เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนเล่นเป็นเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
จางหลิน ระพินทร์ และสด: บทบาทของ “คนดีที่โลกไม่ต้องการ”
  •                     “โลกของเราต้องการคนดี” วาทกรรมนี้ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีเจตนาที่จะอบรมสั่งสอนให้ทุกคนประพฤติตนเป็นคนดีเพื่อที่จะได้เป็นที่พึงปรารถนาของโลก แต่ทว่า นักประพันธ์ ผู้มีสมญานามว่านักเขียนรางวัลตุ๊กตาทอง สด กูรมะโรหิต กลับตั้งชื่อวรรณกรรมของตน ซึ่งเป็นหนึ่งในนวนิยาย ชุดบันทึกประสบการณ์จากปักกิ่งว่า คนดีที่โลกไม่ต้องการ หรือนี่อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าโลกไม่ต้องการคนดีอีกต่อไป

                      สด กูรมะโรหิต พรรณนาการทรยศหักหลัง การนองเลือด ความแตกแยก และความ         เห็นแก่ตัวของมนุษย์ไว้ใน คนดีที่โลกไม่ต้องการ ผ่านสายตาของนักศึกษาชาวไทยนาม ระพินทร์ พรเลิศ ซึ่งหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนวนิยายเรื่องนี้ ก็เป็นเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ของประเทศจีน วรรณกรรมเรื่องนี้นำเสนอภาพสังคมจีนที่ปราศจากความสงบสุขในช่วงการปฏิวัติระบอบการปกครองและระบบสังคมตั้งแต่ทศวรรษที่ 2450 เป็นต้นมา ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้มีอำนาจทางการเมืองต่าง    ช่วงชิงและรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายตนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ส่งผลให้ราษฎรผู้ยากจนข้นแค้นต้องมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากด้วยความหวาดกลัว พวกเขาตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองผู้ละโมบโลภมาก แม้จะมีบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ของชาติเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้ว ทว่าก็       ไม่สามารถขจัดความขัดแย้งภายในได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้การช่วงชิงอำนาจในประเทศจีนยังคงดำเนินต่อไป

                       ตัวละครในเรื่องที่มีบทบาทสำคัญคือ จางหลิน ชายหนุ่มปัญญาชนชาวจีน ผู้เป็นทั้งเพื่อนและอาจารย์ผู้เปิดมุมมองชีวิตในปักกิ่งให้แก่ระพินทร์ จางหลินนึกเวทนากับสภาวการณ์บ้านเมือง         ณ ขณะนั้น ทำให้เขาหันหลังให้กับธุรกิจของครอบครัวในต่างประเทศซึ่งสามารถสร้างความมั่งคั่ง       ให้แก่เขาได้ไม่ยาก และตัดสินใจเดินตามอุดมการณ์ที่จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ แม้จะถูกเพ่งเล็งและได้รับคำเตือนจากรัฐบาลมาถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้จางหลินสะทกสะท้านหรือหวาดกลัวแม้แต่น้อย กลับทำให้เขายัง ยืนหยัดที่จะเขียนข่าวด้วยความซื่อตรงตามพันธกิจของนักหนังสือพิมพ์ที่เขายึดมั่น ความศรัทธาอันมั่นคงต่ออุดมการณ์เพื่อส่วนรวมของจางหลิน ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนในตอนที่จางหลินกล่าวกับระพินทร์ว่า ตนจะไม่หนีเด็ดขาดและจะขอต่อสู้ตามอุดมการณ์อย่างกล้าหาญ แม้จะต้องตายก็จะไม่เสียใจ การที่จางหลินมีความกล้าหาญและความมั่นคงในอุดมการณ์เช่นนี้ ทำให้เขาได้รับสมญานามจากตัวละครในเรื่อง คือ ดร.เพตรัส แห่ง คอลเลชออฟไชนีสสตัดดีส์ ว่า “คนดีที่โลกไม่ต้องการ”

                      จางหลินชี้ให้ระพินทร์เห็นถึงความเป็นเผด็จการของรัฐบาลจีนในขณะนั้นซึ่งทยอยกำจัดปัญญาชนผู้มีความคิดเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลไปทีละคน โดยเฉพาะปัญญาชนกลุ่มนักศึกษาและ         นักหนังสือพิมพ์ที่มีความคิดตรงข้ามกับรัฐบาล การกำจัดผู้มีความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ดังกล่าว ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาได้ อีกทั้งยังต้องนำเสนอข่าวที่สนับสนุน การครอบครองอำนาจของรัฐบาลด้วย ผู้ที่อาจหาญวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจำเป็นจะต้องลี้ภัยไปยังเมือง ที่ห่างไกลเพื่อหลบหนีการกวาดล้างของรัฐบาล จางหลินเล่าให้ระพินทร์ฟังว่า เมืองเซี่ยงไฮ้เป็น      แหล่งกบดานชั้นดี ของนักหนังสือพิมพ์ที่เขียนข่าวโจมตีรัฐบาลเพราะเป็นเมืองการค้าที่ถูกครอบครองโดยชาติตะวันตกและห่างไกลจากปักกิ่ง ทำให้ตำรวจของรัฐบาลนั้นไม่สามารถเข้ามาถึงเมืองนี้ได้

                      บุคคลที่มีอิทธิพลต่ออุดมการณ์อันมั่นคงของจางหลินนั้นคือ ดร.ซุนยัดเซน ผู้เป็นนักปฏิวัติและบิดาแห่ง รีปัปลิค ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ในนวนิยายเรื่องนี้จางหลินเรียก ดร.ซุนยัดเซน ว่าเป็นคนดีที่โลกไม่ต้องการ เพราะดร.ซุนยัดเซนแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการประนีประนอมมากกว่าการใช้ความรุนแรง สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้มีอำนาจคนอื่นๆ ที่สนับสนุนการปราบปรามอย่างรุนแรง        ส่งผลให้เขาต้องหมดอำนาจลงไปในเวลาต่อมา และต้องลี้ภัยบ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของดร.ซุนยัดเซนทำให้เขาได้รับสมญานามว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนสมัยใหม่ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อมาเฉกเช่นจางหลินผู้มีความคิดที่จะปฏิวัติ

                         แม้จางหลินจะเป็นตัวละครที่มุ่งมั่นทำตามอุดมการณ์อย่างเข้มแข็ง แต่เขาก็เป็นคน     อ่อนโยน จางหลินหลงรัก จวนฟาง หญิงสาวชาวจีนผู้เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมเช่นเดียวกับเขา เธอมีทั้งความงดงามและความเฉลียวฉลาด ทั้งยังเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ของจางหลินอีกด้วย เธอกล่าวว่าจางหลินคือนักต่อสู้ที่แท้จริง เธอมักแสดงความเป็นห่วงเป็นใยจางหลินอยู่เสมอ ดังเช่นเหตุการณ์       เมื่อครั้งที่ จางหลินได้รับคำเตือนจากรัฐบาลเป็นครั้งที่ 3 จวนฟางก็เกิดความวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัดจนระพินทร์ตั้งข้อสังเกตว่าจวนฟางต้องมีใจให้จางหลินอย่างแน่นอน แต่ทว่าจางหลินกับจวนฟางก็มิได้ลงเอยกัน เพราะการที่จางหลินหมกมุ่นอยู่กับการเขียนงานหนังสือพิมพ์ของตน ทำให้ไม่มีโอกาสได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงต่อจวนฟาง และจวนฟางก็เห็นจางหลินเป็นเพียงพี่ชายใหญ่เท่านั้น กล่าวได้ว่า จางหลินเป็นตัวละครที่มีมิติมากตัวละครหนึ่ง เพราะไม่เพียงยึดมั่นในอุดมการณ์ ทุ่มเทให้กับการปฏิวัติอย่างเต็มที่เท่านั้น แต่ยังมีหัวใจที่จะ “รัก” ใครสักคนหนึ่ง แม้จะเป็นรักที่ไม่มีทางเป็นไปได้ก็ตาม

                       น่าสังเกตว่านวนิยายเรื่องนี้ มีการกล่าวถึงฤดูต่างๆ ที่ผันเปลี่ยนไป ฤดูที่กล่าวถึงก็จะมี       ตงเทียน (เหมันตฤดูหรือฤดูหนาว) ชิวเทียน (สารทฤดูหรือฤดูใบไม้ร่วง) และชุนเทียน (วสันตฤดูหรือฤดูใบไม้ผลิ) ความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอาจแสดงให้เห็นว่าเวลายังคงดำเนินต่อไป ไม่มีผู้ใดสามารถหยุดยั้งได้ ในขณะเดียวกัน เวลาที่เปลี่ยนผ่านไปนั้น ก็ทำให้การประเมินค่าของสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ค่านิยมของความงามเมื่อพันปีก่อนกับค่านิยมของความงามเมื่อห้าสิบปีที่ผ่านมาก็แตกต่างกัน ความเปลี่ยนแปลงในการประเมินคุณค่าของสิ่งต่างๆ ตามกาลเวลานั้น อาจหมายรวมถึงการประเมิน คุณค่าของ “คนดี” ด้วย คนดีที่โลกไม่ต้องการ เสนอให้เห็นว่า ในครั้งอดีต สังคมจีนประเมินคุณค่าของคนว่าเป็นคนดีด้วยความกล้าหาญ ความซื่อตรง และความเสียสละต่อชาติ แต่กาลเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปสู่สมัยรัฐบาลในยุคเดียวกันกับจางหลิน กลับทำให้ “คนดี” กลายเป็นผู้ที่เห็นดีเห็นงามไปกับรัฐบาล      และลดทอนคุณค่าของคนดีตามนิยามเดิมให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของรัฐบาล จนทำให้จางหลิน  ผู้มีคุณสมบัติของคนดีในคำนิยามครั้งโบราณกาลนั้น ต้องกลายเป็นคนดีที่โลกไม่ต้องการไปในที่สุด
                        ตัวละครต่อมาที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้เล่าเรื่องคือ ระพินทร์ พรเลิศ นักศึกษาชาวไทยที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน ระพินทร์เล่าว่า แรกเริ่มนั้น เขาต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่นั่น          จึงจำเป็นจะต้องเรียนภาษาจีน ระพินทร์เล่าว่าเขาได้เรียนภาษาจีนในคอลเลชออฟไชนีสสตัดดีส์ ซึ่งเป็นสถาบันสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนสำหรับชาวต่างชาติ วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของสถาบันการสอนแห่งนี้คือ เพื่อสอนภาษาจีนให้แก่มิชชันนารีตะวันตกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศจีน แต่ภายหลังได้เปิดให้นักศึกษาจากชาติอื่น ๆ ได้มีโอกาสมาเรียนด้วย ไม่เพียงแต่ศึกษาที่คอลเลชออฟไชนีสสตัดดีส์ อย่างเดียวเท่านั้น ระพินทร์ยังมีความขยันหมั่นเพียร ใช้เวลาไปกับอ่านหนังสือในห้องสมุด อีกทั้งได้ไปมาหาสู่และพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศจีนกับเพื่อนชาวจีนและชาติอื่น ๆ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างระพินทร์กับจางหลินโดยที่ระพินทร์ได้รับรู้เรื่องราวเหตุการณ์บ้านเมืองของประเทศจีนจากจางหลิน

                       นวนิยายเรื่องนี้แสดงบุคลิกลักษณะของระพินทร์ว่าเขาเป็นพวกออปติมิสต์ หรือคนที่       มองโลกในแง่ดี ระพินทร์ไม่เคยรู้สึกเหงาหรือว้าเหว่เวลาที่ตนอยู่ในประเทศจีนเลย สาเหตุไม่ใช่เพราะเขามีมิตรสหายที่ดีอยู่รอบกายเท่านั้น แต่เขายังสามารถประเมินคุณค่าสิ่งที่อยู่รอบตัวอย่างปราศจากความเศร้าหมอง เช่น เวลาเขาอ่านหนังสือเพียงลำพังในห้องสมุดแล้วมองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นหิมะหนากองอยู่ข้างนอกและหิมะบางส่วนก็กำลังโปรยปรายลงมา เขายังสามารถชื่นชมความงามของหิมะได้โดยไม่รำพึงรำพันคิดถึงประเทศไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน นับว่าผิดวิสัยผู้อยู่ไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนซึ่งเมื่อเห็นสิ่งแปลกตาอันไม่เคยพบเห็นในประเทศบ้านเกิดของตน ก็ย่อมจะเกิดความรู้สึกคิดถึงเป็นกำลัง แต่สำหรับระพินทร์ หิมะเป็นความสงบเยือกเย็นแห่งเหมันตฤดูหรือฤดูตงเทียนซึ่งทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาเล่าเรียนต่อไป

                        บทบาทของระพินทร์ในนวนิยายเรื่องนี้ คือเป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์กับตัวละคร   ต่าง ๆ ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครไทยหรือตัวละครต่างชาติให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องผูกพันกันในฉากสังคมจีนช่วงยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการแย่งชิงอำนาจและความแตกแยก นอกจากนี้ระพินทร์ยังเป็นกระบอกเสียงบอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายและความป่าเถื่อนในการไล่ล่ากวาดล้างฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลให้คนไทยได้รับรู้ผ่านประสบการณ์การเป็นนักศึกษาที่มีสหายเป็นนักปฏิวัติผู้มีอุดมการณ์         ระพินทร์เอง แม้จะไม่ใช่ประชาชนจีนที่ประสบความทุกข์ยาก หรือเป็นนักปฏิวัติเช่นจางหลิน              แต่ระพินทร์ก็ได้รับรู้ความทุกข์ยากและความโหดร้ายนั้นผ่านการอ่านหนังสือพิมพ์ของจางหลิน          อีกทั้งระพินทร์ยังได้รับอิทธิพลทางความคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกทางความเห็น ความคิดเรื่องการเห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมืองในวิถีทางของนักปฏิวัติมาจากจางหลิน

                        นอกจากนี้อาจกล่าวได้ว่า ตัวละครระพินทร์ พรเลิศ เป็นตัวแทนของ สด กูรมะโรหิต เพราะตัวของสดเองก็มีประสบการณ์การเป็นนักเรียนนอกไปศึกษายังประเทศเช่นเดียวกัน อีกทั้งนวนิยายเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นบันทึกของสดที่ใช้ถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำและความนึกคิดของตนขณะที่ศึกษาอยู่ในประเทศจีนผ่านตัวละครระพินทร์ อีกนัยหนึ่ง สด กูรมะโรหิตเองอาจจะกำลังใช้เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในฉากประเทศจีนเพื่อบอกเล่าว่า สิ่งเหล่านี้คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็เป็นได้ จะเห็นได้ว่าสดแต่งนวนิยายเรื่องนี้ในปีพ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และสถานการณ์บ้านเมือง ณ ขณะนั้นก็มีการควบคุมการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่าง   เข้มงวด ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถเขียนข่าวที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลได้ ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล    จะถูกกวาดล้างเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนวนิยาย คนดีที่โลกไม่ต้องการ

                       สด กูรมะโรหิต วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยผ่านบทสนทนาของระพินทร์กับจางหลินที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมไทยและสังคมจีน โดยจางหลินชื่นชมเมืองไทยว่า “มีความสงบ      ราบรื่นแทบหาไม่ได้ในโลกใบนี้” อีกทั้งยังคาดหมายว่า ชาติไทยจะต้องเป็นชาติที่ “ยิ่งใหญ่” เพราะชาติไทยมีการ “ส่งเสริมและรักษาวัฒนธรรม” ซึ่งนับว่าสอดรับกับนโยบาย “รัฐนิยม” ของจอมพล ป.        พิบูลสงครามในขณะนั้น นโยบายดังกล่าวนำไปสู่การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่สามารถสอดแทรกการเผยแพร่นโยบายของรัฐบาลได้ เช่น รำวงมาตรฐาน โดยเนื้อเพลงที่ใช้ในการรำวงนั้นมีการสอดแทรกเนื้อหาซึ่งเป็นข้อประพฤติเรื่องการแต่งกาย เช่น ให้ผู้คนสวมหมวก เป็นต้น การที่สด กูรมะโรหิต         ใช้กลวิธีดังกล่าวในการเล่าเรื่องนั้นอาจสื่อถึงการที่สดได้เห็นผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะเดียวกันกับจางหลิน    ซึ่งถูกรัฐบาลหมายหัวไว้ในฐานะที่เป็นคนดีที่โลกไม่ต้องการ ค่อย ๆ ถูกรัฐบาลไทยกวาดล้างไปทีละคน และสักวันหนึ่งสดอาจจะเป็นหนึ่งในนั้น เพราะสดเองก็เป็นนักเขียนกลุ่มก้าวหน้าที่มีความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ไม่ได้แตกต่างไปจากจางหลินที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลจีน กล่าวได้ว่า             สด กูรมะโรหิตเขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนสภาพบ้านเมืองและวิพากษ์สังคมการเมืองไทยใน   ยุคนั้น แต่ด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมา จึงเล่าเรื่องโดยใช้ฉากต่างแดนและ     ใช้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จีนที่มีจุดเชื่อมร้อยโยงกันอย่างมีนัยสำคัญกับประวัติศาสตร์ไทยในการแต่งนวนิยายเรื่องนี้ขึ้น

                       คนดีที่โลกไม่ต้องการ ได้แสดงให้เห็นบทบาทของคนคนหนึ่งที่ไม่มีอำนาจในสังคม แต่กลับมีอุดมการณ์ที่จะแก้ไขสิ่งต่างๆ ในสังคมให้ดีขึ้น เพราะสด กูรมะโรหิตต้องการที่จะเห็นสังคมไทยในขณะนั้นหลุดพ้นจากการครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐบาล จึงได้แสดงภาพเหล่านั้นผ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ แม้จะเป็นเพียงวรรณกรรมเรื่องหนึ่งในบรรณพิภพอันกว้างใหญ่ แต่กลับสะท้อนให้เห็นถึงความเลวร้ายของการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดในช่วงยุคสมัยนั้นได้อย่างมีศิลปะ เห็นได้ชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวผ่านปลายปากกาของสดและการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของจางหลิน ไม่มีความแตกต่างกันแม้แต่น้อย สด กูรมะโรหิตจึงถือเป็น คนดีที่โลกไม่ต้องการ อีกคนหนึ่ง ที่ต้องการทำเพื่อชาติบ้านเมือง แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ ก็ตามที ดังเช่นที่จางหลินได้กล่าวไว้ว่า

                      “ฉันอาจจะทำประโยชน์ให้แก่ชาติฉันเพียงส่วนเล็ก ๆ แต่ก็ยังดีกว่าที่ฉันจะหนีเอาตัวรอดโดยไม่ได้ทำอะไรให้แก่ชาติเลย”

    บรรณานุกรม
    สด กูรมะโรหิต. คนดีที่โลกไม่ต้องการ กับ ผู้เสียสละ. พิมพ์ครั้งที่ 3. พระนคร : ผ่านฟ้าพิทยา, 2514.


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น

    ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563
    อ่านฉบับ E-book ได้ที่ .....

    หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน:   ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิสด-เนียน
                                                       กูรมะโรหิต ประจำปีการศึกษา 2560 เขียนขึ้นขณะเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3

    ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน:                ฐิติพร วิเศษนคร
                                                         ศิษย์เก่านิสิตทุนโครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย
                                                         ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
                                                         ปัจจุบันทำงานตำแหน่งนิติกร (ลูกจ้างชั่วคราว) ประจำสำนัก
                                                         กฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน ฝ่ายนิติกรรมและสัญญา
                                                         รับผิดชอบงาน พิจารณาและให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับ
                                                         สัญญาก่อสร้างชลประทานขนาดกลางและ ขนาดใหญ่ สนใจภาษา
                                                         วรรณคดีไทยและกฎหมายกับสังคม (Social Law) ชอบอ่านบทความ
                                                         เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย รักการฟังเพลงไทยเดิม อ่านทำนอง
                                                         เสนาะและขับเสภา ว่าง ๆ ชอบดู YouTube ดูละครญี่ปุ่นและตามข่าวว
                                                         วงการไอดอลญี่ปุ่น โดยเฉพาะไอดอลชายค่าย จอห์นนีส์
                                                         ถ้าว่างมากกว่านั้น ก็ออกไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์วัดวังบ้างเป็นครั้งคราว
    ภาพประกอบ:                              จุฬารัตน์ กุหลาบ
    บรรณาธิการต้นฉบับ:                 หัตถกาญจน์ อารีศิลป
    กองบรรณาธิการ:                       ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ
                                                         ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลาบ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in