รีวิวเว้ย (379) สังคมไทยเป็นสังคมที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ (ในทางปฏิบัติ) เพราะถ้าเราดูจากจำนวนวัดและช่องระบุศาสนาบนบัตรประชาชนเราจะพบว่า "พุทธ" มีปริมาณมากกว่าศาสนาอื่น ๆ อยู่หลายเท่าตัว และด้วยความที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำ (คน) ในชาตินี้เองที่ยังผลให้ พระ วัด พุทธ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของประเทศนี้ อาจจะด้วยการผนวกเอาคติแบบผี พราหมณ์ พุทธเข้าไว้ด้วยกันได้โดยจะมีผี พุทธ พราหมณ์อะไรนำก็ตามแต่ แต่นั่นก็ทำให้ศาสนาไทยลูกผสมมีความเข้มแข็งมากจนกระทั่งกลายเป็นกลจัรกสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นหลาย ๆ ประเด็นทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่มีเรื่องของพุทธศาสนา (ผสมแล้ว) เข้าไปเกี่ยวข้องยิ่งทำให้เรื่องราวต่าง ๆ บันเทิงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
เรื่องราวของ "ครูบา" เป็นอีกหนึ่งความบันเทิงที่เกิดขึ้นมาในสังคมไทยได้สักระยะหนึ่งแล้ว ทั้งเรื่องของข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นว่า ความหมายที่แท้จริงของครูบาคืออะไร (?) และพระต้องมีพรรษาเท่าไหร่เราถึงจะเรียกกันว่าครูบา (?) และการเป็นพระครูบานั้นทำอะไรถึงได้เป็น หรือแค่แก่พรรษาก็เป็นได้ (?) เหตุนี้เราเลยลองไปค้นการให้ความหมายของคำว่า "ครูบา" ตามพจนานุกรม ฉ.ราชบัณฑิต 2554 พบว่าในพจนานุกรมฉบับดังกล่าวมีการให้ความหมายของคำว่า "ครูบา" เอาไว้ว่า "... (ถิ่น-พายัพ) น. ครูผู้สอนกุลบุตร หมายถึง สมภาร, คำใช้เรียกพระเถระผู้เป็นที่เคารพนับถือ ซึ่งมักจะมีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ..." ซึ่งการนิยามหรือการให้ความหมายของพจนานุกรมฯ ก็เป็นรูปแบบของการสร้างคำนิยามลักษณะหนึ่งของสังคมไทยผ่านการสร้างความชอบธรรมโดยสถาบันที่มีอำนาจในการครอบงำการให้ความหมายอย่าง "สภาราชบัณฑิต"
แต่เมื่อเราเอานิยามของคำว่าครูบาตามพจนานุกรมมาสวมทับเข้ากับบริบทของครูบาในสังคมไทยปัจจุบันเราแทบจะไม่เห็นภาพสะท้อนของความเป็นครูบาตามพจนานุกรมในครูบาที่ปรากฎในสังคมไทยเลย เพราะครูบาในปัจจุบันบางรูปยังอายุน้อยเกินกว่าที่จะพ้นสภาวะของคำจำกัดความว่า "หลวงพี่" แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับความหมายของคำว่า "ครูบา" ในสังคมไทย และเหตุใดครูบาจึงเป็นที่นิยมเคารพยกย่องของคนไทยในช่วงหลายปีมานี้ไม่แพ้พระตามขนบแบบพุทธไทยภาคกลาง คำตอบของคำถามเหล่านี้ยังเป็นที่ค้างคาใจแต่ก็พอจะหาคำตอบได้ว่าเพราะเหตุใด "ครูบาคติใหม่" จึงปรากฏขึ้นในสังคมและส่งผลกระเทือนต่อวงการศาสนาในบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีนัยยะสำคัญ
หนังสือ : ครูบาคติใหม่: แต่งองค์ ทรงเครื่อง พุทธศรัทธาหลังกึ่งพุทธกาล
โดย : ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว
จำนวน : 246 หน้า
ราคา : 230 บาท
"ครูบาคติใหม่: แต่งองค์ ทรงเครื่อง พุทธศรัทธาหลังกึ่งพุทธกาล" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการตอบคำถามต่อการเกิดขึ้นของสิ่งที่ถูกขนานนามว่า "ครูบาคติใหม่" หรือเป็นกลุ่มของครูบาที่ไม่ Fit in กับการนิยามของรัฐไทยและศาสนาพุทธไทยภาคกลาง ที่เหล่าครูบาคติใหม่หลายรูปอายุน้อยแต่ได้รับการเรียนขาน (หรือเรียกตัวเอง) ว่า "ครูบา"
"ครูบาคติใหม่: แต่งองค์ ทรงเครื่อง พุทธศรัทธาหลังกึ่งพุทธกาล" พยายามแสวงหาคำตอบของคติของการเกิดขึ้นของแนวคิดครูบาในสังคมไทย โดยนับเอารูปแบบของขนบแบบครูบาศรีวิชัย นักบุญคนสำคัญของล้านนาเป็นตัวแบบในการศึกษาปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของครูบาคติใหม่ ทั้งเรื่องของการยึดโยงตัวครูบาคติใหม่เข้ากับครูบาศรีวิชัย อย่างเรื่องของการแต่งกาย การปฏิบัติ การบำรุง (บูรณะ) พระศาสนา การต่อต้านขนบแบบพุทธไทยภาคกลาง รวมถึงการสร้างความยึดโยงภาพของครูบาคติใหม่ว่าเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นครูบาศรีวิชัยกลับชาติมาเกิด (ขวัญทั้ง 32 ของครูบาศรีวิชัย)
นอกจากเรื่องของการยึดโยงที่ความเป็นครูบาศรีวิชัยของครูบาคติใหม่แล้ว "ครูบาคติใหม่: แต่งองค์ ทรงเครื่อง พุทธศรัทธาหลังกึ่งพุทธกาล" ยังเชื่อมโยงให้เราได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสังคมกับครูบาคติใหม่ ที่สภาพของสังคมก่อให้เกิดการสถาปนาความเข้มแข็งของครูบาคติใหม่ขึ้นมา ทั้งเรื่องของสภาพสังคม ความไม่มั่นคงของชีวิต และเศรษฐกิจปากท้องล้วนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนังสือเล่มนี้ฉายภาพให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้นั้นเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ส่งเสริมความมั่นคงของครูบาคติใหม่ในสังคมไทย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in