เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Look a Breathe (Series 1 - 2)nimon
#496 นิทานทองอิน
  • เปรียบราศีตุลย์ - คันชั่ง

         แนวทางการสืบสวน สอบสวนของนายทองอินนั้น เป็นแนวทางที่เปรียบดั่งคันชั่งและศาลตุลาการ ที่นำพาความยุติธรรมมาให้กับผู้คนที่มาขอความช่วยเหลือ ถึงแม้ว่า มีบางเรื่องก็ทำไม่สำเร็จ แต่ความสำเร็จก็มีมากกว่า เปรียบเหมือนความจริงของคนเราที่ยืนอยู่บนคันชั่งที่มีทั้งกลาง (พบกับทางออกที่ถูกและยุติธรรม) ทางขวาที (สุดโต่งในการจับผู้กระทำผิด) และทางซ้ายที (สุดโต่งในการจับผู้กระทำผิดไม่ได้) ดังนั้น ทางที่นายทองอินเลือกคือทางสายกลางที่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านทรงสื่อผ่านตัวละครตัวนี้ออกมาได้ดีทีเดียว

         เราขอบอกก่อนว่า เราเพิ่งเคยอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก จากแอพพลิเคชั่นห้องสมุดวชิรญาณ และพอเราอ่าน เราพบว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านทรงแต่งออกมาได้สนุกกว่า เคโงะ รัมโป โฮมส์ และ คริสตี้อีก เพราะเรื่องราวของท่านเน้นสมจริง เกิดขึ้นจริงได้ในโลกนี้ และแนวทางการสืบสวนก็ดูสมเหตุสมผล ถึงแต่ละตอนจะเป็นตอนสั้นๆ แต่ก็ทำให้อ่านไม่รู้จักเบื่อเลยทีเดียว และลุ้นระทึกและตื่นเต้นตลอดว่า แต่ละตอนจะจบลงยังไง และจะใช้วิธีไหนในการค้นหาหลักฐานจนพบกับความจริง

         เรื่องราวนี้เเบ่งออกเป็น ๒ ชุดหลัก และมีเรื่องราวย่อยๆอีกมากมาย ที่แสดงให้เห็นถึงไหวพริบของนายทองอิน กับเพื่อนคู่หูของนายทองอิน อย่างนายวัด ซึ่งยิ่งอ่านก็ยิ่งแอบคิดว่า ถ้ามีคนนำมาทำเป็นละคร คงสนุกน่าดู เพราะแต่ละคดี ก็มีการชิงไหวชิงพริบกับตัวผู้กระทำผิด และนายทองอินกับพวกจะทำยังไง แถมยังมีเรื่องราวของการปลอมตัวเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย ยิ่งทำให้สนุกมากขึ้นเข้าไปใหญ่ และแต่ละคดีถูกปิดลงอย่างสวยงาม แต่บางคดีก็ปิดลงไม่ได้ เพราะนายทองอินไม่มีหลักฐานพอที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดเข้าไปรับใช้กับผลแห่งกรรมที่ตนกระทำไว้ แต่อย่างว่า ทุกคนที่อยู่ในโลกนี้ก็ย่อมมีสิ่งที่สมหวังและผิดหวังบ้างเป็นธรรมดา สิ่งเหล่านี้ถึงเรียกว่า “ชีวิตที่แท้จริง” เพราะคนเราทุกคนล้วนเกิดมา ย่อมไม่ได้พบแต่ความสมหวังตลอดไป ดังนั้น การที่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านทรงแต่งเป็นเรื่องเช่นนี้เพื่อเตือนใจนักอ่านทุกท่านด้วย และยังมีเรื่องราวข้อคิดและเตือนใจต่างๆดังนี้

    ๑. การทำสิ่งใดย่อมต้องตรึกตรองให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะพูดและทำเสมอ อย่างเช่น นายทองอินทร์กล่าวกับนายเจริญว่า เวลาที่ตำรวจสอบถามอะไร โปรดให้นายเจริญพูดแต่ความจริง และตรึกตรองก่อนพูดทุกครั้ง เพราะหากแม้นพูดเร็วจนเกินไป ก็จะนำภัยมาสู่ตนในที่สุด เป็นต้น

    ๒. การทำสิ่งใดควรใคร่ครวญว่า สิ่งที่กำลังกระทำอยู่นั้นแล้วนำประโยชน์หรือโทษมาให้ หากแม้นนำประโยชน์มาให้ ก็ควรใคร่ครวญต่อว่า ประโยชน์นั้นเป็นเพียงประโยชน์ที่เราได้รับเพียงฝ่ายเดียว หรือเป็นประโยชน์ที่ทั้งเราและผู้อื่นได้รับ เมื่อเห็นแก่ความสมควรจากความใคร่ครวญนั้นแล้ว ถึงพึงกระทำด้วยความรอบคอบอีกนัยต่อไป หรือไม่ควรพึงกระทำก็เช่นเดียวกัน

    ๓. ความรอบคอบ สิ่งใดที่เรากำลังกระทำอยู่นั้น ทุกคนควรมีความรอบคอบจากการกระทำนั้น ดุจดั่งเช่น นายทองอินรู้ว่าใครเป็นคนร้าย แต่ก็ยังไม่ด่วนสรุป จนกว่าจะหาหลักฐานมามัดตัว สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการใคร่ครวญและรอบคอบของนายทองอินทั้งสิ้น เป็นต้น

         เพราะฉะนั้น เราขอยกตัวอย่างจากเรื่องราวย่อยของแต่ละชุดมาอย่างละคดี โดยชุดแรกคือ นายสุวรรณถูกขโมย และ ชุดสองคือ นายจรูญมหาเศรษฐี ดังนี้

    ยกตัวอย่างเรื่อง นายสุวรรณถูกขโมย 

         “เมื่อนายสุวรรณตื่นเช้าขึ้นมาก็พบว่า ของถูกขโมย และเมื่อตำรวจมาตรวจในที่เกิดเหตุก็พบว่า คนสนิทนั้นล่ะที่เป็นคนขโมย แต่เรื่องก็ควรจะจบ เพราะหลักฐานหลายอย่างชี้ไปทางนั้น แต่กลายเป็นว่า เรื่องวุ่นไม่จบ เพราะคนสนิทปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา นายทองอินและนายวัดจึงต้องลงมือสืบสวนว่า ใครคือผู้กระทำผิดตัวจริง และนายทองอินก็มาแปลกใจเมื่อคนสนิทบอกว่าได้เจอนายสุวรรณในบ่อน และเขามานั่งข้างๆเพียงชั่วขณะ ดังนั้น นายทองอินทร์และนายวัดก็หาหลักฐานจนพบว่า นายสุวรรณขโมยของๆตัวเอง และเรียกให้บ่าวนำไปขาย ก่อนจะหาทางใส่ความคนสนิท”


    (เพื่อนๆคงงงว่า ทำไปทำไมล่ะ ขอบอกว่า มีเงิบเล็กน้อย และเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับอารมณ์ชั่วขณะและความไม่พอใจในบางอย่าง ซึ่งพอเราอ่านไป เราพบว่า เป็นไปได้เช่นเดียวกันที่มนุษย์คนหนึ่งจะถูกใส่ความเพราะอารมณ์ชั่วขณะของอีกคนเท่านั้นเอง และไม่เพียงเท่านั้น ยังย่อมหมายถึง มนุษย์คนนั้นเปรียบเทียบว่า มนุษย์อีกคนดีกว่า ดุจดั่งทิฏฐิมานะ ที่บางคนเทียบว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น แย่กว่าคนอื่น หรือเท่ากับคนอื่น เพราะทั้งสามสิ่งนี้เองที่ทำให้มนุษย์ข้องแวะอยู่กับสิ่งที่กระทำผิดได้เสมอ)

    ยกตัวอย่างเรื่อง นายจรูญมหาเศรษฐี 

         “พ่อแม่ของนายเจริญและนายจรูญนั้นได้แบ่งมรดกเท่ากัน แต่นายเจริญใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนหมด และไม่รู้จะไปพึ่งพาใคร จึงไปพึ่งพาพี่ชาย ซึ่งก็คือนายจรูญ และนายจรูญบอกว่า ให้นายเจริญกู้เงินไปลงทุน แต่บังเอิญ คนที่นายจรูญเชื่อว่า เป็นคนดี กลับกลายเป็นคนเลวซะงั้น และนายจรูญรู้สึกผิด จึงตั้งใจจะมอบสมบัติบางส่วนให้นายเจริญ และอยู่ๆดีวันหนึ่ง นายจรูญแต่งงาน และไม่นานก็ถึงก่ความตาย พร้อมกับมอบสมบัติทั้งหมดให้กับเมียและพ่อตาแทนน้องชายอย่างเจริญ เจริญจึงมาขอความช่วยเหลือจากนายทองอิน แต่ในขณะที่คุยกันจนเสร็จ นายเจริญก็ถูกจับกุม ฐานข้อหาฆ่าพี่ชาย เพราะว่า ก่อนตาย นายเจริญมีนำยาสมุนไพรมาให้พี่ชายทาน แต่แล้วเมื่อนายทองอินพร้อมกับนายวัดร่วมกันสืบค้นจนพบหลักฐานบางอย่างที่เชื่อมกันว่า นายพูน พ่อตาของนายจรูญเป็นคนวางแผนฆ่าเพื่อหวังสมบัติ และยังได้ฆ่าสามีเก่าของลูกสาวอีกด้วย โดยแอบเปลี่ยนยาที่นายเจริญให้เป็นยาพิษ และสุดท้าย นายพูนก็ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต และนายเจริญก็รอดออกมา พร้อมกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี นำสมบัติที่ได้ไปทำจนงอกเงยออกมาในที่สุด”


    (เรื่องนี้ท่านจะมีการพูดถึงเรื่องหลักสำคัญอยู่สามอย่าง อย่างแรก คือ กิเลสที่เกิดจากความโลภของนายพูนที่นำไปสู่ความอยากได้ของเขาและฆ่าเขาในที่สุด อย่างสอง คือ การกระทำผิดแล้วครั้งหนึ่ง แถมยังไม่มีคนจับได้ จึงกล้าที่จะกระทำผิดซ้ำสอง เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าคิดที่จะกระทำชั่วเลยจะดีกว่า และอย่างสาม คือ การแก้ไขความผิดพลาด โดยนายเจริญรู้ตัวว่า ตัวเองได้กระทำผิดไปแล้ว ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดังนั้น ตัวเขาตัดสินใจแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป และทำให้ตนเองนำสู่ความเจริญในที่สุด ก็เหมือนกับว่า เมื่อใครก็ตามที่รู้ว่าตัวเองทำผิดแล้ว และเลือกที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดนั้น โดยไม่ปล่อยให้ข้อผิดพลาดกลายเป็นดินพอกหางหมู จนไม่ได้รับการเเก้ไข คนเหล่านั้นย่อมนำพาตัวเองสู่ความเจริญ)

         หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านฟรีค่ะ และเป็นหนังสือที่อ่านหลายรอบ เพราะแต่ละรอบก็ได้แง่คิดที่แตกต่างกันไป และเรื่องราวก็ยังคงความตื่นเต้นและลุ้นระทึกทุกครั้ง เราขอบอกจากใจเลยว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านทรงพระปรีชาญาณสามารถมาก และไม่มีใครเทียบความสามารถของท่านในเเง่มุมนี้ได้เลย เพราะเรื่องราวที่สมจริง ตีแผ่สังคมอย่างแท้จริง ทำให้เราเห็นถึงสังคมทั้งสองด้านที่เหมือนด้านมืดและด้านสว่าง โดยเปรียบดั่งเหรียญทั้งสองด้าน

         ความจริงแล้วมีหนึ่งไม่มีสอง

    ตามครรลองค้นหาตามวิถี

    ว่าสิ่งใดคือหลักฐานที่มัดดี

    ผู้กระทำผิดหนีไม่พ้นความจริง

    เมื่อความจริงนั้นรู้ตื้นลึกหนาบาง

    ดั่งเป็นลางบอกสำคัญทั้งสองสิ่ง

    คือสิ่งถูกและสิ่งผิดย่อมรู้จริง

    ควรรู้นิ่งรู้หยุดกระทำผิดเอย


    LOOK A BREATHE

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in