เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CAMBODIAN CULTURE JOURNALlinwawrites
สัปดาห์ที่ 2: ทำไมนายกกัมพูชาต้องเป็นสมเด็จด้วยนะ
  • "สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา"

    ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับประเทศกัมพูชา ก็นึกสงสัยขึ้นมาทุกครั้ง
    ว่าบรรดาศักดิ์ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นสมเด็จหรือ
    หรือว่าฮุน เซน มีเชื้อสายเจ้า
    เพราะการเรียกนายกรัฐมนตรีว่าสมเด็จ เป็นสิ่งไม่คุ้นเคยของคนไทย
    รวมถึงคนไทยก็เรียก "พระเจ้าแผ่นดิน" ของกัมพูชาว่าเจ้าเฉย ๆ ก็มี
    เช่น เราเรียกพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุว่า "เจ้าสีหนุ"

    และในเมื่อโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า "อินเทอร์เน็ต" ก็ไม่พ้นที่จะต้องใช้สิ่งนี้
    เพื่อคลายข้อสงสัยที่อยู่ในใจมานาน

    ก่อนอื่น คำว่า "สมเด็จ" ในภาษาเขมร เป็นบรรดาศักดิ์ของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง
    เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานสภา เป็นอาทิ
    และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีบรรดาศักดิ์เป็น "สมเด็จ" ทุกคนนะ

    คำว่า "สมเด็จ" นั้น หมายความถึง "One who is supreme in status and power: king, sovereign, monarch."* ซึ่งแผลงมาจากคำว่า ស្តេច ที่เป็นคำแทนพระนามพระเจ้าแผ่นดิน
    ซึ่งอาจเห็นในเอกสารประวัติศาสตร์กัมพูชาต่าง ๆ ซึ่งไทยยืมมาใช้เป็นคำเรียกเจ้านายว่า "เสด็จ"​
    ภาษาเขมรปัจจุบันไม่เพียงแต่ใช้คำว่าสมเด็จกับผู้มีตำแหน่งทางการเมืองในประเทศ โดยยังใช้คำนี้เรียกผู้นำประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

    ในปัจจุบัน ผู้มีบรรดาศักดิ์ "สมเด็จ" ในกัมพูชามีทั้งสิ้น 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ประธานรัฐสภา เฮง สัมริน และประธานวุฒิสภา เจีย ซีม  โดยทั้้งสามได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ หากเป็นแฟนข่าวต่างประเทศ จะพบว่า ทั้งสามมีบทบาททางการเมืองมาอย่างยาวนามาตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐจนปัจจุบัน พูดง่าย ๆ ว่า ตั้งแต่เกิดมา 21 ก็ได้ยินชื่อนายกรัฐมนตรีว่าฮุนเซนมาตั้งแต่จำความได้แล้ว

    นอกจากสมเด็จทั้งสามคนในปัจจุบันแล้ว ยังมีนายกรัฐมนตรีในอดีตอีกคนหนึ่งที่ใช้บรรดาศักดิ์ว่า "สมเด็จ" คือ แปน นุต นายกรัฐมนตรีหลายสมัย สังกัดพรรคสังคมราษฎร์นิยมของสมเด็จฯ สีหนุ

    ส่วนที่เราเคยเรียกพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาว่า "เจ้า" เฉย ๆ นั้น อาจสืบเนื่องมาแต่ความผันผวนทางการเมืองในกัมพูชา อย่างที่เราทราบกันว่า กัมพูชาเคยปกครองในระบอบสาธารณรัฐมาก่อน สมเด็จฯ สีหนุ ก็ยังคงมีบทบาททางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลายสมัย  ประธานแห่งรัฐ ประธานาธิบดี หัวหน้าพรรคการเมือง จน Guinness World Record บันทึกสถิติว่าพระองค์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลากหลายตำแหน่งที่สุดในโลก

    เมื่อกล่าวถึงการเมืองกัมพูชาแล้ว ก็ไม่อาจมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างไทย - กัมพูชา ซึ่งในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศได้ลงนามความร่วมมือทวิภาคี ไทย - กัมพูชา ซึ่งครอบคลุมทุก ๆ ด้าน แต่ในระหว่างเส้นทางความสัมพันธ์สองประเทศ ก็มีรอยร้าวจนกัมพูชาเคยประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตมาแล้วถึงสองครั้ง เมื่อ 2501 และ 2504 จากกรณีเขาพระวิหาร ซึ่งหากนึกถึงเหตุการณ์ที่ใกล้เข้ามาอีก ก็จะนึกถึงเมื่อศาลโลกตัดสินกรณีเขาพระวิหารว่าให้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา ส่วนทางเข้าเป็นของไทย เมื่อราวสิบปีที่ผ่านมา ทั้งยังติดต่อค้าขายชายแดนสร้างเงินสะพัดประมาณ 93,000 ล้านบาท (ข้อมูลเมื่อ 2554) ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าไทยและกัมพูชามีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากการรับวัฒนธรรมซึ่งกันและกันที่ดำเนินมาแต่โบราณอีกด้วย

    รวมถึงสภาพการเมืองการปกครอง ที่ปัจจุบันทั้งสองประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกัน ระบบการเมืองที่มีพรรคเด่นเพียงไม่กี่พรรค การทำความเข้าใจประเด็นทางการเมืองทั้งไทยและกัมพูชาจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำความเข้าใจวัฒนธรรมทั้งสองประเทศ และมองภาพกว้างในระดับความสัมพันธ์กับประเทศในอาเซียนได้อีกด้วย

    *อ้างอิงความหมายจาก SEA lang Khmer lexicography

    แหล่งอ้างอิง
    การต่างประเทศ, กระทรวง. (2555). ราชอาณาจักรกัมพูชา (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc1d15e39c306000a030?cate=5d5bcb4e15e39c3060006870





Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in