เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
HLA MYINT: หละ มยิ้น By ลลิตา หาญวงษ์
  • รีวิวเว้ย (374) เรารับรู้เรื่องราวของประเทศพม่าผ่าน "แว่นตา" ที่ได้รับมาจากกรอบความเป็นชาตินิยมของระบบการศึกษาไทย ที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ครั้งเรียนวิชาประวัติศาสตร์ (สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม) ว่า "พม่าเป็นสัตรู" กับไทย ผ่านการผลิตซ้ำวาทกรรมที่ว่าด้วยเรื่องของการ "เสียกรุงศรี" ที่แสดงให้เห็นถึงความหยาบช้า สารเลวของพม่า ผ่านการเผากรุงศรีฯ ลอกทองพระ ฆ่า ข่มขืน เทครัวคนสยาม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกในการผลิตซ้ำและสร้างความเกลียดชังพม่าต่อคนไทย (กระทั่งปัจจุบัน)

    ทุกวันนี้เราอาจจะยังพอได้ยิน ได้ฟังและได้เห็นแนวความคิดแบบชาตินิยมในลักษณะนี้ผ่านหนัง ละคร และตาม comment ในเพจเฟสบุ๊กต่าง ๆ ที่เรายังสามารถเห็นทัศนคติของคนไทยต่อเพื่อนบ้านชาวพม่าว่า ".....ที่พวกมันต้องเข้ามาทำงานในไทยเยอะเพราะเป็นการชดใช้กรรมที่พวกมันเคยเผากรุงศรีฯ....." (เย็ดเข้ คิดได้ไงวะเนี่ย) ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว "แว่นตา" ในการมองเพื่อนบ้านแบบนี้ทำให้เรากดปราบความเป็นพม่าเอาไว้ว่า พวกเขาคือพวกต่ำชั้น ประเทศเต็มไปด้วยคนโง่และด้อยพัฒนา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการมองแบบนั้นอาจจะถูกแค่เพียงเสี้ยวดียว ในเรื่องของการเป็นประเทศด้อยพัฒนาแต่หากย้อนกลับไปหลายทศวรรษก่อนหน้า ถ้าประเทศพม่าไม่เดินเกมผิดพลาดทางการเมือง ประเทศที่ต้องไปอยู่ตรงจุดของพม่า (ปัจจุบัน) อาจจะเป็นไทย และเป็นไปได้ว่าในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าไทยอาจจจะไปอยู่ตรงจุดที่เรามองพม่าในทุกวันนี้ เพราะในขณะที่ทุกประเทศกำลังเดินไปข้างหน้า ในภูมิภาคนี้อาจจะมีแค่ไทยเท่านั้นแหละที่กำลังเดินแบบมูนวอร์ค (ถอยหลังลงก้นมหาสมุทร) ทั้งระบบการปกครอง ระบบการเมือง ในประเทศไทยตอนนี้ไม่มีอะไรที่จะรับรองได้เลยว่าเราจะ "เจริญขึ้น" ในภายหนาหากระบบทุกอย่างยังคงอาศัยดวงแบบรอให้ฦๅษีถูกหวยแบบนี้

    นอกจากนี้หากประเทศไทยจะดูถูกพม่าว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยคนที่ไร้ศักยะภาพเป็นได้เพียงแค่แรงงานของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งอย่างที่บอกว่าถ้าพม่าไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นเมื่อหลายทศวรรษก่อนอาจจะเป็นเรา (ไทย) นั่นแหละที่ต้องไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือในประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าพิจารณาจากบุคลากรของพม่าที่มีความสามารถในระดับโลก เราอาจจะพบว่าในช่วงเวลา 1940-1960s พม่าส่งออกบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่องค์กรระดับโลกไม่ว่าจะเป็น UN ที่มี อูตั่น เป็นเลขาธิการของสหประชาชาติที่เป็นชาวเอเชียคนแรก (เป็นคนพม่า) และยังมีนักวิชาการอีกมากที่ถูกผลิตขึ้นและเข้าไปมีบทบาทในระดับโลกในช่วงเวลาดังกล่าว (ซึ่งมันก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยสนับสนุนเรื่องดังกล่าว แต่ขอละไว้ไม่อธิบาย ณ ที่นี้ เพราะกลัวมันจะยาวเกินไป) อย่างนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง "หละ มยิ้น" ก็เป็นหนึ่งในนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ระดับโลกอีกคนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนพม่าในช่วงเวลาดังกล่าว และเอาเข้าจริงถ้าจะให้ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นเราจะเห็นว่าในสงครามครั้งเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 นั้น อาจจะไม่ได้เกิดจากการไร้ความสามารถของกษัตริย์อยุธยาองค์สุดท้าย หากแต่เป็นเพราะพระปรีชาสามารถของพระเจ้ามังระ แห่งราชวงศ์คองบอง (โกนบอง) ที่วางเกมการศึกมาอย่างดีและสามารถปิดเกมกรุงศรีฯ ได้แบบสบาย ๆ พร้อมทั้งยังตั้งรับศึกจากจีนได้พร้อม ๆ กับที่ตีกรุงศรีฯ ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วคนพม่าอาจจะไม่ใช่แรงงานไร้ฝีมือตามที่มายาคติแบบไทยปิดบังตาเราเอาไว้ หากแต่พวกเขาขาดโอกาศในการพัฒนาหลังจากการปิดมหาวิทยาลัยและการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลทหารพม่าหลังจากการได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ (ในเวลาไม่นาน) 
    หนังสือ : HLA MYINT หละ มยิ้น: บทสะท้อนความคิดทางสังคมและเศรษฐกิจของพม่าจากยุคอาณานิคมถึงหลังอาณานิคม
    โดย : ลลิตา หาญวงษ์
    จำนวน : 248 หน้า
    ราคา : 290 บาท

    "HLA MYINT หละ มยิ้น: บทสะท้อนความคิดทางสังคมและเศรษฐกิจของพม่าจากยุคอาณานิคมถึงหลังอาณานิคม" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยชีวิตและผลงานของนักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ชาวพม่า ที่ช่วยฉายภาพของประวัติศาสตร์พม่าในช่วงเวลาที่ทาบทับกับตัวตนของหละ มยิ้นได้เป็นอย่างดี โดยในหนังสือบอกเล่าถึงเรื่องราวของพม่าอย่างพอสังเขปพร้อมทั้งอธิบายถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงของพม่าโดยตลอดช่วงระยะเวลา ด้วยการหยิบเอาตัวของหละ มยิ้นเป็นจุดร่วมของประวัติศาสตร์พม่า พัฒนาการของพม่าและประวัติศาสตร์ของบุคคลรวมไว้ด้วยกัน คล้ายกับเป็นการบอกเล่าชีวิตของหละ มยิ้นที่มีพลวัตรไปพร้อม ๆ กันกับประเทศพม่า

    "HLA MYINT หละ มยิ้น: บทสะท้อนความคิดทางสังคมและเศรษฐกิจของพม่าจากยุคอาณานิคมถึงหลังอาณานิคม" นอกจากจะบอกเล่าถึงชีวิตของหละ มยิ้นแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังสร้างข้อสังเกตุในเรื่องของทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นฐานคิดสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ (ด้อยพัฒนา/กำลังพัฒนา) ให้มีความเจริญก้าวหน้า ผ่านการศึกษาผลงานทางด้านเศษฐศาสตร์ของหละ มยิ้น และของนักวิชาการอีกหลายคนที่ว่าด้วยเรื่องของข้อถกเถียงของการพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์ของประเทศกำลังพัฒนา

    รวมถึงหนังสือเล่มนี้ ยังช่วยฉายภาพให้เห็นถึงพัฒนาการของการรับมือกับการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย (ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา) ผ่านกรอบคิดของวิชาเศษฐศาสตร์กระแสหลัก และผ่านกรอบคิดที่หละ มยิ้นได้สร้างขึ้น ทั้งบอกเล่าถึงปัญหาของพัฒนาการในครั้งอดีตและแนวโน้มจากการคาดการในอนาคตที่กำลังจะถึง หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เรารับรู้ถึงบทบาทของคนธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่สังคมนั้นก็ดันยัดเยียดความเป็นอื่นให้กับบุคคลคนดังกล่าวเพื่อตัดขาดตัวตนของเขาออกจากรัฐ แต่ถึงอย่างไรเขาเองก็พยายามที่จะพัฒนาและช่วยเหลือประเทศปิตุภูมิของตนเท่าที่จะทำได้ (ผ่านวิชาเศรษศาสตร์) ถึงแม้การกระทำของเขาอาจจะไม่ได้เข้าสู่การรับรู้ของผู้มีอำนาจเลยก็ตาม (หรือรู้แต่ไม่สนใจ)

    หลังจากอ่านหนังสือ "HLA MYINT หละ มยิ้น: บทสะท้อนความคิดทางสังคมและเศรษฐกิจของพม่าจากยุคอาณานิคมถึงหลังอาณานิคม" จบลง สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้ได้ คือ ความสามัญธรรมดาของความขัดแย้งต่ออำนาจรัฐ (ผู้มีอำนาจ) ถึงแม้ว่าเราจะถูกต้องสักเพียงใด ในท้ายที่สุดเราก็จะไม่ได้รับความสนใจจากรัฐอยู่ดี หากแต่ความสามัญธรรมดานี้เอง ที่ถ้าเราแสดงออกและลงมือกระทำอย่างเต็มที่แล้ว สักวันหนึ่งการเปลี่ยนแปลงดังที่ใจเราคาดหวังอาจจะเกิดขึ้นก็เป็นได้ เหมือนหละ มยิ้น ที่ตัวเขาอาจจะผิดหวังกับประเทศพม่าในหลายครั้งหลายหน แต่ตัวเขากลับไม่เคยสูญเสียความศรัทธาต่อความรู้สึกในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อประเทศของเขาเลย กระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in