เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนเล่นเป็นเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
เราอาจต้องประคับประคองเมล็ดพันธุ์ในใจ... (1)
  • เราอาจต้องประคับประคองเมล็ดพันธุ์ในใจ ไม่ให้มันแปรเปลี่ยนไประหว่างทาง(1)


    แนวคิด Tabula rasa นั้นเป็นแนวคิดในทางปรัชญา หากแปลคำตรงตัวจะหมายถึง กระดานที่ว่างเปล่า แนวคิดนี้เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาคล้ายเป็นกระดานที่ว่างเปล่า ก่อนจะถูกขีดเขียน เปรอะเปื้อน และเติมแต่งโดยสังคมและการเรียนรู้ ดังนั้นจึงถือว่ามนุษย์บริสุทธิ์ในทางความคิดมาแต่กำเนิด และฉันเชื่อว่าทุกคนเคยเป็นกระดานที่ว่างเปล่ามาก่อน      

     

    วันวานของฉันคือวัยเยาว์แห่งความบริสุทธิ์ที่ยังไม่ถูกสังคมแต่งเติม การกระทำสิ่งใด ๆ เกิดจากความปรารถนาอย่างจริงใจ ฉันหัวเราะได้กว้างโดยไม่ต้องกังวลสายตาใคร ฉันพูดด้วยความไร้เดียงสาโดยไม่ต้องเสแสร้ง และเล่นกับใครก็ตามโดยไม่ต้องระแวดระวัง

     

    แต่ในวันที่เติบโตขึ้น การจะยิ้มมุมปากให้เรื่องราวในจอโทรศัพท์ยังต้องกลั้นไว้ก่อนใครจะว่า    ฉันบ้า ฉันตระหนักว่าบางครั้งการโกหกก็อาจทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือแม้แต่ต้องระวังกิริยาอาการของตัวเองทุกวินาทีแม้แต่กับคนใกล้ชิด

     

    ใช่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันอยู่ได้ในสังคม หรือที่เขาเรียกกันว่า ‘อยู่เป็น’

     

    การเติบโตไปสู่สังคมที่กว้างมากขึ้นทำให้ฉันเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอด อย่างที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน พูดถึงทฤษฎี Natural Selection เอาไว้ว่าสิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดต้องรู้จักปรับตัวไปตามสิ่งแวดล้อม ถ้าการหัวเราะในที่สาธารณะทำให้คนอื่นมองว่าฉันจิตใจไม่ปกติ ฉันก็แค่ต้องกลั้นยิ้ม ถ้าฉันซื้อสินค้าราคาแพงแต่ไม่อยากให้แม่โกรธ ฉันก็แค่โกหกว่ามันลดราคา ถ้าไม่อยากให้คนข้างบ้านนินทาเสีย ๆ หาย ๆ ฉันก็แค่ทำดีต่อหน้าเขา

     

    ดู ๆ ไปทฤษฎีนี้ก็ถูกต้องอยู่หลายส่วน แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ต้องขบคิด เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าสภาพแวดล้อมไม่ได้กำหนดสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดหรอก มนุษย์ด้วยกันเองต่างหากที่เป็นคนคัดเลือก หรือที่มีชื่อเรียกว่า Artificial selection

     

    หากลองมองในทางการเกษตรอาจเห็นด้วยกับแนวคิดนี้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการปลูกพืชผล เกษตรกรมักต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณมาก การเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลลัพธ์เช่นนั้นย่อมเป็นเรื่องสำคัญและเมล็ดที่ตอบโจทย์นั้นคือเมล็ดพันธุ์ที่เรียกว่า F1 (F One-Hybrid) หรือพันธุ์ลูกผสม

     

    เมล็ดพันธุ์ชนิดนี้คือเมล็ดพันธุ์ชั่วแรกที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ใหม่ที่ได้จะปรากฏแต่ลักษณะเด่นในทางพันธุกรรม ทั้งผลผลิตที่ดกกว่า สูงกว่า และมีคุณภาพที่ดี แต่เนื่องจากความแปรปรวนทางพันธุกรรมทำให้เมล็ดพันธุ์ชนิดนี้จะได้ผลดีแค่ชั่วแรกเท่านั้น เพราะตั้งแต่ชั่วสอง (F2) เป็นต้นไปจะปรากฏลักษณะด้อยออกมา ทำให้เกษตรกรต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์แบบ F1 มาอีก เพราะไม่สามารถใช้เมล็ดพันธุ์ต่อ นี่จึงเป็นจุดที่ทำให้นักธุรกิจสามารถผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ได้

     

    การแพร่หลายของเมล็ดพันธุ์ชนิด F1 ทำให้เมล็ดพันธุ์อีกชนิดหนึ่งค่อย ๆ จางหายไป นั่นคือเมล็ดพันธุ์ชนิด OP (Open-pollinated) หรือสายพันธุ์เปิด เมล็ดพันธุ์ชนิดนี้เป็นสายพันธุ์แท้ที่ยังไม่ได้รับการผสมข้ามสายพันธุ์ เป็นพันธุ์พื้นเมืองทั่ว ๆ ไป ข้อเสียคือให้ผลผลิตได้ไม่ดีนัก จึงไม่ได้รับความนิยม แต่ข้อดีของสายพันธุ์นี้คือสามารถเก็บชั่วต่อ ๆ ไปมาเพาะปลูกต่อไปได้

     

    แน่นอนว่าในปัจจุบันผู้ที่อยู่รอดคือนักธุรกิจ

    เกษตรกรนั้นไม่มีทางเลือกและซื้อพันธุ์ F1 จากร้านค้ามาใช้ต่อเรื่อย ๆ

     

    ความหลากหลายทางสายพันธุ์ลดลง เพราะอุตสาหกรรมทุนนิยมผลิตแต่เมล็ดพันธุ์แบบเดียวกันออกมา มนุษย์เป็นคนคัดเลือกว่าเมล็ดพันธุ์แบบไหนจะได้อยู่ต่อ โดยที่ไม่สนใจเลยว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นต้องการหรือไม่

     

    หากเรามองมนุษย์เป็นเมล็ดพันธุ์ ในวันนี้เราคงต่างเป็นเมล็ดพันธุ์ F1 กันแล้ว

    เรา ‘เป็นอยู่’ อย่างที่สังคมต้องการ ต้องเป็นคนเช่นนั้น ต้องทำอาชีพแบบนี้ ต้องทำตัวแบบนี้ นั่นถึงจะทำให้เรามีชีวิตรอดในสังคม เหมือนกับที่เมล็ดเหล่านั้นเป็น เป็นเมล็ดที่ต้องไม่มีข้อด้อย ถูกจับสิ่งนั้นเข้ามาผสมกับสิ่งนี้ ละทิ้งตัวตนถึงจะเป็นที่ต้องการของตลาด

     

    และนั่นเอง สังคมกำลังผูกขาดมนุษย์

     

    บ่อยครั้งข้อบังคับในสังคมทำให้ฉันอึดอัด ฉันต้องอดทนอดกลั้น ฉันต้องเสแสร้งแกล้งทำ ฉันต้องสวมหน้ากากเข้าหาทุกคน ฉันต้องคอยระแวง ฉันต้องห้ามผิดพลาด ฉันมักถามตัวเองว่าคุณสมบัติเหล่านี้จำเป็นต้องมีเพื่อการใช้ชีวิตจริง ๆ หรือเปล่า


    ในวันวานเราอาจเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์ OP ที่แตกต่างกัน เราสามารถเปิดเผย จริงใจ และเปิดกว้างได้กับทุกคน ไม่ต้องสนใจว่าใครจะมองอย่างไร เป็นอย่างไร เราก็เพียงแค่เราคนหนึ่งที่สามารถอยู่รอดได้ในแบบของเราโดยไม่ต้องมีใครมากำหนด มนุษย์ควรมีความหลากหลายของชีวิต


    เมล็ดพันธุ์ไม่ควรถูกผูกขาดโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง


    วัยเยาว์แห่งความฝันและความไร้เดียงสานั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธิ์แท้ เก็บมันไว้ในจิตใจและปล่อยให้มันเติบโตขึ้นอย่างตั้งมั่นและซื่อตรง อย่าปล่อยให้ใครมาเติมแต่ง ตัดต่อ หรือขุดมันออกไปจากใจ จนหลงลืมไปว่าเราเคยเป็นเช่นนั้น


    ระหว่างที่เราเติบโต เราอาจต้องประคับประคองเมล็ดพันธุ์ในใจไม่ให้มันแปรเปลี่ยนไประหว่างทาง



    บรรณานุกรม

    รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์. (2559). การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ คือการส่งต่อมรดกชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด. สืบค้นจาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/2805/keeping-seed/



    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น


    ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563

    อ่านฉบับ E-book ได้ที่ .....


    หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน:    ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา “ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว”

                                                        ปีการศึกษา 2562


    ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน:              ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง

                                                       นิสิตชั้นปีที่ 4ระดับปริญญาตรีภาควิชาภาษาไทย 

                                                       คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

                                                       นิสิตทุนโครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย

                                                       สนใจภาษา ประวัติศาสตร์ และความสงบ 

                                                       ชอบเดินในร้านหนังสือเพราะกลิ่นหอมของกระดาษและน้ำหมึก

                                                       ติดการกินโกโก้แก้วใหญ่และการนอน 

                                                       เวลาอยู่กับตัวเองมักจะฟังเพลง อ่านนิยายและดูซีรีส์

         

    ภาพประกอบ:                            ชาลิสา เพชรดง

    บรรณาธิการต้นฉบับ:               หัตถกาญจน์ อารีศิลป

    กองบรรณาธิการ:                      ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ

                                                       ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลา


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in