ย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ.2018 เราที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากการไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศหนึ่งในอเมริกาใต้ต้องประสบปัญหากับการปรับตัวเข้ากับสังคมในประเทศที่เรียกว่าเป็นประเทศบ้านเกิดของเราเองครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวกลับคืนสู่ระบบโรงเรียนรัฐบาลของไทยที่อนุรักษ์นิยมแบบสุดขีด คงจะจริงว่าเมื่อเราได้เคยสัมผัสกับเสรีภาพในการทำอะไรสักอย่างที่เราไม่เคยได้รับมาก่อนแล้ว เสรีภาพนั้นจะทำลายความเคยชินของการโดนกดขี่ การโดนละเมิด หรือการโดนเลือกปฏบัติต่างๆนานาเมื่อต้องกลับไปอยู่ในที่ที่เสรีภาพนั้นถูกจำกัดน้อยลง แม้ว่าที่แห่งนั้นจะเป็นที่เดิมที่เราเคยอยู่มานานกว่าก็ตาม ใครจะเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้เราเริ่มคิดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมนี้จะเป็นเรื่องง่ายๆเช่น การแต่งตัว
ในระยะเวลาราว1ปี ชีวิตแลกเปลี่ยนในประเทศที่ขึ้นชื่อด้านอาชญากรรมฉกชิงวิ่งราวแต่ก็เต็มไปด้วยสีสันและผู้คนที่เป็นมิตร เราได้ลองทำอะไรหลายๆอย่างที่ไม่เคยทำในประเทศไทย สิ่งที่อาจฟังดูตลกอย่างหนึ่งที่เราเพิ่งได้ลองเปลี่ยนคือการแต่งตัวและแต่งหน้าในแบบที่เราไม่เคยคิดจะลองมาก่อน โดยที่ถ้าเราแบบนี้ในไทยคงไม่พ้นจะโดนตัดสินจากคนอื่นที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ล้วนเคยเจอทำนองว่า เสื้อมันโป๊ไปหรือเปล่า กางเกงขาสั้นไปหรือเปล่า แต่งหน้าจัดไปหรือเปล่า หรืออาจจะเป็นสายตาที่มองมาอย่างตัดสินจนทำให้รู้สึกตัว รวมไปถึงคำพูดที่ทำให้ความมั่นใจของเราว่างเปล่าจากคนใกล้ชิด แต่ทุกอย่างที่นี่กลับแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีใครเคยวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตัวของเราหรือของคนอื่น หรืออย่างน้อยเราก็ไม่เคยได้ยินจนเป็นเรื่องปกติ
เราไม่เคยต้องระแวงว่าการแต่งตัวของเราจะทำให้ไม่ปลอดภัยหรือจะไปยั่วยุอารมณ์ทางเพศใคร เราเห็นผู้หญิงมากมายที่ไม่ได้ใส่เสื้อชั้นในออกมาข้างนอก โดยถ้าหากเป็นตัวเราก่อนหน้านั้นที่ยังขาดความรู้และได้เห็นคนที่ทำแบบเดียวกันในไทย เราเองก็คงเป็นหนึ่งในคนที่มองไปที่พวกเขาเหล่านั้นแล้วคิดว่า ‘เขาไม่อายรึไงนะ’ แต่ที่นี่ทุกคนกลับทำเหมือนมันเป็นเรื่องปกติ ใครจะใส่หรือไม่ใส่เสื้อชั้นในแล้วมันแปลกตรงไหน? เมื่อเราสัมผัสถึงเสรีภาพในการแต่งตัวนี้ ความมั่นใจในการแต่งตัวของเราพุ่งขึ้นสูงหลังจากนั้นมาก แต่ทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงักเมื่อเราได้กลับมาที่ประเทศไทยที่เราในตอนนั้นตื่นเต้นและคิดถึง
เรากลับเข้ามาเรียนต่อในชั้นมัธยมปีที่4 ต่อจากที่ก่อนหน้านั้นเราได้ดรอปเพื่อไปแลกเปลี่ยน สิ่งที่นัก เรียนไทยทุกคนรู้กันจนเป็นเรื่องปกติคือความเข้มงวดของกฎในโรงเรียนเรื่องทรงผมและการแต่งตัวจนถึงตรงนี้คุณอาจสงสัยว่าเรื่องของกฎพวกนี้มันมาเกี่ยวข้องอะไรกับการที่เราเริ่มเรียกตัวเองว่าเป็น เฟมินิสต์ สำหรับเราเรื่องนี้คงจะเรียกได้ว่าเป็นชนวนมากกว่า
เมื่อตอนที่เราต้องเข้าไปคุยกับครูฝ่ายปกครองหัวโบราณที่เป็นผู้หญิงท่านหนึ่ง ซึ่งการโดนเรียกให้เข้า ไปคุยครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกในชีวิตแต่ทุกครั้งจะเป็นประเด็นเดียวกันคือการทำผิดระเบียบเกี่ยวกับการแต่งหน้า ซึ่งเราก็ได้คิดแล้วว่าถ้าจะโดนหักคะแนนพฤติกรรมขึ้นมาก็คงทำอะไรไม่ได้เพราะถึงมันจะไร้สาระ อย่างไรเสียมันก็เป็นกฎที่เราได้ทำผิดจริง แต่เมื่อเราต้องคุยกับครูท่านนั้นสิ่งที่เขาพูดกับเรามันไม่ได้เป็นการชี้แจงเกี่ยวกับการทำผิดกฎหรือการอธิบายเกี่ยวกับกฎแต่อย่างใด เขามองเราแล้วพูดกับเราว่า 'อยู่แค่ม.4ก็ขนาดนี้แล้วหรอ'
คิดแล้วคิดอีกว่าสิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการที่เราทำผิดกฎนั้นเราก็ยังไม่ได้คำตอบ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็จบลงไปโดยการที่เราโดนหักคะแนนไปเล็กน้อยและเรียกครูที่ปรึกษามาให้รับทราบ เรากลับไปเรียนปกติแต่พร้อมกับความรู้ัสึกที่เคลือบแคลงใจ เราเริ่มที่จะย้อนคิดไปถึงเหตุการณ์ทุกๆครั้งที่เราเคยโดนเรียกไปตักเตือนทำนองนี้จากครูผู้หญิงท่านอื่น
ครั้งหนึ่งตอนมัธยมต้นมีครูคนหนึ่งถามเราว่าเราแต่งหน้าไปทำไม เราไม่รู้จะตอบอะไรกลับไปเพราะก็รู้ดีว่ามันผิดกฎ แต่จริงๆครูท่านนั้นไม่ได้ต้องการคำตอบหรอก ครูบอกเราว่าเหตุที่เราไม่ควรทำเป็นเพราะมันจะทำให้เราดูไม่ดี เนื่องจากคนที่เห็นจะคิดว่าเราทำแบบนั้นเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือทอดสะพานให้ 'ผู้ชาย'
ครั้งหนึ่งเมื่อเราโดนเรียกไปคุยในตอนเช้าของวันสอบกลางภาค ครูผู้หญิงฝ่ายปกครองถามว่าเราได้อ่านหนังสือมาสอบหรือไม่ เพราะคาดเดาว่าการที่เราเอาเวลามาแต่งหน้าหมายถึงเราไม่สนใจจะอ่านหนังสือ เมื่อครูท่านนั้นถามเราว่าเราเรียนอยู่ห้องไหนและเมื่อรู้ว่าเราอยู่ในห้องที่เรียกว่าห้องคิงของห้องเรียนโครงการปกติ ครูท่านนั้นทำหน้าตกใจและพูดด้วยน้ำเสียงไม่อยากจะเชื่อว่าพฤติกรรมแบบเราจะเป็นเด็กที่อยู่ในห้องนั้น
ครูไม่ได้พูดออกมาตรงๆหรอกว่าทำไม แต่เราก็รู้ความหมายจากท่าทางและน้ำเสียงนั้นดี
และนอกจากนี้ ถึงแม้เราจะไม่ได้อยู่ในโรงเรียนและแค่แต่งตัวออกไปไหนมาไหนปกติแต่ก็โดนเตือนจากคนรอบตัวที่เป็นผู้ใหญ่หลายๆท่านนับครั้งไม่ถ้วนว่า แต่งตัวแบบนี้โป๊ไป สั้นไป น่าเกลียดไป แต่งหน้าแบบนี้แก่ไป โดยมาในรูปแบบของการเตือนด้วยความ 'ปรารถนาดี'
เราเริ่มปะติดปะต่อทุกอย่างเข้าด้วยกันจนตั้งเป็นคำถามชุดหนึ่ง
เมื่อไหร่กันที่การแต่งตัวแต่งหน้าของเราสามารถเป็นป้ายแปะเราว่าเราต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้ชาย?
เมื่อไหร่กันที่การแต่งหน้าแต่งตัวของเราบอกได้ว่าเราโง่หรือฉลาด?
ในเมื่อเราไม่ได้อยู่ในโรงเรียน สถานที่ราชการ หรือพิธีที่ต้องให้ความเคารพ ทำไมเราถึงยังต้องถูกตัดสินจากคนอื่นๆอยู่อีกว่าเราต้องแต่งตัวอย่างไรถึงจะเหมาะสม?
สรุปแล้วการแต่งตัวของเราที่เราเพียงแค่อยากมีความสุขกับตัวเองนี้เป็นเรื่องของ 'เรา' หรือเป็นเรื่องของ 'คนอื่น' กันแน่?
คุณจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่เราโดนตักเตือนไม่มีสักครั้งเลยที่พูดกันถึงเหตุผลของกฎเหล่านั้น สิ่งที่เราเจอมักจะเป็นการถูกตัดสินด้วยสายตาและคำอบรมที่ทำให้เรารู้สึกตกต่ำไร้ค่าและถูกมองเป็นผู้หญิงโง่สมองกลวงที่อยากเรียกร้องความสนใจจากผู้ชายจากการแต่งหน้าแต่งตัวของเรา
เมื่อทุกอย่างในยุคปัจจุบันเข้าถึงได้ง่ายด้วยอินเทอร์เน็ต เราจึงได้ใช้มันเป็นเครื่องมือเพื่อคลายข้อสงสัย เราเริ่มค้นหาลึกลงไปเรื่อยๆเพื่อที่จะได้รู้ว่าปฏิกิริยาเหล่านั้นที่คนอื่นได้แสดงต่อเรามันคืออะไรกันแน่ เราได้ฟังspeechของผู้หญิงหลายๆคนที่ออกมาพูดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ เราเริ่มอ่านบทความและอ่านหนังสือของนักสิทธิสตรีที่อธิบายเรื่องการกดขี่ที่มาในรูปแบบต่างๆ เราเพิ่งรู้ตัวว่าสิ่งที่เราพบเจอตลอดมาเป็นระยะๆนั้นมันคือการที่เราตกเป็น 'เหยื่อ' จากสิ่งที่เรียกว่าสังคมชายเป็นใหญ่ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
ผู้หญิงถูกสอนมาตลอดว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องแต่งตัวอย่างไร พูดอย่างไร ถึงจะเป็นผู้หญิงที่ดูมีคุณค่า พวกเราต่างเคยตะเกียกตะกายเพื่อที่เป็นผู้หญิงที่ 'ดี' ของสังคมนี้
ความรู้สึกที่พุ่งขึ้นมาในตอนนั้นมีอย่างเดียวคือ 'ความโกรธ' ว่าทำไมเราถึงทนมันมาได้นานขนาดนี้ และแน่นอนว่าเมื่อเราได้รู้จักคำว่า 'เฟมินิสต์' และได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำๆนี้เป็นครั้งแรก เราได้รู้ว่า 'เฟมินิสต์' นั้นหมายถึงใครก็ตามที่ได้ตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันนี้และเลือกที่จะเรียกร้องในแบบต่างๆ เราไม่ลังเลที่จะเรียกตัวเองว่าเราเป็นเฟมินิสต์นับแต่นั้นเป็นต้นมา เราได้ตัดสินใจแล้วว่าเราจะไม่ขอทนต่อการกดขี่ในรูปแบบใดก็ตาม
คุณอาจจะเห็นได้ว่าการเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์ของเรานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักรู้ในแบบของเรา แต่การถูกเลือกปฏิบัติและถูกกดขี่ในรูปแบบต่างๆนั้นเกิดขึ้นกับ 'พวกเรา' มานานแล้วและนับครั้งไม่ถ้วน แม้ว่าจนถึงทุกวันนี้เราก็ยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเรามีความรู้ที่สมบูรณ์แบบหรือมากพอที่จะให้ความรู้กับใคร มีอีกหลายๆส่วนที่เรายังคงต้องศึกษา แต่เราคิดว่าสิ่งที่เราทำได้คือการถ่าย ทอดประสบการณ์ ความคิดเห็น ความเจ็บปวด ความขมขื่น ความหวาดกลัว ของทั้งตัวเราและเพื่อนๆ เราทุกคนที่พร้อมจะมาเล่าให้เราฟังและอนุญาติให้เราส่งต่อเรื่องราวของพวกเขาลงในบทความนี้และบทความถัดๆไป อาจจะมีข้อผิดพลาดบางประการเนื่องจากเราก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการเขียนมากนัก แต่ถึงอย่างไรเราจะทำอย่างสุดความสามารถ
เราอยากใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สำหรับ 'พวกเรา' ทุกคน ที่เหนื่อยแล้วที่จะ 'เงียบ' และออกมาบอกว่าความเจ็บปวดของพวกเรานั้นเป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นถ้าพวกคุณทั้งหลายที่ไม่เคยต้องทนทุกข์ ไม่คิดที่จะสนใจหรือรับฟัง ได้โปรดฟังเสียงของพวกเราเถอะ เพราะพวกเราทุกคนล้วนเป็น 'เหยื่อ' กันทั้งนั้น
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in