เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CAMBODIAN CULTURE JOURNALlinwawrites
สัปดาห์ที่ 4: "การเมืองเรื่อง soft power" - ส่องโปสเตอร์กัมพูชายุคสงครามเย็น
  • ถ้าในประเทศไทยมีเพลงปลุกใจ โปสเตอร์และรายการวิทยุเป็นอำนาจละมุน (soft power) ช่วยให้ไทย "พ้นภัยคอมมิวนิสต์"

    แล้วกัมพูชาที่มีสถานการณ์ผันผวนทางการเมืองอย่างมากยุคสงครามเย็นล่ะ มี soft power อะไรจูงใจประชาชนบ้าง? 

    ในยุคสงครามเย็น เป้าหมายสำคัญแห่งหนึ่งที่ค่ายโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์แข่งอิทธิพลกันอย่างสูงคือ "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" นั่นเอง 
    ในพื้นที่แห่งนี้มีสงครามตัวแทน 1 ครั้ง คือสงครามเวียดนาม  ที่ท้ายที่สุด ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดย
    โฮจิมินห์มีชัยชนะเหนือสหรัฐอเมริกา และสำหรับค่ายโลกเสรี นี่เป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายที่สุดครั้งหนึ่ง

    และ "ทฤษฎีโดมิโน" อันเป็นทฤษฎีสำคัญในการปราบปรามคอมมิวนิสต์เชื่อว่า หากประเทศหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ประเทศอื่นรอบข้างก็จะเป็นคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย

    ดังนั้น กลยุทธ์ที่สำคัญในการยับยั้ง หรือเผยแพร่ความคิดความเชื่อของตน คือ การใช้โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงโปสเตอร์ ซึ่งเป็นรูปแบบการโฆษณาชวนเชื่อหลัก ๆ ของทั้งสองค่ายในยุคสงครามเย็นเลยทีเดียว เราจึงอยากพาไป "ส่อง" โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อในกัมพูชากันว่า ต้องการนำเสนอแนวคิดอะไร

    (ภาพจาก https://historyinposters.tumblr.com/post/63750572131/cambodian-propaganda-poster-from-1960s-showing)

    โปสเตอร์แรก มาจากแนวคิดฝั่งประชาธิปไตย โดยยกเอาเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้า "ชนะมาร" ที่หมายจะขัดขวางพระองค์มิให้ตรัสรู้ ด้วยอำนาจแห่งพระแม่ธรณีที่บีบมวยผมซึ่งรับเอาน้ำที่พระโพธิสัตว์ทรงหลั่งเพื่อตั้งสัตยาธิษฐานไว้ หากพิจารณาบริบทแล้ว จะเห็นว่า ลักษณะสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์คือการสละความเชื่อและศาสนาทั้งหมดไป แล้วนับถือ "ผู้นำ" ในระบอบของตนแทน การใช้สัญลักษณ์เหตุการณ์ก่อนการตรัสรู้เช่นนี้อาจแสดงให้เห็นว่า การยึดถือใน "หลักธรรม" และศาสนาจะสามารถเอาชนะการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ในที่สุด

    (ภาพจาก https://nara.getarchive.net/media/born-from-the-nation-you-must-die-for-the-nation-055017 )

    หากสังเกตข้อความสีแดงด้านล่าง สามารถแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า
     "เกิดเพื่อชาติ ตัวตายเพื่อชาติ"
    และรูปภาพของทหารและพยาบาลที่อยู่ใต้ธงชาติกัมพูชา อาจเป็นสัญลักษณ์สำคัญของหน้าที่ของชายหญิงที่มีต่อ "ชาติ" ของตน คือการปกป้องประเทศให้ดำรง "เอกราช" เหนือลัทธิทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งบทบาททางเพศ (gender role) ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งหน้าที่ในสังคมอย่างชัดเจน ผู้ชานคือแนวหน้า ปกป้องประเทศจากข้าศึกศัตรู ส่วนผู้หญิงคือแนวหลัง คอย "ดูแลรักษา" แนวหน้าและครอบครัว (ในฐานะ "คนข้างหลัง") ให้อยู่รอดปลอดภัย เพื่อชาติของตน

    ภาพโปสเตอร์ ในฐานะ soft power เหล่านี้ถือเป็นตัวอย่างสำคัญในการ "ต่อต้าน" ลัทธิคอมมิวนิสต์ ด้วยการกระตุ้นเตือนถึงหน้าที่ และเหตุการณ์ทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่อยู่คู่สังคมกัมพูชามานับพันปีก่อนที่ความพยายามเหล่านี้จะสิ้นสุดลงเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชามีชัยชนะเหนือรัฐบาลสาธารณรัฐกัมพูชาของลอน นอลในปี 2518 และเข้าสู่รัฐบาลคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ และเป็นร่องรอยการต่อสู้ของแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ก่อนที่ทฤษฎีโดมิโนจะเกิดขึ้นจริงในกัมพูชาในที่สุด
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in