/
วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ที่ทุกสี่ปีจะมีหนึ่งครั้ง, วันนั้นเป็นครั้งแรกที่พ่อกลับบ้านในรอบหลายเดือน ฉันเคยอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับพ่อว่า
เสมือนคนแปลกหน้าที่มีโครโมโซมครึ่งหนึ่งในตัวฉัน
เช้าวันนั้นฉันลงมาจากห้องนอนพร้อมความง่วงงุน สายตาเหลือบไปเห็นพ่อกำลังนั่งทานข้าว ฉันสวัสดี พ่อสวัสดีกลับ ท่ามกลางความเงียบมีเสียงผู้ประกาศข่าวช่องหนึ่งดังจากโทรทัศน์ ฉันที่กำลังตักข้าวเข้าปากชะงักงัน เพราะช่องที่พ่อกำลังดูอยู่คือเนชั่นทีวี เกือบทุกคนในประเทศนี้รู้ว่าข่าวการเมืองของเนชั่นเป็นอย่างไร และอยู่ฝั่งใคร ความผิดหวังเริ่มก่อตัวพอกพูนเต็มหัวใจเหมือนข้าวในจาน แต่ฉันก็ไม่ได้ถามออกไปว่าทำไมพ่อถึงเลือกเสพสื่อรายการนี้
และเสียงรายงานเนื้อหาข่าวที่ก้องในโสตประสาททำฉันแทบสำรอกอาหารมื้อแรกของวันออกมา
พ่อของฉันชอบเดินสนามหลวง ดูบอล ส่องพระ และสะสมของเก่า แต่ฉันไม่นึกว่าพ่อจะมีความคิดเก่าตามของพวกนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ฉันจะยังไม่ตัดสินเขาว่าสนับสนุนฝ่ายเผด็จการที่ยึดเก้าอี้รัฐมนตรีไว้แน่นเหมือนปลิงกำลังสูบเลือดเนื้อผู้คน
/
หลังจากพ่อเดินออกไปพร้อมคำพูดว่า
'ฝากบอกแม่ด้วยนะ พ่อจะไปสนามหลวง'
'โอเคค่ะ'
แค่นี้ ไม่มีอะไรไปมากกว่านั้น, อาจเพราะเราไม่สนิทกัน อาจเพราะฉันกลัวคำตอบ คำถามที่ค้างคาในใจก็เลยไม่ได้เปล่งออกจากลำคอ
ฉันเปิดการค้นหาวิธีการบล็อคช่องรายการโทรทัศน์ สุดท้ายก็พบ แต่มันต้องใช้รหัสผ่านที่มากับคู่มือการใช้งาน ดังนั้นฉันจึงรอแม่เพื่อถามหามัน
/
แม่กำลังทานข้าวอยู่บนโซฟาข้างกายฉัน ฉันคิดอยู่นานสองนานว่าจะถามแม่เรื่องคู่มือการใช้งานดีหรือไม่ จะโดนว่าหรือเปล่า? แต่ฉันคิดเพียงว่าแม่นั้นไม่เห็นด้วยกับเผด็จการและรัฐบาลนี้มิใช่หรือ เช่นนั้นก็น่าจะคุยกันได้?, และนั่นคือจุดเริ่มต้นของก้นบึ้งความผิดหวังที่ไม่มีสิ้นสุด
"แม่ คู่มือการใช้งานทีวียังอยู่ใช่เปล่า"
"อยู่ จะเอาไปทำอะไร"
ฉันหัวเราะเบาๆ
"บล็อกช่องเนชั่น พ่อดูอ่ะ รับไม่ได้"
แม่ทำหน้างงอยู่ครู่เดียว จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นใบหน้าเวลาเตรียมเทศนา, และคำเทศนาเหล่านั้นฉันไม่มีวันลืม
"จะไปบล็อกทำไม"
"ก็ช่องเนชั่นให้เฟคนิวส์ อยู่ฝั่งรัฐบาลด้วย" ฉันเริ่มขมวดคิ้ว
"ถึงบล็อกไปพ่อก็กลับบ้านไม่บ่อย ดูวันอื่นก็ได้นี่" แม่เคี้ยวข้าวอย่างช้าๆ
"แต่อย่างน้อยตอนอยู่บ้านเราพ่อจะไม่ได้ดูไง"
"แบบนี้มันไปจำกัดสิทธิเสรีภาพคนอื่นนะ"
ฉันนิ่งงัน
"เขาจะเลือกดูข่าวช่องอะไรก็ได้ มันอยู่ที่ตัวคนว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ"
"แต่ถ้าเขาเชื่อล่ะแม่ เราก็ต้องกันไว้ไหม"
"จะไปบังคับให้เขาเชื่ออะไรไม่เชื่ออะไรไม่ได้นะ มันเป็นสิทธิ์ของเขา" แม่เริ่มขึ้นเสียงใส่ฉัน
"แม่ การเชื่อเผด็จการไม่ใช่สิทธิ์ เผด็จการมันจำกัดสิทธิ์ของคนอื่น" อารมณ์ที่ขุ่นมัวทำให้เสียงของฉันดังขึ้นตาม
"ทำไมเราต้องเลือกข้างด้วยล่ะ ทีแม่ดูฝั่งรัฐบาลฝั่งฝ่ายค้าน แม่ก็ไม่เห็นจะเชื่อฝั่งไหนเลย เราต้องวางตัวเป็นกลาง"
"แต่วางตัวในสถานการณ์ที่มีคนถูดกดขี่มันก็เท่ากับเราอยู่ฝั่งเผด็จการนะ"
"นี่ลูกหัวรุนแรงรึเปล่าเนี่ย"
"หัวรุนแรงคืออะไร? "
"บังคับให้คนอื่นเชื่อตามตัวเองไง"
"หนูไม่ได้บังคับ หนูแค่ไม่อยากให้พ่อเห็นด้วยกับรัฐบาล"
"ที่จะบล็อกช่องนั่นแหละบังคับ"
"หนูก็บอกอยู่ว่าไม่ได้บังคับให้เชื่อ แค่ไม่อยากให้ดู วันอื่นจะดูแล้วแต่ แต่ต้องไม่ใช่ในบ้านนี้ หนูกำลังพยายามจะเปลี่ยนความคิดพ่อ หนูไม่อยากเห็นพ่อโอเคกับเผด็จการ"
"หัวรุนแรงแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่? ตามกระแสรึเปล่า? ไปเสพอะไรมา?"
หลังจากนั้น ฉันก็จำไม่ได้แล้วว่าตัวเองนั้นตอบไปอย่างไร เพราะน้ำตามันบดบังความคิดไปหมด
/
ฉันทักไปถามเพื่อนว่าการที่จะบล็อกช่องนั้นผิดหรือไม่ ลึกๆแล้วฉันกลัวว่าตัวเองนั้นจะเป็นแบบที่แม่พูด ฉันกลัวว่าตัวเองจะไหลออกจากโหลแห่งอุดมการณ์และความเชื่อที่ตั้งมั่นไว้ตลอดมา ฉันกลัวว่าตัวเองกำลังทำลายประชาธิปไตยที่มีอยู่น้อยนิดในประเทศด้วยการบล็อกช่องเนชั่นไม่ให้พ่อดู
แต่แล้วฉันก็คิดได้ว่านี่ไม่ใช่ความผิดของฉัน รู้ว่าการพยายามทำให้คนหนึ่งตาสว่างนั้นยากกว่าการหารักแท้ ฉันเพียงหวังว่าอย่างน้อยพวกเขาจะเปิดใจฟังบ้าง เสียงที่เปล่งออกมาอาจจะเบาจนไม่ได้ยิน แต่มันอาจก้องในหัวพวกเขาตลอดเวลา
ซึ่งฉันก็อยากไปหารักแท้ทันทีหลังจากคุยกับแม่
ฉันไม่เคยคิดว่าจะร้องไห้เพราะพ่อแม่เป็นสลิ่ม
ฉันร้องไห้เพราะความผิดหวัง เหมือนคุณรู้ว่าซุปเปอร์แมนไม่ใช่ฮีโร่ เหมือนคนที่แอบชอบเอาจดหมายรักของคุณไปทิ้งขยะ เหมือนตอนรู้ว่าคนที่สรรเสริญมาตลอดทั้งชีวิตแท้จริงแล้วทำสิ่งระยำต่ำทรามเกินกว่าให้อภัย
วันนั้นฉันร้องไห้ทั้งวัน หยุดไปสักชั่วโมง พอนึกถึงคำว่าหัวรุนแรงขึ้นมาก็ร้องไห้เป็นบ้าเป็นหลัง, ดูไร้สาระแต่คุณลองได้ยินคำนี้จากแม่ตัวเอง คล้ายเขาเหยียบย่ำอุดมการณ์ของคุณ แปะป้ายคุณว่าเป็นนักเรียนนักศึกษาหัวรุนแรงและตามกระแส
ฉันคิดวนไปมาหลายรอบ หัวรุนแรงคืออะไร?
คือการที่คนออกมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิ์อันชอบธรรมของพวกเขาหรือ? การโต้ตอบกับการกระทำอันรุนแรงของตำรวจและทหารที่มาทำร้ายพวกเขาหรือ? การขึ้นเวทีปราศัย พูดถึงข้อเรียกร้องที่พวกเขาสมควรได้รับหรือ? การยึดมั่นในความเป็นประชาธิปไตยนั่นคือพวกหัวรุนแรงหรือ?
ฉันได้ข้อสรุปออกมาว่า คำว่า 'หัวรุนแรง' นั้นถูกใช้แค่กับนักศึกษาที่ออกมาประท้วง ทวงถามสิทธิ์ของพวกเขาเท่านั้น ไม่มีการใช้กับอีแก่ทั้งหลายที่ออกมาเป่านกหวีด โบกธง ร้องสรรเสริญ ยกย่องทรราชและด่ากราดผู้อื่นว่าชังชาติเลย
ผู้ใหญ่ที่ตามืดบอดจงรับรู้ แม้อายุของพวกเราจะน้อยกว่าระดับอีโก้ของพวกคุณมากโข แต่พวกเรามิใช่ลูกเจี๊ยบที่จะเดินตามรอยเท้าพ่อไก่ พวกเราลุกขึ้นเพื่อพวกเราเอง มิใช่ด้วยคำสั่งบุคคลคนใดคนหนึ่ง
กลับกันผู้ใหญ่บางคนให้คนอื่นจูงคอไปอย่างง่ายดาย น่าละอายหรือไม่ลองตรึกตรองดู
พวกเขาชอบกล่าวว่าการชุมนุมครั้งนี้จะให้ผลเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
สงครามจะจบลงโดยมีผู้ชนะคนเดิมได้อย่างไร
หากกองทัพเปลี่ยนรูปแบบการโจมตี
พวกคุณมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะอ่อนกำลังและสิ้นหวัง
จงรู้ไว้ว่าการอยู่เฉยนั้นน่าละอายและสิ้นหวังกว่านัก
ความกลัวนั้นมีอยู่ในทุกคน ไม่เป็นไรที่จะกลัว
แต่จงยืนขึ้นด้วยความฮึกเหิมเถิด
ไม่เช่นนั้นความกลัวจะติดอยู่กับท่านไปจนตาย
ในยุคของเผด็จการและม.112
ฉันหวังว่าเสียงของพวกเราจะดังขึ้นเรื่อยๆ
จงโกรธและเกลียดชังพวกที่ทำให้ประเทศเราย่อยยับ จงอย่าให้ไฟแห่งโทสะถูกดับ, เราจะถูกขับเคลื่อนโดยสิ่งเหล่านั้นและความหวังอันส่องสว่างในใจของพวกเราทุกคน
เราเชื่อ
และ
เราจะชนะ
/
ด้วยรักและเผด็จการจงพินาศ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in