เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
whatfilmbehoramiji
Talk: The Killing of a Sacred Deer: ล้างแค้น กฎแห่งกรรม หรือความยุติธรรมตามใจพระเจ้า?
  • *บทความนี้สปอยล์เนื้อหาในภาพยนตร์จนสิ้น*






    .



    .



    .


    .


    .

    .

    .


    .



    .



    .



    .



    .



    หงุดหงิดไหม?

    (ไม่กล้าเล่นนานกว่านี้ กลัวคนอ่านหงุดหงิดจนปิดไปก่อน ฮา)

    แต่ยอร์กอส แลนธิมอสไม่กลัวเลยกับการแช่จอภาพสีดำล้วนเอาไว้นานแสนนาน พร้อมกับเพียงแค่เสียงดนตรีคลาสสิกซึ่งเล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์ ทิ้งให้เราเคว้งคว้างอยู่หลายชั่วอึดใจกว่าจะเผยภาพอวัยวะสำคัญของมนุษย์ที่เต้นดุบดับอยู่ในทรวงอกระหว่างการผ่าตัด นอกจากเกือบโมโหแล้วก็ได้แต่อุทานในใจว่า เขานี่ช่างเป็นผู้กำกับที่ไม่เคยกลัวและไม่เคยประนีประนอมกับคนดูเอาเสียเลยจริง ๆ - หรือยิ่งไปกว่านั้น - เขาสนุกกับการทำให้เราอึดอัดและหงุดหงิดงุ่นง่านหัวเสียกันตั้งแต่วินาทีแรกของหนัง


    "True Atmospheric Film"

    - หนังจั่วหัวเตือนเราตั้งแต่เริ่ม ว่าจะใช้บรรยากาศในการขับเคลื่อน -

    และมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ทุกอย่างในภาพยนตร์อาจจะดูปกติในตอนแรก - อย่างน้อยก็ปกติกว่าโลกใน The Lobster หนังเรื่องก่อนของแลนธิมอส ที่เขาสร้างโลกใหม่ขึ้นมาพร้อมกฎแปลก ๆ ซึ่งเรารับรู้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่านี่ไม่ใช่โลกธรรมดา ก็โลกบ้าอะไรคนหาคู่ไม่ได้จะต้องกลายเป็นสัตว์กันล่ะ - แต่กับ The Killing of A Sacred Deer  นี้ ทุกอย่างดูสมจริงกว่า โลกในหนังดูเป็นปกติชีวิตประจำวันที่พบเห็นได้ในหนังทั่วไปมากกว่า 

    จนกระทั่งเราเริ่มค้นพบสิ่งไม่ปกติที่แฝงตัวอยู่แบบเกือบจะเนียน...


    เริ่มตั้งแต่บทสนทนาชวนกระอักกระอ่วนใจแบบที่ในชีวิตจริงเราคงละไว้ไม่พูดถึงอย่าง 'ลูกสาวผมเพิ่งมีประจำเดือนเมื่อสัปดาห์ก่อน'  หรือ 'ขนรักแร้นายขึ้นหรือยัง' ซึ่งก็ได้รับปฏิกิริยาตอบสนองจากผู้ฟังเสมือนว่าเป็นหัวข้อสนทนาธรรมดาเช่นกัน และยังต่อบทสนทนากันไปแบบลื่นไหล อย่างที่มาร์ตินตอบบ็อบว่ามีแล้ว เมื่อบ็อบขอก็เปิดเสื้อให้ดูขนรักแร้กันเฉย ๆ ง่าย ๆ แล้วคิมเองก็พูดขึ้นมาว่าตนก็มีประจำเดือน และบลาๆๆ นั่นแหละ

    เราจะเห็นว่าตัวละครไม่ได้อึดอัดกับการพูดเรื่องเหล่านี้กันสักเท่าไร เพราะคนที่ต้องอึดอัดในสถานการณ์พวกนั้นก็คือคนดู อย่างที่ผู้กำกับตั้งใจไว้ต่างหาก ขณะที่บางคนอาจจะถึงขั้นหลุดขำออกมาเลยด้วยซ้ำ จะนับเป็นตลกหน้าตายก็ได้ (ส่วนเราติดอยู่ตรงกลาง จะขำก็ขำ จะขัดก็ขัด หงุดหงิดไปอีก หนังมันเล่นกับเราจริง ๆ)

    พอเจอบทสนทนาแบบนี้หลาย ๆ ครั้งเข้า เราจะเริ่มเข้าใจว่า ตัวถ้อยคำที่ตัวละครคุยกัน บางทีก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงเนื้อหาอะไรหรอก เขาแค่ใช้ไดอะล็อกน่าอึดอัดใจพวกนี้ เสริมบรรยากาศอันรบกวนจิตใจให้กับหนังเขาเท่านั้นเอง


    ต่อมา สถานที่ ฉากสำคัญอย่างโรงพยาบาล เขาก็เลือกใช้โรงพยาบาลที่กว้างขวาง เพดานสูงโปร่ง ตกแต่งทันสมัย แลนธิมอสอยากใช้สภาพโรงพยาบาลที่ดูโมเดิร์น ดูมีความพร้อมทางการแพทย์ทุกอย่าง ดูสะอาด ดูปลอดภัย ก็เพื่อเล่นกับความคิดเราอีกนั่นแหละ เพราะในขณะที่บรรยากาศมันดูเป็นวิทยาศาสตร์ ดูล้ำหน้าเทคโนโลยี ดูให้ความหวังในการรักษา แต่ยิ่งเวลาผ่านไป เรายิ่งพบว่ามันทำให้เราปลอดภัยน้อยลงทุกที ๆ เพราะมันช่วยอะไรลูก ๆ ที่ป่วยของดร.เมอร์ฟีไม่ได้เลย

    ช่างน่ากลัวอะไรเยี่ยงนี้

    __________


    "But so what if they're beautiful, they're lifeless."

    แต่ไม่ใช่ทุกไดอะล็อกจะไร้ความหมาย สักแต่สร้างความอึดอัดหรอกนะ อะไรที่ตั้งใจจะมีความหมาย ก็สื่อนัยยะได้ลึกถึงแก่นจริง ๆ

    เช่นคำพูดที่ชมว่ามือของคุณหมอสวย

    ตลอดทั้งเรื่อง เราโดนตอกย้ำความคิดที่ว่ามือของคุณหมอเมอร์ฟีสวยอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากแม่ของมาร์ติน(ที่...ถึงขั้นจูบและอม--) ไปยันมาร์ติน และภรรยาคุณหมอเอง ซึ่งเอามาเอ่ยในบริบทเย้ยหยันและถากถางทิ่มแทงใจสามี 

    "จะมีประโยชน์อะไรถ้ามันสวย แต่มันไร้ชีวิต"

    ใช่ มือของเขาสวย นุ่ม ขาว สะอาด
    แต่ขณะเดียวกัน มันเปื้อน 'เลือด'

    นอกจากเป็นหนังที่เปิดด้วยฉากการผ่าตัดหัวใจแบบโคตรเรียลจนน่ากลัวแล้ว หนังยังโยนสัญญะที่เป็นใจความของเรื่องมาแปะเอาไว้แต่ต้น หลังการผ่าตัดหัวใจ กล้องแช่ที่ภาพเสื้อคลุมและถุงมือผ่าตัดของคุณหมอเมอร์ฟีในถังขยะอยู่นานพอจะทำให้เราฉุกคิดได้ว่ามันมีนัยยะบางอย่างซ่อนอยู่ การถอดถุงมือผ่าตัดที่เปื้อนเลือดทิ้งเป็นสิ่งจำเป็นทั่วไปที่แพทย์ต้องทำ ใช่ ไม่แปลก 

    กระทั่งเรื่องราวค่อย ๆ เผยให้เราเข้าใจทะลุปรุโปร่งว่ามันไม่ใช่แค่นั้น มันกำลังล้อเลียนเสียดสีการกระทำของคุณหมอเมอร์ฟี ผู้ทำตัวเสมือนว่าการถอดถุงมือผ่าตัดได้ชะล้างเลือดที่เปื้อนมือตนออกไปพร้อมกันแล้วหลังการผ่าตัดแต่ละครั้ง

    เขาไม่รับผิดชอบอะไรแล้วตั้งแต่วินาทีนั้น 
    ผ่าตัดเสร็จ ถอดถุงมือเลือด ความรับผิดก็จบ

    (อย่างน้อยเขาก็บอกตัวเองอย่างนั้น)


    ทั้งที่ความจริง เลือดคนไข้บางรายยังติดมืออยู่
    เลือดของคนไข้ที่ตายบนเตียงผ่าตัด

    เท่าที่เรารู้, ก็พ่อของเด็กหนุ่มที่ชื่อมาร์ติน

    (ใครเล่าจะรู้ว่าเขาอาจเคยทำคนไข้ตายไปอีกกี่คนช่วงที่ยังติดเหล้า)

    แต่สตีเวน เมอร์ฟีหลอกตัวเองว่าเขาไม่ผิด


    "ศัลยแพทย์ไม่เคยทำให้คนไข้ตาย"

    - ดร. สตีเวน เมอร์ฟี -


    และนั่นก็เป็นต้นเหตุของเรื่องราวการล้างแค้นทั้งหมดที่เกิดขึ้น...

    __________

    Blood-for-Blood

    "เลือดต้องล้างด้วยเลือด"


    หลายคนที่ติดตามรอชม The Killing of a Sacred Deer น่าจะรู้อยู่แล้วว่ายอร์กอสหยิบยืมเค้าโครงเรื่องราวอย่างหลวม ๆ มาจากตำนานกรีกที่มีความตอนหนึ่งว่า อะกาเมมนอน ได้เผลอไปฆ่ากวางศักดิ์สิทธิ์ของเทพีอาร์เทมิสเข้า และเทพีต้องการชีวิตมาชดใช้ชีวิตนั้น เขาจึงต้องบูชายัญลูกสาวที่ชื่อ อิฟิจีนีอา เป็นการทดแทน ตามประสาหลักความยุติธรรมฉบับกรีกดั้งเดิม ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เลือดต้องล้างด้วยเลือด

    ในหนังมีการแทรกอีสเตอร์เอ้กเอาไว้ด้วยซ้ำ ตอนที่คุณหมอเมอร์ฟีไปที่โรงเรียนเพื่อสอบถามผลการเรียนและพฤติกรรมที่โรงเรียนของลูก ๆ แล้วคุณครู(หรือผอ.?) เล่าว่าคิมทำวิชาวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้ดี โดยเรียงความของเธอที่ได้คะแนน A+ เป็นเรื่อง "โศกนาฏกรรมของอิฟิจีนีอา" นั่นเอง

    ที่น่าสนใจก็คือตัวอะกาเมมนอนนั้นเป็นทายาทของเอทรีอัส ซึ่งตระกูลของเขานั้นต้องคำสาปเนื่องจากบาปแห่งการสังหารและกินลูก ๆ อะไรเทือกนั้น...


    "คำสาปแห่งตระกูลของเอทรีอัส"

    The Curse of the House of Atreus


    เรื่องราวของตระกูลนี้มันยาวจัดมาก ๆ จะเอาย่อ ๆ คร่าว ๆ สุด ๆ ก็คือ... (*สูดหายใจแบบมาร์ตินตอนจะอธิบายขั้นตอนก่อนตายของคนในครอบครัวคุณหมอ*)

    แผนผังตระกูลของเอทรีอัส

    ต้นตระกูลอย่างแทนทาลัส ได้ฆ่าเพลอปส์ บุตรของตนเพื่อเสิร์ฟเป็นอาหารให้เทพเจ้า แต่เหล่าทวยเทพรู้ทันจึงช่วยให้เพลอปส์คืนชีพ ส่วนแทนทาลัสถูกสาปส่งลงไปยังยมโลก

    เพลอปส์มีบุตรสองคนคือไธเยสเทส และเอทรีอัส ไธเยสเทสหักหลังพี่ชายด้วยการเป็นชู้กับเมียของพี่ เอทรีอัสจึงสังหารลูกของไธเยสเทส เชิญไธเยสเทสมาทานมื้อค่ำ และเฉลยว่าที่เอ็งกินไปน่ะ เนื้อลูกของเอ็ง ทีนี้ ไธเยสเทสจะแก้แค้นได้ก็แต่โดยทายาทรุ่นต่อไป เขาจึงมีลูกกับลูกสาวของตัวเอง และเกิดเป็นอีจิสธัส

    ลูกชายทั้งสองของเอทรีอัสอย่างอะกาเมมนอนและเมเนลอสจะค่อนข้างคุ้นหูเราเพราะมีบทบาทสำคัญในสงครามโทรจัน ซึ่งทั้งคู่นำสงครามมายังทรอย เพราะเจ้าชายแพรีสแย่งเฮเลน เมียของเมเนลอสไปนั่นเอง และอย่างที่บอกไปแต่ต้น อะกาเมมนอนใช้ลูกสาวอย่างอิฟิจีนีอาเป็นเครื่องบูชายัญเทพีอาร์เทมิส ให้หายพิโรธที่เขาไปฆ่ากวาง และบันดาลให้ลมกลับมาพัด ส่งทัพเรือกรีกเดินหน้าไปยังกรุงทรอย ผ่านไปสิบปี กรุงทรอยราบเป็นหน้ากลอง กรีกได้เฮเลนคืน อะกาเมมนอนกลับบ้าน

    เพื่อจะถูกภรรยาและชู้รักของเธอสังหาร

    ภรรยาของอะกาเมมนอน คือไคลเทมเนสตรา โกรธแค้นที่สามีหลอกลูกสาว(อิฟิจีนีอา)ไปฆ่า จึงเริ่มเป็นชู้กับอีจิสธัส(ลูกพี่ลูกน้องของอะกาเมมนอนและลูกชายของไธเยสเทส) เมื่ออะกาเมมนอนกลับบ้านหลังสงคราม ทั้งคู่ก็ปลิดชีพเขา แล้วหลังจากนั้น โอเรสเทส ลูกชายของอะกาเมมนอน ก็กลับบ้านมาสังหารมารดาของตนเพื่อแก้แค้นให้พ่ออีกที (โอ้ย อีครอบครัวเวรนี่)

    โอเรสเทสถูกตามล่าโดยพวกฟิวรีส์ อสุรีหัวเป็นงูจากยมโลกที่คอยลงทัณฑ์ผู้สังหารครอบครัวตัวเอง สุดท้ายโอเรสเทสถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีโดยมีเทพอะพอลโลเป็นทนายแก้ต่าง และเทพีอะธีน่าเป็นผู้พิพากษา โอเรสเทสพ้นผิด และคำสาปของตระกูลก็สูญสลายไปพร้อมกับการนั้น เปลี่ยนผ่านยุคสมัยของหลักความยุติธรรมแบบเลือดต้องล้างด้วยเลือด ไปสู่ยุคแห่งการปกครองด้วยกฎและกระบวนการพิจารณาคดี


    แต่ดูเหมือนคุณหมอเมอร์ฟีจะยังถูกพิพากษาโทษด้วยความยุติธรรมแบบกรีกดั้งเดิมอยู่นะ

    __________

    American's Sin

    "บาปของการทำนาบนหลังคน"

    นิโคล คิดแมน ในบทแอนนา และคอลิน ฟาร์เรล ในบทดร.สตีเวน เมอร์ฟี

    แน่นอน บาปของคุณหมอสตีเว่น เมอร์ฟี คือการทำคนไข้ตายบนเตียงผ่าตัด เพราะดื่มเหล้าก่อนทำการผ่าตัดและคงสติไว้ได้ไม่ครบถ้วนจนเกิดความผิดพลาดที่เป็นผลร้ายแรงถึงชีวิตคนไข้

    แต่หากมองให้ลึกลงไปอีกนิด จะพบอัจฉริยภาพในศิลปะแห่งการเสียดสีของยอร์กอสกันอีกแล้ว เพราะบาปของคุณหมอเมอร์ฟีในที่นี้ อาจเปรียบได้กับบาปของอเมริกันชน

    สตีเวน เมอร์ฟีมีหน้าที่การงานดี ๆ ทำให้มีบ้านหรู ๆ อยู่ เขามีภรรยาแสนสวยอย่างแอนนา มีลูก ๆ ที่น่ารักอย่างคิมและบ็อบ ชีวิตของเขาช่างดูสุขสมบูรณ์ไปเสียทุกอย่าง แต่ทั้งหมดนั่นไม่รู้ว่าแลกมาด้วยชีวิตคนไข้กี่คน ก่อนที่พ่อของมาร์ตินจะตาย (ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุให้เขาเลิกเหล้า มากกว่าที่แอนนา - หรือเขาอ้างกับแอนนา - ว่าเป็นเพราะค่าเอนไซม์ตับสูงเกินอะไรนั่น) เขาเป็นหมอที่ไร้ความรับผิดชอบ ทำการผ่าตัดโดยประมาททั้งรู้ว่าสติสัมปชัญญะตนไม่ครบถ้วนเพราะดื่มเหล้า แต่ก็ยังมีชีวิตดี ๆ มีหน้ามีตาอยู่ในสังคมได้อย่างไม่ยี่หระใด ๆ

    เช่นกัน อเมริกาเป็นชาติที่เจริญเฟื่องฟูอยู่ด้วยการทำนาบนหลังคน รุ่งเรืองบนกองซากศพและความตายของชนชาติอื่นมาตั้งแต่สร้างชาติจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การรุกรานและขับไล่ชนพื้นเมืองอเมริกัน ไปจนการใช้แรงงานทาสแอฟริกัน หรือแม้แต่ยุคสมัยใหม่ที่อ้างเรื่องสงครามก่อการร้ายเข้าไปยุ่มย่ามในตะวันออกกลาง สังหารมุสลิมในดินแดนนั้นไปไม่รู้เท่าไร ด้วยสถานะตำรวจโลกที่ไม่ได้มีใครเต็มใจหยิบยื่นให้ ทั้งที่แท้จริงแค่กำลังดูแลรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตัวเองก็เท่านั้น

    และบาปกรรมก็ได้ตามมาล้างแค้นเอาคืนแทนผู้เคราะห์ร้าย...

    หรือว่า

    เป็นฝีมือของพระเจ้ากันแน่นะ?

    __________

    God in the Flesh

    "พระเจ้าตัวเป็น ๆ"

    แบร์รี่ คีโอแกน ในบทมาร์ติน

    มาร์ตินปรากฏตัวครั้งแรกในภาพลักษณ์ที่ใสซื่อ สุภาพเรียบร้อย ขอโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่าแค่กับการมาสาย แถมยังมีน้ำใจด้วยการซื้อของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากลูก ๆ ของคุณหมอเมอร์ฟี แต่เมื่อหนังมาถึงจุดที่เฉลยว่าเขานั่นแหละเป็นผู้ 'ทำ' ให้ลูก ๆ ของคุณหมอป่วย เด็กหนุ่มผู้นี้ก็ดูน่ากลัวขึ้นเป็นทวีคูณ ยิ่งเมื่อเทียบกับความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาที่เขาแสดงให้เห็นมาก่อนหน้า และยังคงแสดงออกต่อไปเช่นเดิมด้วยแล้ว มันทำให้เราเดาทางไม่ถูก เพราะเขาไม่ได้ทำตัวเป็นปีศาจเพียว ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มาใส ๆ อย่างที่เห็นเช่นกัน

    นี่เป็นแค่วัยรุ่นที่มาล้างแค้นให้พ่อจริง ๆ?

    หรือว่าเขาคือพระเจ้า?

    God หรือพระเจ้า หรือเทพตามตำนานกรีกโบราณและอื่น ๆ นั้นมีลักษณะตรงกันคือเป็นผู้มีพลังเหนือธรรมชาติอย่างไร้ขีดจำกัด และมีคติคุณธรรมประจำใจเป็นของตัวเองเอาไว้ลงโทษมนุษย์ผู้ไม่ปฏิบัติตาม 

    **สังเกต... 'ความยุติธรรม' ที่แท้จริงนั้นเป็นที่ถกเถียงในทางปรัชญา และค่อนข้างเป็นอุดมคติ แต่ความยุติธรรมตามใจพระเจ้าตามตำนานเรื่องเล่าโดยเฉพาะปกรณัมกรีกนั้นมีอยู่จริงแน่นอน อะไรที่เทพเจ้าว่าถูก ท่านก็ตัดสินไปตามนั้น

    ทำไมมาร์ตินถึงเป็นพระเจ้า?

    (ซึ่งทำไมจะเป็นไม่ได้ล่ะ คนโสดยังจะกลายเป็นกุ้งล็อบสเตอร์ได้เลยในโลกของแลนธิมอส)

    เบาะแสแรก: พลังเหนือธรรมชาติ

    มาร์ตินไม่ได้จ้างพ่อหมอที่ไหนมาทำคุณไสย ใช้มนตร์ดำ ทิ่มตำตุ๊กตาวูดูด้วยเข็มเพื่อทำร้ายลูก ๆ ของสตีเว่นแน่ ๆ อย่างนั้นคงจะวุ่นวายน่าดู ถ้าจะต้องโทรไปสั่งจอมขมังเวทย์ให้ทำบ็อบเดินได้บ้าง ไม่ได้บ้าง งี้อะนะ ไม่น่าทันการ 

    พอบ็อบตื่นมาเดินไม่ได้ พ่ออุ้มไปตรวจที่โรงพยาบาล ระหว่างที่หมอตรวจ บ็อบก็ปกติทุกอย่าง หมอเอาเข็มจิ้มนิ้วเท้าก็รู้สึก ตรวจเสร็จก็เดินได้ปกติ จนกระทั่งพ้นมือหมอและพ่อ เด็กน้อยก็ล้มฟุบลงไปดื้อ ๆ เสียอย่างนั้น เป็นช็อตที่หลอนใจมาก น่าจะจำติดตากันอยู่


    นอกจากล้มทันทีที่พ้นมือหมอกับพ้นสายตาคุณพ่อ จนน่าจะชัดเจนว่าพลังที่สั่งให้เป็นอัมพาตนี่ค่อนข้างสั่งง่ายตามใจชอบแล้ว มุมกล้องในฉากนี้ก็ยังใช้มุมสูง(มาก) แบบที่เรียกได้ว่าเป็น God's View หรือมุมมองของพระเจ้าอีกด้วย ซึ่งน่าขนลุกมากเพราะมันให้อารมณ์ราวกับว่ามาร์ตินกำลังเฝ้ามองและรอคอยจังหวะนี้อยู่

    นอกจากสั่งให้ล้มเมื่อไรก็ได้
    ยังสั่งให้เดินเมื่อไรก็ได้ด้วย 


    ตอนที่ป่วยเป็นอัมพาตขาตามน้องชายไปอีกคน คิมได้รับโทรศัพท์จากมาร์ติน และเหมือนคิมจะได้รับคำบอกว่าให้ลองลุกขึ้นเดินดู ซึ่งเธอก็เดินไปที่หน้าต่างได้จริง ๆ พอมาร์ตินไปแล้ว เธอก็ยืนไม่ได้แล้ว ต้องให้แม่ช่วยพยุงขึ้นเตียงตามเดิม

    (นอกจากนี้ ตอนท้ายเรื่องที่เธอบอกให้มาร์ตินพยายามกว่านี้ เพื่อให้เธอกลับมาเดินได้จะได้หนีไปด้วยกัน ยิ่งชัดเจนมากว่าความสามารถที่จะทำให้ล้มป่วยหรือหายดีมาจากมาร์ตินล้วน ๆ และตอนนั้นที่เขาไม่ทำให้เธอเดิน เพราะเขาไม่ตั้งใจจะไปอยู่กับเธอแต่แรกแล้ว คิมโดนหลอกให้คิดไปคนเดียวแท้ ๆ พอเธอรู้แบบนั้นก็เลยกลัวขึ้นมา แล้วหนีไป)

    เบาะแสที่สอง: คำพูดในหนังที่ดู

    ค่ำที่มาร์ตินมัดมือชก(อย่างสุภาพอ่อนน้อมน่าเอ็นดู)ให้คุณหมอเมอร์ฟีมารับประทานอาหารเย็นที่บ้านและคะยั้นคะยอให้เขาดูหนังด้วยกันก่อนกลับ เสียงของหนังเล็ดลอดออกมาให้ได้ยินกันชัด ๆ อยู่เพียงไม่กี่ประโยค แต่ใจความของประโยคนั้น แฝงคำใบ้ที่ยืนยันว่ามาร์ตินคือพระเจ้าเอาไว้โต้ง ๆ เลยทีเดียว

    หนังที่เปิดดูคือเรื่อง Groundhog Day

    เสียงจากในหนังพูดว่า:

    "ฉันยืนยันได้ว่าคุณไม่ใช่พระเจ้า จากการอยู่โรงเรียนคาทอลิกมา 12 ปี..."

    "คุณแน่ใจได้ยังไงว่าผมไม่ใช่พระเจ้า..."


    (เล่นถามกันโต้ง ๆ แบบนี้เลย ยอร์กอสโว้ย)

    อะ อีกอัน อันนี้ตีความแล้วสรุปได้ลงตัวพอดี

    ในบทสนทนาระหว่างการกินสปาเก็ตตี้ของมาร์ติน กับแอนนา ภรรยาของคุณหมอสตีเว่น หลังจากเธอถามว่า ถ้าสามีของเธอทำการผ่าตัดผิดพลาด ด้วยความประมาทหรืออะไรก็แล้วแต่ ทำไมลูก ๆ ของเธอต้องชดใช้? ทำไมเธอต้องชดใช้? มาร์ตินไม่ได้ตอบคำถามนี้ตรง ๆ นอกจากบอกว่า มันใกล้เคียงกับความยุติธรรมที่สุดแล้วเท่าที่เขาพอนึกออก

    ซึ่งก่อนจะสรุปแบบนั้น มาร์ตินเล่าไปถึงเรื่องวิธีการกินสปาเก็ตตี้ ว่ามีคนบอกเขา 'กินสปาเก็ตตี้เหมือนพ่อเปี๊ยบ จิ้มส้อมลงไปแล้วม้วน ๆๆ ตักเข้าปาก ' แต่แน่นอน ต่อมาเขาค้นพบว่าทุกคนกินสปาเก็ตตี้แบบเดียวกันเป๊ะ เขาไม่ได้พิเศษกว่าใคร และเรื่องนั้นทำให้เขาหัวเสียยิ่งกว่าตอนที่รู้ว่าพ่อตายซะอีก

    เอาคืนเรื่องพ่อตายมันก็แค่เพื่อความยุติธรรม
    เขาหงุดหงิดเรื่องสปาเก็ตตี้มากกว่าอีก

    ทำไมแบบนั้น?

    ตรงนี้เรารู้สึกว่าหนังกำลังบอกใบ้อย่างรุนแรงว่าในโลกของหนังเรื่องนี้ สถานะของมาร์ตินคือพระเจ้าจริง ๆ และความยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่เขาต้องจัดให้มีขึ้น มันไม่ใช่แค่การล้างแค้นของคนเป็นลูกชายเท่านั้น -- คือมันใช่แหละ แต่ไม่ทั้งหมด -- เขาทำแบบนี้เพราะจำเป็นต้องทำ มันเป็นสิ่งถูกต้อง มันคือความยุติธรรมตาต่อตาฟันต่อฟันที่พระเจ้าต้องดลบันดาล อย่างที่เทพีอาร์เทมิสตัองการเอาคืนจากอะกาเมมนอน แบบ... 'เจ้าฆ่ากวางของข้า เจ้าต้องชดใช้ด้วยชีวิตซึ่งมีความหมายกับเจ้าเท่าเทียมกัน'

    ตลอดเวลาเขาจึงดูเยือกเย็นมากกับการแทรกซึมเข้าไปในครอบครัวเมอร์ฟี และรอเวลาที่สตีเวนจะทนไม่ไหวจนต้องลุกขึ้นมาฆ่าใครสักคนในบ้านเพื่อชดใช้กรรมของตัวเอง นั่นเพราะมันไม่ใช่แค่แค้นส่วนตัว แต่ยังเป็นหน้าที่ของเขาในการนำมาซึ่งความยุติธรรม เราจึงไม่เห็นเขาใช้อารมณ์กับมันอย่างที่ควร


    เบาะแสสุดท้าย: แอนนาจูบเท้ามาร์ติน

    จากไบเบิล ลูกา 7:36-50 เรื่องหญิงคนบาป

    ความตอนหนึ่งเล่าถึงหญิงคนบาปที่ 'มาร่ำไห้หลั่งน้ำตารดพระบาทแล้วเอาผมเช็ด จูบพระบาท และรินน้ำมันหอมชโลมพระบาทของพระองค์' 

    และบาปของนางก็ได้รับการอภัยจากพระเยซู

    บางทีแอนนาอาจจะรู้ซึ้งแล้วว่ามาร์ตินคือพระเจ้า และผู้เดียวที่จะช่วยให้ครอบครัวตนรอดพ้นจากวิกฤตินี้ เธอจึงดูแลบาดแผลของมาร์ตินเป็นอย่างดี และจุมพิตเท้าของเขาเป็นเชิงอ้อนวอนขอได้รับการอภัยจากบาปทั้งปวง (แม้ว่ามันจะไม่ใช่บาปที่เธอก่อเองก็ตาม)

    __________

    Actual Accountability

    "ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด"

    (ก็ปิดไม่มิด...)

    ทำคนตาย จะเอาพลาสเตอร์มาแปะไม่ได้นะ!

    คงเป็นสิ่งที่มาร์ตินอยากจะบอก

    ถ้าจะมีฉากไหนน่ากลัวกว่าการเปิดเรื่องด้วยหัวใจถูกผ่าตัด หรือการกินสปาเก็ตตี้ที่ชวนหงุดหงิด ก็คงเป็นฉากตึงเครียดระหว่างคุณหมอเมอร์ฟีกับมาร์ตินช่วงที่ถูกจับตัวมานี่แหละ นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่ามาร์ตินกัดเนื้อตัวเองทิ้งได้แบบโคตรสยดสยองแล้ว บทสนทนาและอุปมาอุปมัยอันแสนชาญฉลาด แยบยลคมคายในฉากนี้ก็กรีดเนื้อเถือหนังกันลึกถึงขั้วหัวใจจริง ๆ

    มาถึงจุดนี้ สตีเวนก็ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด

    มาร์ตินจึงต้องยกตัวอย่างให้เขาเห็นเป็นรูปธรรม (ที่มาเป็นชิ้นเนื้อ--) ด้วยการกัดแขนคุณหมออย่างจัง แล้วถามประชดประชันว่า

    'ให้ผมขอโทษไหม? หรือให้ลูบแผลดีไหม? คงไม่ดีสิ ไปยุ่งกับแผลที่ยังเปิดอยู่น่ะ...'


    มาร์ตินกำลังถากถางว่าการขอโทษหรือลูบแผลน่ะ มันไม่ได้ทำให้คนเจ็บรู้สึกดีขึ้นหรอก คนสร้างแผลต่างหากที่รู้สึกดีกับตัวเองขึ้น รู้สึกผิดน้อยลง สิ่งที่สตีเวนทำ การให้เวลากับมาร์ติน (แอบนัดเจออย่างกับเมียน้อย...) ได้ทำตัวเหมือนเป็นพ่อให้แทนในบางเวลา มันก็แค่ทำให้สตีเวนรู้สึกเหมือนได้รับผิดชอบต่อการทำให้มาร์ตินสูญเสียพ่อแล้ว ทั้งที่ความจริงในมุมมองของผู้สูญเสีย เขายังไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลยสักนิด (ตรงกันข้าม...พยายามจะกลบเกลื่อนความผิดด้วยการทำดีด้วยซ้ำ)

    นอกจากไม่ช่วยเยียวยาแล้ว การลูบแผลดีแต่จะยิ่งทำให้มันแย่ลง ทำให้แผลเปิดมากขึ้น เหวอะหวะขึ้น เหมือนไปขยี้ซ้ำให้น่าเจ็บช้ำและคับแค้นใจยิ่งขึ้น จนมันไปถึงจุดวิกฤติอย่างที่มาร์ตินบอก เขารู้ว่าสักวันต้องมาถึง

    มาร์ตินย้ำอีกว่า ทางเดียวที่สตีเว่นจะรู้สึกดีขึ้น คือเขาต้องโดนกัดเหมือนกัน

    ทางเดียวที่ผู้สูญเสียจะรู้สึกดีขึ้น คือฝ่ายผู้กระทำต้องสูญเสียเท่ากัน

    เพราะอย่างที่บอก สตีเว่นยังไม่ได้รับผิดชอบต่อการตายของพ่อมาร์ตินแบบจริง ๆ เลยสักนิด และมันเป็นสันดานของเขาด้วย สังเกตจากแต่ละการกระทำ แต่ละคำพูดตลอดเรื่อง ผู้ชายคนนี้คือตัวอย่างของคนในสังคมประเภทข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง คือฉากหน้าดูดีมีสกุล เป็นศัลยแพทย์หัวใจ ฐานะดี ครอบครัวดี ๆ แต่จิตใจกลับบิดเบี้ยว เป็นพวกปัดความรับผิดชอบดี ๆ นี่เอง

    นอกจากทำความผิดใหญ่หลวงแบบทำให้คนไข้ตายแล้วพยายามปกปิด (ถึงขั้นหลอกตัวเองซ้ำ ๆ ว่าคนเป็นศัลยแพทย์ไม่ผิด จนเชื่อในคำโกหกนั้นว่าเป็นจริง) เขายังเป็นพวก "โทษผู้อื่นแลเห็น เป็นภูเขา โทษของเราแลไม่เห็น เท่าเส้นผม" อีกด้วย

    อย่างตอนที่โรงพยาบาลยืนยันว่าทำอะไรไม่ได้แล้วจริง ๆ ส่งเด็ก ๆ กลับไปอยู่บ้านจะดีกว่า สตีเวนก็ถึงกับด่าหัวหน้าโรงพยาบาลว่าควรจะรู้สึกล้มเหลวโดยสิ้นเชิงนะ เป็นคุณผมคงนอนหลับไม่สนิทกันเลยทีเดียว (ทำอีกฝ่ายหน้าเจื่อน หันไปราตรีสวัสดิ์แอนนาเพียงผู้เดียว) ในขณะที่ตัวเองเป็นต้นเหตุของการที่ลูกต้องมารับกรรมทั้งหมด จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ยอมรับเลย! (ไม่เคยขอโทษลูกเมียด้วยซ้ำ! ตอนถูกภรรยาด่าเรื่องลูกกำลังตายแต่อยากกินมันบด ก็ยังไประเบิดอารมณ์ใส่ภรรยาอีก คนอะไรวะเนี่ย)

    __________

    Late Regret

    "คิดได้เมื่อสายเกิน"

    และหนังไม่ได้โฟกัสความผิดสตีเวนคนเดียว

    หนังไม่ได้ต้องการสอนเรื่องความรับผิดชอบให้คนเป็นหมอเท่านั้น แต่ยังเล่นถึงความรับผิดชอบของมนุษย์ตั้งแต่วัยเด็กเลย ในฐานะลูกและนักเรียน สำหรับเรา ฉากที่คุณหมอเมอร์ฟีไปที่โรงเรียน สอบถามเรื่องผลการเรียนและพฤติกรรมที่โรงเรียนของลูกทั้งสอง เพื่อจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าควรจะเก็บลูกคนไหนไว้นี่มันน่ากลัว น่าตกใจมาก ๆ 

    แบบ...เหี้-- เอ๊ย เอางี้เลยเหรอวะ

    ใครจะไปคิดว่าคนเป็นพ่อจะใช้เรื่องที่โรงเรียนมาตัดสินความเป็นความตายลูก ๆ แบบนี้ เด็ก ๆ คงไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งไอ้สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติไปวัน ๆ ที่โรงเรียน มันจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองได้เจ็บแสบ (แม้จะโชคดีที่ผลงานพอ ๆ กันทั้งคู่จนคุณครูก็เลือกให้พ่อไม่ได้ก็เถอะ)

    #ดีนะนี่เรียนจบแล้วเลยกลัวน้อยหน่อย #เดี๋ยว

    แต่พฤติกรรมที่บ้านก็ย้อนกลับมาเล่นงานอยู่ดี


    บ็อบโดนพ่อบ่นให้ตัดผม แต่ก็ผัดวันประกันพรุ่ง พ่อให้ช่วยรดน้ำต้นไม้ก็ขี้เกียจ บ่ายเบี่ยงขอพาหมาไปเดินเล่นแทน แต่พอถึงเวลาที่พ่อกลายเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของตนไว้ในมือ แม้จะเดินไม่ได้ก็ยังอุตส่าห์คลานไปเอากรรไกรมาตัดผม ป้อยอพ่อด้วยการบอกว่าอยากเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจอย่างพ่อ (ทั้งที่จริง ๆ รักแม่มากกว่าและอยากเป็นจักษุแพทย์ตามแม่) แถมยังจะไปรดน้ำต้นไมัให้อีก 

    มันคือการพยายามมีความรับผิดชอบในวันที่สายจริง ๆ 


    ในส่วนของคิม เหมือนจะไม่ต้องกังวลอะไรมาก เพราะพ่อแสดงออกว่ารักมากกว่าลูกชายอยู่แล้ว (เช่น ตอนกินไม่ลงก็ไม่บังคับ ไม่โดนโดนัทยัดปากแบบบ็อบ...) แต่ก็เจือกทำพลาดด้วยการหลงรักศัตรูของบ้านอย่างมาร์ติน และคิดว่าจะได้หนีไปอยู่กับเขา

    แน่นอน คิมรู้ก่อนใครเพื่อนในบ้านว่าครอบครัวจะโดนอะไร ตั้งแต่ที่น้องเดินไม่ได้ คิมกลับจากไปเที่ยวกับมาร์ติน (เธอน้ำตาไหลตอนซบหลังซ้อนท้ายมอไซค์มาร์ตินด้วยซ้ำ น่าจะรู้ชะตากรรมดี) เธอถามแม่ว่ารู้สึกยังไง ด้วยสีหน้าแปลก ๆ ซึ่งน่าจะเพื่อหยั่งเชิงว่าแม่เริ่มป่วยตามน้องแล้วรึยังนั่นแหละ

    คิมเริ่มเย็นชาใส่แม่และน้องถึงขนาดที่พูดกับแม่หน้าตาเฉยว่ามันไม่สลดขนาดนั้นหรอก เดี๋ยวแม่ก็ชิน หรือบอกน้องว่าพอตายแล้ว พี่ขอเครื่องเล่น mp3 นะ เพราะมั่นใจว่าจะได้ไปอยู่กับมาร์ติน แต่พอหวยออกว่ามาร์ตินไม่ได้คิดจะหนีไปกับเธอเลย ก็เลยสติแตกรีบหนีออกจากบ้าน

    พอพ่อตามเจอ ก็เริ่มหาทางเอาตัวรอดด้วยการตอแหลใส่พ่อทันที ทำเป็นบอกให้ฆ่าตัวเองซะ เพื่อปกป้องแม่กับน้อง บอกว่าพ่อเป็นนาย เป็นผู้ให้ชีวิต มีสิทธิ์ที่จะเอาคืนแต่ผู้เดียวก็ถูกต้องแล้ว สารพัดถ้อยคำโวหารพรรณนามาแบบ... อิหนูลูก วิญญาณอิฟิจีนีอาเข้าสิงใช่ไหมจ๊ะ 


    ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ไม่แปลกใจกับพฤติกรรมของยัยหนูคิมสักเท่าไร ในเมื่อพิจารณาจากคนเป็นพ่อเป็นแม่แล้ว แน่นอน ความตอแหลน้ำไหลไฟดับนี่ก็ได้พ่อมาชัด ๆ (อย่างตอนมาร์ตินไปหาที่โรงพยาบาล แล้วแมทธิวมาเจอเข้า ก็โกหกเป็นวรรคเป็นเวรว่าเป็นเพื่อนลูก เจอที่ห้าง มาทำอะไรที่นี่เสร็จสรรพ หรือการโกหกภรรยาว่าพ่อมาร์ตินตายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนตื ชนเสาไฟ ตายคาที่ ได้ภายในเสี้ยววินั่นแหละ)

    ส่วนคนเป็นแม่ที่ดูเหมือนรับกรรมหนักสุด แท้จริงก็เป็นคนจิตใจเย็นชาไม่แพ้กันหรอก อย่างตอนที่มาร์ตินเตือนว่าจะทำอะไรให้รีบทำ เพราะบ็อบใกล้จะตายแล้ว สิ่งที่เธอทำกลับเป็นการเอาใจสตีเว่น ด้วยการทำท่า "โดนยาสลบ" เปลือยกายนอนนิ่งบนเตียงแบบที่ทำให้สามีมีอารมณ์ (แต่เผอิญว่าสตีเว่นเครียดเกินจะมีเซ็กซ์) เธอก็เป่าหูเขาแทนด้วยการบอกว่าควรฆ่าลูก เพราะทั้งเขาและเธอยังมีลูกด้วยกันอีกได้ไม่เป็นไร

    เห้ย มันไม่เป็นไรจริงเหรอแกร
    ลูกก็ชีวิตหนึ่งนะ ฆ่าทิ้ง ผลิตแทนกันง่าย ๆ งี้?

    คือเห็นแก่ตัว เอาตัวรอดไม่ให้ตัวเองโดนฆ่ากว่านี้ไม่มีอีกแล้ว คุณพระคุณเจ้า

    เอาจริง ๆ ครอบครัวนี้มันดูสมบูรณ์งดงามแต่ภายนอก ทว่าแห้งแล้งว่างเปล่าทางจิตใจกันเสียเหลือเกิน

    __________

    Doctor's Dilemma

    กลืนไม่เข้า คายไม่ออก

    จุดจบของโศกนาฏกรรมครอบครัวที่คนเป็นพ่อบังอาจไปฆ่ากวาง เอ๊ย ฆ่าพ่อของมาร์ตินนี้ ก็ยังคงคอนเซปต์ของการเป็นแพทย์ที่เอามาใช้ดำเนินเรื่องได้สอดรับกันดีเยี่ยม เพราะจะลองใช้ผลการเรียนลูกก็แล้ว อะไรก็แล้ว ก็ยังหาทางออกโดยไม่สูญเสียไม่ได้ บทสรุปจึงลงท้ายด้วยการเสี่ยงดวง ควงปืนใต้หน้ากากไอ้โม่ง ลุ้นเอาว่าใครจะโดนยิงตาย เพื่อยุติโรคร้ายที่กัดกินครอบครัว


    มันน่าเศร้าสลด แต่ก็สมควรแก่กรรมที่สตีเว่นได้ก่อเอาไว้ ตอนมีโอกาส 'เลือก' ที่จะรักษาคนไข้ด้วยความรับผิดชอบ ดันไม่เลือก พอถึงเวลาต้องเลือกให้ใครสักคนในบ้านตาย ก็เลยเลือกไม่ได้

    ความน่าสนใจอยู่ที่ ในวงการแพทย์ มันมีเคสที่เปรียบเทียบได้เห็นภาพง่าย ๆ อยู่ เช่น การที่เด็กฝาแฝดต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่อวัยวะนั้น มีจากพ่อเข้ากันได้แค่คนเดียว และไม่มีผู้บริจาคเพิ่ม โดยปกติแล้วแพทย์ก็จะเลือกทำการปลูกถ่ายให้กับคนที่มีโอกาสรอดมากกว่า หรือต้องการการรักษาเร่งด่วนกว่าเพราะเสี่ยงจะตายก่อน

    แต่ถ้าโอกาสมีเท่ากัน และพิจารณาสภาวะทางสุขภาพ และโอกาสในการหายดีแล้ว ทุกอย่างมีเท่ากันจนเลือกไปเลยไม่ได้ นักปรัชญาอาเธอร์ เชเฟอร์ก็แนะนำให้แพทย์เสี่ยงทายด้วยการโยนเหรียญ: 

    ไม่ต่างอะไรกับสตีเว่นที่ต้องคลุมหัวตัวเอง แล้วเสี่ยงลั่นไกเอาว่าจะโดนใครในบ้านตาย เขาถูกบีบให้ต้องใช้หนทางนี้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่หลายครั้งแพทย์ใด ๆ ในโลกก็มีโอกาสประสบพบเจออยู่เสมอ นับว่าเป็นการตบท้ายด้วยตลกร้ายจนหยดสุดท้ายจริง ๆ


    (แต่เอาจริง ๆ นะ ทำไมรู้สึกว่ารอบสุดท้ายที่หมุน สีหน้าสตีเว่นเหมือนฉุกคิดอะไรบางอย่างได้ แล้วตอนหยุดหมุนก็เหมือนจงใจหยุดยืนตรงทิศที่บ็อบนั่งอยู่ก็ไม่รู้...)

    (ซึ่งพอคิดดี ๆ จากการที่รักลูกสาวมากกว่า และภรรยาก็เพิ่งเป่าหูว่าลูกมีใหม่ได้ บวกกับบ็อบใกล้ตายอยู่แล้ว มันก็มีโอกาสไม่น้อยที่โชคร้ายของตาหนูจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ...)

    (สรุปแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่า พ่อสั่งให้ตัดผมก็เชื่อฟังกันบ้างสิ! #ถรุ้ย)

    __________


    And Lanthimos's Myths Just Never End

    เอาจริง ๆ แล้วฉากจบของเรื่องก็ยังเป็นอะไรที่เลวมากสมกับเป็นหนังของยอร์กอส คือจบแบบไม่จบ จบแบบไปตีความเอาเองว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น สีหน้าของแต่ละคนในครอบครัวเมอร์ฟีตอนหันกลับมามองมาร์ตินนี่เดาอารมณ์กันยากจริง ๆ

    บางทีมันอาจจะเป็นข้อความสุดท้ายที่สื่อว่าเรื่องไม่จบแค่นี้แน่ แค้นที่แกทำกับครอบครัวเราต้องเอาคืน...

    แล้วสุดท้ายทุกอย่างก็กลับเข้าวงจรความยุติธรรมแบบเลือดต้องล้างด้วยเลือดกันต่อไป

    เหมือนอย่างคำสาปแห่งวงศ์วานของเอทรีอัส.


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
kwktr3890 (@kwktr3890)
วันนี้ดูเก็ทบ้างไม่เก็ทบ้าง พอมาอ่านรีวิวของคุณ อยากกลับไปเก็บรายละเอียดอีกรอบเลยค่ะ
ชอบการพยายามเอาตัวรอดของทั้งแม่และลูกสองคน ถ้าเป็นครอบครัวอื่นคงนอนกอดกันร้องไห้ไปแล้ว ส่วนครอบครัวนี้ไม่ค่ะ ใครดีใครได้ 555 เป็นครอบครัวที่ดูดีแต่เปลือกนอกจริงๆ ส่วนตัวคิดว่าสตีเว่นจงใจยิงบ็อบแน่นอน เพราะมีประโยชน์กับตัวเองน้อยที่สุด สมเป็นสตีเว่นดี so lifeless
ขอบคุณที่เขียนรีวิวดีๆให้ได้อ่านกันนะคะ
janieishappy (@janieishappy)
เขียนดีมากกกกก คุณเป็นคนเขียนรีวิวคนแรกเลยนะที่ทำให้เราอยากดูหนังเรื่องนี้ 55555555