ใครว่านินเทนโดล้มเหลวไม่เป็น วันนี้สตาร์หลอดโฟร์เคจะมาพูดถึงสินค้าของบริษัทเกมจากญี่ปุ่นที่เคยประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและกลายเป็นตราบาปของบริษัทที่เขาอยากให้พวกเราลืมๆ มันไปซะ
ในยุคสมัยที่เครื่องเกมอย่าง PlayStation ของค่ายคู่แข่งโซนี่กำลังฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง นินเทนโดที่ตอนนั้นกำลังวางจำหน่ายเครื่องเล่น Nintendo 64 ที่ใช้ตลับเกมความจุต่ำก็อยากสร้างส่วนขยาย และเพิ่มเติมฟีเจอร์ใหม่ให้กับเครื่องเล่นตัวเองเพื่อดึงตลาดกลับมา จึงได้ออกส่วนเสริมต่อเข้ากับเครื่อง 64 เดิม ใช้ชื่อว่า 64DD ที่ย่อมาจาก Disk Drive โดยใช้ตลับที่มีแผ่นแม่เหล็กเป็นสื่อ นอกจากนี้ตัวเครื่องยังมีโมเด็มที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ วางจำหน่ายปี 1999 ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เนื่องจากขาดการซัพพอร์ตจากบริษัท third-party ทำให้มีเกมที่รองรับค่อนข้างน้อย และมีราคาค่อนข้างสูง แถมส่วนต่อขยายนี้ยังมีขนาดใหญ่เทอะทะ จึงไม่ได้รับความนิยม ทางนินเทนโดจึงเลิกการผลิตไปในที่สุด
หลังจากที่เครื่องเกม Nintendo 3DS ได้รับความนิยมถล่มทลาย แต่ด้วยความที่คอนโทรลเลอร์ออกแบบมาให้มี Circle Pad เพียงด้านเดียว ทำให้อีกด้านนั้นผู้เล่นอาจจะไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเล่นเกมบางเกม ทำให้นินเทนโดต้องออกส่วนต่อขยายชิ้นใหม่มาสวมกับเครื่อง 3DS นั่นก็คือ Circle Pad อีกข้างนึงนั้นเอง เย้ ซึ่งดีไซน์ของมันนั้นก็ต่างคนต่างมอง บางคนก็มองว่าพิลึก บางคนก็มองว่าโอเคพอรับได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวนั่นแหละ เพราะไม่ค่อยได้รับความนิยม ก่อนที่นินเทนโด้จะรับไปปรับปรุงเป็น New 3DS รุ่นต่อไป
รู้หรือไม่ว่าเครื่องเล่นเกมบอยนั้นสามารถถ่ายรูปได้ โดยส่วนเสริมที่มีชื่อว่า GameBoy Camera วางจำหน่ายในปี 1998 โดยได้รับการบันทึกจากกินเนส ณ ขณะนั้นว่าเป็นกล้องดิจิตอลขนาดเล็กที่สุดในโลก ตัวกล้องอยู่ติดกับตลับเกมซึ่งสามารถเสียบเข้ากับเกมบอยแล้วใช้งานได้ทันที โดยมีซอฟต์แวร์ในตัว ทำหน้าที่การถ่ายภาพ วาดภาพ และมีมินิเกมเล่นกับภาพของเราไปด้วย นอกจากนี้ยังออก GameBoy Printer ไว้ปริ้นรูปที่เราถ่ายจาก GameBoy Camera ได้อีกต่างหาก เป็นกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งซอฟต์แวร์นั้นออกแบบมาได้พิลึกพิลั่นในบางจุด และภาพที่ได้มีความละเอียดที่ต่ำมาก แถมยังรองรับแค่ 2 สี คือขาวกับดำ ทำให้ความพยายามในการบุกเบิกภาพดิจิตอลของนินเทนโดจึงไปได้ไม่ค่อยไกลเท่าไหร่นัก แต่ความไม่ยอมแพ้ จึงนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับเครื่องเกม Nintendo DS และ 3DS ในเวลาต่อมา
เป็นไอเดียที่ถือว่าล้ำยุคมากในสมัยนั้น อาจจะมาก่อนกาลเสียด้วยซ้ำ กับเกมโปเกม่อนที่เราสามารถเลี้ยงดูปิกาจู แล้วส่งเสียงเรียกให้มันหันมาหาเราที่หน้าจอได้ด้วย ใช้แล้วล่ะฟังไม่ผิด เราสามารถส่งเสียงเรียกปิกาจูผ่านไมโครโฟนพิเศษที่ติดอยู่บนจอยเกม Nintendo 64 ได้ โดยจอยพิเศษนี้เรียกว่า VRU หรือ Voice Recognition Unit วางจำหน่ายพร้อมเกม Hey You, Pikachu ในปี 1998 แต่ก็มีปัญหาคือตัวเกมปรับจูนให้จอยนั้นสามารถฟังรู้เรื่องแค่เพียงเสียงที่เล็กแหลม เช่น เสียงเด็กเท่านั้น ไม่สามารถใช้กับเสียงผู้ใหญ่ได้ และที่สำคัญคือมีเพียง 2 เกมที่รองรับจอย VRU นี้ อีกเกมนึงเป็นเกม Simulation รถไฟญี่ปุ่น ซึ่งเราต้องพูดเหมือนนายสถานีใส่จอยนี้ เอ่อ พิลึกจังประเทศนี้ แม้ว่าต่อมาในเครื่องเล่น Nintendo Gamecube จะมีไมโครโฟน ก็ยังไม่เห็นฟังก์ชั่นนี้เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่นัก ต้องยอมรับว่าไอเดียนี้สามารถนำกลับมาใช้ในปัจจุบันได้ ด้วยพลังของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ
เมื่อการเล่นเกม มาเจอกับ ออกกำลังกาย จึงกลายมาเป็นเสื่อออกกำลังกายในชื่อ Power Pad อุปกรณ์เสริมของเครื่องเล่นเกมฟามิค่อม โดยในเสื่อนี้จะมีปุ่มกด 12 ปุ่ม แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง สำหรับผู้เล่น 2 คน เดิมทีนั้นผลิตและจัดจำหน่ายในญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ Family Trainer โดยบริษัทบันได บริษัทของเล่นชื่อดังของญี่ปุ่น แต่ได้ไลเซนส์จากนินเทนโด และวางจำหน่ายในอเมริกาในชื่อ Power Pad โดยมีเกมแถมมาด้วยชื่อ World Class Track Meet เป็นเกมแข่งวิ่ง โดยที่ผู้เล่นจะต้องวิ่งๆ ย้ำๆ ซ้ายขวาๆ บนเสื่อนี้เพื่อหาผู้ชนะ ปัญหาคือ มันเหนื่อยมาก จนเด็กหลายคนเลิกวิ่งแล้วคุกเข่าลงมาเอามือตบปุ่มแทน และบางบ้านประสบปัญหา วิ่งแล้วพื้นมีเสียงดังตุ้บตับรบกวนคนอื่น ซึ่งเกมที่ออกมารองรับกับเสื่อนี้ก็มีเพียงครึ่งโหลเท่านั้น ทำให้เสื่อนี้เป็นไอเทมที่ถูกลืมไปในที่สุด แต่ก็ถูกเอากลับมาชุบชีวิตใหม่เป็นเสื่อเกมเต้นชื่อดังอย่าง Dance Dance Revolution โดยบริษัทโคนามิ และทางนินเทนโดก็เอาไปปรับปรุงต่อเป็น WiiFit Board ในเวลาหลายสิบปีต่อมา
ในสมัยนั้นเด็กนิยมสะสมการ์ดพลังต่างๆ นินเทนโดจึงนำการ์ดพลังมาผสมกับเครื่องเกมพกพาที่ขายดีที่สุดในโลกตอนนั้นอย่าง GameBoy Advance กลายเป็น e-Reader ช่องที่เสียบเข้ากับด้านบนของเครื่องเกมบอยเพื่อรูดการ์ดของนินเทนโดเพื่อรับตัวละครพิเศษ ด่านพิเศษ หรือได้พลังต่างๆ เพิ่มในเกมบางเกม แต่ข้อเสียคือ การจะทำเช่นนี้ 1. ต้องเสียบเครื่องอ่าน e-Reader เข้ากับเกมบอยเครื่องที่ 1 2. เสียบสาย Link จากเครื่องอ่าน e-Reader บนเกมบอยเครื่องที่ 1 เข้าสู่เกมบอยเครื่องที่ 2 3. สแกนการ์ดให้ดีๆ เกมบางเกมต้องสแกนหลายใบ แล้วถ้าสแกนเสีย อาจจะต้องสแกนใหม่ทั้งหมด ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเครื่องนี้ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก แต่ทางนินเทนโดก็เอาคอนเซปมาปรับปรุงเป็นตัวอะมีโบ้แทน ซึ่งทำระบบออกมาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ จึงได้รับความนิยมในปัจจุบัน
เมื่อจอยธรรมดามันไม่สะใจ ปืนใหญ่เท่านั้นที่จะมาสนองใจ ด้วย Super Scope เป็นจอยรูปปืนขนาดใหญ่ น้ำหนักก็ค่อนข้างพอสมควร มีลำกล้องให้เล็งอีกต่างหาก วิธีใช้คือใส่ถ่าน 6 ก้อน และต้องติดตัวเซนเซอร์ไว้บนหัวทีวีด้วย ใช้เล่นเกมได้บางเกมที่รองรับ ปัญหาคือด้วยขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ และถ่านใช้ได้ประมาณ 4 ชั่วโมง แถมยิงได้ไม่แม่นเท่าไหร่นัก ทำให้ปืนนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเช่นกัน
ก่อนธานอสจะมีถุงมืออินฟินิตี้ เรามีถุงมือ Power Glove วางจำหน่ายในปี 1989 ซึ่งแม้ว่านินเทนโดจะไม่ได้ผลิตเอง เป็นของบริษัทแมทเทล บริษัทผลิตของเล่นรายใหญ่ในอเมริกา แต่นินเทนโดก็ให้ไลเซนส์และโปรโมทเจ้าถุงมือนี้ออกหน้าออกตา โดยวิธีใช้คือการสวมถุงมือแล้วต่อสายเข้ากับเครื่องเล่น NES หรือฟามิค่อมบ้านเรา แล้วขยับมือตามที่คู่มือบอกเพื่อบังคับทิศทาง เช่น เอียงมือไปทางขวา เพื่อขยับไปทางขวา ผลที่ได้คือ การบังคับไม่ได้เป็นไปตามที่ตั้งใจนัก ทำให้การเล่นเกมนั้นยากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้เจ้าถุงมือนี้ล้มหายไปจากตลาด เหลือเป็นเพียงเรื่องตลกที่เอาไว้แซวกันขำๆ ในปัจจุบัน แต่ก็มีคนใจกล้านำถุงมือนี้มาใช้เล่นเกมยากๆ จนเคลียร์ได้สำเร็จก็มี มนุษย์บางทีก็ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้เสมอ
ความพยายามในการเข้าสู่โลก VR ครั้งแรกและครั้งเดียวของนินเทนโด ในปี 1995 นินเทนโดได้เปิดตัว Virtual Boy เป็นเครื่องเล่นเกมพกพาที่เคลมว่าสามารถเล่นเกมในรูปแบบ 3 มิติเสมือนจริง โดยทำออกมาเป็นเหมือนคล้ายๆ แว่นตา VR ในปัจจุบัน แต่ทางนินเทนโดระบุว่าเครื่องเกมนี้มีน้ำหนักค่อนข้างมาก จึงห้ามไม่ให้ผู้เล่นนำไปสวมใส่ แต่ให้ขาตั้งโต๊ะมาแทน ซึ่งผู้เล่นต้องนั่งเล่นบนโต๊ะเท่านั้น
และข้อเสียสำคัญเลยก็คือ จอแสดงผลนั้นสามารถแสดงผลได้เพียงสีเดียวคือสีแดง ถามจริงๆ เค้าคิดอะไรของเค้า เพราะการจ้องหน้าจอนี้เป็นเวลานานๆ ทำให้หลายคนปวดตา ไม่สามารถเล่นได้เป็นเวลานาน แถมเกมที่ทำออกมารองรับมีไม่ถึง 10 เกม ทำให้ยอดขายตกต่ำ บริษัทจึงเลิกผลิตหลังจากวางจำหน่ายได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น จึงกลายเป็นเครื่องเล่นเกมที่ล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ของนินเทนโด ทำให้เราไม่เห็นเทคโนโลยี VR จากบริษัทนี้อีกเลย แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีนี้กำลังจะได้รับความนิยม ก็ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นนินเทนโดกลับมาในวงการนี้อีกครั้ง
อีกไอเดียที่แหวกแนวของนินเทนโด เมื่อคุณไม่ได้เล่นเกมเพียงคนเดียว แต่คุณมีหุ่นยนต์มาเล่นเกมเป็นเพื่อน R.O.B. หรือเจ้าร็อบ ย่อมาจาก Robotic Operating Buddy วางจำหน่ายในปี 1985 พร้อมเครื่องเล่น NES ทำหน้าที่เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้ ที่จะมาช่วยกดจอย 2 ให้เรา โดยตั้งให้หัวของมันหันเข้าหาหน้าจอทีวี CRT หรือจอแก้ว เพื่อให้เกมที่รองรับกะพริบหน้าจอเป็นสัญญาณบอกให้เจ้าร็อบเคลื่อนไหวมากดจอยของเรา ฟังดูยากจะเชื่อ แต่ก็เกิดขึ้นจริง
ข้อเสียของมันก็คือ เคลื่อนไหวช้ามาก และมีเกมที่ทำออกมารองรับการเล่นกับเจ้าร็อบเพียงแค่ 2 เกมเท่านั้น ซึ่งเอาเข้าจริงเราสามารถเรียกเพื่อนที่เป็นคนให้มากดจอยแทนเจ้าร็อบจะยังทันใจกว่า (นี่อาจจะเป็นจุดกำเนิดของเกมระบบ Co-op) ทำให้ยอดขายไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่นินเทนโดก็คงรักเจ้าร็อบมาก ถึงขั้นให้ไปปรากฏตัวในเกมต่อสู้ชื่อดังอย่าง Super Smash Bros. กับให้เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นอะมีโบ้อีกด้วย ถึงแม้ว่าจะล้มเหลว แต่ก็ยังเป็นมาสคอตที่สำคัญของนินเทนโดตัวหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าสินค้าเหล่านี้จะประสบความล้มเหลว แต่ว่านินเทนโดก็ไม่ยอมแพ้ที่จะเอาความล้มเหลวนี้มาพัฒนาต่อจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in