ภาพ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป
บทนำ
“ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทรายน้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม” คือส่วนหนึ่งใน “อีศาน!” บทกวีอมตะของ “มหากวีของประชาชน” [1] หรืออัศนี พลจันทร์ หนึ่งในผู้ปลุกระดมระบอบการสร้างความเป็นชาตินิยมอีสานขึ้น ในขณะที่รัฐไทยมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้เอกภาพในรัฐไทยนั้นพังทลายลงไป ดังที่ Charles F. Keyes (1966) ได้กล่าวในหนังสือ Peasantand Nation: A Lao-Thai Village in a Thai State ไว้ถึง “ปัญหาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” (The Northeastern Problem) โดยมองว่านักการเมืองท้องถิ่นและชาวนาเป็นปัจจัยสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความไม่สงบทางการเมือง แนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ทรรศนะข้างต้นนี้ เป็นทรรศนะที่ถูกต้องแล้วจริงหรือไม่ หรือทรรศนะดังกล่าวเป็นเพียงอคติของคนเมืองที่มองชนบทแต่เพียงฝ่ายเดียว
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ในผลงานของคุณอัศนีจะอธิบายในขั้นต่อไป โดยขอบเขตที่ข้าพเจ้าจะศึกษาคือบทกวี “โอ้..อีศาน” และ “อีศานล่ม” ซึ่งกลุ่มผู้สนใจงานของคุณอัศนีอย่างใกล้ชิดเชื่อว่าเป็น “ภาคต่อ” ของบทกวี “อีศาน!”แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันความคิดดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงตั้งสมมติฐานว่าบทกวีทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้เป็นภาคต่อของบทกวี “อีศาน!” แต่แสดงพลวัตของภาษาที่ขับเน้นเรื่องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและยังแสดงปฏิสัมพันธ์ต่อกันทั้งด้านที่เหมือนกันและตรงกันข้ามอย่างแยกกันไม่ได้ระหว่างการศึกษา ข้าพเจ้าจึงขอใช้คำเรียกบทกวีทั้งสามว่า “ชุดอีศาน” ไปก่อน
จุดสำคัญที่น่าสนใจต่อการสร้างบทกวีชุดอีศานของคุณอัศนีคือ การใช้มโนภาพภูมิทัศน์ของภาคอีสานที่โหดร้ายและน่ากลัวผ่านการใช้ภาษาในโลกวรรณกรรม มาช่วยอธิบายภาพของความเจ็บปวดและทุกข์ยากของประชาชนในโลกความเป็นจริง กล่าวได้ว่า เป็นประดิษฐกรรมทางภาษาที่เสนอภัยพิบัติถึงสองมิติ
บทกวีอีสานในฐานะประดิษฐกรรมสองมิติ
ในสมัยก่อน การศึกษาแนวคิดทางวรรณกรรมหรือบทกวีต่าง ๆ พยายามที่จะศึกษาอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์เป็นหลัก กล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดลักษณะยึดมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง (anthropocentrism) แต่เมื่อนำวิธีการดังกล่าวมาปรับใช้กับบทกวีชุดอีศาน จะเห็นได้ว่าผิดไปจากหลักของขอบเขตทฤษฎีไปมาก เพราะว่าการเปิดเรื่อง (exposition) [2] ของบทกวีทั้งสามนั้นพูดถึงภูมิทัศน์ในเขตภาคอีสาน แล้วจึงเล่าถึงผลกระทบจากธรรมชาติของคนภายในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าความสำคัญที่คุณอัศนีต้องการพูดถึงคือ การใช้ธรรมชาติเป็นแก่นเพื่อพรรณนาความทรมานของคนอีสานอย่างเป็นรูปธรรม ดังที่พบได้จากความในบทกวีนี้
แผ่นดินเป็นฝุ่นแดง อันร้อนแล้งด้วยไอลม ฝนตกก็เป็นตม ตลอดทุ่งอยู่ทรมา (อีศานล่ม, 2557: 227)
สองมือเฮาคือหินผา เจ้าสิเบิ่งเสียสา แลเฮาจะให้เห็นดี (โอ้...อีศาน, 2557: 266)
จะเห็นได้ว่าตัวอย่างแรกคือ บทกาพย์ยานี11 ที่เปิดเรื่องด้วยภูมิทัศน์ที่โหดร้ายตามรูปแบบดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น แล้วขณะที่ตัวอย่างที่สอง (บทกาพย์ฉบัง 16) จะมีความแตกต่างไป โดยยึดโยงมนุษย์ไว้กับธรรมชาติ การกระทำในลักษณะเช่นนี้เป็นการสร้างระยะห่างจากทฤษฎียึดมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลางมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม นับได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนจุดยืนโดยถือให้ธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง (ecocentrism) วิเคราะห์ตามทฤษฎี “วิจารณ์เชิงนิเวศ” (ecocriticism) ในยุคคลื่นลูกที่สาม อ้างอิงจาก Scott Slovic (2010) มีการอธิบายถึงการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบประสบการณ์ของมนุษย์ข้ามวัฒนธรรมการกระทำนี้ช่วยให้ผู้อ่านสามารถสำรวจการปะทะกันระหว่างโลกาภิวัตน์และท้องถิ่น [3] ซึ่งเป็นการสำรวจทรรศนะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ทุกด้าน ดังนั้น การวิเคราะห์ลักษณะนี้จึงรวมไปถึงการศึกษาประเด็นด้านชาติพันธุ์ผ่านสิ่งแวดล้อมด้วย ดังที่เห็นได้ถึงปัญหาชั้นปฐมของคนอีสานที่ต้องประสบความทุกข์ทรมานจากความโหดร้ายทางธรรมชาติอีกมิติหนึ่งคือ มิติของภัยที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากการกดขี่ของผู้มีอำนาจ ดังที่ปรากฏอยู่ในผลงานชุดอีศานความว่า
เขาก็สาปอีศานเสียตัว โอ้ว่าเฮาอย่าหวัว มาเห็นฉิบหายห้วยเฮือน (โอ้...อีศาน, 2557: 266)
เขาซื่อสิว่าเซ่อ ผู้ใดเน้อจะดีแสน ฉลาดทานเทียมผู้แทน ก็เห็นท่าที่กล้าโกง (อีศาน!, 2495) [4]
มิตินี้จึงเสนอวิถีชีวิตของคนอีสานภายใต้การกดขี่ของสังคมผู้มีอำนาจซึ่งถือว่าเป็นความโหดร้ายแบบนามธรรม กล่าวได้ว่า มิติทั้งสองเกิดจากการสร้างผ่านภาษาเพื่อเน้นหนักไปที่จินตภาพจากประสบการณ์ทางอารมณ์ทำให้การรับรู้ของผู้อ่านเกิดความคิดอย่างเป็นอัตวิสัย (subjective) ด้วยเหตุนี้การรับรู้ของผู้อ่านจึงเชื่อมโยงกับความเป็นจริงและจินตภาพจนกลายเป็นความน่ากลัวในระดับบุคคล
การค้ำชูและความเป็นศัตรู: อุดมการณ์อีสานในฐานะวัฒนธรรมปรปักษ์
แนวคิดว่าด้วยเรื่องของ “ปัญหาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” นั้น สามารถพบได้ตามหนังสือประวัติศาสตร์ไทยทั่วไป เนื่องจากคติความเชื่อของคนไทยถูกควบคุมโดยรัฐที่พยายามสร้างความเป็นชาตินิยมเพื่อสะดวกต่อการควบคุมดูแลและปกครอง ดังนั้น แนวคิดการต่อสู้เพื่อรวบรวมความเป็นชุมชนอีสาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางกายภาพ เช่น การท้าทายอำนาจของรัฐบาลกลางผ่านบทเขียน โดยเฉพาะบทกวีชุดอีศานนี้ หากพิจารณาตามแนวคิดธรรมดาแล้วก็คงจะเข้าใจว่าเป็นวิธีการใช้ภูมิทัศน์เพื่อบรรยายความทรมานเพื่อปลุกระดมกองกำลังชาวอีสานแล้วจึงแสวงหาความยุติธรรม อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาในตัวบทจะพบว่าคุณอัศนีได้แอบซ่อนแนวคิดสำคัญแนวคิดหนึ่งไว้คือ กระบวนการสะท้อนอุดมการณ์ที่เป็น “วัฒนธรรมปรปักษ์” (Counter-culture) ซึ่งเป็นการกระทำตรงข้ามจากประเพณีของวัฒนธรรมกระแสหลักของชาติ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าได้วิเคราะห์กระบวนการดังกล่าวออกมาเป็นประเด็นได้ 2 ส่วน ดังนี้
1. ประเด็นเรื่องรูปแบบบทกวีและการใช้ภาษา
คุณอัศนีเป็นผู้ที่สมควรจะได้รับการยกย่องว่าเป็นมหากวีผู้ใช้ภาษาได้อย่างลึกซึ้งและแยบคายที่สุด เนื่องจากท่านแสวงหาวิธีการนำเสนอกลอนเปล่า (Blank Verse) อย่างมีฉันทลักษณ์หมายความว่า ท่านใช้วิธีนำเสนอแนวคิดผ่านรูปแบบเฉพาะตัว โดยรูปแบบดังกล่าวนั้นก็ปรากฏอยู่ในกาพย์ยานี 11 เป็นส่วนมาก ดังตัวอย่าง
แสนล้านอีศานแล้ง แผ่นดินแดงคือเพลิงเผา แสนล้านอีศานเซา มาทรุดล่มเป็นทะเล (อีศานล่ม, 2557: 227)
จะเห็นได้ว่าลักษณะของบทกวี เมื่อนำมาอ่านออกเสียงแล้ว มีการเน้นเสียงหนัก-เบาไม่เท่ากัน ดูเหมือนว่า คุณอัศนีจะซ่อนรูปแบบฉันทลักษณ์โบราณไว้ด้วย โดยบาทหน้านั้นมีลักษณะเหมือนกัน “อินทรวิเชียรฉันท์ 11” และบาทหลังมีลักษณะเป็น “สาลินีฉันท์ 11” หากอธิบายความงามตามขนบแล้วการใช้ฉันท์ทั้งสองแบบนี้ใส่ความงามของภาษาที่ใช้เสมือนลีลาของพระอินทร์ และเสนอแก่นหรือหลักของตัวบท นอกจากนี้ท่านยังมีการใช้คำว่า “แสนล้าน” เพื่อตอกย้ำความคิดที่เป็นแก่นสำคัญตามสมมติฐานที่คาดคะเนไว้ รวมทั้งมีการใช้สัมผัสพยัญชนะอีกมากมายด้วย ดังคู่สัมผัสในบทกวีข้างต้น เช่น สาน-ศาน ล้าน-แล้ง ดิน-แดง เป็นต้น
ประเด็นที่น่าสนใจมากที่สุดคือ การใช้ภาษาท้องถิ่น การกระทำดั่งกล่าวเป็นการทำให้แปลก (Defamiliarization) ซึ่งเป็นการที่ผู้เขียนใช้รูปสัญญะ (ภาษา) ในรูปแบบที่แปลกไปจากการรับรู้ตามปกติการกระทำในแนวนี้ช่วยให้ผู้อ่านพินิจพิจารณาไปที่ตัวบทอย่างละเอียดขึ้น เป็นไปตามทฤษฎีรูปแบบนิยมรัสเซีย (Russian Formalism) [5] ดังเช่น
โอ้ว่าเฮาเหล่าลูกอีศาน ใช่ทวยสาธารณ์ อันทอดอาลัยรอตาย (โอ้...อีศาน, 2557: 266)
คำที่คนไทยรู้ดีที่สุดก็คือคำว่า “เฮา” นี้เอง โดยสาเหตุที่คุณอัศนีใช้วิธีการนี้ อาจเป็นการสร้างแนวคิดความเป็นพวกเดียวกันตามกระบวนการทางสังคมวิทยาที่เชื่อว่ามนุษย์นั้นแสวงหากลุ่มคนพวกเดียวกัน (Societal group) ยิ่งไปกว่านั้น การใช้คำว่า “เฮา” โดยโยงกับเรื่องที่อธิบาย ยังเป็นการสร้างให้เกิดการปลุกระดมให้ต่อสู้กับวัฒนธรรมกระแสหลักอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับรูปแบบความคิดที่จะกล่าวต่อไป
2. ประเด็นเรื่องรูปแบบความคิด
รูปแบบความคิดของคุณอัศนีได้นำเสนอในทรรศนะที่พยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้กับคนอีสาน วาทกรรมที่ท่านแสดงการตอบโต้วาทกรรมความเป็นรัฐไทยอย่างเด่นชัดที่สุดที่สุดก็คือการสร้าง “ความสามัคคี” ที่ช่วยให้อีสานสามารถประกาศตนเป็นศัตรูกับรัฐไทยได้อย่างไม่ต้องเกรงกลัวดังที่กล่าวว่า
สองมือเฮามีแฮง เสียงเฮาแย้งมีคนยิน สงสารอีศานสิ้น อย่าซุด,สู้ด้วยสองแขน! (อีศาน!, 2495)
โอ้ว่าคือความสามัคคี แสนล้านเรามี มหานุภาพพึงแสดง (โอ้...อีศาน, 2557: 267)
จะเห็นได้ว่าบทกวีชุดอีศานนี้แสดงให้เห็นถึงอุดมการณ์ของคุณอัศนีที่ประกอบสร้างภาพของความสามัคคีไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม อีกประการหนึ่งเมื่อเกิดความสามัคคีขึ้นในกลุ่มคนอีสานแล้ว กระบวนการต่อมาคือการกล่าวอ้างถึงอำนาจของกลุ่มคนในฐานะผู้ค้ำชูรัฐสยามตัวอย่าง
แสนล้านนี้มือลาว อันหาญห้าวบหันเห ชูไว้บ่ได้เซ สยามรัฐจึ่งเรืองรอง (อีศานล่ม, 2557: 227)
การกล่าวอ้างข้างต้นนับว่าเป็นการสร้างกรอบทรรศนะใหม่ของความเป็น "รัฐอีสาน" หมายถึง การสร้างให้ฐานะของเขตอีสานมีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลกลาง อ้างอิงได้จากตัวบทที่ได้กล่าวไปแล้ว และยังอ้างอิงได้จากชื่อของชุดอีสาน โดยเฉพาะคำว่า "อีศาน" ในที่นี้ซึ่งใช้อักษร ศ เป็นพยัญชนะต้น คำดังกล่าวนี้ถือเป็นคำภาษาสันสกฤต หมายถึง ชื่อพระศิวะ เทพประจำทิศตาวันออกเฉียงเหนือ [6] ดังนั้น การที่คุณอัศนีเลือกใช้ชื่อในลักษณะนี้ คงจะต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นใหญ่ด้วยความเชื่อทางศาสนา
บทสรุป
จากแนวคิดความเหนือชั้นกว่าของอำนาจรัฐอีสานทำให้ความเป็นชาติไทตามแนวคิดวัฒนธรรมกระแสหลักถูกทำลายไปหมด เนื่องจากความเป็นรัฐชาติถูกถ่ายโอนจากรัฐบาลกลางเป็นเขตอีสานไปแล้ว หากพิจารณาจากทรรศนะทั่วไปก็สามารถกล่าวได้ว่า การกระทำดังกล่าวคือการสร้างความเป็น “ท้องถิ่นนิยม” แต่ถ้าพิจารณาจากรูปแบบการสะท้อนกระบวนการสร้างความเป็นท้องถิ่นนี้ กลับมีลักษณะไม่แตกต่างจากแนวคิดการสร้างวาทกรรมความเป็นรัฐ เพียงแต่การเรียกขานนั้นแตกต่างกันออกไป อาจเป็นเพราะว่า สุดท้ายแล้วกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์นั้นยังเป็นของรัฐบาลกลางอยู่ หากอธิบายตามแนวคิดประวัติศาสตร์นิยมแนวใหม่ (New Historicism) [7] ก็จะได้ว่า การเขียนประวัติศาสตร์ให้เกิดความเป็นกลางหรือภาวะที่เป็นอัตวิสัย (Objective) นั้น รัฐบาลกลางไม่สามารถทำให้เป็นไปได้อย่างแท้จริงเพราะว่าอุดมการณ์ชุดหนึ่งๆ ที่น่าเชื่อถือก็เกิดจากความเข้าใจ จากขอบเขตความคิดของใครของมันรวมทั้งการถ่ายทอดของนักประวัติศาสตร์ก็ผ่านการเสนอชุดความจริงโดยใช้ภาษา อย่างไรก็ดี อำนาจที่แท้จริงจึงไม่ได้หลุดไปอยู่กับรัฐอีสานดังที่คุณอัศนีใฝ่ฝันเอาไว้ แต่รูปสัญญะที่แสดงด้วยภาษานั้นได้นำพาให้รัฐอีสานสามารถมีอำนาจได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น คุณอัศนีสามารถบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติได้อย่างผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยังแสดงให้เห็นถึงผลของการปฏิสัมพันธ์ใน “ชุดอีศาน” ที่ไม่ได้เป็นภาคนำ - ภาคต่อต่อกันแต่เป็นชุดของบทกวีที่แสดงความอหังการในการปลุกเร้าอำนาจของประชาชนท้องถิ่นอีสานได้จนถึงทุกวันนี้
[1] เป็นฉายาหนึ่งที่จิตรภูมิศักดิ์ (2500, อ้างถึงในเนาวนิจ ศิริผาติวิรัตน์, 2557:78) ยกย่องไว้ในบทวิจารณ์กาพย์กลอนเรื่อง “อีศาน!”
[2] องค์ประกอบหนึ่งของบทเขียนประเภทบันเทิงคดี(Fiction) มีความสำคัญอย่างมากต่อเรื่องเพราะเป็นส่วนที่บรรยายฉาก ตัวละคร หรือเหตุการณ์ที่สามารถดึงดูดผู้อ่านได้
[3] ธัญญาสังขพันธานนท์, แว่นวรรณคดี ทฤษฎีร่วมสมัย, (ปทุมธานี: สำนักพิมพ์นาคร,2559), น.338-340
[4] ปรากฏอยู่ในคอลัมน์อักษราวดี ใน หนังสือพิมพ์สยามสมัย ฉบับวันที่ 3 เมษายน 2495
[5] สุรเดชโชติอุดมพันธ์, ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559), น.55-59
[6] เคยใช้มาแล้วหลังปีค.ศ. 457 ในชื่อรัฐ “อีศานปุระ” และ “อีศานวรมัน”
[7] ดูเพิ่มเติมจอห์น เอช. อาร์โนลด์, ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์ แปลโดย ไชยันต์รัชชกูล (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน),2549), น.51-52
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
เก่งกิจกิติเรียงลาภ. (2562). เขียนชนบทให้เป็นชาติ. กรุงเทพฯ: มติชน
ธงชัย วินิจกุล.(2544). “ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 23,
ฉบับที่1. (พฤศจิกายน)
ธัญญาสังขพันธานนท์. (2559). แว่นวรรณคดี ทฤษฎีร่วมสมัย. ปทุมธานี: สำนักพิมพ์นาคร.
น.338-340
นายผี. (2556).ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน, (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2562 จาก http://readery.co/9786167158242
นายผี. (2557).กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 3 (พ.ศ.2494-2495 และ
2501-2502). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อ่าน. น.227, 265-267
เนาวนิจสิริผาติวิรัตน์. (2557). “เอกสาร “นายผี” จากครอบครัวพลจันทร” ใน จุลสารหอ
จดหมายเหตุธรรมศาสตร์.ฉบับ 17, (มิถุนายน2556 - พฤษภาคม 2557). น.79-97
พันธวัฒน์เศรษฐวิไล. (2561). ‘นายผี’ ในมุมของนักวิจารณ์วรรณกรรม และนักกฎหมาย,
(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2562 จาก https://www.the101.world/100-
anniversary-nai-phee/
ศิวภรณ์ หอมสุวรรณ.(2535). วรรณกรรมปัจจุบัน. เชียงใหม่: ภาควิชาภาษาไทย คณะวิชา
มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สถาบันราชภัฏเชียงใหม่. (อัดสำเนา).
สุจิตต์ วงษ์เทศ.(2555). “อธิบายคำว่า อีสาน, อิสาน, อีศาน” ใน นิตยสารทางอีศาน. ปีที่ 1,
ฉบับที่8 (ธันวาคม), น.3
สุรเดชโชติอุดมพันธ์. (2559). ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาษาลาว
ກະວິນແກ້ວ ກາວິລະ. (2015).ກຳເນີດອີສານ, (ອອນໄລ). ຊອກຫາເມື່ອ 22 ພຶດສະພາ 2019
ຈາກ https://laopost.com/ກຳເນີດອີສານ/
ภาษาอังกฤษ
Keyes, Charles F. (1966). Peasant and Nation: A Lao-Thai Village in a Thai State.
(Ph.D. Dissertation, Cornell University).
Slovic, Scott. (2010). “The Third Wave of Ecocriticism: North AmericanReflections
on the Current Phase of the Discipline” in Ecozon. Vol.1, No.1. P.5-8
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in