เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนเล่นเป็นเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
In the Name of Stillness แล้วโลก...ก็วนกลับมาที่จุดเดิม


  • เช้าวันหนึ่งในบ้านเช่าหลังเล็ก ‘ริสา’ หญิงที่เพิ่งผ่านวัยเกษียณมาไม่ถึงปี กำลังจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง มือที่เริ่มฉายร่องรอยของความเหี่ยวย่นกำลังวุ่นอยู่กับการจัดเก็บของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในห้องเก็บของเล็ก ๆ ใต้บันไดบ้าน สิ่งของส่วนมากในห้องนี้คงจะมีปลายทางอยู่ที่กองขยะเทศบาลเพราะจุดหมายปลายทางแห่งใหม่นั้นไม่มีที่มากพอให้ของเก่าเก็บได้แทรกตัวลงไปตั้งหลักปักฐานได้ แต่เพื่อความมั่นใจว่าตนเองจะไม่ทิ้งเอกสารสำคัญไปพร้อมกับของเก่าเก็บอื่น ๆ ริสาจึงสละเวลาในเช้าวันนี้เพื่อรื้อค้นกล่องกระดาษฉาบฝุ่นที่หนาเตอะยิ่งกว่าชั้นยางมะตอยของถนนเส้นหนึ่งในชุมชนต่างจังหวัดที่เธอเพิ่งดูข่าวทุจริตไปเมื่อคืน

    หลานของเธอจะมารับเธอไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ในช่วงบ่ายของวันนี้ ‘บ้านพักคนชราฟ้าใส’ คือชื่อของจุดหมายปลายทางจุดใหม่นั้น สถานที่ซึ่งเหมาะเหลือเกินกับหญิงสาวที่อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีใครจะคอยมาดูแลคนอย่างเธอได้ตลอด

    ริสาค่อย ๆ แกะกล่องลังใบใหญ่ทีละกล่อง บ้างก็เต็มไปด้วยเสื้อผ้า บ้างเต็มไปด้วยหนังสือที่เก่าจนกระดาษเริ่มกลายเป็นสีเหลืองซีด ริสานึกเสียดายที่ไม่มีเวลามากพอที่จะนำของเหล่านี้ไปบริจาค แต่เธอก็เขียนกำกับไว้ที่กล่องว่าเป็นเสื้อผ้าและหนังสือที่ยังพอมีประโยชน์ เผื่อว่าคนเก็บขยะจะพอมองเห็นและอาจนำไปใช้ต่อได้ นอกจากลังพวกนั้นแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักเป็นกล่องอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า ๆ ที่เธอไม่ได้สนใจมากนัก ไม่นานริสาก็เดินฝ่าฝุ่นที่ฟุ้งกระจายทั่วห้องมาถึงกล่องกระดาษใบเล็กใบหนึ่งซึ่งอยู่ลึกที่สุด เธอค่อย ๆ เปิดมันออก ข้างในมีของจุกจิกมากมายที่ชวนให้เธอคิดถึงอดีตที่ทั้งหวานและขมปะปนกัน ช่อดอกไม้ที่แห้งเหี่ยว การ์ดรูปหัวใจที่เลอะเป็นวงด้วยหยดน้ำ อัลบั้มรูปถ่าย และสมุดลายเซ็นอวยพรในวันแต่งงานของเธอ ริสาค่อย ๆ เปิดดูสมุดอย่างพินิจพิเคราะห์ รูปผู้คนมากมายที่ยิ้มแย้มให้กับกล้อง บางคนก็ยังได้ติดต่อ และบางคนก็ได้จากไปจากวงจรชีวิตของเธอแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชายคนที่เคยยืนกุมมือเธอในวันนั้นก็เช่นกัน เธอเลือกที่จะเก็บสมุดลายเซ็นอวยพรและรูปถ่ายกับคนสำคัญไว้ไม่กี่รูป ส่วนสิ่งของที่เหลือถูกดันให้ไปกองรวมกับลังเครื่องใช้ไฟฟ้า

    ในมุมที่ลึกสุดของกล่องใบเล็กใบนั้น มีของสิ่งหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับความรักครั้งสุดท้ายของริสา ตุ๊กตาเต่าทะเลสีซีดส่งยิ้มที่ยังคงสดใสเสมอในความทรงจำของเธอ ริสาหยิบมันขึ้นมา จ้องมองเข้าไปในแววตาที่ใสซื่อของมัน ไม่บ่อยนักที่เธอจะได้หยิบมันขึ้นมา และจ้องมองมันอยู่แบบนี้ แต่มันก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เธอไม่เคยทิ้ง ไม่ว่าทิศทางชีวิตของเธอจะหันเหไปทางไหน

    ริสาจำได้ดีว่าเต่าตัวนี้เดินทางมาสู่มือเธอครั้งแรกอย่างไร และใครเป็นผู้ให้ตุ๊กตาเต่าสีเขียวตุ่นตัวนี้ ด.ช.วิทยา สีทอง เพื่อนสนิทผู้ชายคนแรกที่เจอกันและจากกันในช่วงอนุบาล 3 อาจเป็นเพราะนามสกุลจำง่าย ที่มาพร้อมกับชื่อที่คล้ายรายวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เธอไม่เคยลืมเขา หรืออาจจะเป็นเพราะความรู้สึกลึก ๆ ภายในใจที่ยังคงไม่ได้สะสางก็ไม่อาจรู้ได้ ริสาลุกขึ้นยืน รวบเอาสมุดลายเซ็นที่สอดภาพถ่ายไว้แนบอก ก่อนจะหยิบตุ๊กตาไว้ในอุ้งมือและเดินออกจากห้องไป 

    “ไม่ลืมของอะไรนะครับป้าสา” หลานชายหันมาถามเธอหลังจากปิดกระโปรงรถเตรียมออกเดินทาง

    “ไม่น่ามีแล้วนะเต้ ป้าเก็บของสำคัญมาหมดแล้ว ไปกันเถอะเดี๋ยวจะมืดค่ำเอา” 

    ริสาก้าวขึ้นรถไปพร้อมเต่าตัวน้อยในมือของเธอ


    เสียงเพลงที่ดังคลอมาจากวิทยุภายในรถทำให้ระหว่างทางของริสาไม่น่าเบื่อ เธอเห็นความใส่ใจของหลานชายคนโปรดที่แม้จะขับรถไปเงียบ ๆ ไม่ได้ไต่ถามถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของเธอ แต่กลับจงใจเปิดคลื่นวิทยุที่คอยนำเสนอเพลงร่วมสมัยในวัยของเธอมาปลุกความทรงจำของเธอให้ตื่นขึ้น ในบรรดาเพลงหลายเพลงที่ผ่านหูมาตลอดทางนั้น มีเพลงเพลงหนึ่งเปิดลิ้นชักวัยเด็กอันแสนขมขื่นของเธอ เพลงที่ครูประจำชั้นบังคับให้เธอเต้นกับเพื่อน ๆ บนเวทีงานโรงเรียน การแสดงที่เต็มไปด้วยหยดน้ำตาของเธอท่ามกลางรอยยิ้มของเพื่อน ๆ และผู้ชมด้านล่างที่สนใจเด็กผู้หญิงหน้าเลอะที่ชูมือหมุนแบบแกน ๆ มากกว่าเด็ก ๆ ที่ยิ้มแย้มแถวหน้า ริสาเผลอกำมือแน่น สัมผัสกับก้อนนิ่ม ๆ ในมือที่ทำให้เธอนึกต่อไปว่าหลังจากการแสดงนั้นจบลง มีเด็กชายคนหนึ่งวิ่งมาจากหน้าเวทีเพื่อมาจับมือเธอ พาเธอไปหาคุณครูและยื่นผ้าเช็ดหน้าให้เธอเช่นกัน เด็กชายเจ้าของตุ๊กตาตัวนี้

    วันแรกที่ริสาเจอวิทยา เธอไม่เคยคิดเลยว่าเธอกับเขาจะกลายมาเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดของกันและกันในช่วงเวลานั้น วิทยาเป็นเด็กชายที่ร่าเริง ส่งรอยยิ้มให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นครู เพื่อน คนแปลกหน้า หรือคนที่ตั้งใจเมินเฉยเขาอย่างเธอ ในวันแรกที่วิทยาเข้ามาในห้องเรียน ริสาจำได้ว่าเขาสร้างเสียงหัวเราะทั่วห้อง เพื่อน ๆ อยากเล่นกับเขา คุณครูก็อยากคุยกับเขาเช่นกัน ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่จะเป็นเรื่องแย่ของเด็กชายในวันนั้น ริสาคิดว่าก็คงเป็นเรื่องที่เขาย้ายเข้ามากลางเทอม ทำให้ไม่มีที่ว่างอื่นใดเหลือนอกจากที่ว่างข้างเด็กหญิงที่ถูกเพื่อนทอดทิ้งอย่างเธอ   

       

    ‘สวัสดี เราชื่อวิทยา เรียกวิทย์ก็ได้ เธอชื่ออะไร’ เด็กชายวิทยาถามพร้อมส่งรอยยิ้มที่เป็นมิตรมาให้

    ไม่มีเสียงตอบรับจากเด็กหญิงที่นั่งข้าง ๆ จนกระทั่งคุณครูเข้ามาในห้องพร้อมกับแจกแบบฝึกหัดที่เธอและเพื่อน ๆ ทำกันในครั้งก่อน

    ‘รอ อิ ริ สอ อา สา อ๋อ เธอชื่อริสานี่เอง’ เด็กชายสะกดชื่อตามที่เขียนไว้บนแผ่นกระดาษ 

    ริสาหันไปมองเด็กชายที่ยิ้มกว้างแล้วเม้มปากแน่น คุณพ่อสอนว่าเด็กดีห้ามแอบอ่านของของคนอื่นนะ เธอคิดในใจ

    ‘เราขอดูหน่อยได้ไหม ริสาระบายสีสวยจังเลย’ ดูเหมือนว่ารังสีความไม่พอใจจะไม่ได้ส่งผ่านไปถึงเด็กชายเลยแม้แต่น้อย แล้วจะให้ทำอย่างไรล่ะ ริสาคิด ก็คุณพ่อบอกไว้ว่าถ้าเขาขอเราดี ๆ แล้วเราไม่ให้จะเป็นเด็กใจร้ายนะ เด็กหญิงชั่งใจอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะเลื่อนกระดาษไปยังโต๊ะของเด็กชาย

    ‘ขอบใจนะ ริสาใจดีจัง’ เด็กชายรับกระดาษมาพร้อมรอยยิ้มกว้าง รอยยิ้มที่เป็นมิตรในแบบที่ริสาไม่เคยได้สัมผัส เขาจ้องมองกระดาษแผ่นนั้นอย่างทะนุถนอม ไล้นิ้วมือไปตามรูปวาดและตัวหนังสือในกระดาษ ก่อนจะคืนกระดาษแผ่นนั้นให้ริสา

    ยังไม่มีเสียงใดเล็ดลอดออกมาจากปากของเด็กหญิง แต่วิทยาก็คงจะเป็นเพื่อนที่ดีมากคนหนึ่งนะ เพราะคุณพ่อบอกว่าเด็กดีต้องรักษาของของคนอื่น เธอคิดแล้วมองไปที่กระดาษที่ไม่มีรอยยับแม้แต่นิดเดียว


     

    จากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน เด็กหญิงริสาได้เรียนรู้เกี่ยวกับเด็กชายวิทยาสองสิ่ง สิ่งแรกคือเด็กชายมีความพยายามสูงมากกว่าใครทั้งหมดในห้องอนุบาล 3/1 เขาชวนเธอคุยไม่เว้นแต่ละวัน จนสุดท้ายคำหนึ่งคำก็หลุดออกมาจากปากของเด็กหญิง และหลังจากนั้นก็มีคำที่สอง สาม สี่ ตามมาเสมอ ส่วนสิ่งที่สองก็คือรอยยิ้มของเด็กชายวิทยานั้นทำให้เธอเหมือนได้อยู่ใกล้คุณพระอาทิตย์ที่ทำให้โลกของริสาอบอุ่นสดใสกว่าที่เคยเป็น

    ‘ริสา กินไอติมกัน’ เด็กชายวิทยาวิ่งกระหืดกระหอบเข้ามาชวนเด็กหญิงที่นั่งรอคุณพ่อมารับกลับบ้านอยู่คนเดียวในห้อง ในมือของเด็กชายถือไอศกรีมสองแท่ง

    ‘ขอบใจจ้ะ’ ริสาเอื้อมมือไปรับไอศกรีมรสวนิลา กลิ่นหอมอ่อน ๆ และสัมผัสที่นุ่มลิ้น ทำให้เด็กหญิงที่ต้องต่อสู้กับอากาศร้อน ๆ เผลอยิ้มอย่างมีความสุข

    ‘ยิ้มแล้ว! ว่าแล้วเชียวว่าริสาต้องชอบรสนี้’ วิทยาเฮลั่น ทำเอาเด็กหญิงที่เผลอไผลไปกับรสชาติแสนหวานรีบหุบยิ้มลงทันที

    อย่าให้ใครต้องเห็นเลยนะ เด็กสาวหลับตาอธิษฐาน รอยยิ้มที่น่าเกลียดนั่น รอยยิ้มที่โชว์ฟันสีเงินสองซี่หน้า รอยยิ้มที่ผลักเพื่อน ๆ ออกไปจากเธอจนหมด 

    ‘ลองชิมดูไหม อันนี้รสมะนาว’ วิทยายื่นไอศกรีมในมือของเขามาตรงหน้าเธอ ริสาไม่เคยกินไอศกรีมรสนี้ ใคร ๆ ก็บอกเธอว่ามันเปรี้ยวจี๊ด และพ่อของเธอก็คงต้องดุเธอแน่ ๆ ถ้าเธอซื้อมากินแล้วกินไม่หมด

    ‘ลองชิมดูๆ ๆ เราว่าริสาต้องชอบแน่ ๆ กินแล้วต้องหยีตาเลย’ เด็กชายเชียร์อย่างสนุกสนาน ในขณะที่ริสายังทำหน้ากล้า ๆ กลัว ๆ แต่สุดท้ายก็หลับตาปี๋แล้วกัดเข้าปากไปหนึ่งคำ เปรี้ยวจี๊ดจริง ๆ ด้วย เด็กสาวปิดตาแน่นรอให้รสสัมผัสจี๊ดจ๊าดที่วิ่งผ่านลิ้นไปถึงสมองหายไปโดยเร็ว

    ‘อร่อยไหม’

    ‘เปรี้ยวจี๊ดเลย วิทย์กินเข้าไปได้ไง’

    ‘ก็บอกแล้วว่ากินแล้วต้องหยีตา’ เด็กชายกล่าวกลั้วหัวเราะ แล้วล้อเลียนหน้าของเด็กหญิงที่ปิดตาแน่นเมื่อครู่

    บทสนทนาจบลง เด็ก 2 คนหันไปตั้งหน้าตั้งตากินไอศกรีมในมือก่อนที่จะละลาย เป็นความเงียบหนึ่งในไม่กี่ครั้งของริสาที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เคยสัมผัส เพราะเธอรู้ดีว่าข้างกายของเธอมีเพื่อนใหม่ที่สดใสยิ่งกว่าดวงอาทิตย์

    ‘เวลาริสาทำหน้าแบบอื่น เราว่าก็น่ารักดีนะ’ เด็กชายหันมาพูดกับเธออย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย 

    ‘เวลายิ้มกว้าง ๆ แบบตอนกินไอติมก็น่ารักเหมือนกัน’ เขาเลียนแบบรอยยิ้มนั้นให้เธอดู

    ริสาไม่เคยรู้มาก่อนว่ารอยยิ้มของเธอจะสดใสได้ถึงขนาดนั้น ตลอดเวลาเธอไม่เคยอยากยิ้มเพราะรอยยิ้มของเธอทำให้เพื่อนเห็นฟันเหล็ก และฟันเหล็กผลักเพื่อนของเธอไปไกลเพราะใคร ๆ ก็มองว่ามันประหลาด เพื่อน ๆ บางคนบอกว่าริสาเป็นหุ่นยนต์ปลอมตัวมา แต่ถ้ารอยยิ้มของเธอเป็นเหมือนที่วิทยาทำให้ดูจริง เธอก็อยากยิ้มเพื่อเก็บคุณพระอาทิตย์ไว้กับเธอ

    ‘ริสา คุณพ่อมารับแล้วค่ะ’ คุณครูประจำชั้นเดินเข้ามาเรียกเด็กหญิง เด็กทั้ง 2 เอ่ยลากันเล็กน้อยก่อนริสาจะเดินตามคุณครูออกไป

    ไอศกรีมมะนาวรสชาติไม่ถูกใจริสาเลยสักนิด แต่พ่อของเธอกลับเอ่ยถามว่าวันนี้มีเรื่องดีอะไรที่ทำให้เธอยิ้มออกมาจากห้องเรียนแบบนั้น ริสาตอบกลับไปว่าเพราะได้ลองชิมไอศกรีมรสมะนาวเป็นครั้งแรก

     

    วันหนึ่งระหว่างเรียนวิชาศิลปะ ริสาก็ได้รู้จักกับความรู้สึก ‘ตระหนก’ จากการลืมอุปกรณ์การเรียนอย่างสีไม้เป็นครั้งแรก มันเป็นเรื่องที่ใหญ่มากในชีวิตของเธอ เพราะคุณแม่บอกเสมอว่าเราจะต้องเตรียมของไปโรงเรียนให้ครบ ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด สมุดการบ้าน และวันไหนถ้าเรามีเรียนศิลปะ เราก็ต้องพกกล่องสีเสมอ ทั้ง ๆ ที่มั่นใจว่าใส่กระเป๋ามาแล้วแท้ ๆ แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่มีวี่แววว่ามันจะอยู่ในกระเป๋าเป้ของเธอจริง ๆ 

    ริสานั่งกุมมือแน่น สายตาหลุบต่ำราวกับใช้ความคิด ถ้าไม่มีสีแล้วจะระบายสีโรงเรียนในฝันได้อย่างไรล่ะ หรือว่าจะใช้ดินสอระบายดีนะ แต่ดอกไม้เธอก็จะไม่สวยน่ะสิ

    ‘ริสายืมของเราก่อนก็ได้นะ เรายังวาดไม่เสร็จเลย’ จู่ ๆ กล่องสีไม้ก็ถูกเลื่อนมาวางที่โต๊ะของริสา 

    ‘ขอบใจนะ เราใช้แล้วจะเรียงสีกลับให้’ ริสาตอบอย่างรู้สึกขอบคุณ

    ‘ไม่เป็นไร ใช้ไปเถอะเดี๋ยวเราเรียงเอง’ วิทยายิ้มตอบพร้อมกับเลื่อนสีไม้เข้าไปในเขตโต๊ะของริสามากขึ้น เด็กหญิงตาโตขึ้นมากกว่าปกติ ไม่ต้องเรียงสีก็ได้งั้นหรือ ถ้าเธออยู่กับพ่อก็คงโดนดุแย่ถ้าใช้ของคนอื่นแล้วไม่รักษาให้เป็นเหมือนเดิม แต่ถ้าวิทยาจะยืนยันแบบนั้น เธอก็ขอลองหน่อยแล้วกัน

    ริสาใช้เวลาแต่งแต้มโรงเรียนในฝันอย่างมีความสุข เธอหยิบสีที่ใช้ในผลงานบ่อย ๆ ออกมากองรวมกันไว้ข้างตัว ละเลงจินตนาการลงบนกระดาษอย่างเต็มที่ และแม้เธอจะเผลอวาดธงชาติใหญ่ไปสักหน่อย จนทำให้สีน้ำเงินของวิทยากุดทั้ง ๆ ที่วิทยายังไม่ได้ลงสีผลงานของตัวเองด้วยซ้ำ แต่เด็กชายก็ยังคงยิ้มกว้าง บอกกับเธอว่าไม่เป็นไร แล้วยังโชว์กบเหลาดินสอแสนเท่ห์ที่แถมมากับกล่องสีให้เธอดูอีก

    ‘เดี๋ยวเราไปเหลาสีให้นะ’ เด็กหญิงบอกเด็กชายหลังจากที่ผลงานของตัวเองเสร็จแล้ว

    ‘ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราเหลาเอง เราชอบเหลาสี’ เด็กชายตอบกลับ ‘ริสาเสร็จแล้วก็เอางานไปส่งครูสิ’

    ‘เดี๋ยวเรารอไปส่งพร้อมวิทย์’เด็กหญิงเอ่ย

    ระหว่างนั่งรอเด็กหญิงก็ได้แต่คิดในใจว่าการลืมเอาสีไม้มาก็ดูจะมีสิ่งดี ๆ เหมือนกันนะ

     

    “ป้าสาครับ ถึงแล้วครับ” ริสาถูกปลุกจากความฝัน เธอค่อย ๆ หยัดตัวออกจากรถยนต์ และมองไปรอบ ๆ ความจริงตรงหน้า

    บ้านพักคนชราขนาดย่อมอยู่ติดริมทะเล ตัวบ้านสีชมพูอ่อนตัดกับฟ้าใส ๆ ยามเย็น ล้อมรอบไปด้วยสวนเขียวชอุ่ม หากเดินลงไปอีกสักหน่อยก็จะพบกับหาดทรายสีขาวที่หยอกล้ออยู่กับเกลียวคลื่น บรรยากาศตรงตามที่ใจของหญิงสาวเคยวาดฝันชีวิตในบั้นปลายเอาไว้ ถัดออกมาจากที่พักของเธอ มีโรงเรียนอนุบาลขนาดย่อมตั้งอยู่ โรงเรียนที่อยู่ในความดูแลเดียวกับบ้านพักคนชราแห่งนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นในการทำสิ่งที่ท้าทายสิ่งใหม่ของริสา นั่นคือการรับบทบาทเป็นคุณครูผู้ช่วยประจำชั้น และสอนภาษาอังกฤษให้กับห้องที่เธอประจำอยู่ ริสาเลือกมาอยู่ที่บ้านพักคนชราแห่งนี้ ก็เพราะหวังใจไว้ว่าเธอจะยังคงมีคุณค่าต่อสังคมแม้จะอยู่ในวัยที่เกินเกณฑ์จะทำงานที่เก่าแล้ว และหวังให้ความสดใสของเด็กน้อยเผื่อแผ่มาให้เธอมีความสุขได้บ้าง 

    ริสาเดินเข้ามาในห้องขนาดกลางที่เธอจะใช้พักผ่อนตลอดการมาอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ห่องแบ่งสัดส่วนอย่างเป็นระเบียบ มีห้องน้ำ ห้องนอน และส่วนนั่งเล่นนิดหน่อยพอที่จะใช้ประโยชน์ได้ มีระเบียงที่ยื่นเข้าหาฝั่งทะเลสีครามเหมาะที่จะพักผ่อน หลานชายของเธอยกสัมภาระต่าง ๆ มาให้และขอตัวกลับไปแล้ว ริสา กวาดสายตาไปรอบห้องอยู่สักพัก ก่อนที่จะวางตุ๊กตาเต่าในมือไว้บนชั้นวางของตรงข้ามเตียงนอนของเธอ ตำแหน่งที่เหมือนกับที่มันเคยอยู่ในบ้านหลังเก่าหลังจากริสาได้รับมันมา


    บ่ายวันหนึ่งขณะที่สอนวิชาภาษาอังกฤษเรื่องอาชีพ เมื่อเธอถามเด็ก ๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เด็ก ๆ ในห้องหลายคนต่างยกมือและแย่งกันพูด บ้างว่าอยากเป็นทีชเชอร์  บ้างก็อยากเป็น ด็อกเตอร์ บางคนอยากเป็นซิ้งเกอร์ และเด็กชายคนหนึ่งตอบเธอว่าอยากเป็นนักบินอ้าวว้ากาด

    “นักบินอวกาศ คือ แอ้ส–เทรอะ–นอท ครับ” เธอกล่าวกลั้วหัวเราะ พร้อมเขียนลงบนกระดานอย่างใจเย็น

    “แอ้สเท้อะนอท” เด็ก ๆ ทวนตามที่เธอพูดพร้อมกัน

    การสอนเด็กอนุบาลไม่ใช่ทั้งเรื่องยากและเรื่องง่าย แม้เด็ก ๆ จะซุกซนไปบ้าง และยังต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะ แต่แววตาที่ใสซื่อเวลาถามเป็นเจ้าหนูจำไม และมุกตลกที่ไม่ได้ตั้งใจสร้างของเด็ก ๆ ก็ทำให้จิตใจของริสาพองโตอยู่เสมอ

    “คุณครูสาคะ แล้วคุณครูโตขึ้นอยากเป็นอะไรหรือคะ” เด็กหญิงผมแกละถามเธอบ้าง

    ไม่มีคนถามคำถามนี้กับเธอนานมากแล้ว นานกว่าที่เธอจะจำได้ แต่ถ้าหากย้อนกลับไปในสถานการณ์ที่คล้ายกันดี เธอก็พอจะจำได้อยู่ว่าครั้งหนึ่งในห้องเรียน ครูก็เคยถามเธอแบบนี้เช่นเดียวกัน

    ‘ริสาอยากเป็นหมอหรือ’ เด็กชายวิทยาถามด้วยตาเป็นประกาย

    ‘เราไม่รู้หรอก แต่พ่อเราบอกว่าเป็นหมอแล้วเท่ห์ เราก็เลยอยากเป็น’ ริสาตอบ ‘แล้ว วิทย์อยากเป็นอะไรหรือ’

    ‘เราอยากเป็นยอดมนุษย์’ วิทยาตอบมาด้วยสีหน้ามุ่งมั่น

    ‘ไม่เห็นมีในที่ครูสอนเลย’ คิ้วน้อยขมวดเข้าหากัน

    ‘ก็ไม่เห็นเป็นไรเลยนี่นา เราจะเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น แล้วจริง ๆ ริสาอยากเป็นอะไรล่ะ’

    คิ้วน้อยขมวดเข้าหากันแน่นกว่าเก่า ไม่ใช่ว่าเธอไม่เคยเจอคำถามแบบนี้ แต่เธอไม่เคยต้องนั่งคิดคำตอบจริงจังขนาดนี้มาก่อน เธออยากเป็นอะไรกันนะ เธอไม่เห็นเคยรู้เลย

    ‘คงอยากเป็น...นักไอติมวนิลา’ เธอตอบด้วยรอยยิ้ม

    ‘แปลว่าจะเป็นคนกินไอติมวนิลาทั้งโลกเลยหรือ’ เด็กชายถามกลับด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

    ‘ไม่ใช่ เป็นคนทำไอติมวนิลาต่างหาก’ เด็กหญิงแก้ความเข้าใจผิด

    ‘ต้องทั้งกินทั้งทำเลยถึงจะเยี่ยมยอด เราจะรอชิมไอติมของริสานะ’

    สุดท้ายความฝันที่จะเป็น ‘นักไอติมวนิลา’ ของเธอก็ต้องถูกพับเก็บไปเมื่อพ่อขอให้เธอเรียนบัญชีที่จะหางานได้ง่ายกว่า ส่วนวิทยานั้นไม่ว่าเขาจะโตมาเป็นอะไร แต่เธอก็รู้ดีว่าเขาคงจะเป็นยอดมนุษย์อย่างที่เขาฝันไว้สำเร็จแน่นอน เพราะอย่างน้อยเขาก็ได้ช่วยคนอย่างเธอให้มีรอยยิ้มกับความทรงจำวัยเด็กได้หนึ่งคนแล้ว


    กลางเดือนพฤษภาคมที่ร้อนระอุ ลูกเต่ากลุ่มหนึ่งพร้อมที่จะไปเผชิญโลกกว้างและเด็ก ๆ โรงเรียนบ้านฟ้าใสก็จะได้เป็นสักขีพยานให้กับการเดินทางครั้งนี้ รถโรงเรียนพาเด็ก ๆ และคุณครูมาถึงศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนั้น แม้อากาศจะค่อนข้างร้อน แต่เด็ก ๆ ก็ต่างอดทน เพื่อที่จะได้เห็นเต่าทะเลเป็นครั้งแรก รอบศูนย์วันนี้เติมเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะแสนสดใส เด็ก ๆ ต่างพากันวิ่งวุ่นจนคุณครูและพี่ ๆ ประจำศูนย์แทบจะจับตัวกันไม่ไหว แต่ก็ไม่มีใครที่แสดงสีหน้าหงุดหงิดออกมา เพราะทุกคนก็ล้วนเคยผ่านช่วงเวลาที่ได้เที่ยวกับเพื่อน ๆ ครั้งแรกและเข้าใจความรู้สึกดี

    ริสามองดูเด็ก ๆ จากทั้งห้องเธอและต่างห้องที่กำลังเกาะกลุ่มเล่นสนุกสนานกัน แถวเริ่มขยับเพื่อเข้าไปนั่งในห้องประชุมเพื่อฟังพี่วิทยากรบรรยายก่อนจะพาไปเยี่ยมชมบ่อเต่า และพาเด็ก ๆ ไปปล่อยเต่าคืนสู่ทะเล

    “พี่สาจะเข้าไปไหมคะ เข้าไปข้างในเด็ก ๆ น่าจะไม่ซนแล้วล่ะค่ะ” ครูอีกท่านหันมาพูดกับริสา

    “ถ้างั้นพี่ขออยู่ข้างนอกดีกว่าจ้ะ อิงดูเด็กไหวแน่นะ”

    “เชิญตามสบายเลยค่ะพี่ งั้นอิงขอเข้าไปดูเด็ก ๆ ก่อนนะคะ” ริสาพยักหน้าตอบรับ

    ในวัยเด็ก โรงเรียนของเธอก็มีการจัดทัศนศึกษา สถานที่แห่งนี้ ริสาจำได้ดีว่าเธอก็เคยมาเช่นกันเพียงแต่ดูเหมือนว่ากาลเวลาจะทำให้สถานที่นี้ต่างไปจากภาพจำที่ริสาเคยมีอยู่ในหัว เธอมองไปยังสถานอนุบาลเต่าน้อยที่แต่ก่อนเคยเป็นลานกว้างที่เต็มไปด้วยร้านค้า มีภาพทับซ้อนของเด็กชายคนหนึ่งวิ่งเข้ามาหาเธอ

    ‘ริสา’ เด็กชายคนเดิมเรียกชื่อเธอ วิทยาวิ่งเอามือพาดหลังราวกับเก็บซ่อนของมีค่าบางอย่างไว้

    เด็กหญิงเลิกคิ้วสูง สายตาเต็มไปด้วยคำถาม

    ‘เรามาเล่นเป็นแฟนกันไหม’ วิทยายื่นตุ๊กตาเต่ากระดองสีเขียวอ่อนมาตรงหน้าเธอ พร้อมรอยยิ้มกว้าง

    ริสารู้จักดีว่าคำว่าแฟนคืออะไร คุณพ่อบอกว่าแฟนก็เหมือนกับคุณพ่อกับคุณแม่ที่รักกัน และริสาก็รู้สึกได้ว่าทั้งหัวใจของเธอพองโตเมื่อได้ยินคำนี้ออกจากปากของวิทยา แต่ถึงแม้หัวใจเธอจะเต้นแรงแค่ไหน เธอก็ไม่เคยลืมคำพูดของคุณพ่อที่บอกกับเธอในตอนที่เธอถามเรื่องความหมายของคำว่าแฟน ‘แฟนก็เหมือนกับคุณพ่อคุณแม่ไงคะ แต่หนูยังไม่ต้องรู้หรอก เป็นเด็กยังไม่ต้องมีแฟนนะคะ’ คิ้วน้อย ๆ ขมวดเข้าหากันทันที เธอควรจะตัดสินใจอย่างไร 

    ‘ไม่ล่ะ คุณพ่อบอกว่าไม่ให้เรามีแฟนตอนนี้’ ริสาตอบกลับไป มือทั้งสองข้างกุมเข้าหากันแน่น

    ‘อื้ม ไม่เล่นก็ได้’ วิทยาบอกริสา เป็นครั้งแรกที่แววตาของเด็กชายไม่มีประกายสดใสพร้อมรอยยิ้มเหมือนอย่างเคย ‘แต่ริสารับตุ๊กตาเราไว้ได้ไหม’

    เด็กสาวเอื้อมมือไปรับตุ๊กตาเต่าตัวน้อยมาไว้ในอ้อมอกพอดีกับที่ครูเรียกรวมแถวเพื่อนั่งรถกลับไปที่โรงเรียน ตลอดทางไม่มีเสียงที่ชวนคุยเหมือนอย่างเคย ริสามองออกไปข้างนอกหน้าต่าง คุณพระอาทิตย์มีเมฆบังมากจนกลบแสงสดใสไปหมดเลย

    ‘วันจันทร์เจอกันใหม่นะ’ เด็กชายส่งรอยยิ้มและโบกมือลา

    ริสาเลือกที่จะเดินหันหลังตรงมายังคุณพ่อทันที เพราะวันนี้รอยยิ้มของวิทยาไม่อาจเป็นคุณพระอาทิตย์ให้เธอได้ และเธอก็ไม่อยากจะเห็นรอยยิ้มแบบนั้น ในมือของริสายังกำตุ๊กตาไว้แน่นและหลังจากอาบน้ำเข้านอนแล้ว ตุ๊กตาตัวเล็กนั้นก็ยังอยู่ในมือเธออยู่ดี ในความฝันริสาเห็นตัวเองยื่นไอศกรีมรสมะนาวให้วิทยา และกอบกู้รอยยิ้มที่สดใสของวิทยากลับมาได้

    หากแต่ในความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อวันจันทร์ที่วิทยาพูดถึงถูกคั่นด้วยปิดเทอมใหญ่ถึง 3 เดือนและเมื่อเปิดเทอมมา เด็กชายที่ย้ายโรงเรียนบ่อยคนนั้นก็ออกเดินทางอีกครั้ง ริสามองไปยังเด็ก ๆ ที่โบกมือลาเต่าน้อยที่ค่อย ๆ คลานลงสู่ทะเลกว้าง เธอขี้โกงนี้นา ริสาคิด เรายังไม่ได้แม้แต่โบกมือลาเธอด้วยซ้ำ 


    และเพราะความทรงจำมันชัดเจนมากเหลือเกิน ในคืนนี้ริสาจึงหยิบตุ๊กตาเต่าตัวเดิมมานั่งทบทวนการเดินทางของเธอกับเต่าตัวนี้ตลอดเวลาหลาย 10 ปี 

    หลังจากรู้ว่าเปิดเทอมนี้ไม่มีวิทยานั่งข้าง ๆ เด็กหญิงริสาก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ในการที่จะเลิกพกเต่าน้อยไปโรงเรียนด้วย ส่วนเหตุผลที่เลิกก็เพราะคุณแม่ของเธอขู่ว่าวันหนึ่งเต่าน้อยที่เบื่อจะอยู่ในกระเป๋าเป้จะแอบหนีหายจากเธอไป ในบางวันที่รู้สึกเหงา ๆ ริสาก็จะซื้อไอศกรีมรสมะนาวมากิน และถึงแม้มันจะยังเปรี้ยวจี๊ดเหมือนเคย แต่ริสาก็กินได้หมดแท่งแล้ว 

    วันเดือนปีค่อย ๆ ผ่านไป เต่าน้อยที่เธอเคยวางไว้บนที่นอนก็เนรเทศตัวเองไปอยู่ในชั้นวางของตรงข้ามเตียง ริสาในวัยมัธยมมีไอศกรีมที่ชอบ 2 รสคือวนิลาและมะนาว ความทรงจำมากมายในวัยเยาว์ถูกเก็บซ่อนไว้ในลิ้นชัก แต่ทุกครั้งที่เธอกลับบ้านและเห็นตุ๊กตาเต่าตัวนี้ ลิ้นชักตู้นั้นก็จะเปิดออกมาและไล่เรียงทุกอย่างให้เธอเห็นเป็นฉาก ๆ แม้เธอจะไม่ได้มองหามันทุกวันเหมือนก่อน แต่ตุ๊กตาเต่าตัวนี้กลับกลายเป็นสิ่งของประจำตัวเธอที่จะต้องเห็นทุกครั้งที่อยากจะเห็น ดังนั้นมันจึงไปไหนไปกันกับริสาทุกที่ ทั้งที่หอพักในวิทยาลัย หรือที่บ้านหลังใหม่ของธีระสามีเก่าเธอก็ตาม

    ริสานึกถึงธีระ ชายหนุ่มรุ่นพี่ในคณะพาณิชยศาสตร์ ที่เธอตัดสินใจคบหาและแต่งงานด้วยเพราะเหตุผล 2 ข้อ หนึ่งคือเขาเป็นคนที่พยายามสูงมากที่จะทุบกำแพงในใจเธอ และสองคือคำของคุณพ่อของเธอที่บอกกับเธอว่าธีระมีนิสัยเหมือนพ่อ พ่อรู้ว่าคนอย่างเขาจะทำให้เธอมีความสุข พ่อเลยอยากให้เธอแต่งงานกับเขา เส้นทางรักของเธอแม้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็นับได้ว่าไม่ได้เต็มไปด้วยขวากหนามเท่าไรนัก ธีระเหมือนพ่อของเธออย่างที่พ่อเคยบอกไว้ เขาอยากให้เธอเป็นอะไร ทำอะไร เขาก็จะบอก และเธอก็คือริสาคนที่จะเป็นในแบบที่เขาหวังได้ทุกอย่าง เธอเรียงสีไม้ได้ตรงตามอย่างที่เขาอยากได้เสมอ แต่บางครั้งริสาในวัย 30 ปีก็อยากจะหยิบสีมาใช้เองบ้าง เก็บอย่างสะเปะสะปะบ้าง แต่ธีระไม่เคยเข้าใจเธอ ปัญหาเล็กน้อยค่อย ๆ สะสม และแม้ทุกครั้งเธอจะเรียงสีไม้กลับเข้าที่ตามที่เขาอยากให้เป็น แต่เขาก็ไม่พอใจอยู่ดีที่เธอแอบทำสิ่งที่นอกเหนือจากที่เขาคิดไว้ เพราะแบบนั้นในบ่ายวันหนึ่งก่อนฝนจะตก ธีระจึงขับรถออกไปโดยไม่บอกลากัน น้องสาวของริสามาที่บ้านใน 2 วันต่อมา จัดการเก็บของทั้งหมดใส่ลังแล้วพาเธอออกไปจากบ้านหลังนั้น นี่คงเป็นจุดที่ทำให้เต่าตัวนั้นโดนกวาดลงลังไปพร้อมของขวัญอื่น ๆ ที่เก็บอยู่ในมุมเดียวกัน 

    ริสานั่งทบทวนเรื่องราวอื่น ๆ อยู่อีกครู่หนึ่ง ก่อนจะวางตุ๊กตาไว้ที่เดิมและล้มตัวลงนอนเพื่อรอพระอาทิตย์วันใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง


    ก่อนจะปิดเทอมจากกันไป วันนี้โรงเรียนอนุบาลฟ้าใสได้เชิญผู้ปกครองของเด็ก ๆ มาดูการแสดงที่เด็ก ๆ ได้ตั้งใจฝึกซ้อมกันอย่างเต็มที่ วันนี้เด็ก ๆ ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสและแต่งตัวสวยหล่อเดินจูงมือผู้ปกครองเข้าโรงเรียนกัน เสียงเจื้อยแจ้วของหนู ๆ กำลังแจ้งให้ผู้ปกครองฟังว่าวันนี้พวกเขาจะได้ดูการแสดงอะไรบ้าง บางคนก็ออกท่าออกทางจนริสาที่กำลังยืนต้อนรับอยู่ยิ้มขำ

    “คุณปู่รู้ไหม ผมได้เป็นคนพูดก่อนเต้นด้วยนะ” เด็กชายคนหนึ่งพูดกับคุณตาของเขา

    ริสาหันกลับไปมอง เด็กคนนี้กำลังอวดคุณปู่ใหญ่ว่าคุณครูได้เลือกเขาให้พูดเปิดก่อนการแสดงจะเริ่มเพราะว่าเป็นหัวหน้า รอยยิ้มของเด็กคนนั้นช่างสว่างสดใสเหมือนกับพระอาทิตย์

    “ผมพูดเป็นภาษาอังกฤษด้วยนะ” เด็กชายยิ้มอย่างภูมิใจ

    “เก่งมาก ๆ” คุณปู่ยีหัวหลานพลางยิ้มขำ

    “เดี๋ยวผมจะพูดให้ฟังนิดนึง คุณปู่ดูผม ๆ ๆ” ไม่ใช่แค่ปู่ของเขา แต่ทุกคนที่อยู่รอบ ๆ รวมทั้งริสาล้วนหันมาด้วยความเอ็นดู

    “Hello, my name is Pakhin Seethong. Today, me and my friends will perform...” เสียงนั้นค่อย ๆ เงียบหายไปจากโสตประสาทของริสา เพราะนามสกุลของเด็กชายคนนี้ช่างเหมือนกับเด็กชายในความทรงจำของเธอคนนั้น 

    “มัวแต่โม้อยู่นั่น ไหนต้องไปทางไหนต่อ” คุณปู่ยิ้มเอ็นดู ก่อนจะกวาดสายตาเพื่อหาคุณครูแถวนั้น “คุณครู สวัสดีครับ” ชายคนนั้นเดินเข้ามาหาริสาก่อนจะทักทาย

    “วิทยาหรือ” หญิงสาวพลั้งพูดไปตามความรู้สึก เพราะถึงแม้ชายคนนี้จะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่รอยยิ้มที่หันมาทักทายเธอนั้นยังเหมือนกับในความทรงจำของเธอเสมอ

    เขานิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนที่จะเผยรอยยิ้มกว้างกว่าเก่า รอยยิ้มที่มีพลังยิ่งกว่าคุณดวงอาทิตย์ “ไม่ได้เจอกันนานนะ ริสา” เขาตอบกลับ


    ในวัย 65  ริสากับวิทยาได้กลับมานั่งข้างกันอีกครั้ง ทั้งคู่หันหน้ามองทะเลและฟังเสียงคลื่นที่กระทบกับชายหาดไปเรื่อย ๆ ความเงียบที่เหมือนตอนเด็กหญิงเด็กชายตั้งหน้าตั้งตากินไอศกรีม เงียบแต่อุ่นใจ

    “สบายดีไหม” ยังคงเป็นวิทยาที่เริ่มบทสนทนาดังเช่นทุกครั้ง

    “สบายดี แล้ววิทย์ล่ะ” เธอถามพลางหันไปสำรวจใบหน้าของวิทยา ใบหน้าที่ยังคงเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุข แววตาที่เปล่งประกายสะท้อนกับพระอาทิตย์ดวงใหญ่

    “เราก็สบายดีเหมือนกัน” เขาหันมาตอบ

    “วิทย์ไม่เปลี่ยนไปเลยนะ” ริสาพูดยิ้ม ๆ “เราจำรอยยิ้มวิทย์ได้เลย”

    “ขอบคุณนะ” วิทยายิ้มรับ “แต่ริสาเปลี่ยนไปเยอะนะ” เธอไม่เข้าใจว่าตัวเธอเปลี่ยนไปอย่างไร “ก็พูดเยอะขึ้น แถมยังมาเป็นครูอีก” นั่นสินะ ถ้าริสายังคงเป็นเด็กหญิงริสา การพาตัวเองมาอยู่หน้าชั้นก็คงเป็นไปไม่ได้แน่ เธอคิด

    “แล้วได้ลองเป็นนักไอติมวนิลารึยังล่ะ” วิทยาถามกลั้วหัวเราะ

    “ยังจำได้อยู่อีกหรือ” ริสาถามเสียงสูง

    “ก็จำได้ทุกที เวลาที่กินไอติมวนิลา”

    ทั้งคู่หัวเราะให้กัน บทสนทนาเงียบหายไปหลังจากที่ทั้งสองเบนสายตาไปหาท้องทะเลกว้าง

    “ขอบคุณนะ” เป็นริสาทำลายความเงียบลง วิทยาหันกลับมามองเธออีกครั้ง “ขอบคุณที่ตอนนั้นมาเป็นเพื่อนกับเราน่ะ”

    “ขอบคุณเหมือนกันที่ริสายอมคุยกับเรา” เขาตอบ

    “แล้วก็ขอโทษนะ... ที่วันนั้นเราตอบวิทย์ไปแบบนั้น” ริสาหันหน้ามาสบตากับเขา แม้จะไม่บอกว่าเป็นวันไหน แต่วิทยาก็รู้และเข้าใจดี

    “เรื่องเล็กน่า มันผ่านไปตั้งนานแล้ว เราก็เกือบลืมไปแล้วนะเนี่ย” วิทยาหันมาตอบกลับ “งั้นเราก็คงต้องขอโทษริสาเหมือนกัน”

    “ทำไมล่ะ”

    “ที่ทำให้คิดมาก...ทั้งตอนนั้นแล้วก็จนถึงตอนนี้” วิทยาเบนสายตากลับไปที่ท้องฟ้ากว้างอีกครั้ง “แต่วันนั้นที่พูดไปก็เพราะรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ นะ” เขาพูดกลั้วหัวเราะ 

    “เรายังเก็บเต่าตัวนั้นไว้อยู่เลย” ริสาบอก

    “จริงหรือ รู้ไหม วันนั้นหลานเราก็ซื้อตุ๊กตาเต่ามา ไม่เหมือนที่เราจำได้เลยแถมมันยังพูดได้ด้วย” เขาเล่าด้วยความตื่นเต้น “พ่อเจ้าตัวแสบเอารูปที่โรงเรียนถ่ายมาให้เราดูด้วย เราแทบจำไม่ได้เลยว่ามันคือที่เดียวกัน” วิทยายิ้มเมื่อคิดถึงภาพเด็กแสบที่ถอดรอยยิ้มของเขามาเป๊ะ ๆ 

    “อะไร ๆ มันก็เปลี่ยนไปหมดเลยเนอะ” ริสาพูดพลางก้มล้งมองพื้นทรายนุ่ม

    “นั่นสิ” วิทยาขานรับ “แต่อะไรที่เคยมี มันก็เกิดขึ้นจริงนั่นแหละนะ ถึงตอนนี้จะมีหรือไม่มีแล้วน่ะ”

    “ปรัชญาจัง” ริสาตอบกลั้วหัวเราะ

    “ขอโทษที สงสัยจะอ่านหนังสือคำคมเยอะไปหน่อย” 

    เสียงโทรศัพท์ของวิทยาขัดการสนทนาให้หยุดชะงัก เป็นพ่อของเจ้าหนุ่มน้อยที่โทรมาบอกว่าใกล้เวลาที่ห้องของหลานชายตัวแสบจะขึ้นแสดงแล้ว

    “เราคงต้องไปแล้ว” วิทยาเอ่ย “ถ้าริสาอยู่แถวนี้ก็คงได้เจอกันบ่อย ๆ นะ”

    “จ้ะ” ริสาตอบรับ

    “ไว้เจอกันใหม่นะ” 

    “ไว้วันหลังมาส่งหลานอีกนะ” 

    “เดี๋ยวจะพามาเจอเลย” วิทยายิ้มรับ

    ทั้งคู่โบกมือลาและแยกจากกันไป ริสารู้สึกโล่งในใจอย่างบอกไม่ถูก อาจเป็นเพราะครั้งนี้เขาและเธอได้บอกลากันอย่างที่เธอฝันไว้ หรืออาจจะเป็นรอยยิ้มที่สดใสยิ่งกว่าพระอาทิตย์ของวิทยาที่เธอได้มีโอกาสเห็นอีกครั้ง


    คืนนั้นริสาล้มตัวลงนอนพร้อมเต่าในอ้อมกอด เธอลืมตาอีกครั้งหลังจากได้รับสัมผัสของลมทะเลที่เข้ามาปะทะผิวกายของเธอ ในอ้อมกอดของเธอมีลูกเต่าตัวหนึ่งที่พร้อมจะลงทะเลเต็มที เธอวางมันลงบนผืนทรายที่ทอดยาวสู่ทะเลกว้างสุดลูกหูลูกตา เต่าน้อยตัวนั้นค่อย ๆ คลานลงไปหาน้ำทะเล มันกางเท้าทั้ง 4 ข้างเต็มที่เพื่อเคลื่อนตัวเองลงผืนน้ำที่ใหญ่สุดลูกหูลูกตา ริสายืนดูมันค่อย ๆ หายไปจากสายตา และโบกมือลามันด้วยรอยยิ้ม






    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น 


    ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 
    อ่านฉบับ E-book ได้ที่ .....


    หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน:  ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา “ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว” ปีการศึกษา 2562


    ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียน:      บุษกรบุษปธำรง
                                               นิสิตชั้นปีที่ 4 ระดับปริญญาตรี ภาควิชาภาษาไทย 
                                               คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
                                               นิสิตทุนโครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและวรรณคดีไทย 
                                               เติบโตมากับนิทานอีสป หนูนิด ขายหัวเราะ นิยายแจ่มใส ก่อนจะค่อย ๆ
                                               ห่างหายจากวงการนักอ่านหนังสือเล่มสู่นักอ่าน fan fiction ออนไลน์
                                               จนมาถึงยุคนิยายแชท ปัจจุบันเป็นทั้งผู้สร้างและผู้เสพ 
                                               fan fiction ศิลปินเกาหลีเพราะความสนใจด้านคู่ชิป
                                               ที่มีผู้ร่วมอุดมการณ์น้อยเหลือเกิน พร้อมกับทำหน้าที่ติ่งเกาหลีแบบฟูลไทม์ 
                                               เป็นนักฟังเพลง และออนไลน์อยู่บนโลกทวิตเตอร์

    ภาพประกอบ:                    ชญามญช์ เพิ่มประโยชน์
    บรรณาธิการต้นฉบับ:       หัตถกาญจน์ อารีศิลป
    กองบรรณาธิการ:              ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง  บุษกร บุษปธำรง  วรนุช ขาวเกตุ 
                                               ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์  จุฬารัตน์ กุหลาบ  

     



     


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in