รีวิวเว้ย (229) หลายครั้งในชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เรามักไม่ได้เรียนเรื่องราวความโหดร้ายของมนุษยชาติสักเท่าไหร่ เต็มที่ก็อาจจะได้เรียนเรื่องของสงครามโลกเล็ก ๆ น้อย พอให้ได้รับรู้ว่าโลกใบนี้มีสงครามใหญ่ระดับลากเอาหลายประเทศในโลกมาร่วมวงสงครามกันเกิดขึ้น 2 ครั้ง นอกนั้นก็จะเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยอันยิ่งใหญ่ ที่เริ่มต้นตั้งแต่อพยพจากเทือกเขาอัลไต ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร ไม่เคยรุกรานใคร แต่ยามศึกเราจะรบไม่รู้ข(ล)าด ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไทย และอาจจะเป็นอีกของหลาย ๆ โรงเรียนในหลายประเทศในโลกใบนี้ ที่ประวัติศาสตร์จะเรียนเฉพาะด้านงามของชนชาติตนเอง หรือไม่ก็เรื่องเลวระยำของประเทศเพื่อนบ้านที่มันทำให้ชาวเราค้องเจ็บช้ำ
หนังสือ : เมื่อพ่อของฉันถูกฆ่า
โดย : หลง อึ้ง แปล นรา สุภัคโรจน์
จำนวน : 230 หน้า
ราคา : 229 บาท
หลายครั้งชั่วโมงเรียนวิชาประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้นจาก "หนัง" ทั้งเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 หลายครั้งการเล่าเรื่องสงครามผ่านหนังสามารถสร้างควารับรู้ในประวัติศาสตร์ได้มากกว่าเนื้อหาในวิชาเรียน รวมไปถึงหนังอิงประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื้อ ถึงมันจะจริงบ้าน แต่งบ้าง แต่ในหลายครั้งมันก็ฉุดให้เราตั้งคำถามและตามไปค้นหาความจริงต่อ
อย่างเรื่องของการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ครั้งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการนำของกองทัพ "เขมรแดง" ที่ฆ่าชีวิตชาวกัมพูชาร่วมชาติ ไปกว่า 2 ล้านราย (ตามรายงาน) อันเป็นผลมาจากความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของเขมรแดงที่พยายามจะสร้างความเป็นเลือดบริสุทธิ์ให่กับชาวกัมพูชาที่แท้จริง
"The Killing Field" เป็นหนังที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2527 เกี่ยวกับเรื่องราวของ "ทุ่งสังหาร" และชีวิตชาวกัมพูชาในช่วงเวลาที่กองทัพเขมรแดงเข้าครองอำนาจภายในประเทศ โดยบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของชาวกัมพูชาภายหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาลลอนนอน และเขมรแดงได้ทำการเปลี่ยนแปลงประเทศภายใต้ระบอบปนวคิดทางการเมืองแบบใหม่ ภายหลังกองทัพเขมรแดงได้เริ่มกวาดล้างผู้คนที่เป็นฝ่สยตรงข้าม สร้างค่ายกักกันแรงงาน ใช้แรงงานกลุ่มคนมีฐานะ (คนเมือง) ซึ่งในท้ายที่สุดก็ค่อย ๆ สั่งหารคนเหล่านั้นลงที่ละคน สองคน กระทั่งตัวเลขไปหยุดอยู่ที่กว่า 2 ล้านคนตามรายงาน แต่หนังเรื่อง "The Killing Field" ได้ถ่ายทอดเพียงบ้างด้านบางมุมของเรื่องราวผ่านสื่อกลางอย่างหนัง ทำให้หลายครั้งเราก็มักตั้งคำถามว่าความโหดร้ายรุนแรงเหล่านั้นถูกทำให้รุ่นแรงยิ่ง ๆ ขึ้นไปจากความเป็นจริงรึเปล่า (?)
กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เราได้มีโอกาสได้เห็นเรื่องราวของหนังเรื่องหนึ่งที่มีเหตุการณ์เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเขมรแดงใน NETFLIX ที่พูดถึงเรื่องราวของชีวิตเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่ครอบครัวถูกทำร้ายและทำลายโดยกองทัพและอุดมการณ์ของพวกเขมรแดง หนังเรื่อง "First They Killed My Father" หรือในชื่อไทยว่า "เมื่อพ่อของฉันถูกฆ่า"
นอกจากหนังแล้ว "เมื่อพ่อของฉันถูกฆ่า" ยังมีในรูปแบบหนังสือที่แค่ดูจากหน้าปกและอ่านเพียงแค่คำโปรยก็ทำให้หดหู่ไปได้ชั่วครู่ชั่วยามแล้ว หลังจากที่คัดสินใจซื้อหนังสือเรื่อง "เมื่อพ่อของฉันถูกฆ่า" มาอ่าน ทำให้เรายิ่งเข้าใจว่าการอ่านหนังสือประเภทบันทึกเรื่องราวความโหดร้าย ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อผู้เล่าถ่ายทอดมันออกมาจากสายตาและความรู่สึกในวัยเด็กแล้ว มันยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้ ต้องใช้พลังการและพลังใจในการอ่านที่มากขึ้นไปอีก หนังสือทั่ว ๆ ไปอาจจะใช้เวลา 1-2 วันในการอ่าน แต่สำหรับ "เมื่อพ่อของฉันถูกฆ่า" มันกลับต้องใช้เวลามากกว่สเดิม 2-3 เท่าเพื่ออ่านให้จบ เพราะในแต่ละหน้าในแต่ละตัวอักษรมันเก็บซ่อนความทุกข์ ความเศร้า ความทรงจำอันเลวร้ายเอาไว้ในแทบทุกคำที่สายตาทอดผ่าน
"เมื่อพ่อของฉันถูกฆ่า" น่าจะเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ถ่ายทอดเรื่องราวของความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ที่มีต่อมุษย์ด้วยกัน โดยไม่ต้องแยกแยะว่าเป็นใคร โดยไม่ต้องแยกแยะว่าเพราะอะไร คามโหดร้ายเหล่านี้ คือ เครื่องเตือนสติที่ว่า "มนุษย์นั้นเลวร้าย" ซี่งนี่เป็นเพียงแค่เหตุการณ์หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อันเลวร้ายของมนุษยชาติเท่านั้น หากนับจริง ๆ แล้วความเลวร้ายที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์น่าจะยังมีอีกมาก นี่ไม่นับรวมถึงความเลวร้ายของมนุษย์ที่กระทำต่อสิ่งมีชีวิตอื่น เพียงเพราะสถานะบางอย่างที่เราคิดว่าพวกเรามีเหนือกว่า
และ "เมื่อพ่อของฉันถูกฆ่า" จึงเป็นเครื่องมือในการย้ำเตือนว่า "มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ที่โลกใบนี้ มีมนุษย์อุบัติขึ้นมา"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in