บนขบวนรถไฟที่มุ่งหน้าสู่มหานครโตเกียว สาวพังก์ร็อก โอซากิ นานะ ได้เจอกับสาวหวานในชุดกรุยกราย โคมัตซึ นานะ เป็นครั้งแรก
ต่อมาโชคชะตาเล่นกลอีกครั้ง ให้พวกเธอได้มาเป็นรูมเมทกัน ณ ห้อง 707 ของอาคารเก่าหลังหนึ่ง ที่มองออกไปเห็นวิวแม่น้ำ
ห้องที่ฉันพักทุกวันนี้ ไม่ใช่ห้อง 707 และวิวที่มองออกไปเห็นก็ไม่ใช่แม่น้ำ,หากแต่เป็นสุสานในย่านเมืองเก่า
ไม่มีอะไรเหมือนกับพล็อตมังงะเรื่อง ‘นานะ’ ของไอ ยาซาว่า นักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นคนดังแม้แต่น้อย
แต่ฉันก็ยังคิดว่า มันเป็นเรื่องของโชคชะตาอยู่ดี ที่ทำให้ฉันได้พักห้องนี้
ห้อง 203 บ้านเซนดากิ
ความเดิมจากตอนที่แล้ว หลังจากฉันกดคอมเม้นท์ไปหาพี่โอ๋ว่า จำได้ไหม เราเพิ่งเจอกันเมื่อบ่ายนี้ที่เจอาร์โอกะชิมะจิ เธอก็ส่งหลังไมค์มาหาฉันในเฟซบุ๊กทันที
“เรื่องบ้านที่น้องโพสถาม จะบอกว่าห้องข้างๆ พี่กำลังจะย้ายออก สนใจมาดูห้องไหมคะ”
ห้องพักที่มีพี่คณะอยู่ข้างๆ ถ้ามีเรื่องเวิ่นเว้อเพ้อเจ้อหรือเครียดอกแตกเรื่องเกรดเฉลี่ยก็ยังมีคนให้คำปรึกษาและปลอบใจ - เป็นภาษาไทย - อืม...น่าสนไม่หยอก
“ที่พักอยู่ใกล้ ม. ค่ะ เดินไปได้ แต่ตอนนี้เจ้าของห้องไปสัมนาที่ตุรกีอยู่นะคะ จะบอกว่าน้องเขาก็ชื่อ ‘ติ๊ก’ เหมือนกันเลย”
“ห้องนี่อยู่แถวไหนเหรอคะ” ฉันพิมพ์ข้อความถามกลับไปบ้าง
“อยู่แถวๆ สถานีโตเกียวเมโทรเซนดากิ ค่ะ”
“ฮ่าฮ่า จะบอกว่า แชร์เฮ้าส์ที่ติ๊กพักอยู่ตอนนี้ก็อยู่แถวๆ สถานีเซนดากิ” เหวอเลย...โลกจะกลมไปไหน
“งั้นเดี๋ยวเย็นนี้ขอแวะไปดูห้องได้ไหมคะ”
“ได้ๆ ดูห้องพี่ไว้เป็นตัวอย่างก่อนก็ได้ ห้องน้องอีกคนคงต้องรอเขาบินกลับมาก่อน ตอนนี้พี่อยู่ฮาราจูกุ ไว้ค่ำๆ เดี๋ยวพี่โทรหานะคะ”
ฉันตอบตกลงกับพี่โอ๋ตามนั้น
จริงๆ แล้ว ฉันยังคงคิดถึงห้องพักนั้นอยู่, ห้องใกล้มหาวิทยาลัยราคา 54,000 เยนที่ ดร.ปริญญาเอกคนนั้นมาโพสไว้ ราคามันเบาทีเดียว ถ้าได้ราคาแบบนั้น ฉันคงมีเงินทุนเหลือใช้ต่อเดือนอีกเยอะ
จะได้ช้อปเสื้อผ้าหน้าหนาวให้ฟินไปเล้ยยย พวกเครื่องสำอางใหม่อีก เอสเคทู ชิเชโด้ โคเซ่ คาเนโบ ดีเอชซีดีพคลีนซิ่ง ซันสกรีนแอนเนสซ่า รองพื้นอาร์เอ็มเค อายไลเนอร์ยี่ห้อเคท มาสคาร่ายี่ห้อเดจาวู และ บลาๆๆๆ (โอ้ย ทุนนิยมนี่ช่างสามานย์จริงจริ๊ง)
เออ...ว่าไปแล้ว ฉันก็ลืมถามราคาห้องพักที่พี่โอ๋บอกไว้เลย
ย่ำค่ำของชีวิตวันที่เจ็ดในโตเกียว ฉันเดินเข้าไปหาอะไรกินในครัวของแชร์เฮ้าส์
บ้านเงียบจัง...ดูเหมือนว่า คนจะยังไม่กลับจากโปรแกรมฝึกงาน คลาสเรียนภาษา หรือยังไม่กลับจากออฟฟิศสินะ
ข้างห้องที่ฉันพัก เป็นห้องที่แชร์กันระหว่างหนุ่มอเมริกันผู้เงียบขรึม และหนุ่มเวียดนามที่พูดภาษาญี่ปุ่นคล่องแคล่วกว่าภาษาอังกฤษ สองคนนี้ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่การแชร์ห้องพักจะทำให้พวกเขาประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าเดิม
ฉันเคยได้ยินมาว่า โตเกียวเป็นเมืองที่ในเชิงกายภาพ เราจะรู้สึกถึงการมีอยู่ของผู้คนเสมอ นั่นเพราะในเขตเมโทรโพลิสที่มีพื้นที่ไม่ได้กว้างใหญ่ไพศาลมาก กลับต้องโอบอุ้มผู้คนหลักสิบล้านเอาไว้
ในรถไฟรอบเช้า ค่ำ และรอบมิดไนท์ การเบียดเสียดยัดทะนาน เนื้อตัวของมนุษย์ที่ต้อง (เผลอ) สัมผัสกัน คือธรรมชาติของเมโทรโพลิสโตเกียว
ธรรมชาติที่พระเจ้าไม่ได้สร้างขึ้น แต่มนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้ปั้นแต่งโตเกียวให้ลงเอยเป็นเช่นนี้
มีอีกหลายสิ่งในญี่ปุ่นและโตเกียวที่ฉันต้องเริ่มทำความรู้จัก
ลิสต์ไว้ลำดับต้นเลยก็คือ การทำความเข้าใจเรื่องค่าธรรมเนียมที่พักในประเทศเฮลโหลคิตตี้แห่งนี้
ถ้าเป็นที่กรุงเทพฯ การทำสัญญาเช่าอพาร์ตเม้นท์อาจไม่ยุ่งยากนัก หลักๆ เราต้องจ่ายค่าเช่าห้องล่วงหน้า และค่าประกันห้อง เซ็นสัญญาแกร๊กกร๊าก จากนั้นก็ย้ายเข้าได้
ที่ญี่ปุ่น ธรรมเนียมบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่บางอย่างก็ต่างออกไป นอกจากค่าเช่าห้องล่วงหน้า 1 เดือน เรายังต้องจ่ายค่าประกัน (ชิกิกิน) จำนวน 1-2 เดือน เงินส่วนนี้จะได้คืนจำนวนหนึ่งเมื่อย้ายออก แต่ค่าใช้จ่ายอีกสองที่จะตามมานั้น จะไม่ได้คืนแต่อย่างใด นั่นก็คือ ค่าสินน้ำใจเจ้าของบ้านพัก (เรอิกิน) จำนวน 1-2 เดือน และค่าธรรมเนียมให้เอเจนซีที่ช่วยเราหาบ้านอีกประมาณ 1 เดือน
ที่สำคัญ การทำสัญญาเช่าห้องพักหลายที่ในญี่ปุ่น จำเป็นอย่างมากที่เราต้องมี ‘ผู้ค้ำประกัน’ ซึ่งต้องมีสัญชาติญี่ปุ่นและมีหน้าที่การงานมั่นคงด้วย
การหาผู้ค้ำประกันนี่แหละที่สร้างความหนักใจให้ฉันอยากมาก
ฉันเลยทำสัญญาเข้าพักระยะสั้นที่แชร์เฮ้าส์อันปัจจุบันไว้ก่อน
ซากุระเฮ้าส์ ย่านเซนดากิ เขตบุนเคียว แห่งนี้ เป็นหนึ่งในแชร์เฮ้าส์ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยโตเกียวมากนัก (แต่ก็เดินหอบอยู่นะ)
แชร์เฮ้าส์คือธุรกิจที่มีบ้านพักให้บริการ ส่วนใหญ่มักออกแนวมีห้องพักส่วนตัวให้ แต่พื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ เช่นห้องครัว คอมมอนรูม หรือห้องน้ำห้องท่าต้องใช้ร่วมกัน (แต่ห้องสุขานั้นแยกชาย-หญิง)
ความสะอาดในบริเวณส่วนกลาง ถือเป็นความรับผิดชอบที่สมาชิกต้องดูแลร่วมกัน ใครใช้ครัวแล้วก็ต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อย ส่วนขยะนั้น แต่ละสัปดาห์จะมีการกำหนดว่าห้องไหนต้องขนขยะ (ที่แยกไว้แล้ว) ไปทิ้ง
ส่วนพื้นที่ห้องน้ำห้องท่า รวมถึงโถงทางเดินกลาง แต่ละสัปดาห์จะมีแม่บ้านเข้ามาดูแลจัดเก็บให้เรียบร้อย 1 ครั้ง
สัปดาห์แรก ฉันสื่อสารกับคนในบ้านไม่ค่อยเข้าใจนัก ฉันเลยนึกว่าเราต้องช่วยกันทำความสะอาดห้องน้ำห้องท่าด้วย
ตอนกลางวันวันหนึ่ง เด็กจีนคนหนึ่งก็เลยได้เป็นประจักษ์พยานเห็นฉันนั่งขัดห้องสุขาของแชร์เฮ้าส์ที่ตัวเองเช่าอยู่
อืม...ลืมบอกไป ค่าเช่าของที่นี่ ตกห้องละประมาณเจ็ดหมื่นเยน (สำหรับห้องเตียงเดี่ยว)
แพงไปนิด (จริงๆ ไม่นิดหรอก) แต่ความสะดวกของมันก็อยู่ตรงที่ เราแค่จ่ายค่ามัดจำสามหมื่นเยน พร้อมค่าเช่าห้องล่วงหน้าหนึ่งเดือน เซ็นสัญญาแกร๊กกร๊าก ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันให้ยุ่งยาก ไม่ต้องยุ่งเรื่องบิลค่าน้ำค่าไฟ (เพราะคิดเหมารวมในค่าเช่าไว้แล้ว) ก็เดินตัวปลิว เข้ามาอยู่อาศัยได้เลย
ฉันชอบที่นี่ แต่ธรรมชาติของแชร์เฮ้าส์ก็เหมาะเป็นที่พักอาศัยเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ความสัมพันธ์ระยะสั้น คือสิ่งที่เราจะมีต่อกันนะ - ค่ำวันนั้น ฉันเกี่ยวก้อยสัญญากับบ้านพักอย่างเงียบเชียบ
ก็โชคชะตาของฉัน (คง) ไม่ได้อยู่ที่นี่นี่นา
พี่โอ๋ส่งข้อความเข้าไอโฟนห้าสีดำเครื่องญี่ปุ่นของฉัน
เรานัดกันที่สถานีเซนดากิ ทางออก 1, ตรงนั้นมีร้านมิสเตอร์โดนัท (ใช่แล้ว! มิสเตอร์โดนัท!) และร้านกาแฟช็อคโกโคร ที่ปิดทำการเวลาห้าทุ่มตรง, ครั้งแรกที่เห็นร้านเหล่านั้น ฉันไม่คิดมาก่อนเลยว่า หนึ่งปีต่อมา มันจะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ฉันใช้เวลาหลบหนาวและหลบร้อนด้วยมากที่สุด
“กับใคร?” คุณอาจถาม
อืม...เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ฉันแนะนำให้คุณติดตามต่อไปแล้วกันนะ (อีโมติค่อนอมยิ้มเจ้าเล่ห์)
เดินจากทางออกหมายเลข 1 ไม่เกิน 5 นาที ก็จะเจอกับบ้านปูนสองชั้นที่ฉาบสีเหลืองไว้ภายนอก
ข้างๆ บ้านเป็นลานจอดรถ (แบบเติมเงิน) ส่วนฝั่งตรงข้าม เป็นสถานที่ที่ดูคล้ายศาลเจ้า (ฉันมารู้ทีหลังว่ามันคือสุสานกลางชุมชน!)
พี่โอ๋พาขึ้นไปดูห้องพัก ก่อนออกตัวว่า “ห้องรกหน่อยนะคะ” มันเป็นกลุ่มคำปกติที่เราทุกคนล้วนเคยใช้นั่นแหละฉันว่า (ฮี่ฮี่)
ห้องพี่โอ๋มีขนาดกะทัดรัด เตียง ตู้เสื้อผ้า โต๊ะหนังสือ เคาน์เตอร์ครัว อ่างล้างจาน ห้องน้ำห้องท่าในตัว รวมถึง บานหน้าต่างกว้างๆ
ข้อมูลแค่นี้ก็ทำให้ใจเต้นแล้วล่ะ
“ห้องพี่ 49,000 เยนต่อเดือน แต่ห้องอีกห้องที่กำลังจะว่าง 54,000 เยนต่อเดือนค่ะ” หืม...54,000 เยนต่อเดือน คุ้นๆ นะตัวเลขจำนวนนี้นี่
“พี่คะ ห้องข้างๆ พี่นี่ เขาเพิ่งเรียนจบ ป.เอก รึเปล่า” ฉันถามออกไปด้วยใจเต้นกว่า
“อืม ใช่แล้วล่ะ เขาเคยโพสไว้ในกรุ๊ปนักเรียนไทยในญี่ปุ่นนะคะ คงเคยเห็นแล้วมั้ง”
“ห้องนั้นจะใหญ่กว่า หน้าต่างเยอะกว่า แต่ตอนนี้ยังเข้าดูไม่ได้นะ ต้องรอน้องเขากลับจากสัมนาที่ตุรกีก่อน”
ฉันยิ้ม “ไม่เป็นไรค่ะ”
ฉันค่อนข้างมั่นใจ ที่นี่แหละ...ที่นี่แหละ...มันคือที่นี่
“พี่คะ ขอเช็คข้อความในมือถือแป๊บนะคะ” ฉันกดค้นหาเมสเสจในเฟซบุ๊กที่ฉันเคยส่งหาเธอ - เจ้าของห้องพักที่ฉันเคยวนเวียนเฝ้าฝันว่าอยากได้ห้องพักแห่งนั้น - แล้วในที่สุด ฉันก็เจอ
“พี่โอ๋คะ นี่คือคนที่อยู่ข้างห้องพี่รึเปล่าคะ” ฉันส่งแอคเคานท์เฟซบุ๊กนั้นให้พี่โอ๋ดู มันเป็นรูปของผู้หญิงไทยผิวขาว ผมยาว คนหนึ่งอยู่ ท่ามกลางฉากหลังอันสวยงามสักแห่งในประเทศญี่ปุ่น
“ใช่แล้วค่ะ นี่น้องติ๊ก...พี่หมายถึง ‘น้องติ๊ก’ อีกคนที่กำลังจะจบเอก”
ฉันเคยได้ยินมาว่า โตเกียวในเชิงกายภาพ เป็นเมืองที่มักทำให้เรารู้สึกถึงการมีอยู่ของผู้คนเสมอ
แต่ตอนนี้ ตอนที่ยืนอยู่ข้างห้องหมายเลข 203 ชั้นสองของบ้านเซนดากิ ย่านที่ห้า ในเขตไทโต จังหวัดโตเกียว
...ฉันรู้สึกถึงการมีอยู่ของโชคชะตา...
(เอร๊ยยยยย จบดราม่าอีกล่ะมรึงงงงง)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in