รีวิวเว้ย (375) ย้อนกลับไปช่วงเวลาก่อนเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (8 ปีก่อน) เราเคยตั้งเป้าว่าอยากเรียนรัฐศาสตร์ปกครอง ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่อยากจะเป็นปลัดหรือนักปกครองอะไร แต่ตอนนั้นเราคิดจริง ๆ ว่าอยากเรียนกับ "ธเนศ วงศ์ยานนาวา" และ "นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" ด้วยความที่สมัยเป็นเด็กเพื่อนไม่ค่อยคบ (ตอนนี้ก็ไม่มีเพื่อนคยเหมือนเดิม) ทำให้เรามีโอกาสได้อ่านหนังสือจากห้องสมุดอยู่บ่อย ๆ และหนังสือที่สะดุดตาเราเป็นพิเศษเป็นหนังสือปกสีเหลืองหน้าปกมีรูปช้อน ซ่อม มีด ดูแปลกตาพร้อมกับสีเหลืองสด ทำให้เราตัดสินใจยืมหนังสือเล่มนั้นจากห้องสมุดโรงเรียนกลับไปอ่านที่บ้าน ทุกวันนี้ยังคงจำความรู้สึกแรกที่อ่านบทแรกของหนังสือเล่มนั้นได้ดี ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ "กูยืมเหี้ยไรมาวะเนี่ย" และเราก็พยายามอ่านจนจบบทแรกของหนังสือและตัดสินใจเอาหนังสือเล่มนั้นไปคืน (อ่านครั้งแรกจำได้ว่างงกับ "เอกเทวนิยม" เป็นอย่างมาก ว่ามันคือไรวะ) และต้องเอาชื่อของผู้เขียนไปค้นหาใน google และรูปแรกที่เราเจอคือรูปของมนุษย์ลุงผมยาวหน่อย ๆ แลบลิ้นโชว์กล้อง และได้รู้ข้อมูลว่าลุงคนนี้สอนอยู่ที่รัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ และหลังจากที่เข้าเรียนที่รัฐศาสตร์แล้ว เราก็มีโอกาสได้เรียนกับ อ.ธเนศ หลายครั้งตั้งแต่สมัย ป.ตรี จนกระทั่ง ป.โท และหนังสือเล่มเหลือง ๆ เล่มเดิม ก็ถูกจัดเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ถูก assign ให้อ่านในวิชาที่ตอนนั้นหัวข้อเรื่องที่สอนเกี่ยวข้องกับเรื่องของศาสนาและการก่อกำเนิดรัฐและแนวคิดอื่น ๆ ที่ติดตามมาอีกหลายสิบอย่าง แต่จนแล้วจนรอดตอนเรียน ป.ตรี จบแล้วก็ยังคงอ่านหนังสือเล่มนี้เข้าใจแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ (ที่เข้าใจก็ไม่รู้ว่ถูกรึเปล่า) จนกระทั่งทุกวันนี้เราอ่านหนังสือเล่มนี้มาไม่น่าจะต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่เราเองก็ยังไม่กล้าพูดได้เต็มปากนักว่าเราเข้าใจเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้แล้ว
หนังสือ : On Multiculturalism: ว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม (พ.3)
โดย : ธเนศ วงศ์ยานนาวา
จำนวน : 248 หน้า
ราคา : 200 บาท
เหตุนี้ทำให้การรีวิวหนังสือเล่มนี้ "On Multiculturalism: ว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม" นั้นเป็นเรื่องที่ยากและน่าหนักใจพอสมควร ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะรีวิวให้คนอ่านที่สนใจหนังสือเล่มนี้ไปหาซื้อมาอ่านต่อกันเองได้
"On Multiculturalism: ว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของ "ความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม" ที่ในสังคมหนึ่ง ๆ นั้นความหลายหลายจำเป็นที่จะต้องถูกจำกัดกรอบของวัฒนธรรมที่หลากหลายบางประการเพื่อรัฐประชาชาติและด้วยการจำกัดกรอบดังกล่าวทำให้ความหลากหลายกลายเป็นความไม่หลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ทุกวัฒนธรรมอาจจะต้องถูกทำให้กลืนกลายผ่านกลไกบางประการของรัฐประชาชาติเพื่อสร้างให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว สำหรับสถาปนาความมั่นคงสถาพรของรัฐประชาชาตินั้น ๆ คล้ายกับกลไกของศาสนาในแบบเอกเทวนิยม ที่มุ่งมาดคาดหวังให้มีความหลากหลายบนฐานของความเป็นหนึ่งเดียวประหนึ่งการมีพระเจ้าเพียงองค์เดียว (รักกูคนเดียว)
โดยกรอบคิดของแนวคิดเอกเทวนิยมส่งผลอย่างไรต่อความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกลไกต่าง ๆ เหล่านั้นยังผลต่อความไม่อดกลั้นในความอดกลั้งของเสรีนิยมอย่างไร ซึ่งกลไกต่าง ๆ เหล่านี้ยังพาเราไปพบกับบทสรุปและการตั้งคำถามในเรื่องของสิ่งที่เกิดขึ้นหลังความหลายหลายทางวัฒนธรรม และพาเราไปพบกับคำถามในคำตอบในเรื่องของการเมืองอัตลักษ์ของเสรีนิยม ว่าโครงสร้าง กลไกต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ ส่งต่อถึงกัน และโยงใยใส่กันอย่างไรภายใต้ความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นแล้วบนโลกใบนี้
พิมพ์มาถึงตรงนี้ได้ ทำให้เรารู้แล้วว่า "หนังสือบางเล่มก็ไม่สามารถบอกเล่าและถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรให้คนสามารถเข้าใจได้" ซึ่งมันก็คงคล้ายกับเรื่องบางเรื่องที่อ่านกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เมื่ออ่านจบมันชวนให้เราวกกลับมาถามตัวเองได้เสมอว่า "นั่นมึงเข้าใจถูกแน่หรอวะ (?)" และนี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังสือของ อ.ธเนศ ที่เมื่อเราอ่านมันในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป เรามักจะได้ข้อสรุปในรายละเอียดปลีกย่อยของหนังสือที่แตกต่างออกไปตามประสบการณ์ที่เราค่อย ๆ สั่งสมมันเพิ่มขึ้นมา แนะนำว่าลองซื้อ "On Multiculturalism: ว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม" มาอ่านดู และลองอ่านมันใหม่ทุก ๆ 2-3 ปี แน่นอนว่าเราอาจจะได้รายละเอียดบางประการที่แตกต่างจากครั้งที่เคยอ่านมา
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in