รีวิวเว้ย (507) ในรอบหลายปีมานี้คำว่า "เสรีนิยม" ปรากฎให้เราได้รับรู้อยู่บ่อย ๆ ตามที่ต่าง ๆ ของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เรามักจะพบเห็นหลายต่อหลายคน หยิบเอาคำว่า "เสรีนิยม" มาใช้ให้ได้เห็นกันจนเริ่มจะชินตา แต่หลายครั้งเวลาที่เรา (ในฐานะของนักเรียนรัฐศาสตร์) กดเข้าไปอ่านความเห็นหรือแม้กระทั้งข้อนำเสนอในเรื่อง "เสรีนิยม" ในหลายสื่อหลากช่องทาง หลายครั้งเมื่ออ่านการนำเสนอหรือข้อถกเถียงเหล่านั้น มันทำให้เราเกิดคำถามขึ้นในแทบทุกครั้งที่อ่านว่า "คนเราเข้าใจคำว่าเสรีนิยมกันแบบไหนวะ" (?) เพราะดูแล้วในหลายหนหลายครั้งเสรีนิยมก็ถูกใช้อย่างผิดที่ผิดทางและผิดฝาผิดตัว ยิ่งคำว่า "เสรีนิยม" ที่มีคำวิเศษมาขยายต่อท้ายเข้าไปอีกอย่าง "เสรีนิยมใหม่" ยิ่งทำให้เราอ่านข้อนำเสนอและข้อถกเถียงหลาย ๆ อันแล้วมันชวนให้เราตั้งคำถามในใจดัง ๆ ว่า "อิหยังวะ" ตอนที่เรียนมาเสรีนิยมมันไม่ได้มีความหมายหรือมีลักษณะที่จะนำพาไปออกสู่บทสนทนาในลักษณะบางประการได้นี้หว่า กระทั่งมันทำให้เราคิดต่อไปว่า "หรือที่กูเรียนมาจะผิดวะเนี่ย" (?) และถ้าเราลองมองดูข้อนำเสนอหรือข้อถกเถียงหลาย ๆ ประการที่ปรากฎอยู่ในสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา มันยิ่งชวนให้เรารู้สึกว่าหลายครั้งสิ่งที่ปรากฎอยู่บนโลกออนไลน์หรือตามสื่อต่าง ๆ มันสามารถสั่นคลอนความถูกต้องของความหมายของคำบางคำได้อย่างมาก มากเสียจนหลายครั้งคำดังกล่าวแทบจะไม่สามารถกลับเข้าสู่บริบทของความหมายเดิมของมันได้ และถ้าลองสังเหตุให้ดี ๆ เราจะพบว่าปรากฎการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นเยอะและบ่อยมากในสังคมไทย อย่างเช่น สว. (ลากตั้ง) พูดในที่ประชุมรัฐสภาว่าตนเองนั้นนิยมชมชอบระบอบ "เผด็จการประชาธิปไตย" พ่อมึงตาย !!! กูเกิดมาก็เพิ่งเคยได้ยินเนี่ยเผด็จการประชาธิปไตย !!!
หนังสือ : เสรีนิยมยืนขึ้น
โดย : ปราบดา หยุ่น
จำนวน : 288 หน้า
ราคา : 295 บาท
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ปรากฎขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะในวงของโลกออนไลน์หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกัลเรื่องของคำศัพท์เชิงเทคนิค เรามักจะพบว่าในหลายครั้งคำศัพท์เหล่านี้อยู่ผิดที่ผิดทางเสมอ บ้างในถูกความหมายแต่ผิดบริบท บ้างผิดทั้งบริบทและผิดทั้งความหมาย บ้างไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลยแต่สามารถหยิบเอาคำเหล่านั้นมาผสมลงไปได้แบบหน้าตาเฉย และปัญหาเหล่านี้โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการ "ขาดความเข้าใจในพื้นฐาน" ของคำหรือศัพท์เทคนิคต่าง ๆ เหล่านั้น อย่างคำว่า ประชาธิปไตย, เสรีนิยม, ฝ่ายซ้าย, ฝ่ายขวา, คอมมิวนิสต์, สังคมนิยม ฯลฯ คำเหล่านี้เป็นคำเจ้าปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมาของสังคมไทย ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาประการสำคัญก็เกิดจากการขสดความเข้าใจ และขาดความคิดที่จะแสวงหาความหมายและความถูกต้องของคำเหล่านั้นไปด้วยในที
"เสรีนิยมยืนขึ้น" อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจกับความหมาย ที่มา และพัฒนาการของคำว่า "เสรีนิยม" โดยเริ่มต้นตั้งแต่การถกเถียงในประเด็นทางด้านปรัชญาของที่มาและความหมายของคำว่าเสรีนิยม และต่อยอดด้วยพัฒนาการของการเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงไปของความหมาย และการฉวยใช้ซื่อนิยามและความหมายของคำว่าเสรีนิยมในแต่ละสังคม
นอกจากนี้ "เสรีนิยมยืนขึ้น" ยังได้จับเอาบริบทปัจจุบันของโลกและของไทยมาขยายความตามความหมายของ "เสรีนิยม" ทั้งบริบทของการเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลง และการถูกท้าทายของคำว่าเสรีนิยม ที่ในทุกวันนี้ถูกท้าทายอย่างหนักด้วยแนวคิดแบบจารีตนิยม (ใช้คำตามหนังสือ/อนุรักษ์นิยม) และใน "เสรีนิยมยืนขึ้น" ยังชักชวนให้เราลองตั้งคำถามว่าหากเสรีนิยมพ่ายแพ้ขึ้นมาจริง ๆ แล้วกลุ่มของคนที่สมาทานแนวคิดแบบเสรีนิบม ความที่จะดำเนินการหรือทำเช่นไรที่จะทำให้เสรีนิยมยืนขึ้นได้อีกครั้งในหลาย ๆ สังคมที่จารีตนิยมกำลังทยอยยึกหัวหาดไปที่ละแห่ง
ความท้าทายสำคัญที่ "เสรีนิยมยืนขึ้น" ฝากเอาไว้ คือ การกระตุ้นเตือนให้เราลองย้อนมองกลับมาดูสังคมของเราอีกสักครั้ง ว่าแท้จริงแล้วระหว่างจารีตนิยมและเสรีนิยม สิ่งใดกันที่จะขับเคลื่อนสังคมของเราไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง หรือแท้จริงแล้วแนวคิดทั้งสองควรที่จะผสานกันและประคับประคองการทำหน้าที่ในฐานะอุดมการหลักของสังคมไปด้วยกันและไปพร้อม ๆ กัน เพราะในท้ายที่สุดสังคมแห่งความหลากหลายมักช่วยฉายให้เห็นถึงทางแก้ไขและทางออกของปัญหาที่หลากหลายยิ่งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นนอกจาก "เสรีนิยมยืนขึ้น" แล้ว เราอาจจะต้องกลับมาทบทวนสภาวะของการอยู่ร่วมกันระหว่างความต่างหลาย ๆ กลถ่มในสังคม เพื่อไม่ให้มีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดถูกเบียดขับออกไปจากสังคมประชาธิปไตยที่วางอยู่บนฐานของความเป็น "เสรี"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in