เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ติ่งให้ไกล ไปเรียนให้ถึงอังกฤษAki_Kaze
Creative Writing Skills and Techniques Part 1
  • Creative Writing Skills and Techniques Part 1

    หลังจากเที่ยวมาเยอะแล้วขอพูดถึงเรื่องเรียนบ้าง สาขาที่เรียนอยู่ตอนนี้คือ Creative Writing ซึ่งก่อนเดินทางมาก็มีแต่คนถามว่ามันคือวิชาอะไร เรียนยังไง สารภาพว่าก่อนมาเรียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเรียนอะไรยังไงบ้างเพียงแต่มีเป้าหมายอยู่ที่การเขียนนิยายภาษาอังกฤษ พอเริ่มเรียนแล้วค้นพบว่าเป็นคอร์สที่ดีมากๆ

    สำหรับนักเรียน Full-time เทอมนี้จะเรียน 2 วิชา (Part-time เรียนวิชาเดียว) วิชาแรกที่จะพูดถึงคือ Creative Writing: Skills and Techniques Part 1 ที่ต้องแบ่งพาร์ทเพราะวิชานี้เรียนยาวไปจนถึงเดือนกุมภาปีหน้า จากชื่อน่าจะเดาได้ว่าเกี่ยวกับอะไรซึ่งถือเป็นวิชาที่จะปูพื้นฐานด้านการเขียนไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือนิยาย ร้อยกลอง บทละครเวที บทภาพยนตร์/ละครโทรทัศน์ ซึ่งจะเป็นวิชาที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าจะเขียนโปรเจคจบ ป.โท จำนวน 15000 คำเป็นงานประเภทไหน วิชานี้มีอาจารย์สองท่านเป็นผู้สอน

    อาจารย์แนะนำให้จดบันทึกเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน ความคิดของเราเกี่ยวกับแต่ละเรื่องที่ได้เรียนไปซึ่งในจุดนี้อาจต้องดึงมาใช้ตอนเขียนงานส่ง
    งานเขียนวิชานี้แบ่งออกเป็นสองช่วงคือ Formative assignment แบ่งเป็นงานเขียน 1500 คำ คอมเมนต์งานตัวเอง 1000 คำ ในจุดนี้จะไม่มีคะแนนให้ เพราะของจริงคือ Summative Assignment 4000 คำ คอมเมนต์งานอีก 4000 คำ ส่วนที่เป็นคอมเมนต์นี่แหละค่ะที่ต้องใช้บันทึกมาเขียน รวมทั้งหนังสือที่เราอ่านเพิ่มเติม สกิล เทคนิคที่เราใช้ และความคิดต่างๆ ที่ทำให้เกิดงานเขียน 4000 คำนั้น

    สำหรับการเรียนช่วงสามสัปดาห์แรกเป็นการเรียนแบบกว้างๆ ให้ดูภาพวาด ฝึกการสังเกตสิ่งของในภาพ เริ่มแรกอ.ให้เขียนด้วยกลอนไฮกุก่อนซึ่งตอนนั้นงงมาก เขียนไม่ได้เพราะไม่ถนัดเรื่องกลอนเลย ถึงกับต้องบอกอาจารย์ท้ายชั่วโมงว่ากลอนยากมากเลย อาจารย์ก็เข้าใจเพราะนอกจากต้องแต่งกลอนแล้วยังแต่งเป็นภาษาอังกฤษอีก

    สัปดาห์ต่อมาอาจารย์ให้นำของมาหนึ่งชิ้นแล้วเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับของชิ้นนั้นๆ แน่นอนว่าเริ่มจากไฮกุ (อีกแล้ว) อ.บอกไฮกุมันสั้นและกระชับทำให้อธิบายสิ่งของได้ง่ายและรวดเร็ว อ.มีกลอนไฮกุให้อ่านด้วย ความงดงามของมันช่างยากที่จะเข้าถึง (ร้องไห้) สำหรับใครที่อยากแต่งกลอนไฮกุ มันคือ 5-7-5 พยางค์ลองกันได้ค่ะ
    สิ่งของที่ออยล์นำไปก็คือริสแบนด์ที่ได้จากพรีเมียร์คิงส์แมน อาจารย์ให้ลองเขียนเป็น Tanka (5-7-5-7-7 พยางค์) แต่หลังจากนั้นก็ง่ายแล้วค่ะเมื่ออาจารย์ให้เขียนเกี่ยวกับของที่นำมาโดยใช้สรรพนามบุคคลที่สามในการบรรยาย ออยล์เลยเขียนถึงตอนรอรับริสแบนด์เพื่องานพรีเมียร์ไป

    เข้าสู่สัปดาห์ที่สี่จะเน้นเรื่องการเขียนร้อยกลอง (นิยาย) แล้วค่ะ อาจารย์สอนตั้งแต่เรื่อง Narrative, focalisation และ stylistics ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ออยล์ใช้ในการเขียนนิยายมาตลอดแต่เพิ่งมาเรียนแบบเจาะลึก แบบฝึกหัดที่อาจารย์ให้เขียนในชั่วโมงคือให้เรานึกถึงอดีตของตัวเองกับการเผชิญหน้ากับสัตว์อะไรสักอย่าง พอดีบ้านออยล์ชอบมีแมวมาอยู่เลยนึกถึงน้องแมว จากนั้นอาจารย์ก็ให้นึกถึงสภาพแวดล้อม ให้เขียนบรรยายเกี่ยวรอบข้างว่ามีอะไรบ้าง บรรยายว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ก่อนจะให้เราเขียนถึงช่วงเวลาที่เผชิญหน้ากับสัตว์ตัวนั้น (มันเป็นการบรรยายกว้างๆ ก่อนจะเจาะจงไปเรื่อยๆ นึกถึงการถ่ายรูปที่เห็นภาพกว้างๆ ก่อนแล้วเราค่อยๆ ซูมเข้าไปในสิ่งที่ต้องการ)

    สัปดาห์ที่ 5 เรียนเรื่อง Narrative Structure มันคือวิธีที่เรานำเสนอพล็อตแก่คนอ่าน Tzvetan Todorov ได้แบ่งไว้ 5 ช่วงเวลาด้วยกัน คือ
    1. Equilibrium1(the status Quo - Peace)
    2. Force 1 (Enemy invades – peace is threatened)
    3. Disequilibrium (Struggle - conflict)
    4. Force 2 (enemy is defeated - climax)
    5. Equilibrium 2 (though of a difference to Equilibrium 1)

    อธิบายง่ายๆ คือ Exposition -> Complication -> Conflict -> Climax -> Resolution
    นอกจากนี้ Vladimir Propp ยังแบ่งตัวละครออกเป็น 7 ประเภทจากการที่เขาศึกษานิทานปรัมปราของรัสเซียคือ
    ตัวร้าย
    ผู้ให้ (พวกที่เตรียมของวิเศษให้ฮีโร่)
    ผู้ช่วยเหลือ (ช่วยฮีโร่ทำเควส)
    เจ้าหญิงและพ่อของเธอ (คนกลุ่มนี้คือมีภารกิจให้ฮีโร่ไปจัดการแล้วอาจจะได้แต่งงานกับเจ้าหญิง)
    กลุ่มคนที่ยืนส่งฮีโร่ออกไปปฏิบัติภารกิจ (จะไม่ค่อยมีบท)
    ฮีโร่
    ฮีโร่ตัวปลอม Anti-hero (พยายามแต่งงานกับเจ้าหญิง ขโมยผลงานฮีโร่)

    แล้วเขาก็แบ่งเหตุการณ์ออกเป็น 31 เหตุการณ์ที่ต้องมีในนิทานพวกนี้ซึ่งถ้าได้ลองอ่านจะพบว่ามันมีอยู่ในนิยาย ภาพยนตร์ ทั่วๆ ไปนี่แหละค่ะ เหมือนยังไงก็หนีไม่พ้นเหตุการณ์แบบนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเขียนตามสเต็ปของมันหรือเราจะทำอะไรให้แตกต่าง/เหนือความคาดหมาย อาจารย์ให้อ่านนิทานหนูน้อยหมวกแดงเทียบกับเรื่องแวร์วูล์ฟ อ.แนะนำว่าให้ลองนำนิทานพวกนั้นมาเขียนใหม่ในแบบของตัวเองดู
    อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ The Kublar Ross Change Curve มันคือ 5 ขั้นตอนในการรับมือกับข่าวสารบางอย่างที่ตัวละครได้รับ (ส่วนมากจะเป็นข่าวร้าย)
    ขั้นแรก ปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริง (อ.ยกตัวอย่างรถเสีย พยายามสตาร์ทรถใหม่)
    ขั้นที่สอง โมโห (ด่ารถไม่ดีงู้นงี้งั้น)
    ขั้นที่สาม ต่อรอง (โอ๋รถ ถ้าติดแล้วจะรีบพาเข้าอู่)
    ขั้นที่สี่ เศร้า สลด หดหู่ (พอรถเสียแล้วชีวิตจบแล้ว พังแล้วทุกสิ่งอย่าง)
    ขั้นที่ห้า ยอมรับ (โทรเรียกแท็กซี่กลับบ้าน แล้วค่อยเรียกรถลากมาพารถไป)
    โดยห้าขั้นตอนนี้อาจเป็นจุดสำคัญของเรื่องทั้งเรื่องหรือเป็นเพียงแค่หนึ่งซีนก็ได้

    จากนั้นก็ได้เรียนเรื่อง Genre โดยอาจารย์แจกชีทสองแผ่นเป็นตอนต้นของนิยายที่อ.ไม่ได้บอกว่าเรื่องไหนแต่ให้ทุกคนอ่านแล้วเดาว่าเป็นแนวอะไร บางอันอ่านแล้วรู้เลย บางอันก็ยากจริง จากนั้นอาจารย์ก็แจกเศษกระดาษชิ้นเล็กๆ ให้ทุกคน ด้านในจะเขียน genre ไว้แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน ออยล์ได้ Fairy Tale อ.ให้เขียนว่าเห็น genre นี้แล้วจะนึกถึงอะไรบ้าง องค์ประกอบมันต้องมีอะไรบ้าง จากนั้นก็ให้เวลาห้านาทีแต่งเรื่องขึ้นมา เสร็จแล้วก็ส่งต่อให้เพื่อนคนข้างๆ แต่งต่อ เราก็แต่งต่อจากเพื่อน ในกลุ่มออยล์มีสามคนค่ะ พอวนครบเราก็จะได้งานตัวเองกลับมาซึ่งบางที genre ก็เปลี่ยนไปเลย 555555

    สัปดาห์ที่หก เรียนเรื่อง ดราม่า โดยเน้นไปที่ละครเวที ด้วยความที่มันสั้นและกระชับ การเปิดเรื่องจึงมักเป็นอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นไปแล้วเพื่อดีงความสนใจจากผู้ชม อ.บอกถ้าอยากให้บทละครเวทีมีโอกาสขึ้นแสดงควรมีตัวละครแต่ 2-3 คนเท่านั้นรวมทั้งไม่ควรเปลี่ยนฉากบ่อยๆ ให้นึกภาพตอนต้องแสดงบนเวทีจริงๆ ไว้ด้วย
    อาจารย์ให้ลองเขียนบทสนทนาของตัวละครสองคนทั้งหมด 10 ประโยค (เขียนจริงๆ แล้วมันยากมาก) อ.แนะนำอีกว่าถ้าเป็นไปได้ให้บทสนทนามันสั้นลงเรื่อยๆ ไล่จาก 10 คำเหลือ 1 คำ (ออยล์ยังไม่เคยลองเพราะแต่ในชั่วโมงก็เขียนไม่เคยจบ แง)
    อ.ยก Aristotle’s order ขึ้นมาซึ่งจัดลำดับความสำคัญไว้ดังนี้ Plot - Character - Ideas - Dialogue - Music - Spectacle (จริงๆ ในห้องก็มีดีเบตกันระหว่างพล็อตกับตัวละคร)
    ความสนุกของวิชาในวันนี้คืออ.แจกพล็อตเรื่องให้เลือกแล้วเขียนบทละครเวที จับคู่กับเพื่อนคนข้างๆ แล้วเขียน ความท้าทายคือบางทีตัวละครมีหลายตัวเราจะทำยังไงให้เหลือเพียงแค่สองตัวที่สำคัญ อีกสองคนที่ออกจากซีนไปมันมีเหตุอะไรให้ออกแล้วมันสมเหตุสมผลขนาดไหน รวมทั้งเซตติ้งว่าจะเลือกเป็นที่ไหน พล็อตที่ออยล์กับเพื่อนเลือก (รวมถึงหลายๆ กลุ่มเลือก) คือสามี (A) เชิญหัวหน้ากับภรรยาหัวหน้ามากินข้าวที่บ้านเป็นครั้งแรก ตั้งใจจะเสนอไอเดียใหม่สำหรับงาน แต่ภรรยาของ A กลับเคยเห็นหัวหน้าคนนี้มาก่อนและอยากปิดเป็นความลับ
    แค่คิดว่าจะทำไงให้สามีกับภรรยาของหัวหน้าออกจากห้องได้ก็สนุกแล้ว สรุปคือให้ผู้หญิงไปห้องน้ำแล้วสามีไปหยิบไวน์ เลยเหลือแค่ภรรยากับหัวหน้าในฉากเพื่อพูดคุยซึ่งก็จะถูกขัดเรื่องๆ ระหว่างเขียนบทก็พบว่าสิ่งสำคัญสำหรับการเขียนคือการรู้นิสัยตัวละคร ถ้าเรารู้นิสัยเขา เราจะรู้ว่าเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับบทสนทนา (อ.บอกรีแอคชันมันมีสามแบบ ยอมรับ ปฏิเสธ บ่ายเบี่ยง) แต่การเขียนบทสนทนามันยากอย่างหนึ่งตรงที่จะเขียนยังไงให้รู้สึกว่านี่เป็นคำที่คนใช้พูดกันจริงๆ รวมทั้งตัวละครแต่ละตัวมีวิธีพูดต่างกันอย่างไร
    อ.ให้ไปสังเกตวิธีการพูด+บทสนทนาของคนมาด้วยค่ะ สิ่งที่ค้นพบคือคนเราไม่ได้พูดกันเต็มประโยค คำถามบางทีก็มาเป็นคำแทนอะไรแบบนี้ เป็นต้น

    เข้าสู่สัปดาห์ที่ 7 ที่เพิ่งผ่านมา ได้เรียนเกี่ยวกับการสร้างตัวละคร ตอนแรกอ.ให้สร้างตัวละครจากบุคคลใกล้ตัวก่อน ให้นึกถึงพฤติกรรม ลักษณะท่าทางของคนๆ นั้น มีอะไรที่ทำเป็นนิสัย วิธีการพูด เลือกมาหกอย่าง แล้วก็เขียนหกอย่างจากนิสัยและท่าทางของตัวเอง จากนั้นเลือกมาอย่างละสามเพื่อสร้างตัวละครใหม่ขึ้นมา การตั้งชื่อก็เป็นเรื่องสำคัญ อ.ให้เขียนชื่อตัวเองแล้วลองคิดว่าถ้าคนเห็นชื่อนี้จะนึกถึงอะไร คิดว่าจะเป็นคนแบบไหน (ยากเนอะ 5555)
    ข้างบนเป็นวิธีสร้างตัวละครจากคนที่เรารู้จักค่ะ แต่สิ่งที่อาจารย์ให้ทำในคลาสวันนั้นคือสร้างตัวละครที่ห่างไกลจากตัวเรา มันเป็นการสร้างตัวละครสำหรับละครเวทีแต่สามารถปรับใช้ในนิยายได้ค่ะ โดยการตอบคำถามเหล่านี้ทีละข้อ ตอบแบบไม่ต้องคิดมาก อะไรโผล่มาในหัวก็เขียนเลย ลองทำกันได้นะคะ คำถามมีดังนี้
    1. เพศ
    2. อายุ
    3. เชื้อชาติ
    4. ชื่อ
    5. ลักษณะ ท่าทาง พฤติกรรม อะไรก็ได้สามอย่างเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้
    6. ตัวละครได้เงินมาจากไหน ที่มาของเงิน ทำงาน พ่อแม่ให้ บลาบลา
    7. อาศัยอยู่ที่ไหน บ้าน บ้านเช่า อพาร์ทเมนต์
    8. อยู่เมืองอะไร
    9. ตัวละครตัวนี้ขาดสิ่งใด (What they lack)
    10. ตอนนี้ตัวละครต้องการสิ่งใด (What they need right now) กาแฟสักแก้ว ฯลฯ
    11. มีความลับอะไร อาจจะเป็นความลับของตัวเองหรือของคนอื่นก็ได้
    12. ปัญหาที่ตัวละครตัวนี้มี
    13. ความทรงจำที่ตัวละครชอบนึกถึงอยู่บ่อยๆ
    14. เชื่อมั่นในสิ่งใด เชื่อว่ามีผี เชื่อว่ามียูนิคอร์น ฯลฯ
    15. ตัวละครตัวนี้ปรารถนาสิ่งใด
    16. สิ่งที่ตัวละครต้องการแต่อาจไม่รู้ว่าต้องการ (อ.บอกตรงนี้อาจเป็นจุดสำคัญของเรื่องเลยก็เป็นได้ ตามหาสิ่งที่ขาดโดยที่ไม่รู้มาก่อนว่าขาด)
    17. ตอนนี้ตัวละครอยู่ที่ไหน
    18. ตอนนี้ตัวละครทำอะไร
    19. ตอนนี้ตัวละครคิดหรือพูดถึงอะไรอยู่


    พอเขียนครบทุกข้อเราจะพอได้ข้อมูลตัวละครแบบคร่าวๆ ค่ะ ทีนี้เรามาดูว่ามีอะไรที่น่าสนใจ/น่าสงสัย เกี่ยวกับตัวละครที่สร้างขึ้นมา ตั้งคำถามเกี่ยวกับเขาโดยที่เราอาจรู้หรือไม่รู้คำตอบก็ได้ ถ้าไม่รู้เราก็ไปค้นคว้าเพิ่มเติมทีหลัง เราอาจจะรู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวละครตัวนั้นก็จดไปให้หมดค่ะ
    จากนั้นแบ่งกระดาษออกเป็นตาราง 10 ช่อง เขียนเหตุการณ์สำคัญในอดีตเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้โดยที่เลข 10 คือปัจจุบัน (เราอาจเขียน 11-12-13 เพื่อพูดถึงอนาคตก็เป็นได้)
    อ.ให้เริ่มเขียนฉากเปิดเรื่อง (จากข้อ 17 ที่เราตอบ) แล้วเลือกเหตุการณ์ในอดีตจากช่อง 1-9 มาใช้ เป็นคลาสที่เขียนสนุกมากจริงๆ ถึงกับพล็อตงอกเลยทีเดียว อาจารย์ต้องบอกเลิกคลาสก่อนเพราะเดี๋ยวจะเลยเวลา (วิชานี้เรียนหกโมงเย็นถึงสามทุ่มค่ะ)

    สัปดาห์หน้าเรียนเรื่องกลอนแล้วค่ะ เตรียมตัวตายได้เลย 55555

    เหลืออีก 5 สัปดาห์ก่อนปิดเทอม รวมทั้งส่งงาน formative และรายงานหน้าชั้นด้วย (กรี๊ด)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
K. (@KTHEFIRSTLETTER)
ชอบการที่คุณเจ้าของโพสได้ไปเรียนเรื่องการเขียนตามที่ตัวเองชอบ เนื้อหาที่เรียนดูน่าสนใจมากเลยค่ะ ต้องเป็นประสบการณ์ที่ดีแน่ๆค่ะ
Aki_Kaze (@cumberoil)
@KTHEFIRSTLETTER ขอบคุณมากค่า ได้ไอเดีย/ความรู้เพิ่มเติมเยอะแยะเลย ถือว่าคุ้มและคิดถูกมากที่ตัดสินใจมาเรียนที่นี่
K. (@KTHEFIRSTLETTER)
@cumberoil สู้ๆค่ะ