***บทความนี้สปอยล์เนื้อหา A Ghost Story ตามสมควรแก่เวลาและพื้นที่***
ความรู้สึกแรกหลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ คือ "ติด"
ติดแบบ 'stuck' นะ ไม่ใช่ติดแบบ 'addicted to'
คงเป็นผลสืบเนื่องมาจากอาการติด (trapped) ระหว่างดูนั่นแหละ
ถือว่าผู้กำกับเดวิด ลาวเออรี่ ทำสำเร็จในระดับหนึ่งทีเดียว
เพราะ A Ghost Story เป็นหนังเกี่ยวกับตัวละครที่ติดอยู่ในที่แห่งหนึ่ง
เรื่องธรรมดาอย่าง "ผีสิงบ้าน" (บ้านผีสิง?) ที่ถูกเล่าในมุมมองใหม่
มุมมองของเจ้าผีผ้าปู...
แฮ่
"What is it you like about this house so much?"
"History."
ตอนที่ M นางเอกของเรา (รูนีย์ มารา) ถามว่า ติดใจ
ห่าอะไรกับบ้านหลังนี้นัก? แล้ว C (เคซีย์ แอฟเฟล็ค) หนุ่มนักดนตรีผู้ติดบ้านและไม่อยากย้ายไปไหน ก็ตอบว่าเรื่องราวของมัน อาจเรียกได้ว่าเป็นการสะท้อนถึงจุดเริ่มต้นการเดินทางของหนังเรื่องนี้ เพราะเดวิด ลาวเออรี่ ผู้กำกับและเขียนบท บอกไว้ว่า ทุกอย่างเริ่มมาจากความรู้สึกหงุดหงิดที่ตัวเขาต้องย้ายออกจากบ้าน ซึ่งเขาและภรรยาไม่ได้ซื้อด้วยซ้ำ มันเป็นแค่บ้านเช่าเล็กๆ แต่มันเป็นบ้านหลังแรกที่เขากับภรรยาย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันหลังแต่งงาน มันจึงมีความหมายกับเขามาก เขาไม่อยากย้ายไปไหน ความรู้สึกยึดติดตรงนี้เองที่เขาจับมาเขียนบทและสร้างเป็น A Ghost Story เพื่อสำรวจเรื่องราวตรงนั้น
(source: David Lowery Talks About "A Ghost Story")
เรื่องราวของ 'ผี' ที่ติดอยู่ในบ้านของตัวเอง
หลังจาก C ตาย เขากลายเป็นผีใต้ผ้าปูเตียงสีขาวตามแบบฉบับผีน้อยคลาสสิกที่เราวาดสมัยเด็ก เมื่อหนังดำเนินไปถึงจุดที่ M เก็บของย้ายออกจากบ้าน เราจึงได้เข้าใจแจ่มชัดว่าเจ้าผีผ้าปูไม่ได้ตามติดคนรักของตัวเอง แต่เป็นบ้านของพวกเขาต่างหาก "พื้นที่" ตรงนั้น คือสิ่งที่เจ้าผียึดติด
เจ้าผีผ้าปูระหว่างทางเดินกลับบ้าน
ทำไมผียึดติดกับที่นัก?
โลกมีหนังมากมายเกี่ยวกับบ้านผีสิง เกี่ยวกับผีที่สิงอยู่ในบ้านเพราะเคยเป็นเจ้าของ และยังคงถือสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในบ้านหรือผืนดินแห่งนั้นด้วยการหลอกหลอนคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ให้ย้ายออกไป เช่นกัน ตอนมีชีวิตอยู่ C ติดบ้านยังไง ตอนตายไปเป็นผีผ้าปูก็กลับมาติดบ้านอย่างนั้น
เราอาจคุ้นเคยกับความคิดว่าผีมีอิสระ
ไปไหนมาไหน ทะลุผนัง หน้าต่างประตูยังไงก็ได้
แต่ผีจำนวนไม่น้อยถูกนำเสนอในภาพที่ไม่อาจไปไหน
เช่นเดียวกับเรื่องนี้ ผีติดกับอยู่ในบ้านตัวเอง ไม่มีอะไรทำ
คุยกับใครก็ไม่ได้ (นอกจากผีบ้านใกล้เรือนเคียง)
ผีผ้าปูขาวทักทายกับผีผ้าปูลายดอกข้างบ้าน
เจ้าผีติดอยู่ในบ้าน ผ่านวันเวลาไปอย่างเหงาหงอย เกรี้ยวกราดกับคนมาอยู่ใหม่ และกลับมาเหงาหงอยวนไป... กระทั่งวันหนึ่ง จู่ๆ รถเครนก็มาจ้วงเอาผนังบ้านของเจ้าผีไปต่อหน้าต่อตาเรา แล้วบ้านแสนรักทั้งหลังก็กลายเป็นแค่เศษซากไม้กองพะเนินให้เจ้าผีผ้าปูผู้น่าสงสารยืนเคว้งกลางทุ่ง ขณะพื้นที่ตรงนั้นถูกดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเป็นอาคารจอดรถไปแทน
บ้านไม่เหลือแล้ว แต่เจ้าผียังอยู่ที่นั่น
เพราะเขายึดติดกับ "พื้นที่" (space) ไม่ใช่ "สถานที่" (place)
เราคงเคยได้ยินว่าที่นั้นที่นี้มีผีเพราะเคยเป็นอย่างอื่นมาก่อน โรงเรียนนี้สร้างทับโรงพยาบาลเก่า บ้านหลังนั้นสร้างทับเขตสุสานเก่า บริเวณที่ตึกโน้นตั้งอยู่เคยเป็นสนามรบ ฯลฯ นั่นแหละ หนังกำลังพูดถึง "พื้นที่" ในเชิงรูปแบบ ไม่ใช่กายภาพ เนื้อที่ว่างซึ่งเรารับรู้ด้วยความรู้สึก ไม่ใช่การสัมผัสจับต้อง
ผีผ้าปูยืนหงอยกลางเขตก่อสร้างที่เคยเป็นบ้านของตัวเอง
แล้วทำไมผีไม่ติดอยู่ในเส้นเวลา?
หลังจากบ้านโดนรื้อถอนทำที่จอดรถอะไรสักอย่าง เจ้าผีผ้าปูก็ถึงกับฆ่าตัวตายซ้ำด้วยการโดดลงมาจากความสูงตึกนั้น แน่นอนว่ามันตายอีกไม่ได้ สิ่งที่เจ้าผีโดดข้ามไปไม่ใช่มิติพื้นที่ แต่เป็นมิติเวลา เจ้าผีผ้าปูไปโผล่ในช่วงเวลาที่เพิ่งมีคนย้ายมาตั้งรกราก เริ่มสร้างบ้านในแถบที่ดืนผืนนั้นใหม่ ๆ
กำลังตอกเสาบ้านกันเลยทีเดียว
แม้จะติดอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็น/เคยเป็นบ้าน แต่เจ้าผีกลับไม่ติดอยู่ในเส้นเวลาเหมือนกับคนเป็น ที่ใช้คำว่า "เส้นเวลา" เพราะในทางหนึ่งเจ้าผียังติดอยู่ในกรอบ "เวลา" เพียงแต่มันไม่ใช่เชิงเส้นตรงแบบเวลาของคนเป็นเท่านั้นเอง เจ้าผีได้โดดไปเห็นช่วงเวลาที่คนเริ่มสร้างบ้าน จนครอบครัวนั้นตายไป จนมีการสร้างบ้านเป็นหลัง และได้เห็นคู่รักที่มาดูมาซื้อบ้าน ซึ่งก็คือ C กับ M ในอดีตนั่นเอง
"เวลา" ของเจ้าผีวนซ้ำเป็นวัฏจักร
เจ้าผีนั่งจุ้มปุ๊กมองตัวเองสมัยยังมีชีวิต ก็เป็นภาพที่น่ารักระคนหม่นหมองแปลก ๆ ดี
___________
ก่อนจะตอบคำถามว่าทำไมผีถึงติดอยู่ในพื้นที่และเวลา
เราไปเข้าใจ "พื้นที่" และ "เวลา" กันแบบลึก ๆ อีกสักหน่อย
Kant's Space & Time
อิมมานูเอล คานต์ นักปรัชญาชาวเยอรมัน ในยุคศตวรรษที่ 18 มีแนวคิดทฤษฎีที่น่าสนใจซึ่งเสนอว่า พื้นที่และเวลานั้นไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงอุดมคติ พื้นที่และเวลามีอยู่ในความคิดของเรามากกว่าที่จะอยู่ในความเป็นจริง (source: Kant – Space & Time (a priori))
พื้นที่ คือรูปแบบของความรับรู้ภายนอก เช่น เราเห็นบ้านอยู่ห่างออกไปสิบเมตร
เวลา คือรูปแบบของความรับรู้ภายใน เช่น เรารู้สึกเศร้าใจในเวลานี้ (แต่เราไม่รู้ว่าความรู้สึกอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกาย)
สรุปง่าย ๆ ว่าพื้นที่และเวลาเป็นรูปแบบของความรับรู้ที่ช่วยให้ประสาทสัมผัสของเราเข้าใจ "วัตถุ" ซึ่งอยู่ในพื้นที่และเวลาได้นั่นเอง พื้นที่และเวลาไม่ใช่คุณสมบัติที่ติดกับตัววัตถุ แต่ตัววัตถุต่างหากที่ต้องอาศัย "พื้นที่" และ "เวลา" ในการปรากฏตัวและเข้ามาอยู่ในขอบข่ายความรู้สึกของเรา
บางทีผีอาจจะยึดติดกับพื้นที่เพราะเหตุนั้น
เจ้าผียังต้องการที่จะ "มีตัวตน" อยู่
__________
"We build our legacy piece by piece and maybe the whole world will remember you or maybe just a couple of people,
but you do what you can to make sure you're still around after you're gone."
"เราสร้างมรดกของเราอย่างประณีตบรรจง และบางทีทั้งโลกอาจจดจำคุณหรืออาจมีแค่ไม่กี่คนที่จะจำ แต่คุณทำทุกอย่างที่คุณทำได้เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะยังคงอยู่ หลังจากตายไปแล้ว" เป็นถ้อยคำส่วนหนึ่งจาก monologue ยืดยาวหลายนาทีของแขกในปาร์ตี้ ซึ่งจัดขึ้นที่บ้าน(ซึ่งเคยเป็น)ของ C&M ในช่วงเวลาหนึ่งหลังจาก M ย้ายออกไปนานแล้ว และเจ้าผีผ้าปูก็ได้เฝ้าสังเกตปาร์ตี้นี้ไปตามประสาผีสามัญประจำบ้าน
ใจความสำคัญของมันคือการเป็นที่จดจำนั่นแหละ
เราอยากสถิตอยู่ในความทรงจำของคนที่เรารัก...เป็นอย่างน้อย
เรายังอยากมีตัวตน แม้ในวันที่เราจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม
และสิ่งที่ทำให้เจ้าผียังมีตัวตนวนเวียนอยู่ใกล้คนรักได้ก็คือ "พื้นที่" นั้น
ในบ้านของพวกเขาที่มีความหลังมากมายร่วมกัน
แต่แล้ว "เวลา" ก็ทำให้เจ้าผีผ้าปูเริ่มรู้จักการปล่อยวาง
เมื่อเจ้าผีได้ย้อนกลับไปในช่วงเวลาอันไกลโพ้นสมัยมีคนมาตั้งรกรากสร้างบ้าน ในครอบครัวที่เจ้าผีได้เฝ้าสังเกตดูนั้น มีเด็กผู้หญิงที่ชอบฮัมเมโลดี้อันคุ้นหูเขา และเขียนโน้ตซ่อนไว้ใต้ก้อนหิน เจ้าผีผ้าปูเกือบจะรู้สึกผูกพันกับเธอจนกระทั่งเธอตายไป ครอบครัวนั้นตายไป เขาจึงได้เรียนรู้ที่จะยอมรับว่าไม่มีอะไรเป็นของเขาโดยจริงแท้แม้สักอย่าง ตลอดทั้งเรื่องทุกสิ่งคอยแต่จะถูกพรากไปจากเขา ทั้งหมดก็เพื่อให้เขาได้เข้าใจตรงนี้ และรู้จักการปล่อยวาง
"A writer writes a novel,
a songwriter writes a song,
we do what we can to endure."
ผู้กำกับ
เดวิด ลาวเออรี่กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างงดงามว่า "ไม่มีอะไรเป็นของเขาคนเดียวเลยสักอย่าง แม้แต่ครอบครัวที่มาตั้งรกรากตรงนั้นก็ไม่ใช่เจ้าของที่ดินเช่นกัน ไม่มีใครในหนังเรื่องนี้อ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของโดยเด็ดขาดในอะไรได้เลย สิ่งต่าง ๆ ถูกพรากไปจากพวกเขาเสมอ
เพราะไม่มีอะไรที่เป็นของเราโดยแท้จริง วัฏจักรธรรมชาติของประวัติศาสตร์ค่อย ๆ คลี่คลายสัจธรรมนี้ออกมา ทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นและล่มสลายลงเพราะไม่มีอะไรยั่งยืนถาวร"
บ้านหลังนั้นถูกสร้างขึ้น ถูกทิ้งร้าง ถูกรื้อออกไป เจ้าผีผ้าปูได้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในบ่วงเวลาที่เขาติดกับ แต่การเข้าใจว่าควรปล่อยวาง กับการปล่อยวางจริง ๆ เป็นคนละเรื่องกัน เจ้าผียังคงขูดขอบประตูต่อไปเพื่อเอาเจ้ากระดาษโน้ตเล็ก ๆ ที่คนรักของเขาสอดไว้ก่อนย้ายจากบ้านไปออกมาให้ได้
"When I was little and we used to move all the time, I'd write these notes and I would fold them up really small. And I would hide them."
"They're just things I wanted to remember so that if I ever wanted to go back, there'd be a piece of me there waiting."
อาจเพราะมันเป็นเศษเสี้ยวเดียวของคนรักเขาที่ยังหลงเหลืออยู่ในบ้านหลังนั้น
พอได้อ่าน ได้รู้ว่าเธอเขียนอะไรไว้ ความรู้สึกติดกับในพื้นที่ตรงนั้นของเจ้าผีจึงได้หายไป เมื่อไม่มีอะไรในโลกนี้หลงเหลือให้เขาต้องยึดติดอีกแล้ว วิญญาณของเขาจึงจากไปบ้าง ทิ้งเอาไว้แต่ผ้าปูที่ฟุบฟีบลงกองแทบพื้น
เจ้าผีผ้าปูหลุดบ่วงพื้นที่และเวลาในที่สุด
บางทีสิ่งเดียวที่สามารถอยู่ยั้งเหนือกาลเวลาและพื้นที่อาจเป็น "ความรัก"
__________
"Love is the one thing we're capable of perceiving that transcends dimensions of time and space."
ดร.แบรนด์จากเรื่อง Interstellar
A Ghost Story ทำให้นึกถึง Interstellar ตั้งแต่ตอนดูแล้ว ยิ่งตอนที่เห็นเจ้าผีผ้าปูโดดตึก มองเห็นอนาคตได้ทันทีเลยว่ามันจะต้องข้ามเวลากลับไปแน่ๆ มันเหมือนเห็นคูเปอร์ก้าวข้ามเวลากลับไปเป็น "ผี" ของเมิร์ฟ ลูกสาวของเขาอย่างไรอย่างนั้น
พอมาอ่าน
สัมภาษณ์ของผู้กำกับ ก็พบว่าเขาอ้างถึง Interstellar ไว้เสียด้วยสิ ในประเด็นความโรแมนติก ความรัก ความกลัวที่จะสูญเสียคนรัก เขาอ้างถึงคำพูดของดร.แบรนด์ใน Interstellar ที่บอกว่า "ความรักเป็นสิ่งเดียวที่เรารับรู้ได้เหนือมิติของเวลาและพื้นที่"
ความโรแมนติกของ A Ghost Story มันอยู่ตรงนี้แหละ ตรงที่แม้ว่า C จะตายกลายเป็นผีผ้าปูไปแล้ว แต่ความรักที่เขามีต่อ M ยังอยู่ เช่นเดียวกับความรักที่ M มีต่อเขา ในแง่นี้ จึงไม่ใช่แค่นางเอกเท่านั้นที่ต้องสูญเสียคนรักอย่างพระเอกไป พระเอกของเราก็สูญเสียคนรักไปเช่นกัน ทั้งคนเป็นและคนตายต่างสูญเสียกันและกันเพราะความตายมาพรากฝ่ายหนึ่งไป แยกพวกเขาออกจากกันด้วยพื้นที่และเวลาของคนเป็นกับคนตายซึ่งทับซ้อนกัน แต่ไม่บรรจบ ไม่ใช่หนึ่งเดียว
อยู่ในห้วงพื้นที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน แต่ไม่อาจสัมผัสจับต้อง หรือแม้แต่มองเห็น(กรณีคนเป็น)
C สิ้นชีวิต สูญสภาวะความเป็นมนุษย์ เสียสิทธิ์ในร่างกายอันเป็น "วัตถุ" ซึ่งช่วยให้เขามี "พื้นที่" ที่จะสถิตอยู่ในความรับรู้ของคนรัก
แต่สิ่งเดียวที่ยังไม่หายไปคือ "ความรัก"
น่าอัศจรรย์แค่ไหนที่ผียังรักคนเป็นอยู่ได้เท่า ๆ กับที่คนยังรักคนตาย
เช่นเดียวกันกับคูเปอร์ใน Interstellar ที่ข้ามมิติอวกาศและห้วงเวลาไปหาลูกสาวในวัยเด็ก ความรักความผูกพันที่เวลาไม่อาจกั้นทำให้เขาสื่อสารกับเมิร์ฟผ่านนาฬิกาข้อมือได้สำเร็จ ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็เชื่อจริง ๆ ว่ารักทรงพลังเหนือจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างสามีกับภรรยา หรือพ่อกับลูก "รัก" ในรูปแบบใดก็ตาม ต่างเป็นความรู้สึกที่เรารับรู้ได้ผ่านพื้นที่และเวลา แต่ไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่และเวลา
__________
และไม่ใช่แค่ผีเท่านั้นที่ติดกับพื้นที่และเวลา คน(ดู)ก็เช่นกัน
ไม่พูดถึงไม่ได้จริง ๆ สำหรับฉากกินพายอันลือลั่นของรูนีย์ มาราในเรื่องนี้ หนังเล่นกับไอเดียเรื่องพื้นที่และเวลาไม่ใช่แค่กับผีเท่านั้น แต่ยังเล่นกับคน...คนดูอย่างเรานี่แหละ
จะรู้ได้ยังไงว่าเราโดนเล่นน่ะหรือ?
ก็เช่น ถ้าดูฉากนี้อยู่แล้วคำถามผุดขึ้นมาในใจว่า มันจะกินไปถึงเมื่อไรวะ? เทือกนั้นล่ะมั้ง (หัวเราะ) | แต่สำหรับเรา เราดูแล้วน้ำตาคลอนะ เข้าใจความรู้สึกของนางเอกที่อัดอั้นแบบทำห่าอะไรไม่ได้แล้วจริง ๆ นอกจากระบายด้วยการแดรก...แดรกมันเข้าไป
ความนานของฉากกินพายเป็นอะไรที่เลื่องชื่อมากในหมู่ผู้ชมต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้แหละหัวใจของมัน การเล่นกับ "เวลา" การที่รูนีย์นั่งกินพายทั้งถาดไปเรื่อย ๆ ต่อเนื่อง ไม่มีคัต ไม่มีสัญญาณบอกเลยว่าจะกินเสร็จหรือหยุดกินเมื่อไร
ผนวกกับการทำให้คนดูจมอยู่ใน "พื้นที่" ของเธอ ขังเราไว้ในนั้น ให้เราจดจ่ออยู่แต่กับเธอในมุมส่วนตัวอันเงียบงันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มันสร้างความอึดอัดและอึดอัดและมีแต่จะอึดอัดขึ้นทุกวินาที เป็นฉากที่ถ้าใครอินก็จะจมดิ่งในความรู้สึกมาก แต่ขณะเดียวกันถ้าไม่อินก็จะยิ่งอึดอัดประมาณว่า เมื่อไรจะแดรกเสร็จสักที ให้กูดูอะไรเนี่ยยยย และสุดท้ายก็จะถูกบังคับให้รู้สึกติดกับอยู่ดีเช่นกัน
เรียกว่าเป็นฉากที่วางกับดักความรู้สึกเอาไว้แล้วทุกทาง ยังไงก็ "ติด"
__________
"Can't convince myself
To turn it off
To let go"
เพลงประกอบ A Ghost Story อย่าง I Get Overwhelmed นี่เราโหลดมาฟังตั้งแต่ปล่อยใน itunes หลายเดือนก่อน แต่พอได้ดูในหนังยิ่งรู้สึกว่า เออ มันเป็นบรรยากาศทั้งหมดของเรื่องจริง ๆ ทั้งดนตรีล่องลอยเหมือนอยู่ในพื้นที่เวิ้งว้างกลางโลกหลังความตาย ทั้งเสียงร้องหวีดสูงราวกับวิญญาณร่ำร้องโหยหวนเย็นยะเยือก ความโดดเดี่ยวและเศร้าสร้อยในน้ำเสียง ประกอบกับเนื้อเพลงเหงา ๆ หงอย ๆ เคว้ง ๆ คว้าง ๆ ทุกองค์ประกอบลงตัวกับหนังที่สุดแล้ว
เหงาจัง #ผีผ้าปูไม่ได้กล่าว
หลายคนบอกว่า A Ghost Story ไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน (ก็ไม่เถียง) หลายคนบอกว่ามันเหมือนบทกวี (ก็ไม่เถียงเช่นกัน) เราเองก็คิดว่ามันเป็นบทกวีที่งดงามบทหนึ่งเหมือนกัน และด้วยความที่มันเป็นบทกวี เราจึงสามารถเสพสมรื่นรมย์เพลิดเพลินไปกับมันได้ แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจตรงไหน หรือไม่เข้าใจอะไรเลย เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจศิลปะ เพื่อเสพศิลปะนี่นะ เราเสพความสวยงามของมัน แค่นั้นก็บรรลุเป้าประสงค์ในการมีอยู่ของมันแล้ว
แต่ถ้าใครเป็นคนดูหนังที่ชอบคิดตาม ชอบค้นหาจุดมุ่งหมายเบื้องลึกว่าหนังจะสื่ออะไร หรือให้อะไรกับเรา มันก็อยู่ในส่วนที่พูดถึงไปแล้วนั่นแหละ
มันเป็นหนังที่ว่าด้วยการยึดติดและการปล่อยวาง
เพราะสุดท้ายก็ไม่มีอะไรเป็นของเราจริง ๆ
ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนถาวรเลยสักอย่าง
เราเขียนหนังสือ แต่สุดท้ายกระดาษจะมอดไหม้
เราใช้ชีวิต แต่สุดท้ายชีวิตเราก็จะดับสูญไป
อ้าว แล้วจะอยู่ไปทำไมวะ? (ขำ)
หนังไม่ได้บอกให้เราปล่อยวางตอนนี้!
ติดกับพื้นที่ ติดกับเวลา ติดกับคนรัก
ขวนขวาย เสาะหา ครอบครอง หวงแหน
และยึดติดกับสิ่งที่ต้องการเถอะ ในขณะที่ยังทำได้
เราเพียงแต่ต้องเข้าใจว่าสักวันเราต้องปล่อย
เพียงต้องรู้ว่าเมื่อไรควรปล่อยวาง
และเมื่อเวลานั้นมาถึง ก็แค่ปล่อยมันไป
เหมือนกับเจ้าผีผ้าปูนั่นแหละ
(ฟุบ!)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in