เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
คน. รัก. ที่. โตเกียว.tiktokthailand
6 : เฉิน และน้ำมันพืชครึ่งขวดขวดนั้น
  • "เฉิน และน้ำมันพืชครึ่งขวดขวดนั้น"

    เฉินเป็นหนุ่มจีนตัวสูงโย่ง หลงรักการเล่นบาสฯ จริงๆ แล้ววันเวลาของฉันกับเฉินทาบทับกัน (แสน) สั้นมาก ถ้านับเป็นชั่วโมงจริงๆ ก็ไม่น่าเกิน 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำ และบทสนทนาแรกเริ่มของเราเริ่มต้นด้วยเรื่อง “น้ำมันพืช”

    เริ่มต้นสัปดาห์ที่สองของการอยู่โตเกียว, ในแชร์เฮ้าส์ที่ฉันเซ็นสัญญาว่าจะอยู่ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน, ฉันหันมาจริงจังกับการทำอาหาร
    ค่ากินอยู่ที่โตเกียวแพงมาก ในปี 2013 มหานครแห่งนี้ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก สถิตินี้เปลี่ยนแปลงไปทุกปี บางปีก็ย้ายฟากข้ามทวีปไปตกอยู่ในเงื้อมมือของเมืองซานฟรานซิสโก บางปีก็ย้ายกลับมาทางฝั่งสิงคโปร์ แต่ปีนี้ โตเกียวครองอันดับหนึ่ง
    อันที่จริง อาหารการกินของโตเกียวไม่ได้แพงมากกว่าเมืองใหญ่โตเมืองอื่นของโลกมากนัก แซนด์วิชเรียบง่ายที่นิวยอร์กอาจราคา 150 บาท แตกต่างกับราคาฟิชแอนด์ชิปที่ลอนดอนไม่มากไม่มาย ขณะที่ราเมนแบบเนื้อน้อยชิ้นที่โตเกียว ราคาคือ 170 บาท ราคานี้ประชากรจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกอย่างวิลเลียมเคยหลุดปากบอกว่า “ไม่แพง” ประชากรจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟังแล้วคันปากอยากจะแย้ง ก็แหม...เรามาจากดินแดนที่ก๊วยเตี๋ยวชามละ 30 บาทนี่นา
    ส่วนหนึ่งที่ทำให้อาหารในญี่ปุ่นราคา “ไม่ถูก” ก็เพราะนโยบายของรัฐบาลที่เน้นให้ความสำคัญกับผู้ผลิตมากกว่าผู้บริโภค ส่วนหนึ่งลือกันว่าเพราะเกษตรกรเป็นฐานเสียงสำคัญ รัฐบาลเลยต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจมาช่วยค้ำจุน
    ฟังแล้วรู้สึกเป็นปัญหาโลกแตก ถ้าเราเป็นเกษตรกรผู้ผลิต เราก็คงอยากขายของได้ราคาดี ส่วนถ้าเราเป็นผู้บริโภครายได้เดือนชนเดือน เราก็คงอยากซื้อหาข้าวปลาได้ในราคาแสนถูก
    มาตการเศรษฐกิจที่ดีคืออะไร, คำตอบคงขึ้นอยู่กับว่า “เรายืนอยู่ฝั่งไหน” มากกว่า
    แน่นอนว่าตอนนี้ฉันยืนอยู่ฝั่งผู้บริโภค
    และตอนนี้ ฉันตัดสินใจจะบริโภค ‘แซลมอนทอด’

    ฉันเดินเข้าครัวของแชร์เฮ้าส์ สำรวจตรวจสอบจนพบว่าที่นี่มีหม้อหุงข้าวให้แล้ว เตาไฟฟ้าก็มีถึงสองเตา ตะหลิว กระทะเทฟล่อน หม้อต้ม ทัพพี ทุกอย่างที่ล้วนจำเป็นกับการทำอาหาร (โซนเอเชีย) ล้วนมีครบครัน, ได้การล่ะ ฉันจะหุงข้าวกินกับแซลมอนทอด ตอนนี้ขาดแค่ออกไปซื้อข้าวสารที่ซุปเปอร์ ซื้อแซลมอน พริกไทยดำ (ไว้เหยาะโรย) และก็น้ำมันพืช
    ซุปเปอร์ญี่ปุ่นไม่แตกต่างจากซุปเปอร์เมืองไทย โดยเฉพาะตรงแผนกของสดและเครื่องปรุงรส ถ้าจะมีสิ่งที่ต่างอย่างเห็นได้ชัด ก็คงเป็นเรื่อง “ภาษา”, ฉลากบรรจุภัณฑ์ที่นี่ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น ><”
    นั่นหมายถึง การจะซื้อหาสินค้าอะไรสักอย่าง เราต้องสังเกตสังกาจากลักษณะภายนอก “เอ...อันนี้น่าจะเป็นพริกไทยดำเนอะ” “อันนี้น่าจะเป็นน้ำมันพืชแหละมั้ง ขวดและสีเหมือนกันเปี๊ยบ” นี่คือหลักเกณฑ์ง่ายๆ เลย ... ใช้สายตากะประมาณ ใช้สมองประมวล และใช้เงินเยนจับจ่าย (ฮา)
    ได้ของครบล่ะ ว่าแล้วฉันก็หอบหิ้วทุกอย่างเข้าครัว เอาข้าวใส่หม้อ ซาวน้ำสองหน ยกใส่เครื่อง กดปุ่มสักปุ่มที่ “เดา” เอาเองว่าน่าจะหมายถึง ปุ่ม “cook” จากนั้นก็หันไปตั้งกระทะเทฟล่อน เปิดเตาไฟฟ้า พอกระทะเริ่มร้อนก็ใส่แซลมอนลงไป จริงๆ สำหรับกระทะเทฟล่อนนั้น เราสามารถปรุงอาหารโดยไม่ต้องใส่น้ำมันลงไปก็ได้ แต่วันนั้นอะไรดลใจให้ฉันอยากใส่น้ำมันพืชก็ไม่รู้ ฉันว่ามันน่าจะทำให้แซลม่อนมีความกรุบกรอบน่ากินกว่าเดิม
    เปิดขวดพลาสติกที่บรรจุน้ำสีอำพันอย่างแคล่วคล่อง (ขอยกยอปอปั้นทักษะครัวเรือนตัวเองสักเล็กน้อย) จากนั้นฉันก็เทสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็น “น้ำมัน” ราดลงบนตัวแซลมอนอย่างเชื่อมั่น
    หืม...ทำไมน้ำมันมันไม่หนืดเลยล่ะ มันเทง่ายประหนึ่งกำลังเทน้ำหรือเทเหล้าเลย
    ฉิบหายล่ะ! นี่มันไม่ใช่น้ำมัน!!!
    โธ่ถัง! แซลมอนสีส้มสวยของฉัน ชิ้นนั้นราคาตั้งสองร้อยเยนเชียวแน่ะ!!!

    ฉันปิดเตาไฟฟ้า รู้สึกอยากเขกกะโหลกตัวเองครามครัน แผนการที่ตั้งเป้าว่าอยากประหยัดตังค์ ดันพลิกโผกลายเป็นการสูญเสียแซลมอนไปชิ้นหนึ่ง พร้อมได้ขวดน้ำสีอำพันอะไรมาก็ไม่รู้
    แล้วเฉินก็เดินผ่านมาในจังหวะนี้
    “เฮ้ย! เธอ, เธอนั่นแหละ เธออ่านภาษาญี่ปุ่นออกไหม” อารามตกใจ นอกจากทำสติหล่นหาย ฉันยังเผลอทำมารยาทตกหล่นไปอีกแน่ะ
    เฉินไม่ได้มีอาการระคายเคืองกับการทักทายอย่างเป็นกันเอง (มาก) ของฉัน แม้เราจะเพิ่งเจอกันหนนี้หนแรกก็เถอะ
    “อ่านไม่ออก แต่น่าจะพอเดาได้ ฉันเป็นคนจีน” เฉินเดินเข้ามาใกล้ ส่วนฉันรีบยื่นขวดน้ำสีอำพันให้เขาดู
    “นี่คืออะไรอ่ะ พอจะเดาได้ไหม”
    เฉินรับขวดพลาสติกไปเมียงมองฉลากตัวอักษรคันจิอยู่แป๊บนึง ก่อนจะส่งมันกลับคืนมา “ไม่แน่ใจ”
    “ฉันคิดว่ามันเป็นน้ำมันพืช กะว่าจะซื้อมาทอดปลาแซลมอน แต่พอเปิดดูถึงรู้ว่าไม่ใช่” ถึงตอนนี้ฉันทำหน้าตาห่อเหี่ยวผิดหวัง โลกทั้งใบคล้ายใกล้วายวอด
    “ใช้น้ำมันพืชของฉันก่อนก็ได้” เฉินเอื้อมมือยาวๆ ไปเปิดชั้นวางที่อยู่สูงขึ้นไป ในนั้นมีเครื่องปรุงและอุปกรณ์ทำอาหารจำนวนมากบรรจุอยู่ เขาหยิบขวดพลาสติกที่เขาเรียกว่า “น้ำมันพืชของฉัน”ออกมา มันเหลืออยู่ตั้งครึ่งหนึ่งแน่ะ
    “จริงๆ เอาไปเลยก็ได้นะ เดี๋ยวฉันก็ไม่อยู่แล้ว เสียดายของ” เขาว่าก่อนจะวางน้ำมันพืชขวดนั้นลงกลางโต๊ะใหญ่ในครัว
    “ขอบใจนะ”
    นั่นคือบทสนทนาครั้งแรกของเรา
    (ส่วนแซลมอนชิ้นนั้น โดนฉันเขี่ยทิ้งลงถังขยะแบบเผาได้ในที่สุด ><”)

    แล้วฉันก็ได้เดินสวนกับเฉินอีกทีหลายครั้งในแชร์เฮ้าส์ เรื่องของเรื่องก็คือเฉินมาเรียนอะไรสักอย่างในช่วงหน้าร้านที่โตเกียว ความที่ไม่ได้เรียนเต็มวัน เขาเลยมีเวลาว่างเตร็ดเตร่อยู่บ้านในช่วงจันทร์ถึงศุกร์เป็นบางหน ส่วนฉันก็แสนว่าง ชั้นเรียนปริญญาโทก็ยังไม่เปิด เราเลยมักเดินสวนกันตรงตู้เย็นตู้ใหญ่กลางบ้านเสมอ
    บางวันฉันแวะไปเปิดเอานมเมจิในตู้เย็นมาดื่ม เฉินก็แวะมาเอาชาเกนไมฉะ (ชาผสมข้าว) พอดี
    บางวันฉันมาเปิดเอาบร็อกโคลีจะทำผัดผัก เฉินก็มาเปิดเอาไอติมแฮกเกนดาสที่วางไว้ในช่องฟรีซ
    บางวันฉันแวะเอาน้ำส้มคั้น เฉินก็แวะมาหยิบเป๊ปซี่
    “เฮ้”
    “ไฮ้”
    “แล้วเจอกันนะ”
    “อืม”
    บทสนทนาเป็นไปอย่างแสนสั้น เราผูกมิตร แต่ไม่ได้ผูกสัมพันธ์

    นอกจากเขาชื่อเฉิน เป็นคนจีน บ้านเกิดอยู่เซี่ยงไฮ้ และชอบเล่นบาสฯ แล้ว สารภาพว่านอกเหนือจากนี้ ฉันไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลยสักอย่าง
    ไม่รู้แม้กระทั่งส่วนสูงที่แท้จริงเลยด้วยซ้ำ
    แล้ววันหนึ่งฉันก็เจอเขาที่หน้าบ้าน กำลังลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ (มาก)
    “เฮ้”
    “ไฮ้”
    “จะไปไหน”
    “กลับเซี่ยงไฮ้”
    “เฮ้ย! กลับแล้วเหรอ?”
    “กลับไฟล์ทเช้า เลยว่าจะไปนอนรอที่สนามบินก่อน”
    “ไปสนามบินยังไง”
    “ว่าจะนั่งรถไฟไป”
    “สถานีนิชินิปโปริ?”
    “เปล่า สถานีเซนดากิ”
    “งั้นลากันตรงนี้นะ ฉันต้องไปสถานีนิชินิโปริ”
    ฉันโบกมือลาเฉินตรงหน้าแชร์เฮ้าส์หลังย่อม

    วันนั้นฉันมีนัดกับพี่คนไทยคนหนึ่งที่โรงแรมในย่านชินจูกุ ก่อนหน้าจะย้ายเข้าแชร์เฮ้าส์หลังนี้ ฉันเผลอลืมหนังสือเล่มหนึ่งไว้บนรถไฟเจอาร์ มันเป็นหนังสือว่าด้วยชีวิตตัวคนเดียวในกรุงโตเกียวโดยนักเขียนไทยคนหนึ่ง ฉันเข้าไปบ่นในเฟซบุ๊ก พี่สาวผู้น่ารักคนหนึ่งเห็นเข้า เธอเลยฝากหนังสือเล่มนี้ให้เดินทางไกลมากับสามีนักธุรกิจของเธอ
    ปกติแล้วเวลาเดินทางไปชินจูกุ ฉันมักจะนั่งรถไฟเจอาร์จากสถานีนิชินิปโปริไปลงยังเจอาร์ชินจูกุ -สถานีที่ว่ากันว่ามีผู้โดยสารหลักล้านต่อวัน
    นิชินิปโปริเป็นสถานีไม่ใหญ่ไม่โต ระหว่างทางเดินจากแชร์เฮ้าส์ไปสถานีนี้ ฉันต้องเดินผ่านโรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่งอยู่เสมอ
    จากโรงเรียนชายล้วน ก็ต้องข้ามถนนตรงทางม้าลาย ก่อนจะเดินเข้าตัวสถานีได้
    แล้วฉันก็เห็นเฉินยืนอยู่ตรงนั้น อีกฟากฝั่งของถนน, กำลังรอข้ามทางม้าลาย
    “เฮ้”
    “ไฮ้”
    “ทำไมมาโผล่ที่นี่”
    “เปลี่ยนใจมาเรียกแท็กซี่ไปสนามบินแทน”
    “งั้นยืนรอเป็นเพื่อนนะ”
    ประโยคล่าสุด ฉันเป็นคนพูดมันออกมาเอง
    ยืนรอไม่ถึงห้านาที แท็กซี่สีเหลืองคันหนึ่งก็แล่นผ่านมา
    กระเป๋าเดินทางใบเขื่องถูกยกขึ้นไว้ด้านหลัง เฉินหันมาโบกมือลา มือของเขายาวเชียว ส่วนตัวของเขาก็สูงจนต้องชะโงกหน้ามอง
    “นี่...สรุปน้ำมันพืชนั่น เธอยกให้ฉันใช่ไหม” แทนที่จะเลือกพูดคำว่า “กู๊ดบาย” ฉันกลับเลือกถามประโยคนี้กับเขาแทน
    เฉินหัวเราะ
    “ดูแลตัวเองนะ”
    “เธอก็เหมือนกัน”
    นั่นคือบทสนทนาครั้งสุดท้ายของเรา

    นับจากวันที่โบกมือลาเฉิน ฉันอยู่ซากุระเฮ้าส์หลังนั้นไปอีกราวหนึ่งเดือนกว่าๆ ช่วงนั้นฉันยังทำกับข้าวกินเองเสมอ ซุปเปอร์มาร์เก็ต-ตู้เย็น-ห้องครัว พื้นที่เหล่านี้คือหนึ่งในพื้นที่สิงสถิตของฉันจนกระทั่งวันย้ายออก
    เมนูที่ฉันมักทำบ่อยครั้งมากที่สุด ก็คือ แซลมอนทอด


    ในหนังปี 2003 เรื่อง Lost In Translation ของโซเฟีย คอปโปลา คนแปลกหน้าสองคนเจอกันในมหานครโตเกียว พวกเขาผูกมิตรกันในช่วงเวลา 2 อาทิตย์ ไปร้องคาราโอเกะด้วยกัน นั่งสนทนาเรื่องรถปอร์เช่ ดื่มกินอย่างเหงาหงอยด้วยในย่านชิบูยะ ทะเลาะและคืนดี ก่อนจะลาจาก เพื่อจะจดจำกันและกันไปตลอดกาล

    ฉันกับเฉินไม่เคยมีความสัมพันธ์ในรูปแบบนั้น
    วันเวลาของเราทาบทับกันแสนสั้น (มาก)
    แต่ทุกครั้งที่เดินผ่านเคาน์เตอร์น้ำมันพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต
    ฉันมักจะหวนคิดถึงเรื่องราววันนั้นอยู่เสมอ
    เรื่องราวของน้ำมันพืชครึ่งขวด
    เรื่องเล็ก น้อยนิด ไม่สมบูรณ์แบบ และไม่สลักสำคัญเรื่องหนึ่ง
    เรื่องเรียบง่ายที่ฉันบังเอิญจดจำ...และเผลอมีรอยยิ้มตามบ้าง ในบางที 

    ปล.หนึ่งปีผ่านไป ฉันพบว่าขวดน้ำสีอำพันที่ซื้อมาผิดขวดนั้น คือสิ่งที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า “มิริน”

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in