เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
COVID YEAR Memory (2020)missporiuz
2020 เรียนรู้อะไรบ้าง?
  • เข้าสู่โหมดทบทวนตัวเองก่อนสิ้นปี ตอนนี้ก็เขียนเท่าที่เราคิดออก เพราะเอาจริงๆ มันเยอะเหลือเกิน เยอะจนบางทีก็อาจจะตกหล่นไปบ้าง แต่บอกเลย ว่านี่คือสาระสำคัญมากๆ เลยล่ะ


    1. การมีสติ

    เราว่ามันคือรากฐานของทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำงานแบบไหน หรือเป็นคนไทป์ไหนเลยนะ เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้ ก็เลยรู้สึกว่า หลายๆ อย่างมันแทบควบคุมไม่ได้เลย


    2. ความเป็นมนุษย์

    เป็นพื้นฐานเรื่องเดียวที่แบบ ทำความเข้าใจไปเถอะ ตอนแรกเราว่ามันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น แต่ว่า พอเราเข้าใจเรื่องพวกนี้แล้ว มันเลยมีข้อต่อๆ ไป


    3. ความสัมพันธ์กับคนอื่น

    ในเมื่อเราเองก็มีเรื่องที่เราให้คุณค่า มีวิธีให้คุณค่ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในแบบของเรา คนอื่นก็มีในแบบของเขา เราไม่เคยเข้าใจว่า การให้ค่าคนอื่นก่อนจะช่วยเราขนาดนั้นเหรอ? ก็เลยลองเปิดใจไปเจอเพื่อนเก่าๆ ที่ไม่ได้คุยกันนาน ผลคือมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ แหละ
    แต่บางทีเราก็รู้สึกเหนื่อยนะ ถ้าจะต้องไหลไปตามความต้องการของคนนั้นที คนนี้ที แล้วตัวตนเราอยู่ตรงไหนดีล่ะ


    4. ทำไปก่อนเถอะ อย่าเพิ่งคิดเล็กคิดน้อย แล้วเราจะได้ผลลัพธ์แบบไม่คาดหวังเอง

    เราได้ไปเรียนคลาสการแสดงวันนึงที่ Clazy Cafe เพราะคิดว่า อยากเอาไปใช้กับยูธูปบ้าง เพราะมันเป็นเชิง Storytelling ด้วย แต่ที่น่าประหลาดใจกว่านั้นก็คือ แนวคิดที่ได้จากคลาสนี้มันล้ำค่ามากๆ เขาเปรียบเทียบสิ่งที่เรียกว่า การกระทำ+น้ำเสียง / อารมณ์ / ความคิด ให้เห็นๆ เลยว่า ระหว่างที่แสดง และไม่แสดง และใช้แต่ละอย่าง ใช้ครบ ใช้ไม่ครบ มันจะเป็นยังไง

    แล้วเขาก็ตบท้ายว่า บางทีชีวิตก็ไม่ได้ต้องการเหตุผลหรืออารมณ์มานำเสมอไป ลอง "ทำ" ดูก่อนไหม ทำเพื่อทำน่ะ แล้วเดี๋ยวอารมณ์กับเหตุผลอาจมาเอง

    เลยได้มาลองปรับใช้กับชีวิต เช่น เรื่องงานที่ทำทุกวันนี้เป็นต้น

    เราลองทำงาน(ประจำ) ที่ทำอยู่แบบเต็มที่ เท่าที่สมองและสองมือของเราจะคิดออก เรียนอะไรมาก็เอามาใช้ให้หมด ผลคือ เราพอใจกับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ ที่ดูเหมือนจะดีขึ้นจากตอนต้นปีมากๆ และคนที่เขาจ้างเรา ก็เริ่มมีเงินเดือนจ่ายเราทุกเดือนแล้ว เราสามารถรอดจากช่วงโควิดได้ว่ะเฮ้ย เขารอดเราก็รอดไง

    ลองมาคิดดูอีกที อยู่กับบ้านเฉยๆ แต่มีคนมาจ้างเราเรียนการตลาดออนไลน์เชียวนะ คนอื่นต้องจ่ายค่าคอร์สไปเรียน แต่เราคือลงมือทำจากประสบการณ์จริงไปเลย แม้จะไม่ได้คุยกับคนอื่นที่เขาถนัดมากมายเบอร์นั้นทุกวันก็ตาม แต่เราก็ทำได้ว่ะ

    เราโชคดี ที่มีแค่เกณฑ์ความอยู่รอดมาเป็นความท้าทาย เขาไม่ได้บังคับอะไรเรามากมาย งานคือจ่ายตัวเอง จะว่าเป็นความโชคดีและโชคร้ายในตัวก็ได้ แต่เราว่านี่โชคดีมาก เพราะว่าด้วยความที่เขาไม่จู้จี้จุกจิก เราเลยได้ลองทำอะไรที่มันไม่กดดันนี่แหละ

    5. การสลับบทบาทให้เหมาะสมกับหน้างาน

    เราจำเป็นต้องมีความเห็นอกเห็นใจตลอดไปไหม? หรือเราควรเป็นตัวของตัวเองไปเลยดีนะ? หรือเราควรเป็นคนที่เห็นเรื่องงานเป็นหลัก? มันเป็นการตั้งคำถามให้กับตัวเองสักช่วงของปี แต่ประสบการณ์ชีวิตที่เราเจอจริงๆ

    ตอนเจอเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน เวลาพวกเพื่อนๆ บ่นเรื่องงาน ความเห็นอกเห็นใจแงะออกมาใช้คือดีนะ เราจะยิ่งเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

    แต่ความเห็นอกเห็นใจ เอามาใช้ตอนทำงานกับคนที่เน้นผลสำเร็จของงานจนไม่ได้คำนึงถึงจิตใจเลยไม่ได้เช่นกัน เป็นแบบนั้นเราจะถูกตีมาจนเจ็บเปล่าๆ

    จริงอยู่ การสลับบทบาทเป็นเรื่องที่ดีเพื่อเอาตัวรอด แต่ถ้าเราสลับไปเรื่อยๆ ล่ะ ตัวตนของเราอยู่ตรงไหน อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย นักแสดงเจ้าบทบาท เวลาผู้กำกับสั่งคัท เขาก็ยังกลับมาเป็นตัวเองได้ แสดงว่าตัวตนจริงๆ ก็ต้องชัดเจนพอให้เรากลับไป มันคือจุดยืนของเรานี่แหละ

    6. ตามหาตัวตนที่หายไป จุดยืนของเรา

    มันเหนื่อยนะ กับการทำหน้าที่ต่างๆ ในชีวิต แต่ไม่เคยถามหาเลยว่าตัวตนหรือจุดยืน ที่มันเป็นเหมือน Safe Zone หรือบ้านที่เราอยู่แล้วสบายใจเป็นแบบไหนกันแน่ ?

    เราจะต้องวิ่งตามคนอื่นอีกนานไหม?

    ใครตามเฟสเรา จะเห็นว่าช่วงนี้เราศึกษาเรื่องนพลักษณ์กับ MBTI เป็นกรณีพิเศษมาก เอาง่ายๆ ว่า ศึกษาจนลามมาขยายความชัดเจนให้ออริตอนเล่นโรลเพลย์ที่เป็นคอมมูในเฟสเลยทีเดียว

    เราโตมากับการแข่งขันในด้านการเรียนแต่เกิด เรียนจบก็ต้องทำงาน ก็แข่งกันในที่ทำงาน ก็แข่งขันกับเวลา เพื่อหาเงินอีก แต่ตัวเราไม่เคยได้หยุดถามตัวเองเลย ว่าเราเป็นใคร เราต้องการอะไรกันแน่ ?

    หลายๆ ทีที่อาจจะดูโดนลากไปทางนั้นที ทางนี้ที จนตัวตนของเราเริ่มจะพร่าเบลอลงทุกขณะ สุดท้าย เราก็คล้ายๆ กับคนที่หลงทาง ไปไม่ถึงจุดหมาย แต่ก็ถอยหลังกลับไม่ได้ ฉันอยู่ตรงไหนของโลก? ลอยเท้งเต้งกลางทะเล ในขณะที่คนอื่นที่ลากเรามาก็ไปในจุดที่เขาอยากเป็น อยากมี อยากได้ กันหมดแล้ว (หรือไม่ก็ไปหลงทางคนละที่ อันนี้ก็ไม่แน่ใจ)

    เราเลยเริ่มต้นศึกษา MBTI กับนพลักษณ์ เพื่อที่เราจะได้รู้จุดยืนตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีทรัพยากรอะไร? ถ้าเราซื้อที่ดินแปลงหนึ่งมาเพื่อเก็งกำไร ก็ต้องอยากรู้ใช่ไหมว่าดินที่อยู่ในที่ของเราปลูกอะไรแล้วงอกได้ดี หรือว่ามีทองคำ น้ำมัน เพชรพลอยอะไรให้เอาไปขายหรือรังสรรค์อะไรต่อบ้าง?

    การรู้จักตัวเองของเราไม่ใช่ข้ออ้าง แต่มันคือการสำรวจว่าตอนนี้เรามีอะไรต่างหาก
    เราพบว่า ชีวิตเราที่มาถึงจุดนี้ เราเป็นคนลักษณ์ 4 และเป็น INFP ซึ่งทรัพยากรที่เรามี ก็คือจินตนาการและการเข้าถึงอารมณ์ เรามีศักยภาพที่จะปลอดปล่อยได้ก็ต่อเมื่อรู้สึกเป็นอิสระและผ่อนคลาย
    และเส้นทางที่เราปูมาแต่แรกที่ช่วยเราได้มากคือเรื่องของการมีสติ การอยู่กับปัจจุบัน การควบคุมลมหายใจ ทั้งหมดนี้ทำให้เราผ่อนคลาย

    หลังจากทดลองทำมาหลายกิจกรรมเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น วิ่ง ทำแบบฝึกหัดสักนกอินทรีย์ (จับเครื่องสักสักหนังเทียม) ว่ายน้ำ โยคะ นั่งสมาธิ เที่ยวคนเดียว ฯลฯ

    เราเลยค้นพบว่า จุดยืนของฉันคือ ไม่ว่าจะทำอะไรมาสุดขนาดไหน ก็ต้องพักผ่อน ชาร์จพลัง และวิธีชาร์จพลังของเราคือ “การทำอะไรคนเดียวเงียบๆ” (Introvert ที่แท้ทรูมาก)

    เมื่อหายเหนื่อยก็แค่ออกไปทำต่อ พักผ่อนก็หมวดเดียวกับเรื่องนอน เป็นปัจจัยที่ต้องใส่ใจ เพราะเมื่อไหร่ที่พักผ่อนน้อย ชีวิตจะพัง ยิ่งปล่อยเรื้อรัง จะกลายเป็นโดมิโน่เลยนะ

    และความเป็น INFP เราว่าด้วยความที่มี Introvert Feeling สูง ทำให้เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองดีมาก ชอบคือชอบ เกลียดคือเกลียด โกรธคือโกรธนั้น มันทำให้เราเข้าใจว่าเมื่อไหร่ควรพัก ตอนนี้คือพักจนแบตเต็มแล้ว ชาร์จมากไปแบตอาจเสื่อมได้ เป็นต้น

    เราว่านี่แหละคือจุดแข็งของเราที่จะใช้เพื่อรักษาบาลานซ์ตัวเอง

    และเราก็ค้นพบว่าจินตนาการคืออีกหนึ่งข้อดีของเรา ไม่ใช่จินตนาการแค่ระดับเห็นภาพ แต่มันคือเข้าถึงความรู้สึกได้จริงๆ ด้วยความเป็นลักษณ์ 4

    “ฉันควรเอามันออกมาสู่โลกภายนอกได้แล้วนะ”

    เออ แถมมันต่อยอดได้เพิ่มอีกด้วยสิ... (ไปต่อเรื่องถัดไปเลยแล้วกัน)


    7. มนุษย์ร้อยพ่อพันแม่ เพราะเราแตกต่าง แต่ก็มีบางอย่างที่เหมือนกัน 

    ต่อให้ทุกคนมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนก็เกิดมาบนดาวดวงเดียวกัน เป็นสปีชีส์เดียวกัน มันจะมีความจริงชุดหนึ่งที่ใช้ได้กับทุกคน เพราะไม่ว่าจะเกิดมาเป็นอย่างไร ก็ต้องเจอเพราะหลีกเลี่ยงไปไม่ได้
    แต่ก็มีความจริงอีกเป็นล้าน ที่ต่างคนก็ต่างเป็น แล้วแต่สภาพการเลี้ยงดู ประเทศที่เราเกิด ภูมิอากาศ วัฒนธรรม สังคม

    หากจิตวิทยา วิทยาศาสตร์เรื่องสมอง หรือหลักธรรมในศาสนาใดก็ตาม จะอธิบายความเหมือนได้

    นพลักษณ์และ MBTI ก็ทำให้เราพอเข้าใจความแตกต่างนั้นได้ไม่แพ้กัน มันทำให้เราเข้าใจว่า ต่อให้เป็นสปีชีส์เดียวกัน แต่บุคลิก นิสัย กิเลส แรงจูงใจ มันแบ่งได้อีกมากมาย แบ่งเป็น 16 Types 9 ลักษณ์ 27 ลักษณ์ย่อย เป็นต้น แม้จะไม่ครอบคลุมทุกมิติ แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราเข้าใจความแตกต่างได้มากโขแล้ว

    เราเลยทำความเข้าใจเสียใหม่ ว่าเราอาจตัดสินคนอื่นไปก่อน เพียงเพราะเรายังไม่รู้จักเขาดีพอก็เป็นได้

    เราอาจจะรู้สึกโดดเดี่ยว ว่าคนอย่างเราเนี่ย แปลกแยก แปลกประหลาด มีคนเดียวที่เป็นแบบนี้ไหม ก็มันเป็นเพราะคนรอบตัวเราไม่มีใครเป็นแบบนี้ แต่มันก็ใช่ว่าคนอื่นที่ไม่เคยรู้จักจะไม่มีคนที่เป็นเหมือนเรา เราแค่ยังไม่รู้จักคนๆ นั้น

    คนที่เข้ามาในชีวิตของเรา จะเป็นเหมือนคนที่ผ่านๆ มาหรือเปล่า? เมื่อก่อนอาจคิดว่าคงใช่ หากเคยเจอคนขี้ตัดสิน คนใหม่ๆ ก็คงไม่พ้นทำนองนี้หรอก แต่พอรู้ตัวเองแล้ว ว่าแต่ละคนมันแตกต่าง ร้อยพ่อพันแม่ สภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน คนที่เราเพิ่งรู้จักปีนี้ เขามีโอกาสที่ไม่ใช่คนขี้ตัดสินก็ได้ อย่าเอาประสบการณ์เก่ามาตัดสินประสบการณ์ใหม่ จนเราพลาดอะไรดีๆ ไป

    8. ไม่คิดแทนก็ไม่เหนื่อยดี

    หลายครั้งเราอาจเผลอไปคิดแทนคนอื่น ว่าเขาไม่เหมาะกับเรื่องนี้หรอก เขาต้องไม่ชอบขี้หน้าเราแน่ๆ แต่ปีนี้จะมีช่วงนึงที่เราเผลอทะเลาะกับคนอื่นบ้างเหมือนกัน

    และเมื่อลองมาทบทวนแบบไม่เข้าข้างตัวเองแล้วนั้น มันมีต้นเหตุที่เกิดจาก ต่างฝ่ายต่างคิดแทนกันแฮะ

    เพื่อนไม่ถามเรา เรากลัวจนทำให้เพื่อนคิดไปแบบนั้นแล้วก็ไม่เผชิญหน้าด้วย ที่สุดแห่งการคิดแทนก็คือการทะเลาะแล้วบาดหมางนี่แหละจ้า

    แต่เราก็ปล่อยให้อารมณ์เราเย็นลง แล้วไปคุยกันอีกทีหลังไมค์ ปรากฏว่าเราเข้าใจเพื่อนมากขึ้น เพื่อนเข้าใจเราในสิ่งที่ควรจะเป็น จบสวย แค่นี้ก็ดีแล้ว

    “ไม่รู้ก็ถามเถอะ อย่าคิดแทนเลย”

    เอาจริงๆ เราอยากจะให้คนที่คิดว่า เราน่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แล้วเดาผิดมาถามเราด้วยซ้ำ ว่าสรุปเรื่องนี้ที่คิดไปเอง เราคิดยังไงเหรอ คนที่เดาว่าเพื่อนจะเป็นไทป์นั้นไทป์นี้ แต่ไม่เคยถามเจ้าตัวแล้วก็ปักใจเชื่อไปเองด้วยนะ

    เพราะจากประสบการณ์ของเรานะ บางครั้ง กว่าเราจะรู้ว่าเราเป็นไทป์ไหน เราถามตัวเองเรายังเหนื่อยเลย แล้วคนอื่นเป็นใคร รู้ถึงก้นบึ้งของแก่นหรือกิเลสเราขนาดนั้นไหม? มันตอบยากจริงๆ

    9. ไลฟ์โค้ช

    ปีนี้มีดราม่าไลฟ์โค้ชบ่อยสุดก็ตอนโควิดนี่แหละ

    เอาจริงๆ เรากดติดตามเพจพวกนี้เยอะมากนะ แต่พอมันเริ่มมีดราม่า มันมีประโยคนึงจากเพื่อนในเฟสที่ทำให้เราฉุกคิด “ขอบคุณที่กล้าสอนหนู”

    เออ... เราเลยคิดตามเพื่อนคนนั้น หรือว่าไลฟ์โค้ชจะไม่ใช่ทางออกวะ ?

    เลยลองมากดติดตามเพจที่เขาออกตัวแค่ แบ่งปันในสิ่งที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัว เรื่องที่เขาไปศึกษามา แล้วก็ไม่ยัดเยียดว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ดูเลยพบว่า....

    Dislike เพจที่เป็นแนวไลฟ์โค้ชจ๋าๆ ไปบ้างก็ได้นะ กดดันเกิ๊นนนนนนนนนนนน

    ลำพังตัวเราเองก็ขยันกดดันตัวเองอยู่แล้ว ด้วยความซึบซับอะไรง่ายมากสไตล์ลักษณ์ 4 น่ะนะ ไม่จำเป็นต้องเสพอะไรมากไป ละๆ ออกมาบ้าง

    ที่เหลือให้มันเป็นเรื่องของอนาคตเราเหอะ 

    10. แพทเทิร์นของชีวิตที่สัมผัสได้

    อันนี้เป็นการสังเกตส่วนตัวล้วนๆ เราว่าช่วงหลังๆ เรามี Small wins กับหลายๆ เรื่องมาก เช่น การลดความอ้วน การเริ่มมีสติ การเริ่มเข้าใจโลก เข้าใจคน มันไม่ใช่ฟลุ๊ค แต่มันมีแพทเทิร์นของมัน

    คือเราจะเป็นพวกตั้งเป้าหมายระยะสั้นประมาณ 3-4 เดือนอย่างต่ำ เพื่อลุย ศึกษา อ่าน ทดลองทำ ทดลองคุย แล้วหมกมุ่นสุดมาก อยู่แต่กับสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราอยากรู้ไปเรื่อยๆ ด้วยความเป็นลักษณ์ 4 ปีก 5 เป็นสายสังเกต ค้นหาข้อมูลเป็นหลักอะไรแบบนี้แหละ

    แล้วพอผ่านไปสักพัก เวลาที่เราหมกมุ่นกับอะไรมากพอในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ฟัง พูด อ่าน เขียน ลงมือทำ เราจะเริ่มโปรกับเรื่องนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ หากเรายังทบทวนมันอยู่บ้าง ต่อให้เราพุ่งเป้าไปหาเรื่องอื่นแล้ว มันก็ยังอยู่ในสมองเรานะ


    11. “นักออกแบบไม่คิดไปข้างหน้า แต่พวกเขาหาหนทางเพื่อมุ่งไปข้างหน้า” - หนังสือ Design Your Life หน้า 31

    ที่ผ่านมาที่เรากดดันกับตัวเอง อาจเป็นเพราะว่าเราคิดแต่จะมุ่งไปข้างหน้ามากกว่าการสร้างหนทางที่มุ่งไปข้างหน้าก็เป็นได้

    หลายคนอาจยังงงประโยคนี้ไม่เป็นไร แต่เดี๋ยวเราจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เอง
    สมมติว่าเราจะไปเชียงใหม่ ... สำหรับคนที่คิดจะไปข้างหน้าอย่างเดียว อาจคิดออกแค่ว่า ก็เดินหรือวิ่งไปแบบพี่ตูนสิ ลุยไปเลยยยย

    แต่สำหรับคนที่คิดจะหาหนทาง เขาจะตั้งคำถามว่า ด้วยงบที่เรามีตอนนี้ เราเดินทางได้ด้วยวิธีไหน คำตอบที่ได้ก็หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถทัวร์ เครื่องบิน รถไฟ ฯลฯ

    ลองย้อนไปสมัยอยุธยา คิดว่าเขามีเครื่องบินให้ไปเชียงใหม่หรือเปล่า? มันอาจเป็นเพราะมนุษย์ยุคก่อนเขาได้สร้างหนทางไปเชียงใหม่ให้เราตามยุคสมัยสะสมมาเรื่อยๆ จนเราไม่จำเป็นต้องขี่ม้า ขี่ช้าง เดินเท้าไปแล้วนะ ว่ามั้ย?

    12. ความเป็นมนุษย์ เอาไปใช้ได้กับทุกอย่าง

    งานประจำของเราทำการตลาดออนไลน์น่ะ สมัยที่ยังไม่มีสติ ยังติดลูป ยังไม่ตื่นรู้ เราบอกเลยว่าชีวิตเป็นเรื่องยากมาก เวลาเราทำงาน เรามองเห็นแต่เม็ดเงินที่ควรจะได้

    ลืมคิดไป ว่าเงินน่ะ จะได้มาก็ต่อเมื่อมนุษย์จ่าย และจะจ่ายก็ต่อเมื่อมีค่าพอที่จะตอบสนองความต้องการเขาได้อย่างคุ้มค่า

    แค่เปลี่ยนมุมมองเอง

    เราเคยเขียนนิยายไม่จบ เพราะเราไม่ค่อยรักตัวละครเท่าไหร่ เรามองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ที่พวกเขามี กิเลส แรงขับของแต่ละคนคืออะไร?

    อย่าว่าแต่นิยายเลยมั้ย โรลเพลย์ก็ดูไม่สมจริง

    แต่พอเราเข้าใจความเป็นมนุษย์ของเรา เราอยากเข้าใจคนอื่นจนพาเราไปศึกษา ตัวละครของเราเริ่มมีมิติสมจริงมากเท่านั้น

    ค่อนข้างมั่นใจ ว่ามันจะสวย เพราะเมื่อก่อนเล่นมูน่ะ แทบไม่มีใครเห็นค่าตัวละครเราเลยด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้เจอมูที่น่ารักด้วย วาดเปย์กันอะไรกันแบบวอดวายมาก (ฮาาาา แม้เราจะวาดในสไตล์สายกาวก็เถอะนะ)

    13. ปีหน้าว่าจะลองเขียนนิยายให้จบ

    จากการทบทวนตัวเองในปีนี้ เรามีเรื่องที่อยากเผยแพร่ออกมาสู่โลกใบนี้เต็มไปหมด แต่ถ้าเราทำในวิถีไลฟ์โค้ชแบบบอกกันตรงๆ มันดูซีเรียส และจริงจังมากเกินไป มันจะไปมีประโยชน์อะไร นอกจากให้คนตัดสินว่าเราชักเลอะ

    หลังจากได้ลองใช้งานอดิเรกส่วนใหญ่ไปกับการดูหนัง เดินดูงานอาร์ตตามนิทรรศการ อ่านหนังสือ เราก็เริ่มจะเข้าใจแนวทางการเผยแพร่ความคิดจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งได้แล้ว

    มนุษย์เรียนรู้ผ่าน “Storytelling” ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย และผลงานต่างๆ ที่ปรากฏสู่สายตาคนอื่นๆ ไม่ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใด (เป็นงานเขียน เป็นภาพวาด เป็นพอดแคสท์ เป็นหนัง เป็นละคร ภาพถ่าย ฯลฯ) มันคือการเล่าเรื่องที่ดี

    นั่นแหละ เรามาสายนิยายมานาน เราก็ว่าจะเอาไปต่อยอด เซนส์ของเราคิดว่า การจะเริ่มเขียนเรื่องอะไรเพื่อบอกคนอื่นๆ น่ะ มันมาจากแก่นที่เราอยากบอกให้ทุกคนคิดตาม เป็นแรงบันดาลใจ แล้วเราจะใช้ตัวละครที่เรามี ฉากหรือโลกที่เราสร้าง เพื่อให้แก่นเรื่องได้ถ่ายทอดยังไง นี่คือสมมติฐานนะ
    แล้วเราก็ไปเปิดฟังช่องที่นักเขียนออกมาแบ่งปันเทคนิค เออเฮ้ย ก็หลักการเดียวกันเลยนี่
    ได้เวลาแล้วปะ ที่จะลงมือทำ... บางทีคิดแก่นไม่ออก ลองอ่านหนังสือฮาวทูแล้วจับเอาที่รู้สึกชอบมาทำก็ได้มั้ย


    ….


    จริงๆ ปีนี้เป็นปีที่ได้เรียนรู้หลายเรื่องมากๆ 

    เราว่า 13 ข้อในนี้ไม่หมดหรอก เรานึกไม่ออกแล้ว เพราะหลักๆ ที่นึกออกจะประมาณนี้แหละ สิ่งที่ได้กลับมาจากการมีสติคือความรู้สึกมีอิสระที่อยากจะให้ตัวเองเป็นในสิ่งที่ต้องการมากๆ เลยแหละ มันคือการตั้งต้นที่ดีนะ สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากได้อะไรกันแน่ แต่ที่ควรมีก่อนเลยก็คือ สตินั่นแหละ เดี๋ยวมันจะพาเราหาคำตอบต่อเอง ว่าเราทำอะไรได้บ้าง

    ขอให้ปี 2021 ของเรา เป็นอีกปีที่สนุก : D

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in