เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
whatfilmbehoramiji
Talk: Star Wars: The Last Jedi ยุคใหม่ของวีรบุรุษสงครามอวกาศ
  • ตอนแรกว่าจะไม่เขียนแล้ว เพราะความรู้สึกมันท่วมท้นมากจนเรียบเรียงไม่ถูก ไม่รู้ว่าผู้กำกับไรอัน จอห์นสันจัดการทุกอย่างยัดลงไปในหนังแล้วทำให้ลงตัวขนาดนี้ได้ยังไง ต้องคารวะจริง ๆ แต่กลายเป็นว่าหลังจากดูหนังผ่านไปแล้วหลายวัน ความรู้สึกทุกอย่างมันไม่ยอมเลือนรางจางหายไปสักที จนคิดได้ว่า ถ้าไม่ระบายมันออกมา คงลำบากสมองแน่ ๆ เอาไปตั้งสมาธิคิดเรื่องอื่นไม่ได้เลย (ตีกับ Call Me By Your Name อีกต่างหาก เวรเอ๊ย)

    note: นี่น่าจะเป็นบันทึกเกี่ยวกับหนังที่ยาวพอสมควร

    __________

    Star Wars: The Last Jedi
    ปัจฉิมบทแห่งเจได
    และปฐมบทแห่งฮีโร่อวกาศยุคใหม่


    ระหว่างที่ดูและหนังเริ่มค่อย ๆ คลี่คลายปมอะไรหลายอย่างออกมา มันทำให้รู้สึกอยู่เป็นระยะ ๆ ว่า เรากำลังค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของสงครามอวกาศจริง ๆ เพราะเส้นเรื่องที่บิดพลิ้วออกจากขนบธรรมเนียมเก่า ๆ หลายอย่างของ Star Wars ดั้งเดิม ซึ่งออกจะเป็นการสู้กันระหว่างดำกับขาว ด้านมืดกับด้านสว่าง คนชั่วกับคนดีในอุดมคติ ที่ถูกนำเสนอในรูปของขั้วพลังสองด้านอย่างซิธลอร์ดกับเจได

    The Last Jedi ไม่เพียงทำให้เส้นแบ่งระหว่างสองสิ่งเบลอลงไป

    หากยังสร้างสเปกตรัมที่ฉายแสดงความหลากหลายออกมาอย่างกล้าหาญ

    เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้มีเพียงขาวกับดำ หรือกึ่งกลางอย่างสีเทา แต่ยังมีสีอื่น ๆ อีกนับหมื่นนับพันเฉด ไม่มีใครดีร้อยทั้งร้อย หรือชั่วร้อยทั้งร้อย ทว่าหลายครั้งเราอาจจะลืมมันไป และติดอยู่ในโลกแห่งจินตนาการว่าพระเอกหรือนางเอกที่เป็นไอดอลของเรานั้นดีเลิศประเสริฐศรี

    ไรอัน จอห์นสันทำ The Last Jedi ออกมาเพื่อย้ำเตือนไม่ให้เราลืมเรื่องนั้น

    พระเอกก็ผิดพลาดได้
    ตัวร้ายก็มีหัวใจได้

    ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมุมมอง
    ต่างกันแค่เสี้ยวองศาความคิด

    เอาละ มันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรหรอก ถ้าคุณดูหนังเรื่องอื่น ๆ ทิศทางอันสมจริงของเรื่องราวมันมีมานานแล้ว กับตัวร้ายที่เราอดเห็นใจไม่ได้ หรือพระเอกที่บางครั้งเราก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ แต่อย่างที่บอก ในจักรวาล Star Wars ที่พระเอกอย่างลุคดีสุดขั้ว ตัวร้ายอย่างดาร์ธซีเดียสก็ชั่วสุดขีดน่ะ มันค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ และเสี่ยงมากที่จะไปทำลายภาพในหัวของแฟนตัวยงของแฟรนไชส์เสียยับเยินได้

    ว่ากันตามจริง นี่ไม่ใช่ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงเสียทีเดียว เพราะหนังภาคแยกอย่าง Rogue One (2016) นั้นได้ริเริ่มปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดดังกล่าวมาก่อนแล้ว (ใครยังไม่ดู Rogue One และกลัวสปอยล์ขอให้ข้ามย่อหน้านี้ไป) ตั้งแต่เปิดเรื่อง เราเห็นผู้กองแคสเซียนแห่งกองกำลังกบฏ ซึ่งหนังตั้งค่าไว้ว่าเป็นฝ่ายดี ฆ่าปิดปากสายข่าวของตนทิ้งโดยแทบไม่ลังเล มันเป็นวินาทีที่ทำให้คนดูได้ตระหนักว่า ไม่ใช่แค่ฝ่ายจักรวรรดิเท่านั้นที่ฆ่าคนเป็นผักปลาเพื่อปกป้องฝั่งตัวเอง ฝ่ายที่หนังวางท่าว่าเป็นผู้ปลดแอกการกดขี่ในสังคมก็มีด้านมืด มีอะไรต้องเสียเท่า ๆ กันเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ที่ฝ่ายตนต้องการ

    ในส่วนของ The Last Jedi ต้องขอแสดงความคิดเห็นโดยละเอียดเป็นรายข้อ แยกตามเส้นเรื่องย่อยไป ดังนี้

    __________

    "Live free. Don't Join"

    - DJ -


    (อย่างเป็นทางการนะ: เพิ่งนึกได้ว่า DJ คงย่อมาจาก Don't Join ก็ตอนกำลังเขียนบรรทัดข้างบนนี่แหละ)


    "เป็นอิสระ อย่าเลือกข้าง" เป็นคำพูดที่เราชอบมาก ๆ ในหนัง

    ไม่ใช่แค่เพราะเบนิชิโอ เดล โทโรขวัญใจเราเป็นคนพูด แต่ก็มีส่วน เพราะนี่เป็นไอเดียรวบยอดที่สำคัญมากอันหนึ่งของ The Last Jedi มหากาพย์สงครามอวกาศนี้เป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจปกครองระหว่างด้านมืดกับด้านสว่างมานานหลายปี คำที่เราได้ยินเล่นกันบ่อย ๆ ว่า Join the dark side, we have cookies มันทำให้รู้สึกว่าต้องเลือกข้างตลอดเวลา จะมืดหรือสว่างเท่านั้น? เราไม่สามารถอยู่ทั้งสองฝั่งได้ หรือเป็นอย่างอื่นได้แล้วหรือ แล้วคนอยู่ฝ่ายจักรวรรดิ แปลว่าเป็นคนเลวไปหมดหรือ สมควรโดนฝ่ายกบฏฆ่าให้เหี้ยนหรือ เขาไม่มีลูกเมียที่รอเขากลับบ้านหรือ เขาเป็นแค่คนที่ไม่มีทางเลือกและต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพไม่ได้หรือ (เช่นกัน Rogue One เคยตอบคำถามนี้ไปแล้วด้วยตัวละครของโบดี้และเกเลน)

    ตัวละครนักถอดรหัสอย่างดีเจที่ทำงานให้ใครก็ตามที่มีเงินให้จึงเป็นการตบหน้าทั้งสองฝ่าย และเป็นตลกร้ายที่เสียดสีสังคมมนุษย์ได้อย่างเจ็บแสบ จะเลือกข้าง ต่อสู้จนตัวตาย เสียเลือดเสียเนื้อไปทำไม ในเมื่อเป็นอิสระสบายใจกว่า ฝ่ายไหนให้ผลประโยชน์ได้ก็ช่วยฝ่ายนั้น อย่างที่ดีเจว่า วันนี้ปฐมภาคีตบฝ่ายต่อต้าน เดี๋ยววันหน้าฝ่ายต่อต้านก็ตบกลับ ตบกันไปตบกันมา เป็นสัจธรรมชีวิต จะลำบากเลือกข้างไปทำไมในเมื่อหากินจากการอยู่ตรงกลางได้

    ไม่ใช่ว่าเราไม่ควรมีอุดมการณ์หรือไม่ยึดมั่นในอะไรเลย 
    แต่อุดมการณ์ไม่ได้มีแค่สองฝั่งนี่ 

    การไปว่าคนตรงกลางทำตัวไม่มีจุดยืนก็ไม่ต่างอะไรกับการตัดสินคนเห็นต่างแบบง่าย ๆ เพียงเพราะเขาไม่ได้คิดเหมือนเรา ทั้งที่จุดยืนของเขาก็อยู่ตรงนั้นไง ตรงที่เขาเลือกว่าจะไม่เลือกเป็นหนึ่งในสองฝ่ายนั้นแหละ เป็นฝ่ายที่สามก็ได้ เคารพการตัดสินใจของเขาสิ ไม่ใช่เอะอะไปหาว่าเขาเอาตัวรอดง่าย ๆ ก็อย่างที่บอก โลกไม่ได้มีแค่ขาว ดำ หรือเทา สเปกตรัมมีสีเป็นล้านสี

    The Last Jedi จึงไม่ใช่โลก Star Wars ที่มองอะไรเผิน ๆ มีแค่คนดีกับคนเลวเสมอไปอีกแล้ว มีคนอีกมากที่ไม่มีบทบาทในสงครามแต่ได้รับผลกระทบจากพิษสงคราม อย่างเด็ก ๆ ที่ดูแลคอกเจ้าฟาเทียร์ หรือได้รับผลประโยชน์จากสงครามอย่างดีเจและเหล่าพ่อค้าอาวุธในแคนโทไบต์ และกว่าคนเหล่านี้จะได้รับการนำเสนอภาพอย่างมีนัยสำคัญก็ปาเข้าไป Episode ที่ VIII แต่มาช้ายังไงก็ดีกว่าไม่มา

    จำไม่ได้แล้วว่าใคร (น่าจะเป็นอดัม ไดรเวอร์ ผู้รับบท ไคโล เร็น) ที่ให้สัมภาษณ์ประมาณว่า 'ฐานสตาร์คิลเลอร์ก็ไม่ใช่ดาวร้างเสียหน่อย มีคนอยู่บนนั้นเหมือนกัน เจ้าหน้าที่ปฐมภาคีที่ทำงานบนนั้นไม่ใช่คนหรือไง ไม่มีครอบครัวหรือไง' (จำไม่ได้เป๊ะๆ นะ แต่ใจความงี้แหละ) ใช่...ประชากรทั้งดาวต้องตายจากการยิงอาวุธ แต่ที่ฐานสตาร์คิลเลอร์โดนฝ่ายต่อต้านโจมตีจนพังทลายไปก็มีคนตายเช่นกัน เราต้องไม่นับ - หรือยิ่งกว่านั้น สะใจ - กับการที่พวกเขาตายเพียงเพราะเขาอยู่ฝ่ายที่ถูกเรียกว่าตัวร้ายหรือ มายาคติที่ว่ามันกำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ของใครอยู่หรือเปล่า

    และ The Last Jedi ก็ได้สะท้อนแนวความคิดนี้ผ่านฉากเล็ก ๆ ที่ดีเจดูประวัติเจ้าของยานที่ขโมยมา เปิดหูเปิดตาให้ฟินน์ได้เห็นว่า ฝ่ายต่อต้านก็ซื้ออาวุธจากพ่อค้าบนดาวแคนโทไบต์เหมือนกันนี่แหละ แล้วทำไมการขายเครื่องจักรอย่างเดียวกันให้กับฝ่ายปฐมภาคีมันจึงเป็นความผิดร้ายแรงที่ต้องถูกประณามด้วยล่ะ?

    ใจเราอคติไปเองหรือเปล่า?

    __________

    Woman in charge vs. Fly Boy


    เป็นอีกครั้งที่ไรอัน จอห์นสันเขียนตัวละครใหม่ขึ้นมาเพื่อตบหน้าตัวละครเดิม

    พลเรือโทโฮลโดเป็นตัวละครที่เรารักมากที่สุดในภาคนี้ (รองจากไคโล เร็น--)

    หลังจากเธอขึ้นมาเป็นผู้นำกองกำลังฝ่ายต่อต้านในระหว่างที่นายพลเลอา ออร์กาน่านอนรักษาตัว เราไม่ได้เห็นเธอสั่งการรบ ไม่ได้เห็นเธอสั่งใครบินไปยิงทำลายยานใคร เราได้รู้ทีหลังว่าเธอสั่งโหลดเชื้อเพลิงลงยานขนส่งเล็กเพื่ออพยพลูกเรือ เพื่อเตรียมสละยาน เพื่อปกป้องส่วนที่ยังเหลืออยู่ของฝ่ายต่อต้าน

    The Last Jedi ไม่ลังเลที่จะนำเสนอภาพว่านี่คือสิ่งที่เราได้จากผู้นำที่เป็นผู้หญิง

    ในขณะที่โพ แดเมอรอนหัวร้อน ไม่เข้าใจ และปรามาสว่าเธอขี้ขลาด ความจริงแล้วความละเอียดอ่อนและรอบคอบถี่ถ้วนต่างหากคือคุณสมบัติอันแท้จริงที่เธอมีและมันช่วยให้ฝ่ายต่อต้านหนีรอด

    เลอาได้อธิบายให้โพเข้าใจทีหลัง

    และจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม คำพูดของเลอาที่ชื่นชมโฮลโดว่า "ไม่ได้สนใจแต่จะเล่นบทฮีโร่" ก็ตบหน้าโพไปแล้วในความคิดเรา (ไม่ร้องนะพี่)

    เพราะเรารู้สึกอิ่มเหลือเกินกับการที่ตัวละครพระเอกทั้งในจักรวาลนี้หรือหนังเรื่องอื่น ๆ เป็นพวกกล้าบ้าบิ่น สายห้าว ไม่ฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา และออกไปวาดลวดลายกวาดล้างวายร้ายให้วินาศสันตะโรกันไปข้าง หลายครั้งมันนำมาซึ่งความสูญเสียของลูกน้องในทีม แต่เมื่อภารกิจลุล่วง ต่อให้พระเอกรอดมาคนเดียว ก็จะถูกสรรเสริญยกย่องเป็นฮีโร่ แล้วคนที่ตายเพื่อให้เขาไปถึงตรงนั้นล่ะ แล้วตัวละครผู้บังคับบัญชาที่โดนข้ามหัวไป(และทุกคนทำเหมือนเขางี่เง่าและสุดท้ายพระเอกมักจะก็ตัดสินใจถูก)ล่ะ

    เราจึงดีใจมากที่นายพลโฮลโดไม่เป็นผู้นำดาด ๆ ที่ถูกตัวหนังทำร้ายแบบเดิม ๆ เธอมองการณ์ไกลและมีวิสัยทัศน์อย่างที่เลอาสอนมา เธอพร้อมจะเสียสละโดยไม่ต้องป่าวประกาศให้โลกรู้ว่าตนช่วยคนจำนวนมากเอาไว้

    ก็อย่างที่เลอาสอนโพ 'ฮีโร่ที่ตายแล้วก็ไร้ประโยชน์' ทหารต้องมีชีวิตรอดก่อน กองทัพจึงจะไปสู้รบปรบมือกับใครได้(เหมือนที่การอพยพทหารเกือบสี่แสนนายจาก Dunkirk กลับบ้านมาให้ได้ก่อนมันสำคัญมากต่อการกำชัยในสงครามภายหลังนั่นแหละ) โฮลโดยึดมั่นหลักการเดียวกัน จึงได้ตัดสินใจเช่นนั้น


    และการที่นักบินไฟแรงบ้าดีเดือดแบบโพถูกลดทอนภาพความเป็นพระเอกลง(จากภาคก่อนที่เราก็กรี๊ดมาก--) ก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เพราะนอกจากเขาจะเป็นตัวเปรียบเทียบให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นผู้นำในแบบของผู้หญิง - ที่หลีกเลี่ยงการปะทะอันไม่จำเป็นและรักษาทหารไว้สำหรับสถานการณ์ที่จำเป็นเหมาะสมกว่า - แล้ว ตัวละครของเขาเองก็ได้แสดงพัฒนาการที่สำคัญ ได้แสดงมิติที่กลมขึ้น ได้เติบโตและเรียนรู้ว่าการรบไม่ได้จบได้ด้วยการต่อสู้เพียงอย่างเดียว ได้เห็นข้อบกพร่องของตัวเอง และได้เห็นว่าตนยังขาดอะไรไปในการจะขึ้นมาเป็นผู้นำระดับสูงกองทัพ แบบนี้ทำให้เขาเป็นมนุษย์จับต้องได้มากขึ้นกว่าใน The Force Awakens เสียอีก 

    อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ The Last Jedi ไม่ได้พลิกโลกกลับ ยกยอผู้หญิงให้มีค่าสูงส่งกว่าชาย แต่เลือกจะแสดงให้เห็นอย่างพิถีพิถันว่าต่างฝ่ายต่างก็มีสิ่งที่ตนถนัด มีบทบาทที่ทำได้ดีต่างกัน และควรจะทำตามหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องเหมาะสมก็เท่านั้น เพราะธรรมชาติไม่ได้สร้างให้ใครเกิดมาดีกว่าใคร แต่ให้ผู้หญิงกับผู้ชายเติมเต็มซึ่งกันและกันในส่วนที่อีกฝ่ายบกพร่องต่างหาก เห็นได้ชัดว่าเลอาไม่ลังเลที่จะอนุญาตให้โพ 'ขับเอ็กซ์วิงออกไประเบิดข้าวของ' - หลังจากเพิ่งตบหน้า ลดขั้นที่เจ้าตัวพาลูกน้องไปตายจำนวนมาก - เพราะสถานการณ์มันเรียกร้องการทำหน้าที่นั้นของเขา เช่นเดียวกับที่โฮลโดก็ได้ทำหน้าที่ของเธอเป็นอย่างดี

    __________

    Female's Way of Fighting


    “That's how we're gonna win.
    not fighting what we hate,
    but saving what we love.

    - Rose -


    ต่อจากประเด็นข้างบน

    ตัวละครอีกตัวที่มาให้มุมมองใหม่อันแตกต่างในท่ามกลางสงครามอวกาศนี้ก็คือ "โรส" ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่สู้ไม่ถอยและมีหัวใจน่านับถือเป็นอย่างยิ่ง

    เจ้าของประโยคชวนขนลุกและน้ำตาไหลอย่าง "นั่นคือวิธีที่เราจะชนะ ไม่ใช่ต่อสู้กับสิ่งที่เราเกลียด แต่เพื่อปกป้องคนที่เรารัก"

    ช่างเป็นคำพูดที่เข้มแข็ง ทว่าอ่อนโยน
    ทิ่มแทง ทว่าปลอบประโลม
    ฮึกเหิมห้าวหาญ ทว่าอ่อนหวานละลายใจ

    มันเป็นแนวความคิดเดียวกับที่เลอาและโฮลโดก็ได้แสดงให้เราเห็น วิถีการต่อสู้ของผู้หญิงในสงครามที่ไม่ใช่การสักแต่บุกทะลายฟาดฟันศัตรูให้เหี้ยนเตียน ทว่าเป็นการปกป้องรักษาบ้าน ครอบครัว คนที่เรารัก

    จะมีประโยชน์อะไรถ้าฟินน์พุ่งทำภารกิจฆ่าตัวตายนั้น แล้วฝ่ายต่อต้านยิ่งย่ำแย่เพราะเหลือคนน้อยลง ๆ ทุกที

    จะมีประโยชน์อะไรถ้าเราสู้เพื่อรอวันที่ทุกคนต้องตายและอาจไม่เหลือเอาไว้แม้กระทั่งชื่อในประวัติศาสตร์

    ต้องรอดไปด้วยกันสิให้ได้มากที่สุดสิ 

    การต่อสู้ทั้งหมดมันจึงจะคุ้มค่า...ไม่สูญเปล่า

    __________

    "You're not alone."

    - Kylo Ren -



    ในที่สุดก็ได้พูดถึงแฟนเราสักที

    ก่อนอื่น อยากจะชมการแสดงของอดัม ไดรเวอร์ในภาคนี้ ด้วยเรียงความสัก 300 หน้ากระดาษ แต่ว่าเงินไม่พอซื้อเพราะเอาไปซื้อฟิกเกอร์เขาหมดแล้ว จาก The Force Awaken ที่หลายคนล้อเลียนว่าไคโล เร็นเป็นเด็กเบียวเกรี้ยวกราดผู้รักการคอสเพลย์คุณตาและเอะอะอะไรก็ฟาดไลท์เซเบอร์ไฟฟู่ ๆ นั่น...

    มาถึง The Last Jedi ที่ความบ้าคลั่งยังคงมีอยู่ แต่ตัวละครกลับมีพัฒนาการที่ลุ่มลึกขึ้น เดาทางไม่ได้ยิ่งกว่าเก่า โหดเหี้ยมขึ้นพอ ๆ กับที่ยิ่งดูมีหัวใจ อ่อนไหวง่ายไม่คงเส้นคงวา แต่ก็เด็ดเดี่ยวแน่วแน่เมื่อเอาจริง ทั้งดูแกร่งกร้าวและร้าวราน ทรงพลังและอ่อนแอในขณะเดียวกัน นอกจากบทเขียนมาดีแล้ว ต้องกราบอดัมด้วยที่แสดงได้ก้าวกระโดดไปอีกขั้นจากภาคก่อนขนาดนี้ ไม่รู้รวมทุกอย่างที่ว่ามายัดลงไปในสายตาแล้วถ่ายทอดความซับซ้อนทั้งหมดนั้นออกมาในแต่ละฉากได้ยังไง ยอมใจ ขอกราบแทบตักแน่น ๆ สักร้อยที

    ไคโล เร็นเป็นตัวร้ายแบบที่ Star Wars ไม่เคยมีจริง ๆ

    เพราะเขาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ปีศาจเพียว ๆ

    เป็นซากที่หลงเหลืออยู่ของความเจ็บปวดเสียใจ ก่อนจะเติบโตเปลี่ยนแปรไปเป็นผู้ทำลายคนอื่นบ้าง มนุษย์เราจำนวนมากก็เป็นเช่นนั้นเอง เรียนรู้จากการผิดหวังและถูกทอดทิ้ง เพื่อที่จะไปทำให้คนอื่นผิดหวังและทอดทิ้งคนอื่นบ้าง มันก็แค่กลไกป้องกันตัวเท่านั้น แค่ความเปราะบางที่ผลักให้คนบางคนลื่นไถลตกลงไปในห้วงเหวของความรู้สึกที่ว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี คนอื่นไม่ทำดีกับเรา เราจะเป็นคนดีไปทำไม

    ไคโล เร็นแทบจะเป็นศูนย์กลางของเรื่องยิ่งกว่าเรย์เสียอีก และในความเป็นตัวร้าย เรากลับพบว่าหนังนำเสนอความเป็นพระเอกของเขาด้วยปริมาณที่แทบจะเท่ากัน เขาแสดงความเห็นใจต่อเรย์ที่รู้สึกโดดเดี่ยวและไร้ค่า ไม่มีตัวตนในท่ามกลางเรื่องราวเหล่านี้(แม้อาจถกเถียงได้ว่าแค่ทำไปเพื่อหลอกล่อเรย์มาเข้าร่วม) เขายอมรับกับเรย์หน้าตาเฉยว่าตัวเองเป็นปีศาจ ในขณะที่ลุคไม่ยอมรับด้วยซ้ำ -จนกระทั่งเรย์ต้อนจนมุม- ว่าเสี้ยววินาทีหนึ่งตนคิดจะสังหารลูกศิษย์ และว่ากันตามจริง ไคโล เร็นในวันนี้ เป็นผลผลิตมาจากความผิดพลาดของลุคดี ๆ นี่เอง

    โอเค ลุคบอกว่าตนเห็นอนาคตของเด็กชายเบน โซโลว่าจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดและสูญเสีย ชั่วขณะจิตหนึ่งจึงคิดจะจบเรื่องนั้นง่าย ๆ ด้วยการตัดไฟแต่ต้นลม เพียงแค่เรื่องมันบานปลายเพราะเบนรู้ตัวและผิดหวัง การทำลายล้างอันย่อยยับจึงตามมาหลังจากนั้น

    แต่นั่นแหละ ความผิดพลาดของลุคอย่างที่ผีฟอร์ซอาจารย์โยดาได้กล่าวไว้ สกายวอล์คเกอร์หนุ่มยังคงมองไปไกลสุดขอบฟ้าเสมอ แทนที่จะมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

    มัวแต่พะวงอนาคต จนลืมปัจจุบัน
    ห่วงวันข้างหน้า มากกว่าชีวิตวันนี้

    จนกระทั่งภาพอนาคต มันทำลายปัจจุบัน

    อยากเยียวยาอนาคต ทั้งที่มันยังไม่ทันเสียหาย จนไปทำลายวันนี้ ทั้งที่มันยังดีอยู่


    ถ้าลุคเชื่อแบบเรย์ว่าจะดึงจิตใจเบน โซโลกลับมาด้านสว่างได้ เหมือนที่ตนเคยดึงแด๊ด เวเดอร์กลับมาได้ ไคโล เร็นอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย หรืออย่างน้อยก็เกิดช้าขึ้น หรือเป็นเวอร์ชั่นที่ต่างออกไป ไม่ใช่เด็กที่มุ่งล้างแค้นอาจารย์อย่างตนในวันนี้

    เบน โซโลก็แค่เด็กน่าสงสารที่รู้สึกถูกหลังจากคนที่ตนไว้ใจ คนที่เป็นทั้งลุงและอาจารย์ เด็กอายุแค่นั้นโดนแบบนั้นมันไม่แปลกที่จะฝังใจ อันที่จริงมันเลวร้ายมากเลยละ ความคิดที่ว่าอาจารย์และลุงแท้ ๆ จะฆ่าตนทั้งที่ยังไม่ทันทำอะไรผิด (แค่โดนสโนคดึงไปยังไม่ถือว่าผิด อย่างน้อยหนังก็ไม่ได้มีตรงไหนที่บอกว่าเบนเคยไปทำอะไรไว้เลย น่าจะเพิ่งโดนหลอกเอง)

    อย่างที่ใครว่าไว้(นั่นดิ ใครวะ) บางครั้งเราก็สร้างปีศาจของเราขึ้นมาเอง

    และใช่ ถึงจะเริ่มต้นได้ดูน่าสงสารเพียงใด ท้ายที่สุดแล้วเราต้องไม่ลืมว่าเขาก็ยังคงเป็นปีศาจ และเรื่องราวของปีศาจตนนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้เลย แต่สิ่งที่ยังตราตรึงอยู่ในหัวก็คือคำพูดของเขาที่ว่าจะลบล้างสิ่งเก่า ๆ ทุกอย่าง แล้วสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาปกครองแกแล็กซี่

    เพราะนั่นเปรียบได้กับสิ่งที่ The Last Jedi ทำกับแฟรนไชส์ Star Wars อยู่เช่นกัน

    __________

    "I will not be the last Jedi."

    - Luke Skywalker -


    ในส่วนของลุค ต้องเกริ่นนิดหนึ่งถึงเรื่องที่มีหลายคนรู้สึกว่าหลุดคาร์แร็กเตอร์ ไม่ใช่ลุคที่เปี่ยมไปด้วยความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ เราว่ามันเป็นแบบนี้ก็ไม่แปลกเท่าไร คนอายุปูนนี้ ผ่านโลกมาขนาดนี้ จะไม่เปลี่ยนเลยนี่สิแปลก ถ้าเราตอนอายุ 50 ยังใสซื่อคิดว่าโลกมีแต่ความดีงามไปเสียหมดเหมือนตอนเรา 20 นี่ก็สุดยอดไปเลย ลองนึกดูสิว่ามันเป็นไปได้เรอะ นอกจากจะทำให้ตัวละครดูแบนแล้ว ยังไม่สมเหตุสมผลอีกต่างหาก และมันสำคัญมากที่เราจะมองเห็นฮีโร่ของเราอย่างเป็นมนุษย์ที่สามารถมีข้อบกพร่องได้สักที 

    นึกถึงคำพูดหนึ่ง (ที่ได้มาจาก Call Me By Your Name

    "บางสิ่งจะคงอยู่ได้ก็แต่ด้วยการเปลี่ยนผัน..."

    ทั้งลุค และ Star Wars ต่างก็ต้องด้วยกรณีนี้

    โดยธรรมชาติแล้ว น้อยสิ่งจะคงอยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เผ่าพันธุ์มนุษย์คงไม่อยู่มาถึงปัจจุบันถ้าไม่ปรับตัวตามสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลง เช่นกัน ไรอัน จอห์นสันได้ทำการเสี่ยงครั้งใหญ่ ที่ให้ The Last Jedi ออกนอกกรอบวิถีเก่า ๆ ของ Star Wars หลายอย่าง เพื่อให้สอดรับกับโลกปัจจุบัน(ในระดับที่ลึกซึ้งกว่าที่ The Force Awakens แตะ ๆ ไว้) และสะท้อนภาพความเป็นจริงในสังคมที่ผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้ ผู้คนจะเชื้อชาติใด ผิวสีอะไร ก็มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และได้รับการนำเสนอภาพในโลกภาพยนตร์อย่างที่มีตัวตนอยู่ในชีวิตจริง และคนดีกับคนเลวมันก็แค่คำนิยามหยาบ ๆ ที่ขึ้นอยู่กับมุมมองเท่านั้น มนุษย์เราละเอียดอ่อนและมีหลายมิติเกินกว่าจะมีแค่ด้านมืดกับด้านสว่าง มันสำคัญมากเพราะ Star Wars เป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นในครอบครัว มีเด็ก ๆ ดูเป็นจำนวนมาก และนี่เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ๆ

    ไม่ใช่ให้เด็กคิดว่าโลกมีแค่ด้านมืดกับคนด้านสว่างสองฝั่ง แล้วให้พวกเขาโตมารับรู้ความจริงเอาเองทีหลังว่าทุกคนก็มีส่วนมืดและสว่างในตัวทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะควบคุมสมดุลมันอย่างไร มันเจ็บปวดนะ เหมือนที่เรา ๆ โดนหลอกมาตลอด ต้องเจอกับตัวเองค่อยเจ็บปวด เรียนรู้กันไปน่ะ บางคนอาจจะโตขึ้นจากตรงนั้น แต่บางคนอาจจะเสียหลักหลงทางไปเลยแบบไคโล เร็นก็ได้ไง

    สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การรักษาจิตใจที่งดงามของลุคเอาไว้แบบเดิม ด้วยการให้เขาใสซื่อ เปี่ยมด้วยความหวัง เห็นความดีในตัวผู้คนเสมอแบบเดิม แต่ให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาดและล้มเหลวบ้าง เพื่อให้เขาและคนดูได้เข้าใจอย่างแท้จริงว่าชีวิตมนุษย์คืออะไร บางทีมันอาจคือการยอมรับความล้มเหลวและก็พร้อมจะปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่หลอกตัวเองว่าทำถูกไปเสียทุกอย่างแล้วไม่รับผิดชอบอะไรกับใครเลย ชีวิตเราต้องเจ็บปวด ล้มลุกคลุกคลาน เจออะไรแย่ ๆ มากระทบและตัดสินใจผิดพลาด แต่สุดท้ายเราจะเติบโต 

    The Last Jedi สอนให้รู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องฝากความหวังไว้ในมือใคร ไม่ใช่แค่ฮีโร่คนหนึ่ง หรือคนที่มีพลังอำนาจเหนือกว่าเรากลุ่มหนึ่ง เราเฝ้ารอแต่จะให้ลุคมาช่วยเหลือไม่ได้ เราต้องต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตเองให้เป็น ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมดูแลคนที่เรารัก หนังสอนว่าเรามีพลังจะทำเช่นนั้นได้ อย่างที่เราได้เรียนรู้ความจริงจากปากลุคว่าฟอร์ซไม่ใช่ของเจได หรือซิธ ของคนแค่หยิบมือ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นของพวกเราทุกคน 

    การสิ้นสุดยุคของเจได ไม่ได้แปลว่าแสงแห่งความหวังจะดับมืดลง และชีวิตเราจะจบสิ้นแต่เพียงเท่านั้น ประกายไฟแห่งความหวังมันอยู่ในตัวพวกเราทุกคนเสมอ เพียงแค่เราเข้มแข็งพอที่จะจุด และสานต่อให้มันลุกลามไปยังคนอื่น ๆ สังคมมนุษย์จะดีขึ้นได้ก็เพราะเราช่วยกัน ไม่ใช่รอให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจตัดสินใจเปลี่ยนแปลง (ดังประเทศตัวอย่างที่คนกลุ่มเดียวมีอำนาจก็เห็นกันอยู่ว่าทำไม่ได้ แค่กๆ---)

    อาจารย์โยดาเองได้กลับมาเพื่อให้เราเห็นว่าลุคยังเป็นเด็กคนเดิมอยู่ไม่มากก็น้อย การที่ลุคยึดติดกับแค่ตำราศักดิ์สิทธิ์เก่า ๆ ของศาสนาเจได ทั้งที่ตนก็ไม่เคยได้อ่านมันด้วยซ้ำ ช่วยเตือนสติได้ดีว่าเรากำลังยึดติดกับแค่เปลือกนอกของบางสิ่งหรือเปล่า หัวใจสำคัญจริง ๆ ของสิ่งที่เรายึดมั่นในชีวิตคืออะไร ส่วนในหนัง คำถามก็คือความเป็นเจไดจะตายไปแค่เพราะตำราโดนเผาน่ะหรือ

    ย่อมไม่ใช่

    วิถีแห่งเจได และบทเรียนจากความล้มเหลวที่อาจารย์อย่างลุคได้ส่งต่อให้เรย์แล้วต่างหากที่ทำให้ศาสนาเจไดยังคงอยู่ต่อไป ตำรา พิธี หลักสูตรฝึกฝนอะไรก็ไม่เท่ากับตัวความรู้ที่จะนำเรย์ไปสู่หนทางการใช้พลังอย่างถูกต้องและเข้าใจ

    ลุคจึงไม่ใช่เจไดคนสุดท้ายอีกต่อไป

    และการกลับมารับมือกับไคโล เร็น ก่อนจากไปอย่างวีรบุรุษของลุค ก็เหมือนเป็นการปล่อยมือของตัวละครหลักจากไตรภาคเดิมเพื่อส่งไม้ให้ตัวละครรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

    ฮาน โซโลจากไปตั้งแต่ภาคก่อน ลุค สกายวอล์คเกอร์จากไปในภาคนี้ และเราคงไม่ได้เห็นนายพลเลอา ออร์กาน่าในภาคหน้าอีกแล้ว เพราะแคร์รี่ ฟิชเชอร์ได้จากเราไปตลอดกาล แต่ตลอดทางที่ผ่านมา พวกเขาได้ช่วยกันประคองป้องลมรักษาประกายไฟเอาไว้ และบัดนี้ก็ได้ส่งต่อให้เรย์ ฟินน์ โพ ได้ไปจุดแสงสว่างแห่งความหวังให้กับแกแล็กซี่ในภาค IX เรียบร้อยแล้ว

    สุดท้ายนี้ ก็ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกโปรดดลบันดาลให้เจ.เจ. เอบรัมส์ ผู้จะกำกับภาคสุดท้ายจบไตรภาคนี้ด้วยคุณภาพที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป และไม่บุลลี่นายพลฮักซ์อย่างที่ไรอัน จอห์นสันทำทีเถิด


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in