกอบสร้างความเป็นตัวเองขึ้นมานั้นก็คือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งแน่นอนว่าการกระทำต่าง ๆ ของตัวเองทำให้ตัวเอกของเรื่องกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสังคมหนึ่ง ๆ ภายใต้ตัวตนของ "มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in