รีวิวเว้ย (434) "เอกซฮิบิเชน" เราเองเข้าใจว่าคำคำนี้เป็นคำที่เกิดขึ้นมาบนโลกเมื่อไม่นานนี้ อาจจะสักหลังสงครามโลกประมาณ 1920s ที่มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของเทศกาลศิลปะนานาชาติอย่าง Venice Biennale ที่เป็นการแสดงงานศิลปะที่เกิดขึ้นในอิตาลีโดยพรรคฟาสซิสต์เป็นผู้ริเริ่ม และมันดำเนินต่อมากระทั่งปัจจุบัน อีกทั้ง Venice Biennale กลายเป็นมหกรรมศิลปะนานาชาติที่สำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ที่อาจจะเรียกได้ว่าส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดทิศทางของวงการศิลปะโลกในแต่ละครั้งที่งานจัดขึ้น เราเลยคิดไปเองว่า "เอกซฮิบิเชน" น่าจะเกิดขึ้นในช่วงใกล้ ๆ กับการเกิดขึ้นของ Venice Biennale นี่แหละ แต่ที่ไหนได้ การเกิดขึ้นของเอกซฮิบิเชนมีมานานกว่านั้นนานโข ในสยามประเทศเองการเกิดขึ้นของเอกซฮิบิชันครั้งแรกก็เกิดขึ้นในสมัยของ ร.5 (24××) อาจจะเรียกได้ว่า "เอกซฮิบิเชน" เกิดขึ้นในสยามประเทศมาไม่น้อยกว่า 100 ปีล่วงมาแล้ว แต่ความน่าสนใจของการเกิดขึ้นของ "เอกซฮิบิเชน" ในสยามไม่ได้อยู่ที่ว่ามันเกิดขึ้นมานาน แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ มันถูกสร้างขึ้นเพื่อการต่อสู้และช่วงชิงความชอบธรรมบางประการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการต่อสู้ช่วงชิงกับปัจจัยจากภายนอกประเทศแล้ว ตัวของมันเองยังเป็นเครื่องมือในการต่อสู้แย่งชิงความชอบธรรมภายในสยาม/ไทย เองด้วยเช่นกัน โดยการช่วงชิงภายในเกิดขึ้นภายใต้บริบทที่สำคัญของการช่วงชิงความชอบธรรมในเรท่องของ "ความเป็นสาธารณะ" ที่จะเปิดโอกาสให้เอกซฮิบิเชน กลายเป็นเครื่องมือของคนชั้นหรือกลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางชนชั้น
หนังสือ : สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ
โดย : ปรีดี หงษ์สต้น
จำนวน : 176 หน้า
ราคา : 200 บาท
"สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ" พาเรากลับไปสำรวจ "เอกซฮิบิเชน" ของสยาม/ไทย ในฐานะของเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมและการสร้างการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อแย่งชิงพื้นที่ของคสามเป็นสาธารณะผ่านตัวงานเอกซฮิบิเชน ทั้งเรื่องของการต่อสู้กันของเจ้าผู้ปกครองเดิมผ่านการจัดเอกซฮิบิเชนเพื่อสร้างความชอบธรรมของตนเอง และแสดงถึงบารมีปกเกล้าที่แผ่ไปอย่างไพศาล สำหรัลเป็นเครื่องยืนยันว่าชนชั้นปกครองของสยาม/ไทยนั้น เป็นชนชั้นที่มีความสามารถ เหนือชั้นกว่าและมีความชอบธรรมในการบริหารราชการจัดการปกครองประเทศไทย ด้วยบุญญาบารามีที่แผ่ไปอย่างไพศาลนี้เอง
กระทั่งการต่อสู้ระหว่างเจ้าและคณะราษฎรเกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ทำให้งาน "เอกซฮิบิเชนขนาดใหญ่" อย่างงาน "วันฉลองรัฐธรรมนูญ" ถูกจัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมของฝ่ายราชการที่มีความสามารถในการปกครองไม่ต่างจากชนชั้นเดิม รวมไปถึงยังมีการเปิดพื้นที่ให้กับประชาราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย โดยที่บทบาทของราษฎรมิได้เป็นเพียงตัวแสดงที่เข้ามาเดินชมงายที่ประกาศถึงแสนยานุภาพเท่านั้น หากแต่ราษฎรกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของงานเอกซฮิบิชันไปพร้อมกัน ทั้งในฐานของผู้เข้าร่วมงาน ผู้ลงแรง ผู้บริจาค ฯลฯ ซึ่งสถานะของราษฎรในงานดังกล่าวถูกเปลี่ยนแปลงไปจากผู้ถูกปกครองที่ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมงาน มาสู้ผู้ร่วมงานกิจกรรมอย่างเป็นทางการ
แต่ "สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ" ก็ได้แสดงให้เราเห็นว่าการต่อสู้ช่วงชิงความชอบธรรมในเรื่องของการจัดมหกรรมทั้งคณะเจ้า คณะราษฎร ข้าราชการ ล้วนเกิดการต่อสู้แย่งชิงการสร้างและครอบงำความชอบธรรมดังกล่าวระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา อาจจะเรียกได้ว่าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพลาดอำนาจอธิบายความชอบธรรมจะตกเป็นของอีกฝ่ายทันที และในท้ายที่สุดการแย่งชิงมักต้องมีผู้ได้และผู้เสียเสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้น "สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ" ในท้ายที่สุดมันก็กลายกลับไปอยู่ในมือของคณะบุคคลที่ขีดเส้นราษฏรเอาไว้เพียงในสถานะของผู้ถูกปกครองแต่เพียงเท่านั้น
หากแต่เมื่อประชาราษฎรได้รู้จักกับพื้นที่สาธาณะและการขยับเคลื่อนไหวของตนได้แล้ว ก็เป็นไปได้ว่าประชาราษฎรจะสามารถใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อแย่งชิงและสร้างความชอบธรรม เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของตนได้เช่นเดียวกัน หากแต่รัฐและผู้ปกครองใช้กำลังกดทับพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นเอาไว้ ก็รั้งแต่จะทำให้แรงกดดันสะสมทวีปริมาณเพิ่มขึ้นในทุก ๆ วัน เมื่อถึงเวลาประชาชนจะกลับมาทวงถามหาความชอบธรรมในพื้นที่สาธารณะของตนคืน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in