ช่วงสองสามปีแรกของการเริ่มต้นทำงาน (หนัก) ใน กทม. มีอยู่ปีหนึ่งที่ฉันไม่ได้กลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เมืองไทยชุ่มฉ่ำไปด้วยการสาดน้ำ ปีเดียวกันนั้นมีผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่งมาพักค้างคืนด้วย...เพียงหนึ่งคืน
เธอเป็นเพื่อนกับเพื่อนของฉันอีกที และเธอดันบินมา กทม. ในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้คนหลีกลี้หนีหน้ากลับไปเยี่ยมบ้านต่างจังหวัด
เมืองหลวงเปลี่ยวร้าง แยกปทุมวันมีรถยนต์แล่นผ่านแทบนับคันได้ ฉันอยู่ กทม. มีห้องพักใกล้รถไฟฟ้า และเพื่อนโทรมาบอกว่าขอให้ “ยูกิโกะ” ค้างคืนด้วยหน่อย
ยูกิโกะโค้งคำนับ ฝากเนื้อฝากตัวพลางยื่นของฝากให้ ดึกแล้ว เราคุยกันไม่มากนัก ก่อนจะหลับใหล ตื่นมาอีกที เธอก็ร่ำลาเตรียมตัวเดินทางกลับญี่ปุ่น
“ฉันอยู่โตเกียว” เธอพูดอย่างนั้น
ปีถัดมาเพื่อนของฉันไปญี่ปุ่น แล้วเขาบอกว่า “ยูกิโกะฝากของมาให้”
อีกปี ฉันย้ายที่พัก แต่ของฝากจากโตเกียวก็ยังเดินทางมาถึงอยู่ดี “จากยูกิโกะ”
“มาพักด้วยแค่คืนเดียว คุยกันก็แทบนับคำได้ แต่ก็ฝากของมาให้ตลอด นี่มัน “คนญี่ปุ๊นญี่ปุ่น” มากเลยเหอะ” พูดไปอย่างนั้นเองแหละ แต่มือนี่...ยื่นไปรับของฝากอย่างไวว่อง (มาก)
ปีนี้, ฉันย้ายที่พักอีกที...ไม่มีของฝากจากยูกิโกะ แต่เธอส่งเมสเสจมาทางเฟซบุ๊ก “ติ๊กต่อกซัง มาถึงโตเกียวแล้วนัดกินข้าวกันนะ”
ใช่แล้ว ฉันย้ายมาอยู่โตเกียว, เมืองเดียวกับที่ยูกิโกะทำงานอยู่, และปีนี้เป็นฉันเองที่ต้องหิ้วของฝากจากเมืองไทยมายื่นให้
พร้อมโค้งคำนับ
และฝากเนื้อฝากตัว
สัปดาห์แรกที่ฉันมาถึง ตรงกับช่วงวันหยุดเทศกาลโอบง นี่คือช่วงวันหยุดยาวสำหรับกลับบ้านเกิดไปไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ยูกิโกะก็ต้องกลับบ้านเช่นกัน บ้านเกิดเธออยู่จังหวัดโตเกียว แต่เป็นชานเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ ไม่ใช่ใจกลางเมโทรโพลิสโตเกียว
เราเลยไม่ได้เจอกันในสัปดาห์เริ่มต้นของฉัน
ยูกิโกะรู้สึกไม่ค่อยดีนักที่ปล่อยให้ฉันผจญภัยสัปดาห์แรกในญี่ปุ่นตัวคนเดียว, ทั้งๆ ที่เธอก็อยู่จังหวัดเดียวกัน
หลังจากวันหยุดยาวผ่านไป เธอเลยส่งเมสเสจมาชวนไปดูดอกไม้ไฟที่บ้านเกิดของเธอ
“ฮะนะบิ” คือเทศกาลดอกไม้ไฟที่มักจัดขึ้นทั่วญี่ปุ่นในฤดูร้อน มันเหมือนการเฉลิมฉลองฤดูกาลอย่างหนึ่ง คนญี่ปุ่นจะจับแขนจูงมือ นัดรวมกลุ่มเพื่อนไปชมดอกไม้ไฟ สาวๆ ญี่ปุ่นมักได้ฤกษ์สวมใส่ยูกาตะในช่วงเวลานี้ สิ่งจำเป็น (มาก) สำหรับการชมดอกไม้ไฟก็คือของปิ้งย่างกับเบียร์เย็นฉ่ำ (ก็มันทั้งหิวทั้งร้อน) แต่สิ่งจำเป็นยิ่งกว่าอาจจะเป็นบทสนทนาเคล้าเสียงหัวเราะกับเพื่อนฝูง
มนุษย์เกิดมาเดียวดายน่ะเรื่องจริงแท้, แต่ถ้าเป็นไปได้ เราก็ไม่ควรไป “ฮะนะบิ” คนเดียว
ฉันตอบตกลงจะไปดูดอกไม้ไฟกับยูกิโกะ
“ชวนเพื่อนมาด้วยได้นะ” เธอพิมพ์ข้อความมาทางไลน์ “ฉันก็จะชวนพวกเพื่อนที่บ้านเกิดมาด้วยเหมือนกัน”
ท่ามกลางหมู่เพื่อนคนญี่ปุ่นของเธอ ยูกิโกะคงกลัวฉันรู้สึกเคอะเขิน ทำตัวลำบาก อีกอย่าง, จริงๆ แล้ว ฉันกับเธอก็ใช่ว่าจะสนิทสนมกันเสียหน่อย
เราเคยเจอกันแค่ตอนนั้นเอง ตอนที่เธอมานอนค้างที่ห้องฉันช่วงหยุดยาวหน้าร้อนของเมืองไทย
“ชวนใครดีล่ะ” ฉันวนเวียนคิดมันทั้งคืน ฉันเพิ่งผ่านพ้นสัปดาห์แรกในโตเกียวไปเอง นอกจากติวเตอร์ (คนช่วยดูแล) ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้แล้วฉันรู้จักใครอีกบ้างนะ
นิริน? ก็อยู่ตั้งจังหวัดจิบะแน่ะ
มูราคามิ? ฮื้อ...ใช่เพื่อนเล่นเรอะ?
โทโฮชินกิ? แก๊...นั่นมันไม่ใช่แระ!
วิลเลียมไง วิลเลียม ... เออๆ ใช่
แล้วก็พี่โอ๋ไง ... เออๆ ถูก
ว่าแล้วฉันก็ส่งเมสเสจไปหาพี่โอ๋
ส่วนวิลเลียม? เฮ้ย...ฉันไม่มีเบอร์ติดต่อเขา
ฉันออกไปดูกระดานบอร์ดที่ประกาศแจ้งเวรทิ้งขยะประจำบ้าน วิลเลียมอยู่ห้องชั้นสอง ฉันหยิบปากกากับกระดาษมาเขียนโน้ตสั้นๆ “วิลเลียม นี่ติ๊กต่อกนะ ฉันกับเพื่อนจะไปดูดอกไม้ไฟที่ชานเมืองโตเกียววันเสาร์นี้ ถ้าเธอว่าง ไปดูด้วยกันไหม? อ้อ...นี่เบอร์โทรฉันนะ แล้วเธอใช้ไลน์หรือเปล่า?” เขียนข้อความเสร็จสรรพ ฉันก็เอาไปสอดไว้ใต้ประตูห้องเขา
ตื่นมายามสายของอีกวัน ฉันก็เจอโน้ตที่วิลเลียมเขียนตอบกลับที่หน้าห้อง “ตกลง”
สรุปว่า ฉัน พี่โอ๋ และวิลเลียม จะไปดูดอกไม้ไฟกับยูกิโกะ (และผองเพื่อนของเธอ)
เรานัดเจอกับยูกิโกะที่สถานีเจอาร์ซูกาโม นี่เป็นการเจอกับยูกิโกะครั้งที่สอง นับจากหนแรกที่ กทม. เมื่อหลายปีก่อน สารภาพเลยนะว่าฉันแอบรู้สึกตื่นเต้น
วันนี้ยูกิโกะไม่ใส่ชุดยูกาตะ เธอยืนอยู่ใกล้ๆ ทางออกรถไฟเจอาร์ ตัวเล็ก หน้าตาสดใส ถ้าเธอไม่บอก เราไม่มีวันเดาอายุเธอได้ว่าใกล้สามสิบกลางๆ แล้ว
ข้อมูลสำคัญอีกอย่าง เธอเป็นผู้หญิงยุคใหม่ที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ น่าจะภูมิใจ เพราะเธอขยันขันแข็งในการทำงาน อืม...เธอยังไม่ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวด้วยนะ
“แม่ฉันก็เป็นห่วงเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน” เธอว่าพลางหัวเราะ
“นี่เป็นเหตุผลที่ฉันไม่ค่อยอยากกลับบ้านเกิด กลับไปทีไรแม่ถามแต่เรื่องนี้ตลอด” ปัญหาคลาสสิกของผู้หญิงวัยสามสิบอัพที่สาว โสด และสวย สินะ (อันหลังนี่แอบเติมเอาเอง)
ยูกิโกะรักเมืองไทย เธอเคยลงเรียนด้านการพัฒนาที่จุฬาฯ ด้วยช่วงหนึ่ง ตอนนี้เธอทำงานที่ไจก้า (JICA) หน่วยงานรัฐบาลที่มีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาในประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ว่างทีไร เธอก็ชอบแวะไปเมืองไทยบ่อยๆ
ขนาดอีเมล เธอยังใช้คำว่า “หิมะ” ในภาษาไทยเป็นชื่อแอคเคาน์เลย
ฉันแนะนำให้ทุกคนรู้จักกัน, แบบเคอะเขินนิดนึง แหม...จริงๆ แล้วฉันก็เพิ่งรู้จักทุกคนเหมือนกันนี่นา
เพื่อนของยูกิโกะรออยู่ที่บ้านเกิดเรียบร้อยแล้ว
เราเลยมุ่งหน้าตรงไปทางตะวันตก จุดหมายคือเมืองโชฟุ จังหวัดโตเกียว
ฉันเพิ่งรู้ในวันนั้น ว่าวิลเลียมเป็นคนช่างสงสัย (มาก)
เขาถามนั่นถามนี่ไม่หยุดหย่อน “เธอชอบญี่ปุ่นไหมติ๊กต่อก?” “โอ๋ อะไรในญี่ปุ่นที่เธอชอบมากที่สุด?” “คนไทยกับคนญี่ปุ่นแตกต่างกันมากไหมยูกิโกะ?” และอื่นๆ อีกมากมาย
ส่วนพี่โอ๋ก็เข้ากันได้ดีกับยูกิโกะ อาจเพราะอยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน อีกอย่าง ฉันว่าคนญี่ปุ่นกับคนไทยมีนิสัยขั้นต้นคล้ายกันหลายอย่าง อย่างแรกสุด เรามักทำตัวสุภาพและอ้อมค้อม เพียงแต่ว่า คนญี่ปุ่นดูจะอ้อมกว่าเรามาก
ยูกิโกะหัวเราะ “จริงที่สุด”
รถไฟแล่นมาถึงสถานีปลายทางของพวกเรา จากสถานีนี้ เราจะแวะซื้อของกิน (และเบียร์) จากนั้นจะหอบหิ้วไปยังริมแม่น้ำทะมะ...แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านโตเกียว แม่น้ำที่ฉันเคยได้ยินชื่อแต่ในซีรีส์มาตลอด
ตื่นเต้นจัง...นี่คือความรู้สึกของฉัน
เพื่อนอีกคนของพี่โอ๋จะตามมาด้วย พี่โอ๋บอกว่าเขาเรียนปริญญาเอกคณะวิศวะ ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว นี่แหละ
“แต่จบตรีรัฐศาสตร์ และจบโทเศรษฐศาสตร์มานะ”
เฮ้ย...คนอะไร? ทำได้ไง? จบตรีและโทอีกอย่าง แต่ตอนนี้ทำเอกอีกอย่างอยู่
น่าสนใจชะมัด
แต่แล้วเราก็หลงกัน เรื่องของเรื่องก็คือ สถานีที่เราลงนั้น ไม่ได้ชื่อสถานีโชฟุตามชื่อเมืองแต่อย่างใด แต่เพื่อนของพี่โอ๋เห็นว่าเรามาที่เมืองโชฟุ เลยนั่งรถไฟลงสถานีนั้น ถึงตอนนี้เราก็เลยยืนรอกันเล็กน้อย
ผู้คนเริ่มทยอยมาริมแม่น้ำทะมะเรื่อยๆ แดดบ่ายค่อยๆ คลายความร้อนลง ฉันบอกยูกิโกะกับวิลเลียมให้ล่วงหน้าไปจับจองที่นั่งก่อน จริงๆ แล้วเพื่อนของยูกิโกะช่วยจองที่ไว้ให้แล้วล่ะ แต่เสบียงอาหารส่วนหนึ่งอยู่ที่พวกเรา คงดีกว่าถ้าเราเอาเสบียงไปวางไว้ก่อน
ระหว่างรอเพื่อนพี่โอ๋ ฉันเดินไปซื้อน้ำแข็งไสมากิน ... น้ำแข็งไส ฤดูร้อน ดอกไม้ไฟ ถึงไม่ได้คลั่งไคล้วัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก่อน แต่นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ฉันฝันอยากทำมาตลอด
พอน้ำแข็งไสหมดเกลี้ยง อีกหนึ่งสมาชิกก็ปรากฏตัว
“พี่ฉัตร” คือหนุ่มปริญญาเอกคนนั้น ตัวสูง เกิดวันฉัตรมงคล (เลยเป็นที่มาของชื่อ) และ
เป็นรุ่นพี่ที่คณะตอนเรียนตรีของฉัน (โลกกลมได้อีก)
ส่วนคำตอบที่ว่า เขามาเรียนเอกวิศวะได้อย่างไร เอาไว้ค่อยเล่านะ เรื่องมันย๊าวยาว (จริงๆ ก็ไม่ยาวมากหรอก)
แล้วเราก็ได้ฤกษ์เดินทางไปทุ่งหญ้าริมแม่น้ำทะมะเสียที (เย่)
ยูกิโกะโบกมือให้ เราได้ที่นั่งไม่เลวเลย ที่สำคัญเพื่อนยูกิโกะเตรียมเบาะนั่งส่วนตัวมาให้พวกเราแต่ละคนด้วย
“ที่บ้านทำธุรกิจขายของน่ะ” เขาบอก จริงๆ แล้วเพื่อนยูกิโกะพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยคล่องกัน ส่วนฉัน พี่โอ๋ กับวิลเลียมก็พูดญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ เราเลยได้แต่ส่งยิ้ม ยกกระป๋องเบียร์ใส่กัน แล้วร้อง “คัมไป” (ภาษาของมิตรภาพ)
เสบียงถูกแจกจ่าย บทสนทนาถูกหว่านโปรย ความที่พี่ฉัตรเคยไปเรียนโทที่อังกฤษ ประเทศบ้านเกิดของวิลเลียม บทสนทนาเกี่ยวกับอังกฤษก็เลยถูกหยิบยกขึ้นมา
ส่วนฉันกับยูกิโกะคุยกันเรื่องเพื่อนที่เมืองไทย, เพื่อนที่แนะนำให้เราได้รู้จักกัน
แล้วฉันก็เล่าเรื่องแปลกประหลาดที่ทำให้ฉันกับพี่โอ๋ได้เจอกัน ให้ยูกิโกะฟัง
ลมเย็นเฉียบของหน้าร้อนพัดผ่าน ดอกไม้ไฟนัดแรกถูกจุดขึ้น
“ฮะนะบิ” แรกของฉันเริ่มต้นแล้ว กับเพื่อนใหม่กลุ่มหนึ่ง
ในวิชาว่าด้วยการถ่ายภาพ จะมีคำหนึ่งที่ผู้หัดเริ่มต้นถ่ายภาพมักรู้กัน “magic hour” คือคำนั้น มันหมายถึงช่วงเวลาบ่ายคล้อยอันเป็นช่วงเวลาที่เชื่อกันว่าแสงสวยที่สุด และน่าบันทึกภาพเก็บไว้มากที่สุด
ริมแม่น้ำทะมะวันนั้นมีฝนตกสลับกับช่วงฟ้าใส ดอกไม้ไฟที่ถูกจุดขึ้นตลอดหนึ่งร้อยนาทีนั้นงดงาม แต่ก็ยังห่างไกลจากคำว่า “สมบูรณ์แบบ” ฉันเชื่อว่าคงมีงานดอกไม้ไฟอื่นๆ ที่เปล่งประกาย น่าตื่นตาตื่นใจ และน่าตราตรึงมากกว่านี้อีกเป็นร้อยงานทั่วทั้งญี่ปุ่น
แต่หากถามว่า ถ้าฉันต้องเก็บความทรงจำเพียงไม่กี่อย่างเกี่ยวกับชีวิตในญี่ปุ่นไว้ ฉันจะเลือกบันทึกความทรงจำไหนไว้บ้างนะ
โดยไม่ลังเลที่จะตอบ
“ฮะนะบิ” แรกกับยูกิโกะ และกลุ่มเพื่อนใหม่ในหน้าร้อน คือช่วงเวลาหนึ่งที่ฉันอยากกดบันทึกและเก็บติดตัวไว้มากที่สุด
นั่นแหละ คือ the most magic hour เกี่ยวกับโตเกียวของฉัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in