ชีวิตในแต่ละวันดุจดั่งปรัชญา
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านเข้าใจได้โดยยาก แต่หากอ่านเข้าใจแล้ว ก็ย่อมนำมาปรับใช้เข้ากับชีวิตประจำวันได้โดยง่าย และดำเนินชีวิตได้อย่างเข้าใจในชีวิตอีกด้วย ซึ่งครั้งนี้ขอรีวิวยาวค่ะ
เมื่อนักปราชญ์มาถึง
อัลมุสตาฟา คือ นักปราชญ์ผู้หยั่งรู้ ผู้บรรลุธรรมและผู้มีชื่อเสียง เดินทางมาถึงเมืองออร์ฟาลีส แลได้ลงเรือมาเพื่อคุยสนทนากับคนในเมือง และอัลมิตรา ผู้เป็นทั้งลูกศิษย์และชาวเมืองได้เริ่มต้นถามคำถามถึงสิ่งเหล่านี้มากมาย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ
๑. ความรัก
ความรักมิให้สิ่งอื่นใดนอกจากตนเอง แต่ก็ไม่รับเอาสิ่งอื่นใด นอกจากตนเอง ความรักไม่ครอบครอง และก็ไม่ยอมถูกครอบครอง เพราะความรักนั้นพอเพียงแล้วสำหรับตอบความรัก
“ความรักคือสิ่งที่ไม่ต้องครอบครองหรือครอบงำคนๆนั้น แต่ความรักคือการให้ และเรียนรู้ที่จะรักคนอื่นให้เหมือนรักตนเอง”
แล้วอัลมิตราก็กล่าวสอบถามต่อ
๒. การแต่งงาน
จงรักกันและกัน แต่อย่าสร้างพันธะเเห่งความรัก และขอให้ความรักนั้นเสมือนหนึ่งในห้วงสมุทร อันเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างฝั่งแห่งวิญญาณของเธอทั้งสอง
“การแต่งงานไม่ใช่เป็นการสร้างพันธะต่อกัน แต่เป็นการรักอย่างไม่ครอบครองกันและกัน และก็อยู่บนพื้นฐานแห่งความซื่อสัตย์ทั้งสองฝ่าย”
และหญิงคนหนึ่งสอบถามว่า
๓. บุตร
เธออาจให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้ เพราะว่าเขาก็มีความคิดของตนเอง เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้ แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา
“เราเลี้ยงบุตรของเราได้แค่ตัว แต่หาจะเลี้ยงบุตรไปถึงใจไฉน เพราะใจของบุตรนั้นย่อมมีความคิดเป็นของตนเอง”
แล้วเศรษฐีคนหนึ่งก็พูดว่า
๔. การบริจาค
บางคนมีมาก แต่เขาบริจาคเพียงนิดเดียว และก็ให้เพื่อเอาชื่อ และความปรารถนาอันเร้นอยู่นี้ ย่อมทำให้การบริจาคของเขามีราคี
“การบริจาคเพื่อเอาหน้านั้นย่อมเป็นการบริจาคที่ไม่บริสุทธิ์”
แล้วชายชราคนหนึ่งเป็นเจ้าของโรงแรม กล่าวว่า
๕. การกิน ดื่ม
เมื่อเธอกัดกินผลไม้ จงกล่าวแก่มันในใจว่า “เมล็ดพันธุ์ของเจ้า จักดำรงอยู่ในกายเรา” และดอกตูมในวันพรุ่งนี้ของเจ้า ก็จักผลิบานในใจเรา
“การขอบคุณการกินและการดื่มอาหารทุกเมื่อ โดยรู้จักคุณของการกินเข้าไปว่า กินอะไรก็ย่อมได้รับผลจากการกินนั้น นั้นหมายความว่า ควรกินอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย”
แล้วชาวนาคนหนึ่งก็กล่าวว่า
๖. การงาน
การงานที่ทำด้วยความรักนี้ คืออย่างไรเล่า คือการทอผ้าด้วยเส้นด้ายที่ดึงจากดวงใจของเธอ ราวกับว่าผืนผ้านั้นจะเป็นเครื่องนุ่งห่มของคนรักของเธอ
“ทำงานด้วยใจรัก และขยันหมั่นเพียร ทำดีสม่ำเสมอ ทำทุกอย่างให้ตรงเวลา และมีเวลาที่จะมาดูการงานนั้นด้วยความละเอียด รอบคอบ ตลอดไป”
และหญิงสาวคนหนึ่งพูดขึ้นว่า
๗. ความปราโมทย์และความเศร้าโศก
เธอบางคนกล่าวว่า “ความปราโมทย์นั้นยิ่งใหญ่กว่าความเศร้าโศก” และอีกพวกแย้งว่า “ไม่ใช่ ความเศร้าโศกต่างหากยิ่งใหญ่กว่า” แต่เราขอ
บอกแก่เธอว่า มันมิอาจแยกกันได้ มันมาด้วยกัน และเมื่อขณะสิ่งหนึ่งนั่งอยู่กับเธอที่โต๊ะ พึงระลึกไว้ว่า สิ่งหนึ่งหลับรออยู่บนเตียง
“ความสุขและความทุกข์คือของอยู่ร่วมกัน ที่เมื่อขณะหนึ่งกำลังสุขอยู่นั้น ในอีกขณะหนึ่งความทุกข์ก็กำลังรอเปิดเผยอยู่เช่นกัน”
แล้วช่างปูนคนหนึ่งถามว่า
๘. บ้านเรือน
บ้านของเธอคือกายอันใหญ่ของเธอ มันเติบโตภายใต้แสงแดด และหลับใหลสงัดนิ่งแห่งราตรีกาล
“เปรียบบ้านเรือนเหมือนกายที่ต้องดูแลรักษาและเข้าใจความเป็นมาอย่างดี”
และช่างทอผ้ากล่าวว่า
๙. เครื่องนุ่งห่ม
พื้นพิภพนั้นยินดีได้สัมผัสเท้าเปล่าของเธอ และสายลมก็เฝ้าคอยเป่าเล่นเส้นผมของเธอด้วย
“การอยู่อย่างธรรมชาติกับธรรมชาติ”
และพ่อค้ากล่าวต่อว่า
๑๐. การซื้อ การขาย
ก่อนที่เธอจะกลับจากตลาด จงดูให้ดีด้วยว่าไม่มีใครกลับไปมือเปล่า
“การค้าข้ายต้องทำด้วยใจที่สุจริตธรรม และคนซื้อจะซื้อของกลับไปด้วยความสุจริตใจ”
และผู้พิพากษาถามว่า
๑๑. อาชญากรรม และทัณฑกรรม
แต่เรากล่าวว่า ผู้บริสุทธิ์และทรงคุณธรรมก็ไม่อาจก้าวขึ้นเหนือสิ่งสูงสุดอันดำรงอยู่ในเธอแต่ละตนได้ เช่นเดียวกัน ผู้เลวทรามและผู้อ่อนแอก็ไม่อาจตกต่ำกว่าระดับต่ำที่สุดดของเธอได้
“หากผู้กระทำความผิด ยอมรับผิด และตั้งใจปรับปรุงตัวจริงๆ ก็จงให้อภัยแก่เขา”
แล้วทนายความกล่าวว่า
๑๒. กฎหมาย
เธอพอใจในการวางบทบัญญัติลง แต่เธอก็ยังพอใจยิ่งกว่านั้นในการทำลายมันเสีย
“คนที่เป็นคนออกกฎหมาย ต้องเคารพในกฎหมายที่ออก และนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เป็นผู้ทำลายมันด้วยมือของตัวเอง”
และนักพูดคนหนึ่งกล่าวว่า
๑๓. อิสรภาพ
ความสัตย์จริง สิ่งที่เธอเรียกว่าอิสรภาพนี้ คือโซ่ตรวนแบบที่แข็งแรงที่สุด แม้ข้อต่อของมันจะต้องแสงแดดเป็นประกายจับตาของเธอ สิ่งที่เธอต้องสละทิ้งไป เพื่อจะบรรลุอิสรภาพนั้น มิใช่สิ่งอื่นใด แท้จริงก็คือชิ้นส่วนอาตมันของเธอนั้นเอง
“คนเรากำลังถูกอิสรภาพที่เรียกร้องเป็นโซ่ตรวน หากแม้นคนเราละทิ้งตัวตน (อาตมัน) ได้ อิสรภาพก็พบอยู่เบื้องหน้านั้นเอง”
และนักบวชสตรีพูดขึ้นว่า
๑๔. เหตุผลและอารมณ์
เธอย่อมไม่ยกฅนใดเหนืออีกฅนหนึ่ง ด้วยเจ้าของบ้านที่เอาใจใส่เฉพาะแขกคนหนึ่งมากไปนั้น ย่อมจะสูญความรักและความเชื่อถือจากทั้งสอง
“การที่เราเลี้ยงอารมณ์หรือเหตุผลไม่ว่าฝั่งใดฝั่งหนึ่งจนมากเกินไป ย่อมนำพาความทุกข์ใจเพราะสิ่งนั้น”
แล้วหญิงคนหนึ่งก็กล่าวว่า
๑๕. ความปวดร้าว
ความปวดร้าวของเธอนั้น เป็นส่วนใหญ่ที่เธอได้เลือกเอาเอง
“เมื่อเธอปวดร้าวนั้นย่อมหมายถึงตัวเธอเป็นผู้กระทำให้มันเกิดขึ้นเอง มิมิใครเป็นผู้ทำให้เกิดได้”
แล้วชายคนหนึ่งพูดว่า
๑๖. การบรรลุธรรม
อย่าได้กล่าวว่า “เราพบสัจธรรมแล้ว” พึงกล่าวแต่เพียงว่า “เราพบสัจจะข้อหนึ่งแล้ว”
“การบรรลุธรรมนั้นย่อมบรรลุด้วยตนเองและรู้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมากล่าว และการได้ซึ่งการบรรลุธรรมคือการบรรลุถึงการถ่อมตนในการรู้จริงและละจริง”
แล้วครูคนหนึ่งกล่าวว่า
๑๗. การสอน
เพราะว่า การเห็นของบุคคลหนึ่ง ไม่อาจให้ปีกแก่บุคคลอื่นขอยืมได้
“เราเพียงเป็นผู้ให้การศึกษา แต่ไม่ได้เป็นผู้ไปนั่งศึกษาในใจ เพราะคนผู้ศึกษานั้นควรรู้ด้วยตนเอง”
และชายหนุ่มถามว่า
๑๘. มิตรภาพ
จงให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่มิตรของเธอ เพื่อนที่เธอแสวงหา เฉพาะขณะเมื่อยามต้องการฆ่าเวลาเท่านั้น จะมีคุณค่าอะไร จงใฝ่หาเขา ขณะที่เธอปรารถนาจะดำรงอยู่แท้จริงด้วย
“เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก”
และนักศึกษาผู้หนึ่งกล่าวว่า
๑๙. การพูดคุย
ขอให้สำเนียงภายในเสียงของเธอ กล่าวต่อโสตภายในโสตของเขา
“การพูดคุยควรพูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือหากไม่เป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว ควรเงียบเสีย”
แล้วนักดาราศาสตร์สอบถามว่า
๒๐. เวลา
เธอปรารถนาจะวัดกาลเวลาอันไร้การวัดและวัดมิได้
“เวลาเป็นสิ่งที่สูญเสียไปเรื่อยๆ โดยใช้เหตุ หากเราใช้ชีวิตอย่างไม่มีจุดหมายและใช้ชีวิตอย่างปล่อยปละละเลย”
แล้วผู้เฒ่าคนหนึ่งถามว่า
๒๑. คุณธรรมและความชั่วร้าย
เธอมีคุณธรรม ในเมื่อเธอเป็นหนึ่งเดียวกับตนเอง แต่เเม้เธอมิได้เป็นหนึ่งเดียวกับตนเอง เธอก็มิได้ชั่วร้าย
“สามัญสำนึกผิดชอบชั่วดีต่างหาก ที่นำไปสู่ความจริงของทั้งสองสิ่ง”
แล้วนักบวชสตรีกล่าวว่า
๒๒. การสวดวิงวอน
หรือแม้เธอเข้าไปวอนขอคุณความดีจากผู้อื่น ก็จะไม่มีใครเอาใจใส่ฟังเธอ
“การขอพรคือการทำตัวเองให้บรรลุผลสำเร็จด้วยตนเอง”
แล้วนักพรตถามว่า
๒๓. ความบันเทิง
ความบันเทิงเป็นบทเพลงอิสรภาพ แต่มันไม่ใช่อิสรภาพ
“ความบันเทิงคือการขังเราไว้ให้ขาดอิสระ”
และกวีผู้หนึ่งกล่าวว่า
๒๔. ความงาม
ความงามคือนิรันดรภาพ ซึ่งเพ่งดูตนเองในกระจก แต่เธอก็เป็นทั้งนิรันดรภาพ และเป็นกระจกด้วย
“ความงามคือการงามจากใจ ไม่ใช่จากกาย โดยเราต้องส่องกระจกสะท้อนด้านงามของเราออกมาให้คนอื่นเห็น”
และนักพรตชราถามว่า
๒๕. ศาสนา
ศาสนามิใช่การกระทำหรือความคำนึง แต่เป็นความซาบซึ้ง สนเท่ห์ อันผุดขึ้นมา มิหยุดหย่อนในดวงวิญญาณ แม้ขณะเมื่อมือบดหิน หรือถือไม้กวาดอยู่ดอกหรือ
“ศาสนาเกิดจากศรัทธาที่บริสุทธิ์”
แล้วอัลมิตรากล่าวปิดท้ายว่า
๒๖. ความตาย
ถ้าเธอต้องการเห็นวิญญาณแห่งความตายจริงๆแล้ว ขอจงเปิดดวงใจของเธอต่อกายแห่งชีวิตเถิด
“ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว และความตายก่อนตายนั้นล่ะที่สำคัญ”
แล้ว ณ บัดนี้ อัลมิตราจึงกล่าวว่า “ขอความสวัสดิภาพจงมีแด่วันนี้” และอัลมุสตาฟา จึงขอตัวดำเนินออกไปทางเรือที่มารับเขาแล้ว
“ธรรมคือสิ่งสำคัญ”
ยกตัวอย่างในหนังสือบางตอน
ยึดอะไรก็ทุกข์อย่างนั้น บางคนยึดเรื่องอิสรภาพก็ทุกข์เรื่องอิสรภาพ เพราะอยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่แล้ว เมื่อไม่เป็นดั่งหวัง ความทุกข์ก็บังเกิด
ปรัชญาชีวิตในครั้งนี้
ปรัชญาดีต่อใจในชีวิต
ปรัญชาเต็มไปด้วยความคิด
ปรับตัวเพื่อไม่ริดรอนเสรี
และศึกษาเรียนรู้ที่จะมี
เรียนรู้ดีว่าดีต่อจริงไฉนนี้
ดีคือสุขและทุกข์เสมือนมี
เหรียญสองด้านนี้คือกายใจ
สรุป
เราตัดสินใจทำสรุปหนังสือทั้งเล่มมาให้เพื่อนๆเลยค่ะ เพราะว่า เผื่อเพื่อนๆคนไหนไม่อยากอ่าน หรืออ่านไม่เข้าใจ หรือว่า เพื่อนๆบางคนไม่มีหนังสือเล่มนี้ ดังนั้น เราขอโทษเพื่อนๆด้วยที่รีวิวงวดนี้ยาวกว่ารีวิวอันอื่นที่ผ่านมาค่ะ เพราะเนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่หายากมากแล้ว และข้อมูลเยอะมากค่ะ
LOOK A BREATHE
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in