เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CAMBODIAN CULTURE JOURNALlinwawrites
สัปดาห์ที่ 3 - สอดส่องแหล่งชาวกัมพูชาอพยพต้นรัตนโกสินทร์ในกรุงเทพฯ
  • ถ้าจะกล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความหลากหลายในแทบทุกด้าน ก็คงจะไม่ผิดนัก

    ตั้งแต่อาหารที่มีตั้งแต่ร้านระดับหกดาว จนสตรีทฟู้ดที่ขึ้นชื่อว่าอร่อยมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
    ความเชื่อที่หลากหลาย ทั้งพุทธมหายาน เถรวาท คริสตัง คริสเตียน อิสลาม ซิกข์ และอีกมากมาย
    รวมถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติ ที่ส่วนหนึ่งมาจากการมีแรงงานในระบบอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง

    แต่ความหลากหลายทางเชื้อชาตินี้ ไม่ได้มาจากแค่การขยายตัวของเมืองเท่านั้น แต่เกิดมาตั้งแต่เริ่มสร้างกรุงเทพมหานครเลยทีเดียว

    เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ มีแรงงานและเชลยศึกหลากหลายชาติที่ถูกเกณฑ์มา "สร้างบ้านแปงเมือง" จนเกิดเป็นกรุงเทพมหานครแห่งนี้ ทั้งชาวลาวที่สร้างกำแพงเมือง และชาวเขมร ที่เป็นแรงงานสำคัญในการสร้างเมืองขึ้น

    ตามพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ชาวเขมรเป็นแรงงานขุดคลอง "คูพระนคร" (ปัจจุบันคือ คลองรอบกรุง) คลองหลอด 2 แห่ง คือคลองหลอดวัดราชนัดดา และคลองหลอดวัดราชบพิธ รวมถึงคลองมหานาค บริเวณข้างวัดสระเกศ คลองทั้งสามเป็นเสมือน "เส้นเลือดฝอย" สำคัญของกรุงเทพฯ ในการสัญจรของชาวพระนคร และมีชื่อ "ตรอกเขมร" ในบริเวณใกล้คลองหลอดวัดราชนัดดา แม้ไม่พบหลักฐานและบ้านเรือนของชาวเขมร ณ บริเวณนี้แล้ว 
    นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานการพระราชทานที่ดินให้ชาวเขมรและเจ้านายที่ลี้ภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าวเบื้องต้นที่ "ตำบลคอกควาย" ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตสาทร ทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นวังของเจ้านายเขมรที่ลี้ภัยจากการจลาจลในกัมพูชา เรียกกันว่า "วังเจ้าเขมร" ที่ในเวลาต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังเจ้าเขมรใหม่ที่บริเวณริมคลองหลอดนั้นเอง สอดคล้องกับที่เวลาต่อมา พระมหากษัตริย์กัมพูชาจะทรงส่งพระราชโอรสมาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพมหานคร อันเป็นผลเนื่องมาจากเจ้านายที่ลี้ภัยมาสามารถรวบรวมกำลังพลและกลับไปกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จ 

    อีกย่านที่อาศัยของชาวกัมพูชาอพยพในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่สำคัญ คือ แถบถนนสามเสนในปัจจุบัน โดยชาวเขมรเหล่านี้อพยพตามบาทหลวงลังเยอนัวส์ มิชชันนารีที่เผยแผ่ศาสนาในกัมพูชาที่มายังอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในปีพ.ศ. 2328 และได้ตั้งวัดในคริสต์ศาสนา ซึ่งเรียกกันว่า "วัดเขมร" หรือที่เรารู้จักในนาม "วัดคอนเซ็ปชัญ" ชุมชนชาวเขมรที่นี่มีอาณาเขตไปจนถึงวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) และเวลาต่อมาได้ขยายพื้นที่ไปจนถึงวัดราชผาติการาม และวัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) ด้วย

    จากหลักฐานเหล่านี้เอง จะเห็นได้ว่า ชาวกัมพูชาที่อพยพมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นหนึ่งในชาติพันธุ์สำคัญที่เป็นประชากรชาวกรุง และเป็นแรงที่ใช้สองมือ "สร้าง" ให้เมืองเทพสร้างแห่งนี้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ หากชาวกรุงเทพตระหนักถึง "ราก" วัฒนธรรมแห่งความหลากหลาย ก็จะเข้าใจที่มาของเมืองหลวงแห่งนี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

    เพราะไม่เพียงแต่ตึกสูงตระหง่าน ย่านการค้าที่ล้ำสมัยเท่านั้นที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเมือง แต่ชีวิตที่หลากหลายของผู้คน ไม่ว่าจะต่างเชื้อชาติ ต่างฐานะ ต่างวัฒนธรรม ก็เป็น "ชีวิต" ที่ทำให้เมืองเป็นเมืองได้
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in