รีวิวเว้ย (330) รสชาติของอาหารล้วนมีพลวัตรในตัวของมันเอง แต่ลิ้นที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องรับรสชาติกลับเป็นเครื่องมือที่หยุดนิ่งและไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามรสชาติอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลและเวลา ทำในหลายครั้งหลายหน เรามักจะได้ยินญาติผู้ใหญ่ของเรามักพูดว่า "เด็กสมัยนี้กินอาหารอะไร รสชาติแปลกประหลาด ขนาดกับข้าวสูตรเก่าดั่งเดิม ก็ยังมีรสชาติที่เปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้" นี่เป็นการยืนยันถึงการมีพลวัตรของอาหารและการรักษาสถานะความ "อนุรักษ์นิยม" ของลิ้น ที่มักผูกโยงอยู่กับความคุ้นเคย มาตรฐานดังกล่าวมักสะท้อนออกมาให้เห็นในชื่อของร้านอาหารอย่าง "คุ้นลิ้น" ซึ่งหลายครั้งมันเป็นเครื่องยืนยันถึงรสชาติอาหารตามสมัยนิยม และชนชาตินิยมได้เป็นอย่างดี
หนังสือ : โอชากาเล
โดย : กฤช เหลือลมัย
จำนวน : 248 หน้า
ราคา : 350 บาท
"โอชากาเล" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวของอาหารในจานและนอกจาน ที่เมื่อบริโภค (อ่าน) แล้วสามารถอิ่มท้อง และอิ่มทั้งความรู้ โดยเนื้อหาในบทต่าง ๆ ของหนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์และพลวัตรของอาหาร เครื่องปรุง และเครื่องประกอบในการทำอาหาร โดยอาหารแต่ละชนิดและเครื่องประกอบอาหารแต่ละอย่างใน "โอชากาเล" ล้วนถูกตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ ด้วยผู้เขียนเป็นนักโบราณคดีที่หันมาสนใจในเรื่องของอาหารการกิน
นับตั้งแต่เรื่องของการทวงคืนผัดกระเพรา กระทั่งที่มาและจุดกำเนิดของ พริก น้ำปลา ผงชูรส ล้วนถูกบอกเล่าถึงที่มาที่ไปที่ผ่านกระบวนการทางประวัติศาสตร์ มนุษยวิทยา ภาษาศาสตร์ รวมไปถึงวิชารัฐศาสตร์ ที่ล้วนถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการอรรถาธิบายถึงอาหารและเครื่องประกอบอาหารแต่ละอย่าง
ข้อควรระหวังอย่างหนึ่งของการอ่าน "โอชากาเล" คือ หากอ่านยามค่ำคืน แต่ละบทแต่ละตอนของหนังสือสามารถชัดชวนมวลน้ำย้อยให้ทำงานได้อย่างคลื้นเครง รวมถึงยังชักชวนน้ำลายให้เกิดการแตกฟองอยู่เป็นระยะ แทบทุกบทตอนในหนังสือเล่มนี้แฝงเอาไว้ด้วยการอรรถาธิบายรูป รส กลิ่นของอาหารแต่ละชนิดเาไว้ได้อย่างถึงเครื่อง (ปรุง) ในทุกชนิดของอาหาร รวมถึงบอกเล่าถึงที่มาที่ไปผ่านกรอบคิดและหลักฐานของสรรพศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ "โอชากาเล" ยังได้พยายามตอบคำถามที่เกิดจากมายาคติและอคติบางอย่างที่มีต่ออาหารบางประเภทว่าแท้จริงแล้ว ด้วยหลักฐานทางวิชาการมายคติหรืออคติต่ออาหารแต่ละอย่างนั้นความจริงเป็นเช่นไร อย่างในกรณีของอคติในเรื่องของ "ผัดไท" ว่าแท้จริงแล้วเกิดขึ้นเมื่อใด และใครคือผู้คิดค้น และรวมถึงการตอบมายาคติในเรื่องของชาตินิยมทางอาหารอีกหลายผฝประการให้กระจ่างแจ้ง และช่วยตั้งคำถามต่อมายาคติอีกหลายอย่างว่าแท้จริงแล้วเป็นเช่นไร แล้วมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือ
"โอชากาเล" เปรียบเสมือนคู่มือในการทำอาหารที่เป็นทั้งอาหารของกายและอาหารของสมอง รับรองว่าเมื่ออ่านจบแล้วคุณจะมองผัดกระเพราและผัดไทแตกต่างไปจากที่เคย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in