พี่เบซ - ยอดยุทธ ฉายสุวรรณ ไม่ใช่คนเขียนหนังสือตลก เรารู้ว่าคนส่วนมากชอบอ่านหนังสือตลก อ่านง่ายๆ เห็นได้จากหนังสือขายดีในสำนักพิมพ์อย่าง Salmon , a book ฯลฯ มันมักจะเป็นหนังสือที่ตลก ภาษาง่ายๆ
พี่เบซไม่ใช่คนเขียนหนังสือตลก และพี่เบซมีภาษาสวยงาม (ถึงบางครั้งเราจะงงกับประโยคในเวลาสมาธิไม่เต็มก็ตาม) และพี่เบซวาดรูปสวยมาก มาก มาก รูปถ่ายเองก็ไม่แพ้กัน
ว่ากันง่ายๆ ทุกอย่างในหนังสือ ‘Annapurna ระหว่างทาง ระหว่างดาว’ ทุกอย่างสวยไปหมด แม้กระทั่งคนเขียน(ผิด) สวยจนเราชอบเอามากรีดดูเวลาเห็นมันไม่ว่าที่ไหน เห็นแต่ละรูปก็จะเกิดอาการคันมือคันปากเป็นกลากเกลื้อน อยากชี้ให้คนนู้นคนนี้ดูตลอด พร้อมกับบอกว่า “ดูดิๆ สวยอะ เก่งเนอะ สวยมากเลย”
นั่นคือเรื่องของภายนอก
เนื้อในของหนังสือเล่มนี้คือเรื่องราวของการเดินเท้าในแนวเทือกเขาหิมาลัย บนเส้นทางที่มีชื่อว่า ‘อันนาปุรณะ (Annapurna)’ ซึ่งเส้นทางเดินก็มีอยู่สามระดับ แบ่งได้โดยระยะทาง เวลาที่ใช้ และความง่ายของเส้นทาง ทางที่ยากที่สุดนั้นใช้เวลาเกือบเดือนเพื่อเดินให้ครบ และยังเป็นทางที่ต้องเดินขึ้นสูงถึง 5,400 กว่าเมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเสี่ยงต่อการปรับตัวไม่ทันและจะเป็นผลให้เกิดโรคจากการขึ้นที่สูงหรือ Altitude Sickness (อาการนี้มีสามระดับแตกต่างกันไป ลองดูข้อมูลได้ในสองเว็บนี้เลย อ้างอิง1 อ้างอิง2)
ทางนั้นแหละ ที่พี่เบซได้ไป
หนทางยาวไกล ทำให้ระหว่างทางมีความหมายขึ้นมา
หนังสือเล่มนี้ทำให้เรานึกถึงตอนที่ตัวเองได้เดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว เราอยู่กับตัวเองจริงๆ หนึ่งก็เพราะคุยกับใครไม่ไหวนี่แหละ สองคือการเดินขึ้นเขาเป็นอะไรที่พึ่งตัวเองจริงๆ เรามีเพื่อนร่วมทางได้ มีคนคอยให้กำลังใจเดินไปด้วยกันอยู่ข้างๆ ได้ แต่ใจและกายหยาบของเราเท่านั้นเลยที่จะพาไปจนถึงยอดได้ พอเดินไปจะเห็นตัวเองเลยว่าเราเป็นยังไง ได้เรียนรู้ตัวเองเพิ่มขึ้น
เราว่าการเดินเขาน่ะ เหมือนการแข่งวิ่ง จุดหมาย จุดพีคซึ่งส่วนมากคือยอดเขา หรือการได้เห็นวิวที่สวยงาม เหมือนเหรียญรางวัลจากการแข่ง แต่รางวัลมันไม่ได้มีอะไรเลย สิ่งที่เราได้จริงๆ คือร่างกายที่แข็งแรงซึ่งเกิดจากการวิ่งต่างหาก สิ่งที่เราได้จริงๆ จากการเดินมันก็คือการตกตะกอนที่เกิดจากการเดินต่างหาก
...
หนังสือเล่มนี้มีเรื่องราวมากมายอัดแน่นอยู่ในนั้น ลองอ่านดูก็ได้ เพราะพี่เบซเป็นคนสวย :)
8.5/10
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in