ชีวิตพอเพียงไม่ได้อยู่แค่ในทฤษฎี ถ้าคุณเคยฝันอยากเป็นชาวไร่ชาวสวน มีฟาร์มเล็กๆ หลังบ้าน คุณตื่นขึ้นมาปลูกต้นไม้ เลี้ยงหมา เลี้ยงเป็ดไก่ ตกปลาขาย มีครอบครัวแสนสุข ถึงแม้ชีวิตจริงจะต้องทำงานในบริษัทใจกลางเมืองอย่างโดดเดี่ยว นี่เป็นโอกาสที่คุณจะได้ใช้ชีวิตตามฝัน สตาร์หลอดโฟร์เคกับรายการ ขึ้นขึ้นลงลงซ้ายขวาซ้ายขวาบีเอสตาร์ท จะมาเล่าประวัติเกม Story of Season หรือชาติก่อนเคยชื่อ Harvest Moon
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มมาจาก ยาสึฮิโร่ วาดะ โปรแกรมเมอร์ของบริษัท วิคเตอร์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ตัวเขาเป็นคนชนบทที่ได้เดินทางมาหางานทำในโตเกียวเมืองหลวง ซึ่งแตกต่างจากบ้านเกิดของเขา เมื่อเขาทำงานไปได้สักพัก ก็เกิดคิดถึงบ้านนอกขึ้นมา ทำให้รู้ซึ้งถึงข้อดีของชนบทที่เขาหาไม่ได้ในเมืองหลวง จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดอยากทำเกมออกมา
โดยเลียนแบบมุมมองและระบบการเล่นมาจากเกม The Legend of Zelda ของนินเทนโด ซึ่งเป็นเกมที่เขาชอบเล่น และคิดว่ามันเหมาะสมดีที่จะทำเกมเป็นมุมมองสูง ให้สามารถเห็นตัวละคร ฉากฟาร์ม และเมืองได้อย่างทั่วถึง ระบบเลี้ยงสัตว์ก็นำมาจากเกม Derby Stallion ซึ่งเป็นเกมเลี้ยงม้าจากภาพยนตร์ซีรี่ส์ชื่อเดียวกัน และระบบอัพเกรดฟาร์มเขาก็ได้ไอเดียมาจากเกม SimCity ของ EA นอกจากนี้เขาก็ได้เพิ่มไอเดียการทำฟาร์มโดยอ้างอิงฤดูกาลจริง และเพิ่มระบบการจีบสาวแต่งงานเข้าไปให้มีความน่าเล่นมากขึ้น
ในช่วงเริ่มแรกของการพัฒนาเกมเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากบริษัทพัฒนาเกมอย่าง วิคเตอร์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ก็กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน แถมทีมงานได้กระจายตัวกันไปทำโปรเจคอื่น และประธานของบริษัทเกมก็หายตัวไป ในขณะนั้นเกมเพิ่งสำเร็จไปได้เพียง 30 เปอร์เซนต์เท่านั้น วาดะ ก็เริ่มจะถอดใจจากการพัฒนาเกมต่อ
แต่เซ็ทสึโกะ มิยาโคชิ ผู้ดูแลเกม และทาโมมิ ยามาทาเตะ โปรแกรมเมอร์ ได้เข้าไปหารือกับ วาดะ ว่าจะทำเกมกันต่อ ทีมงานสร้างจึงเหลือแค่ 3 คน ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้เสร็จทันเวลา 6 เดือนก่อนวางจำหน่าย โดยที่ฟีเจอร์ในเกมบางอย่างที่วางแผนไว้ตั้งแต่แรกได้ถูกตัดออกเพราะทำไม่ทัน ในที่สุดเกมก็ออกจำหน่ายในปี 1996 บนเครื่องเล่นซุปเปอร์ฟามิค่อมของญี่ปุ่น ใช้ชื่อว่า โบคุโจ โมโนกาตาริ "牧場物語" แปลคร่าวๆ ว่า ชีวิตชาวไร่
ตัวเกมได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากๆ ทำให้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อวางจำหน่ายในอเมริกา โดยที่ตอนนั้นทาง นินเทนโด ได้ให้บริษัท นัทสึเมะ เป็นผู้รับผิดชอบในการแปลเกมเป็นภาษาอังกฤษ ทาง นัทสึเมะ จำชื่อนี้ไว้ดีๆ นะครับ ได้ใช้ชื่อเกมเป็นภาษาอังกฤษว่า Harvest Moon ซึ่งมีที่มาจากคืนที่พระจันทร์เต็มดวงใกล้กับวันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) หรือวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน เป็นวันที่พระจันทร์จะสว่างมากที่สุด ทำให้ชาวไร่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จนถึงเวลากลางคืน
หลังจากประสบความสำเร็จจากภาคแรก ทีมผู้สร้างก็ได้รับงบประมาณสร้างภาคต่อทันที และในภาคต่อที่ลงเครื่องเล่น Nintendo 64 อย่าง โบคุโจ โมโนกาตาริ 2 ในปี 1999 (หรือ Harvest Moon 64 ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ) ก็ถือว่าเป็นเกมจำลองชีวิตชาวไร่ที่สมบูรณ์ที่สุดในความคิดของวาดะ เพราะเป็นการต่อยอดเกมจากภาคแรก และนำฟีเจอร์ที่เคยตัดออกไประหว่างเกมภาคแรกกลับมา มีการทำฟาร์ม เลี้ยงสัตว์ มีเมือง และปฏิสัมพันธ์กับชาวเมืองที่มีอุปนิสัยแตกต่างกันไป
กลายเป็นว่าเกมภาคนี้ก็ประสบความสำเร็จมากกว่าภาคแรก วาดะจึงได้ไปควบคุมทีมงานเพื่อสร้างเกมภาคใหม่ในเครื่องเล่นเกมบอย และทางบริษัทได้ให้อีกทีมงานนึงปรับปรุงตัวเกมภาค 2 ให้กับเครื่องเล่น PlayStation เกิดเป็นภาค Harvest Moon: Back To Nature วางจำหน่ายในปีเดียวกัน ตัวเกมประสบความสำเร็จมากกว่าทุกภาคที่ผ่านมา แต่วาดะเห็นว่า ไอเดียของภาคนี้มันไปไกลกว่าความคิดที่เขาวาดไว้เยอะ เลยวางตัวเป็นโลกคู่ขนานของภาค 64
หลังจากนั้นวาดะยังได้สร้างภาคต่อให้กับ เกมบอยคัลเลอร์ ออกมาอีก 2 ภาค และเกม โบคุโจ โมโนกาตาริ 3 (หรือ Harvest Moon: Save The Homeland ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ) ลงเครื่อง PS2 อีกด้วย เสียงตอบรับออกมาค่อนข้างดี
ต่อมาในปี 2003 บริษัท มาร์เวลลัสเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ได้มาควบรวมกิจการของ วิคเตอร์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และหลังจากนั้นเป็นต้นมา มาร์เวลลัส ก็สร้างเกม โบคุโจ โมโนกาตาริ ออกมาเรื่อยๆ และทำตลาดฝั่งอเมริกาผ่าน นัทสึเมะ ในชื่อ Harvest Moon มาเป็นเวลานับ 10 ปี วางจำหน่ายในเครื่องเกมหลายรุ่นอย่าง PS2, Nintendo DS, GameCube, Nintendo Wii, PSP และ 3DS
โดยเกมภาคแรกภายใต้ชื่อ มาร์เวลลัสเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คือ Harvest Moon: Friends of Mineral Town ลงเครื่อง GameBoy Advance ที่ดังมากๆ ในไทย ใครๆ ก็ต้องรู้จัก เป็นการดัดแปลงต่อยอดมาจากภาค Back To Nature ที่สมบูรณ์ที่สุดและสมดุลที่สุดเท่าที่เคยทำมา และยังออกภาค More Friends of Mineral Town ที่ให้เราเล่นเป็นตัวละครผู้หญิงได้ จากภาคก่อนหน้าที่เราเล่นเป็นตัวละครผู้ชายเท่านั้น
ยาสึฮิโร่ วาดะ ผู้ให้กำเนิด ได้ร่วมพัฒนาภาค Animal Parade วางจำหน่ายบนเครื่องเล่น Nintendo Wii เป็นภาคสุดท้าย ก่อนแยกตัวออกมาเปิดบริษัทใหม่ในปี 2009 แต่อนาคตของแฟรนไชส์ก็ต้องดำเนินต่อไป เพื่อสานฝันชีวิตชาวไร่กันต่อ
หลังจากนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของเกม ที่จะทำให้เราต้องเปลี่ยนความคิดทุกอย่างที่เคยมีเกี่ยวกับแฟรนไชส์นี้ไปตลอดกาล รวมไปถึงจุดแตกหัก และความตายของชื่อ Harvest Moon ติดตามครั้งหน้า เราจะมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียด
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in