รีวิวเว้ย (378) ถ้าให้ย้อนกลับไปสักเกือบ 10 ปีที่แล้ว หากพูดถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ติดอยู่ในความทรงจำของเราด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ เวลาที่มีใครถามถึงหนังที่ชอบในช่วงเวลานั้นเรามักจะนึกถึง "ความจำสั้นแต่รักฉันยาว" หนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของความรักของคู่รัก 2 คู่ที่ผูกโยงอยู่กับเรื่องของ "ความทรงจำ" และหนึ่งในจุดสำคัญของหนังเรื่องนี้ คือ เพลงประกอบที่ถูกขับร้องโดยนางเอกของเรื่องอย่าง ญารินดา บุญนาค ชื่อเพลง "อยากลืมกลับจำ" เนื้อหาของเพลงสะท้อนความเป็นหนังและสะท้อนความเป็นจริงบางประการของสังคมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพราะเรื่องของการจำและการลืม
หากย้อนมองกลับไปหาความทรงจำในรูปของความทรงจำโดยรัฐหรือความทรงจำที่ถูกทำให้ผูกโยงหรือจำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันกับรัฐ เรามักจะพบว่าความทรงจำหลาย ๆ ความทรงจำมักไม่ตรงกับความทรงจำร่วมของคนทั้งสังคม หรือหลายครั้งเราจะพบว่าความทรงจำบางประการถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไปอาจจะด้วยความจงใจหรือไม่จงใจของรัฐ (หรือของใคร) ก็ตาม ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นว่าพลวัตรของความทรงจำมีอยู่ตลอดเวลา บางครั้งมันอาจจะคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง บางครั้งมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและช่วงเวลา และในบางครั้งมันอาจจะถูกทำให้ลบลืม (เลือน) ทั้งจากการกระทำของคน รัฐ ผู้มีอำนาจ หรือมันอาจจะถูกทำให้ลบลืมตามกลไกของธรรมชาติและชีวิวิทยา (กาลเวลา)
"Old man forget: yet all shall be forget." (คนแก่ย่อมลืมเลือน แต่ทุกคนจะถูกลืม) -- William Shakespeare (น.9; คำนำ) ข้อความที่ถูกระบุเอาไว้ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ เป็นการถอดเอาความของบทประพันธ์ของเช็คสเปียที่พูดถึงเรื่องของการลืมเลือนที่บอกเป็นนัยว่าในท้ายที่สุดแล้วคนทุกคน "จะถูกลืม" ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการใดก็ตามแต่ หนทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเตือนความจำเกี่ยวกับบางคนหรือบางเรื่องมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่มักได้รับความนิยมมากกว่าวิธีอื่น ๆ คือ วิธีของการ "บอกเล่า" ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างหรือผลิตซ้ำความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งสิ่งนั้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเล็งผลประการใดก็ตามแต่
หนังสือ : คนทุกคนจะถูกลืม
โดย : กษิดิษ อนันทนาธร
จำนวน : 224 หน้า
ราคา : 200 บาท
"คนทุกคนจะถูกลืม" เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการผลิต สร้าง ย้ำเตือน กระตุ้น "ความทรงจำ" เกี่ยวกับบุคคลที่อาจจถูกหลงลืมไปแล้วจากการรับรู้และจากความทรงจำของใครหลาย ๆ คน ความน่าสนใจประการหนึ่งของ "คนทุกคนจะถูกลืม" คือ การบอกเล่าเรื่องราวของคน "ธรรมดา" ที่มีบทบาทต่อสังคมไทยแต่ไม่เป็นที่รับรู้ของใครหลายคนในสังคม
เมื่อเอ่ยถึงชื่อของ "ป๋วย" หรือ "ปรีดี" ชื่อของบุคคลสองคนนี้อาจจะยังคงประทับอยู่ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะกับความทรงจำของคนธรรมศาสตร์ แต่กับคนอีกหลายคนที่ถูกบอกเล่าในหนังสือ "คนทุกคนจะถูกลืม" ล้วนแต่เป็นคนที่มีบทบาทต่อสังคมไม่แพ้ป๋วยหรือปรีดีหากแต่ชื่อของเขาเหล่านี้ไม่ถูกพูดถึงนัก ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้ก็ร่วมเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างมาพร้อมกับคนทั้งคู่ และหลาย ๆ คนในที่นี้ยังมีฐานะเป็นบุคคลร่วมสมัยกับทั้งป๋วยและปรีดีอีกต่อหนึ่ง
"คนทุกคนจะถูกลืม" ช่วยฉายภาพของความทรงจำเกี่ยวกับบุคลที่มีความสำคัญกับสังคมไทยให้เราได้เห็น รู้จัก เข้าใจและได้เรียนรู้ ซึ่งการฉายภาพของหนังสือเล่มนี้ว่างอยู่บนฐานที่ใครหลายคนชอบพูดย้ำว่า "ของบางอย่างไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้" ซึ่งก็จริงอย่างที่เขาว่า แต่บางครั้ง "รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม" ก็เป็นอีกหนึ่งสำนวนที่ตอบข้อความเห็นด้านบนได้เป็นอย่างดี
เอาเข้าจริงเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ว่า "จำกัด พลางกูล" และ "ฉลบชลัย พลางกูล" เป็นใคร แต่หากเมื่อรู้ไปแล้วเราก็จะเห็นว่าคนสองคนนี้มีคุณูปการต่อการเมืองไทยและสังคมไทยไม่น้อยไปกว่าประวัติของผู้นำทางการเมืองที่เราท่อง ๆ กัน หรือเอาเข้าจริง ๆ บทบาทของคนทั้งสองอาจจะสำคัญกว่าผู้นำทางการเมืองหลาย ๆ คนที่เรารู้จัก เพราะผู้นำเหล่านั้นอาจจะไม่สร้างคุณูปการใด ๆ ต่อสังคมนอกจากสร้างความ "ฉิบหาย, วุ่นวาย และความบรรลัย" ไปวัน ๆ
"คนทุกคนจะถูกลืม" แต่ก่อนจะลืมเราควรรู้จัก เข้าใจ และเรียนรู้ประสบการณ์ของคนเหล่านั้นเสียก่อน และจะลืมหรือไม่ลืมก็อยู่ที่ตัวเรา และอยู่ที่สภาพธรรมชาติของความทรงจำของเรา เพราะรัฐและผู้มีอำนาจเองไม่อาจทำลายความทรงจำที่ประทับลงไปในใจของเราได้ หากแต่ทำได้ก็เพียงบิดเบือนและลบเลือนความทรงจำกับคนรุ่นต่อไป ซึ่งเราเองก็สามารถต่อสู้กับการกระทำดังกล่าวของรัฐได้ เพียงแค่บอกเล่าความทรงจำของเราให้คนรุ่นต่อไปได้รับรู้และเข้าใจ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in