รีวิวเว้ย (440) นิทานเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน ส่วนนานเท่าไหร่นั้นอาจจะนานเทียบเท่ากับประโยคที่ว่า "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว" ในภาษาไทย และ "once upon a time" ในภาษาอังกฤษ ก็นั้นแหละหนอ นานเท่าไหร่เราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ตั้งแต่จำความได้นิทานและเรื่องเล่าอื่น ๆ ก็ถูกเล่าขานผ่านปากของคนเฒ่าคนแก่อย่างย่าของเราที่วัยใกล้เลย 8 ไปทุกขณะ เรื่องเล่าต่าง ๆ ของย่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเรื่องราวของปู่และนักเลงในพื้นที่ราชบุรีและเพชรบุรี โดยเฉพาะเรื่องราวของ "ตี๋ใหญ่" ที่ย่าเล่าให้ฟังอยู่บ่อยครั้งเพราะเป็นเพื่อสนิทกับลูกชายคนโตของย่า (ลุง) นอกจากเรื่องราวของกรมการนักเลงโตในแทบถิ่นย่านตะวันตกแล้ว ตำนานพื้นบ้านเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกเล่าผ่านปากของย่าได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องของราชบุรีในวันที่ย่าเป็นเด็ก และเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรียกได้ว่าย่าเป็นบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ร่วมสมัยดังกล่าว หลายคนมักมองว่าเรื่องเล่านิทานเก่าที่เล่าโดยคนแก่นั้นเป็นสิ่งไร้ค่า หากแต่ลองนึกดูให้ดีอีกครั้งเราจัพบว่าเรื่องเล่าเหล่านั้นล้วนมีพลังของเรื่องเราแอบแฝงอยู่ ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต ความเชื่อ ชุมชนแล้ว เรื่องเล่าต่าง ๆ เหล่านี้ยังช่วยให้เราได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงและบริบทของพื้นที่ต่าง ๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
หนังสือ : นักเล่านิทานและเรื่องอื่น ๆ
โดย : นิพันธ์พร เพ็งแก้ว
จำนวน : 256 หน้า
ราคา : 280 บาท
"นักเล่านิทานและเรื่องอื่น ๆ" บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ คล้ายกับตอนที่ย่าเคยเล่าให้เราฟังในตอนที่ย่ายังมีลมหายใจอยู่ เรื่องราวต่าง ๆ จากปากของคนแก่คนเฒ่าที่ถูกบอกเล่าผ่านตัวหนังสือ รวมถึงบอกเล่าผ่ายประสบการณ์ของผู้แต่ง เรื่องราวต่าง ๆ เล่านี้ไม่ต่างอะไรกับการบันทึกประวัติศาสตร์บุคคล ชุมชน เพื่อทำหน้าที่คล้ายเป็นสาราณุกรมชุมชนที่บันทึกเรื่องร่าวของเป็นวิถีของชาวบ้านและชุมชน ที่บอกเล่าผ่านการเปลี่ยนแปลง ผ่านกาลเวลา ซึ่งในหลายครั้งหลายตอนเรื่องร่าวต่าง ๆ ก็ถูกลืมเลือนไปจากสังคมสมัยปัจจุบันบ้างแล้วก็มี อย่างเรื่องของขนบวัฒนธรรมของชุมชนแบบเก่า ทั้งเรื่องของการเล่นทุ่ง ปลูกเรือน กาแล และวัฒนธรรมพาหนี ที่ปัจจุบันถูกมองว่าเป็นเรื่องเลวระยำต่ำช้า แต่ใครจะเชื่อว่าครั้งกาลก่อนนั้นการพาหนีเป็นเรื่องที่พึงกระทำและสังคมในช่วงเวลานั้นยังยอมรับได้ ซึ่งในปัจจุบันวัฒนธรรมดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมใหม่อย่างการแต่งงานเพื่อออกหน้าออกตาในสังคม
"นักเล่านิทานและเรื่องอื่น ๆ" ตั้งข้อสงสัยในเรื่องของวัฒนธรรมพาหนีกับการตีเมีย ว่าคนสมัยก่อนที่พาเขาหนีมามักไม่กล้ามีเรื่องกับเมียที่ตนพาหนี อาจจะด้วยหลายเหตุหลากปัจจัย แต่ในท้ายที่สุดแล้วหนังสือเล่มนี้ตั้งข้อสงสัยเอาไว้ให้ชวนคิดต่อว่า ในท้ายที่สุดแล้วเหตุใดปัจจุบันการตบตีเมีย และการเลิดลาจึงเกิดมากขึ้นในสังคมที่วัฒนธรรมการแต่งงานก่อกำเนิดเกิดขึ้นมาแทนที่การพาหนีแล้วค่อยพากลับมาขอขมา ซึ่งเรื่องนี้โยงไปถึงรูปแบบของครอบครั้วแบบสังคมสมัยเก่าและสังคมสมัยใหม่ไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว "นักเล่านิทานและเรื่องอื่น ๆ" ช่วยตอบคำถามและชักชวนให้เราตั้งคำถามกับหลาย ๆ เรื่องที่เราละเลยและมองข้าม ทั้ง ๆ ที่เรื่องเล่านั้นส่งผล ผูกโยง เกี่ยวพัน ก่อกำเนิดและมีปฏิสัมพันธ์กับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ปัจจุบันอยู่มิใช่น้อย น่าสนใจว่าเรื่องเล่าและเรื่องราวต่าง ๆ จากหลายบุคคลในสังคม จะสามารถสร้างหรือต่เติมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ขาดหายไปได้อีกไม่รู้กี่มากน้อย แต่เป็นที่แน่นอนว่าองค์ความรู้เหล่านั้นจะช่วยตอบคำถามให้กับสังคมได้เป็นแน่แท้ ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in