เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
คน. รัก. ที่. โตเกียว.tiktokthailand
4 : พี่โอ๋ ผู้ยืนคุยโทรศัพท์ริมถนน (ภาคแรก)


  • ตัวละครหลุยส์ ผู้มาจากหลุยเซียน่า เคยหลุดปากใน Sex and the City เวอร์ชั่นหนังไว้ว่า เธอมานิวยอร์กเพื่อจะตกหลุมรัก
    ฉันตั้งใจมาโตเกียวเพื่อเจอโทโฮชินกิ แต่ไม่ได้ตั้งใจมาโตเกียวเพื่อเจอพี่โอ๋

    ก่อนคุณจะเข้าใจผิด, นี่ไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับการตกหลุมรัก
    แต่เป็นเรื่องราวของผู้หญิงโสดอายุไล่เลี่ยกัน ที่ต่อมาจะกลายมาเป็นคนข้างห้อง

    พี่โอ๋เป็นผู้หญิง ตัวเล็ก ยิ้มสดใส และหนนึง น้องปริญญาเอกวิศวะคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยโตเกียว เคยเอ่ยถึงพี่โอ๋ไว้ว่า “เป็นคนสวย”
    ฉันเจอพี่โอ๋ริมถนนคะซุกะ ใกล้สถานีเจอาร์โอกะชิมะจิ ย่านอุเอโนะ ในยามบ่ายอันร้อนแรงของวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.2013, ครบรอบเจ็ดวันที่ฉันแลนดิ้งลงจอดที่มหานครโตเกียวพอดี

    หลังเสร็จสิ้นมิชชั่น ‘แฟนเกิร์ลล่าฝัน’ กับคอนเสิร์ต Time: Live Tour 2013 ของโทโฮชินกิ ณ นิสสันสเตเดี้ยม ชีวิตฉันก็ได้ฤกษ์เดินหน้าเพื่อมุ่งไปสู่ภารกิจที่สำคัญใหญ่ยิ่งจริงจังซะที
    ‘การตามหาบ้านพักในโตเกียว’
    ที่ซุกหัวนอนที่ทำให้เรารู้สึก ‘ใช่’ และทำให้ ‘ใจเต้น’ ไปพร้อมกันนั้น เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง ไม่ต่างกับการตามหาบัตรคอนเสิร์ตรอบไฟนอลอินโตเกียวโดมของวงอาราชิ หรือการตามหากระเป๋าอิซเซมิยาเกะ รุ่น ‘เบาเบา’ ไซส์ 6 คูณ 6 สีขาว ON SALE แต่อย่างใด
    มนุษย์โตเกียวล้วนรู้ (กัน) ดี

    แรกสุดฉันอยากได้ที่พักในหอพักในของมหาวิทยาลัย เพราะทั้งถูกและสะอาด บางหอพักนั้นราคาต่อเดือนตกหลัก ‘พัน’ เยนด้วยซ้ำ ไม่ถึงหลัก ‘หมื่น’ ต่อเดือนแต่อย่างใด ทว่าของถูกย่อมมีคนหมายตาไว้มาก อีกทั้งหอพักในเหล่านี้มักมอบโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาที่ออกเงินค่าเทอมเองเสียเป็นส่วนใหญ่ (พวก self-financed) เพราะถือว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีหน่วยงานมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายรายเดือนให้ทุกเดือนเหมือนเด็กทุน ฉันเคยลองสมัครขอหอพักในแล้วล่ะ ผลก็คือเฟล ไม่ได้รับสิทธินั้น (ตามคาด) พอผลประกาศออกมาอย่างนี้ ฉันก็ต้องมุ่งหน้าหาที่พักนอกมหาวิทยาลัยเสียที (สินะ)

    แล้วฉันก็ได้เจอพี่โอ๋, เหมือนโชคชะตา

    แต่ก่อนจะเล่าเรื่องในวันที่ได้เจอกัน ฉันขอเล่าย้อนหลังไปถึงช่วงก่อนที่ฉันจะบินมาโตเกียวเสียหน่อย
    มันอาจดูเยิ่นเย้อ, แต่มันสำคัญนะ (ที่จะต้องเล่า)

    ฉันหมายตาห้องพักห้องหนึ่งมาหลายเดือนแล้ว เป็นห้องพักที่มีคนในกรุ๊ปเฟซบุ๊ก ‘สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นฯ’ มาโพสไว้ กรุ๊ปนี้เป็นกรุ๊ปที่คนนอกเข้าไปอ่านได้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกจะโพสตอบไม่ได้เลย ข้อความที่เจ้าของห้องโพสไว้คือ เธอเพิ่งจบ ป.เอก กำลังจะย้ายออกปลายกันยายน ห้องพักนี้ใกล้มหาวิทยาลัยโตเกียว ราคา 54,000 เยน เป็นห้องสตูดิโอมีทุกอย่างพร้อม คนในตึกเดียวกันก็เป็นคนไทย ฉันเห็นราคาแล้วตาลุก เพราะปกติราคาที่พักย่านมหาวิทยาลัยโตเกียวมักจะสูงเกิน 65,000 เยนต่อเดือนขึ้นไป ฉันอยากได้ห้องนี้มาก แต่ติดตรงที่โพสคอมเม้นท์ตอบในกรุ๊ปเฟซบุ๊กไม่ได้
    เพราะแอดมินไม่ยอมรับแอดฉันเข้ากรุ๊ปมาสองเดือนแล้ว (?!?!)

    แอดมินคงมีเหตุผลของเขา (แหละน่า) ฉันพยายามทำใจเบาๆ แล้วหาทางแก้ไขทางอื่นแทน ฉันลองส่งเมสเสจหลังไมค์เฟซบุ๊กไปหาเธอคนนั้น ใจความประมาณว่า ฉันสนใจห้องพักนั้น อยากให้เธอติดต่อกลับหน่อย แต่ตอนนั้นเฟซบุ๊กปรับระบบเมสเสจใหม่ คือถ้าคนไหนที่ไม่มี mutual friend ร่วมกันเลยสักคน เมสเสจจะตกลงในกล่องข้อความเแบบ other ซึ่งไม่มีระบบการเตือนว่ามีข้อความเข้า คนก็เลยไม่ค่อยเห็นข้อความในกล่องนี้
    แน่นอน...ข้อความจากฉันไม่เคยเดินทางไปถึงเธอ

    ฉันตัดอกตัดใจ กะว่าไว้บินไปถึงโตเกียวค่อยตระเวณหาที่พักเอาดาบหน้าก็ได้ ราคาประมาณนี้ ถ้าเดินหาก็น่าจะพอมีและพอเจอบ้าง ติดปัญหาหน่อยเดียวเท่านั้นแหละ...ฉันพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้นี่นา

    โอ้ย! ช่างมันเถอะ บินไปก่อน ที่เหลือค่อยว่ากัน ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของอนาคต

    20 สิงหาคม 2013 ที่ห้องพัก 104 ในแชร์เฮ้าส์ชั่วคราวเขตบุนเคียว จังหวัดโตเกียว ฉันตื่นมาเช็คเฟซบุ๊กตอนเช้า และเจอแอดมินกรุ๊ป ‘สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นฯ’ มาโพสเชิญชวนให้คนไปลงทะเบียนฐานข้อมูลในเว็บไซต์ทางการกันไว้เป็นหลักฐานหน่อย แอดมินคนนั้นทิ้งอีเมลไว้ให้ด้วย ฉันรู้สึกใจเต้น ในที่สุดก็มีช่องทางติดต่อกันได้เสียที ฉันอีเมลไปแนะนำตัวว่าเป็นนักเรียนไทยในญี่ปุ่น กำลังจะเริ่มเรียนเดือนตุลาคมนี้ อยากให้เขาช่วยรับแอดเข้ากรุ๊ปเฟซบุ๊กหน่อย (เหอะ) ความที่กลัวเขาไม่เชื่อ (มั่น) เลยส่งแนบใบตอบรับเข้าเรียนจากมหาวิทยาลัยโตเกียวไว้ให้ด้วย

    ช่วงบ่ายฉันมีนัดกับเอเจนซีหาบ้านพัก เอเจนซีเจ้านี้เป็นบริษัทที่มีดีลกับมหาวิทยาลัย ปกติจะมีเคาน์เตอร์บริการที่ร้านค้าสหกรณ์ ติวเตอร์ (ผู้ดูแลนักเรียน) ของฉันเพิ่งพามาพบเขาเมื่อวาน จากการแปลอย่างกระชับของติวเตอร์ เหมือนเขาจะอยากให้ฉันมาพบอีกรอบในวันนี้ แล้วเขาจะเตรียมเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอังกฤษได้ไว้ให้ แต่แล้วพอฉันมาปรากฏกายที่ร้านค้าสหกรณ์ เจ้าหน้าที่ที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดันติดธุระเสียนี่
    ดูเหมือนการหาที่พักจะยากกว่าการตามหาฆาตกรที่ฆ่าโคนันอีกสินะ (เอร๊ยยย! โคนันยังไม่ตายเฟ้ย!)

    ฉันตัดสินใจกลับห้องพัก ช่วงนั้นความที่ยังไม่คุ้นเคยกับถนนหนทางในโตเกียว ฉันเลยมักใช้แอพพลิเคชั่นกูเกิลแมพเป็นตัวช่วยหลัก หลังพิมพ์ชื่อสถานีเจอาร์นิชินิปโปริลงไป เจ้ากูเกิลแมพก็แนะนำว่าระยะทางใกล้ที่สุด คือให้นั่งรถไฟโทเอซับเวย์ สายโอเอโดะ ไปหนึ่งป้าย จากนั้นให้ออกจากสถานีซับเวย์อุเอโนะ-โอกะชิมะจิ เดิน 5 นาทีก็จะเจอสถานีเจอาร์โอกะชิมะจิ จากนั้นนั่งไปอีกสี่ป้ายก็ถึงเจอาร์นิชินิปโปริ-ปลายทางของฉันแล้ว

    กูเกิลแมพเป็นแอพฯ ที่มีประโยชน์ แต่บางครั้งมันก็ลืมคิดไปว่า คนบางคนมักหลงทิศ
    ใช่แล้ว,พอขึ้นจากซับเวย์สถานีอุเอโนะ-โอกะชิมะจิ ฉันก็หาทางไปเจอาร์โอกะชิมะจิที่อยู่ห่างไป 5 นาทีเดินไม่เจอ (แย่ล่ะ)
    ฉันเดินหลงวนเวียนตรงถนนเส้นอันแสนพลุกพล่านแห่งหนึ่งเป็นเวลากว่า 15 นาทีแล้ว
    แล้วอยู่ๆ เสียงภาษาไทยก็ดังแว่วมาจากบริเวณฟุตบาท
    เธอไม่ได้กำลังคุยกับฉัน แต่เธอคุยโทรศัพท์กับใครสักคนอยู่ต่างหาก, ด้วยภาษาไทย
    ฉันรอจนเธอวางสาย ก่อนเดินเข้าไปถามทาง
    “ขอโทษนะคะ สถานีเจอาร์โอกะชิมะจินี่ไปทางไหนเหรอคะ”
    เธอดูตกใจที่ได้ยินภาษาไทย ก่อนจะหันมาตอบว่า “อ๋อ ทางนั้นค่ะ เอ๊ะ! เดี๋ยวพาเดินไปก็ได้ค่ะ กำลังจะเดินไปทางนั้นพอดี” ว่าแล้วเธอก็พาฉันมาส่งตรงป้ายที่บอกทางว่า ‘เจอาร์’

    เราโบกมือลาจาก ฉันจำไม่ได้แล้วว่าตัวเองสวมใส่ชุดอะไรในวันนั้น แต่แปลกที่ฉันจำชุดที่เธอใส่ได้

    พอกลับถึงห้องพัก ฉันก็พบว่าแอดมินกรุ๊ป ‘สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นฯ’ รับแอดฉันเข้ากรุ๊ปเสียที (หลังจากผ่านมาสองเดือน)
    ฉันตัดสินใจโพสข้อความลงไป
    “สวัสดีค่ะ เพิ่งมาถึงโตเกียวได้ไม่นาน กำลังหาบ้านพักอยู่ค่ะ พอดีจะเริ่มเรียน ป.โท คณะนโยบายสาธารณะ ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เดือนตุลาคมนี้แล้ว ใครมีบ้านแนะนำบอกได้นะคะ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ” ประโยคปิดท้ายนั่นฉันมักเห็นใครต่อใครเขียนกัน เลยคิดว่าลองเขียนมั่งดีกว่า (วะ)
    มันก็ทำให้ดูเป็น ‘สาวญี่ปุ่น’ ดีนะ ><

    ผ่านไปไม่ถึงสิบนาที ก็มีคอมเม้นท์แรกโผล่มา
    “ยินดีต้อนรับค่ะ เรียนที่เดียวกันเลย งั้นก็ถือเป็นน้องคณะพี่สินะเนี่ย”
    แล้วก็มีคอมเม้นท์ตามมาอีกสองสามคอมเม้นท์ “มาเป็นน้องคณะพี่โอ๋เหรอ?” “อ้าว นี่ทายาทพี่โอ๋นี่” บลาๆๆ
    เดี๋ยวๆๆๆ ฉันอายุสามสิบสองแล้ว (นะ) กล้าดียังไงมาเรียกฉันว่าน้อง (ฮึ) ? เฮ้ย! ไม่ใช่ๆ ฉันควรดีใจที่ได้เจอคนคณะเดียวกันไม่ใช่เหรอ
    ว่าแล้วฉันก็ลองคลิกเข้าไปดูเฟซบุ๊กโปรไฟล์ของคอมเม้นท์แรกดู

    นั่นมัน...ผู้หญิงคนนั้นที่ฉันเพิ่งเจอตอนบ่าย คนที่คุยภาษาไทยอยู่ริมถนน คนที่ช่วยบอกทางไปสถานีเจอาร์แก่ฉัน
    ชุดในเฟซบุ๊กโปรไฟล์ ก็เป็นชุดเดียวกับที่เธอใส่เมื่อบ่ายนี้เลย

    “สวัสดีค่ะพี่ จะบอกว่าโลกกลมจัง เราเพิ่งเจอกันเมื่อบ่ายนี้ที่เจอาร์โอกะชิมะจิ จำได้ไหมคะ”

    ...โตเกียวมีผู้คน 13 ล้านคน และนี่คือวิธีที่เราทำความรู้จักกัน...

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in